HomePR NewsTMA และสภาพัฒน์เผยผลการจัดอันดับ IMD World Talent Ranking 2018 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 42 [PR]

TMA และสภาพัฒน์เผยผลการจัดอันดับ IMD World Talent Ranking 2018 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 42 [PR]

แชร์ :

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน TMA

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเผยผลการจัดอันดับ World Talent Ranking จาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2561 ซึ่งทำการจัดอันดับความสามารถของ 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก ด้านการพัฒนา ดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีศักยภาพ (Talent) โดยเขตเศรษฐกิจที่อยู่ในอันดับสูงสุด 10 อันดับแรกอยู่ในยุโรปถึง 9 อันดับ ประกอบด้วยเขตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศนอร์ดิกถึง 4 เขตเศรษฐกิจ คือ เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ และสวีเดน และเขตเศรษฐกิจนอกยุโรปมีเพียงแคนาดาเท่านั้น

สำหรับเขตเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับ 5 เขตเศรษฐกิจ สิงคโปร์นับได้ว่าอยู่ในอันดับนำมาโดยตลอด อยู่ในอันดับ 13 เช่นเดียวกับปี 2560 และมีจุดเด่นในด้านความพร้อมของบุคลากรที่อยู่ในอันดับที่ 2 จาก 63 เขตเศรษฐกิจ สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับมาตรการด้านการดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพจากภายนอกมาเสริมข้อจำกัดด้านกำลังคนในประเทศของตนเอง ขณะที่มาเลเซียมีอันดับดีขึ้นจาก 28 เป็นอันดับที่ 22 ในปีนี้ได้ให้ความสำคัญกับการลงทุนและพัฒนาบุคลากร ส่วนอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 45 และ 55 ตามลำดับ

ทางด้านประเทศไทยมีผลการจัดอันดับคงที่อยู่อันดับที่ 42 เช่นเดียวกับปีที่แล้ว พิจารณาผลการจัดอันดับที่ประกอบด้วย 3 ด้านคือ การลงทุนและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Investment & Development) ความสามารถในการดึงดูดบุคลากรที่มีศักยภาพจากภายนอกประเทศ (Appeal) และความพร้อมของบุคลากรที่มีอยู่ในประเทศ (Readiness) ปรากฏว่าประเทศไทยมีจุดเด่นด้านการดึงดูดและรักษาบุคลากรจากภายนอกอยู่ในอันดับที่ 24 ในขณะที่ด้านการลงทุนและพัฒนาบุคลากร และความพร้อมของบุคลากรยังอยู่ในอันดับค่อนข้างต่ำ คืออันดับที่ 46 และ 50 ตามลำดับ

ทั้งนี้ ประเด็นที่ประเทศไทยยังต้องพิจารณาปรับปรุง ได้แก่ การเร่งยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ ในมิติอัตราส่วนของครูต่อนักเรียนโดยเฉพาะในระดับมัธยมศึกษา งบประมาณค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาต่อคนของนักเรียน การขยายตัวของกำลังแรงงาน และประเด็นสำคัญที่มีผลต่อความพร้อมของบุคลากรคือ ความสามารถด้านภาษา ผลการสอบวัดระดับ PISA (Program for International Student Assessment) ของ OECD ซึ่งเป็นการวัดความพร้อมของนักเรียนในการใช้ชีวิตในวัยผู้ใหญ่โดยนำความรู้ทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการทำความเข้าใจและต่อยอดการเรียนรู้

ดร. ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกล่าวว่า ประเด็นด้านทรัพยากรมนุษย์เป็นประเด็นที่มีความสำคัญและยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ไว้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ 6 ด้าน โดยมีประเด็นยุทธศาสตร์เรื่องการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต รวมถึงการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะมีการจัดทำแผนแม่บทเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติอย่างแท้จริงต่อไป

ในขณะที่ นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน TMA (TMA Center for Competitiveness) กล่าวว่า เราต้องจริงจังมากขึ้นในการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของคน เพิ่มความพร้อมของบุคลากรไทย เพราะจากตัวอย่างเขตเศรษฐกิจที่ติดอันดับท็อปเทน จะเห็นได้ว่าล้วนมีจุดเด่นในด้านการลงทุนเพื่อการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน

รัฐบาลไทยได้กำหนดนโยบายและเริ่มดำเนินการที่จะปฏิรูปการศึกษาในด้านต่างๆ ไปบ้างแล้ว เช่น

  • การปรับโครงสร้างกระทรวงวิทยาศาสตร์ที่รวมหน่วยงานด้านการวิจัย และสถาบันอุดมศึกษาเข้ามาบูรณาการกัน
  • โครงการปรับปรุงระบบการศึกษาไทย ซึ่งกระทรวงศึกษาได้ว่าจ้างธนาคารโลกมาวิเคราะห์ประเด็นปัญหา และเสนอแนะแนวทางที่สอดคล้องกับระบบสากล
  • โครงการนำร่องโรงเรียนประชารัฐและโรงเรียนร่วมพัฒนา (Partnership School Sand-box) ที่เปิดให้นักวิชาการการศึกษา ธุรกิจเอกชน และท้องถิ่น เข้ามีส่วนร่วมในการบริหารโรงเรียนในพื้นที่

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาที่สะสมมายาวนาน เพื่อเตรียมเยาวชนและคนไทยทุกระดับ ให้พร้อมกับความท้าทายของโลกในยุคใหม่ ต้องการความมุ่งมั่นอย่างจริงจัง การเปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงจากบุคลากรในภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดผลสำเร็จได้

ในส่วนการพัฒนาความพร้อมของบุคลากรภาครัฐและเอกชน TMA ได้ดำเนินโครงการ Thailand Competitiveness Enhancement Program (TCEP) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดย 3 ปีต่อจากนี้ จะมุ่งเน้นการนำนวัตกรรมด้านการศึกษา และเทคโนโลยีดิจิทัลมาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาต่อไป


แชร์ :

You may also like