HomeINTERกรณีศึกษา อินเดียเปลี่ยนนมปนเปื้อนสู่ “นมพรีเมียม” รับเทรนด์ Farm-to-Table

กรณีศึกษา อินเดียเปลี่ยนนมปนเปื้อนสู่ “นมพรีเมียม” รับเทรนด์ Farm-to-Table

แชร์ :

ในวันที่ธุรกิจกำลังมองหาความพรีเมียมเพื่อเพิ่มโอกาสในการขาย เรามีอีกหนึ่งตัวอย่างของการเปลี่ยนรูปแบบการผลิต และใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพื่อยกระดับสินค้าจากสินค้าธรรมดาๆ ให้กลายเป็นสินค้าระดับพรีเมียม โดยความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในอินเดีย ประเทศที่ธุรกิจ “นม” มีมูลค่าตลาดถึง 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ความใหญ่ของตลาดนมในอินเดียนั้นถือว่าใหญ่พอ ๆ กับปัญหาด้านความสะอาด โดยอาจกล่าวได้ว่า ตลาดนมในอินเดียมีปัญหาด้านการปนเปื้อนสูงถึง 67.8% ของนมที่ผลิตขึ้นทั้งหมด ไม่ว่าจะมาจากการทำความสะอาดภาชนะบรรจุนมที่ไม่ดีเพียงพอ การใช้สารอันตรายต่างๆ ในกระบวนการผลิตนม (เช่น ฟอร์มาลีน) การบรรจุหีบห่อที่ไม่ถูกสุขอนามัย ฯลฯ ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) เคยมีการแจ้งเตือนไปยังรัฐบาลอินเดียว่า หากยังปล่อยให้สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินต่อไป ภายในปี 2025 ชาวอินเดีย 87% อาจป่วยด้วยโรคมะเร็งได้เลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี ต้องบอกว่าปัญหาดังกล่าวในอินเดียเริ่มเปลี่ยนไปแล้ว เมื่อมีเกษตรกรฟาร์มโคนมบางส่วนได้เริ่มพัฒนา “นมระดับพรีเมียม” ออกมารุกตลาด โดยสามารถแก้ปัญหาการปนเปื้อนได้อย่างถูกจุด จากเดิมที่การเก็บน้ำนมวัวจะเก็บจากหลาย ๆ ฟาร์มมาเทรวมกัน แล้วจึงส่งเข้ากระบวนการผลิต ซึ่งหากมีปัญหา ผู้บริโภคจะไม่สามารถรู้ที่มาของน้ำนมได้ว่ามาจากฟาร์มใด นอกจากนั้น การเก็บรวมรวมนมจากหลายๆ ฟาร์มทำให้เกิดการปนเปื้อนสิ่งสกปรกได้ง่าย และเมื่อนมมีปริมาณมาก กว่าจะบรรจุขวดเสร็จ ก็อาจใช้เวลาประมาณ 4 วัน ความสดใหม่ หรือคุณภาพของนมจึงอาจสูญสลายไปแล้ว

ส่วนนมระดับพรีเมียมในมุมของเกษตรกรโคนมอินเดียก็คือ นมที่รีดจากแม่วัวของฟาร์มใดฟาร์มหนึ่ง (ไม่มีการเทรวมกับนมจากฟาร์มอื่นๆ) แล้วนำเข้ากระบวนการผลิตโดยไม่ต้องผ่านมือคน จากนั้นก็บรรจุหีบห่อและจัดส่งให้ถึงมือลูกค้าได้ภายในวันเดียวกัน ซึ่งทางผู้ผลิตเชื่อว่านอกจากความสะอาดแล้ว คุณค่าของน้ำนมจะเหนือกว่าการผลิตนมวัวในรูปแบบเดิม ๆ เพราะไม่ต้องผ่านมือคนให้เสี่ยงต่อการปนเปื้อน โดยฟาร์มที่นำร่องแนวคิดดังกล่าวประกอบด้วย Keventers, Binsar Farms, O’Leche, Pride of Cows, Vrindawan Milk, Akshayakalpa, Astra Dairy Farms และ Puremilk

นมระดับพรีเมียมยังตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการทราบแหล่งที่มาของอาหารที่ตนเองรับประทานด้วย เพราะพวกเขาจะทราบกระทั่งว่าแม่วัวกินอะไรเป็นอาหาร แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ต้นทุนของเกษตรกรเพิ่มขึ้น จากเดิมเคยมีต้นทุนในราคาลิตรละ 36 – 40 รูปี (15 – 18 บาท) กลายเป็น 80 – 100 รูปี (36 – 45 บาท) ต่อลิตรเลยทีเดียว ดังนั้น เกษตรกรโคนมอินเดียจึงมีการพัฒนาแอปพลิเคชันขึ้นมาเพิ่มเติม เพื่อให้ลูกค้าสั่งนมล่วงหน้า ทางฟาร์มจะได้คำนวณการผลิตนมได้ตรงกับความต้องการ

อย่างไรก็ดี การผลิตนมระดับพรีเมียมนี้ยังถือเป็นตลาด Niche ของอินเดียอยู่ โดยมีส่วนแบ่งตลาดไม่ถึง 1% ของตลาดนมทั้งหมด แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5% ภายในปี 2020 ส่วนราคาขายนั้น ฟาร์มอย่าง Keventers สามารถขายน้ำนมพรีเมียมได้ในราคาลิตรละ 95 รูปี (ประมาณ 43 บาท) และมีออเดอร์แล้วกว่าวันละ 1,000 ลิตร ส่วนฟาร์มอย่าง Akshayakalpa ซึ่งมีแม่วัวที่เลี้ยงแบบออร์แกนิค 2,000 ตัวนั้นสามารถผลิตนมพรีเมียมได้ถึงวันละ 15,000 ลิตรเลยทีเดียว

ที่ผ่านมา ประเทศไทยมักเผชิญปัญหาผลผลิตทางการเกษตรขายไม่ได้ราคาจนต้องนำเงินจากส่วนกลางไปช่วยอุดหนุนอยู่บ่อยครั้ง แต่หากพิจารณาดีๆ ตลาดผลผลิตทางการเกษตรของไทยก็ไม่ได้ต่างจากตลาดนมของอินเดียแต่อย่างใด ดังนั้น การหาทางยกระดับสินค้าเกษตรให้เป็นกลุ่ม “พรีเมียม” ก็น่าจะเป็นทางออกสำหรับภาคเกษตรกรไทย แต่งานนี้ก็ขอให้ผลประโยชน์ลงลึกถึงเกษตรกรตัวจริงด้วยก็แล้วกัน

Source

Source


แชร์ :

You may also like