HomeBrand Move !!กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระตุ้นเที่ยวไทยกระจายรายได้สู่ 55 เมืองรอง ชู “จันทบุรี” ต้นแบบเมืองรอง

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระตุ้นเที่ยวไทยกระจายรายได้สู่ 55 เมืองรอง ชู “จันทบุรี” ต้นแบบเมืองรอง

แชร์ :

ที่ผ่านมา เมืองรอง หรือ Less visited area ยังมีนักท่องเที่ยวเข้าไปไม่มากนัก การกระจายรายได้ถึงชุมชนท้องถิ่นจึงแตกต่างกับเมืองท่องเที่ยวหลัก อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมากระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ภายใต้การขับเคลื่อนของ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ หรือ “รัฐมนตรีเมืองรอง” ได้พยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนผลักดันมาตรการเสริมต่างๆ อย่างสิทธิการลดหย่อนภาษี เพื่อให้การท่องเที่ยวเมืองรองเป็นกลไกสร้างรากฐานแข็งแกร่งและกระจายรายได้สู่ชุมชน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

งานสัมมนาและอบรม เชิงปฏิบัติการ การท่องเที่ยวเมืองรอง และการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน

ถอดกลยุทธ์ปั้นเมืองรอง

  • ประกาศนโยบายส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรอง
  • สร้างปฏิทินท่องเที่ยว-กิจกรรมประจำเมือง ดึงคนท่องเที่ยวทั้งปี ไม่กระจุกเฉพาะช่วงเทศกาล
  • นักท่องเที่ยวทยอยเข้าไปเที่ยว (เมืองไม่สำลัก)
  • คนเมืองรองค่อยๆเรียนรู้ ฝึกฝนการต้อนรับ เล่าเรื่อง พูดคุย ตอบคำถามนักท่องเที่ยว
  • คนเมืองรองจะเริ่มคิดและดีไซน์เองว่าจะให้เมืองเดินไปในทิศทางใดในระยะยาว

คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่านโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายภาครัฐที่ต้องการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำให้กับประชาชนภายในประเทศ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามุ่งหวังให้การท่องเที่ยวเมืองรองเป็นกลไกที่ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน สร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำของสังคม หลังจากที่ผ่านมาสัดส่วนท่องเที่ยวเมืองหลักและเมืองรอง คิดเป็น 80:20 เท่านั้น แต่ในอนาคตหวังว่าสัดส่วนดังกล่าวอาจปรับเปลี่ยนเป็น 60:40 หรืออาจเป็น 50:50 ก็เป็นได้

ทั้งนี้ หากมองในอีกมิติหนึ่งจะเห็นว่าการส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรองนี้ ไม่เพียงแต่จะสร้างเม็ดเงินให้เข้าสู่ชุมชน นโยบายท่องเที่ยวเมืองรองไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ เพราะจะเป็นรูปแบบที่ค่อยๆเกลี่ยคนเข้าไปพื้นที่เมืองรองเรื่อยๆ ซึ่งผู้คนในเมืองรองก็จะค่อยๆเรียนรู้ไปด้วย สร้างประสบการณ์ให้กับแขกผู้มาเยือน เรียนรู้และฝึกการเป็นเจ้าบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยว พูดคุยสื่อสาร ตอบคำถามกับนักท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังมีประกาศ พรบ.มัคคุเทศก์ เพื่อให้มีมัคคุเทศก์ท้องถิ่นมากขึ้น เปรียบเสมือนการคืนอำนาจให้คนท้องถิ่นได้มีโอกาสเล่าเรื่องในพื้นที่ตัวเองมากขึ้น

ในอนาคตจะเกิดการสร้างสายรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสนามบินสำคัญและวิ่งผ่านเมืองต่างๆจะเปลี่ยนแปลงการเดินทางมากขึ้น ซึ่งรถไฟก็จะเข้ามาช่วยผลักดันให้คนเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น ยกตัวอย่าง การท่องเที่ยวญี่ปุ่นก็เติบโตจากเส้นทางรถไฟที่ทำให้คนเข้าไปถึงเมืองต่างๆ รายได้กระจายเข้าสู่ท้องถิ่น คนญี่ปุ่นในชุมชน ในจังหวัดต่างๆเองก็ได้ฝึกการต้อนรับนักท่องเที่ยว

ทั้งนี้เมื่อไม่นานมานี้ญี่ปุ่นเพิ่งจะฉลองยอดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศ 20 ล้านคน เทียบกับประเทศไทยที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมากถึง 35 ล้านคน มองว่ายังมีศักยภาพที่จะผลักดันได้อีกมากสำหรับการท่องเที่ยวญี่ปุ่น มี 2 ฐาน โดยนอกเหนือจากการพึ่งพาตลาดภายนอกแล้ว ยังมีฐานหลักขับเคลื่อนคือการท่องเที่ยวภายในประเทศ (Domestic) คนญี่ปุ่นเที่ยวภายในประเทศกันเป็นมหกรรม เห็นได้จากการมีเทศกาลต่างๆดึงดูดให้คนออกเดินทางท่องเที่ยวกันอย่างต่อเนื่อง

สำหรับในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก มองว่าจันทบุรี เป็นเมืองครบเครื่อง มีศักยภาพรองรับการท่องเที่ยว มีความสะดวกในการเดินทางคมนาคมต่างๆ มีชุมชนริมน้ำจันทบูรเป็นชุมชนต้นแบบของจังหวัด ชุมชนมีเสน่ห์อยู่เป็นต้นทุน มีความพร้อมที่จะเติบโตจากภายในสู่ภายนอกนำไปสู่การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการขยายผลนโยบายท่องเที่ยวเมืองรองที่มุ่งเน้นให้เกิดความร่วมมือตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และชุมชน

นอกจากนี้ จันทบุรี ยังมีการเติบโตอย่างชัดเจนทั้งจำนวนและรายได้ที่ใกลเคียงกับเมืองหลัก โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2555-2559) มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 1.55 ล้านคน เพิ่มเป็น 1.94 ล้านคน สร้างรายได้การท่องเที่ยวจาก 4.21 พันล้านบาท เพิ่มเป็น 5.77 พันล้านบาท และในปี 2560 พบว่าระหว่างเดือน ม.ค.-ธ.ค. มีจำนวนนักท่องเที่ยวแล้วกว่า 2.01 ล้านคน มีรายได้รวม 6.18 พันล้านบาท

จันทบุรี ยังมีความครบเครื่องหลากหลาย ทั้งอาหารท้องถิ่น เชื้อชาติหลากหลาย วิถีชีวิต การประกอบอาชีพชุมชน ประมง เหมืองแร่ขุดพลอยต่างๆ ความน่าสนใจของประวัติความเป็นมาที่เกิดขึ้นภายในจังหวัด ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น โบราณสถาน แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากความร่วมมือของหลายฝ่ายส่งผลให้จันทบุรีประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก สร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ทั้งคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว สอดรับกับสโลแกนการท่องเที่ยว “สุขทุกวัน…ที่จันทบุรี”

ขณะที่เกณฑ์การพิจารณาว่าเมืองใดเป็นเมืองรองหรือไม่นั้น กำหนดว่าหากเมืองดังกล่าวมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวเกินกว่า 6 ล้านคนขึ้นไปยังถือว่าไม่ใช่เมืองรอง ผนวกกับพิจารณาจากข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ที่ประกอบไปด้วยการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ทั้งการประกอบอาชีพ อัตราค่าครองชีพ การเข้าถึงสาธารณูปโภคต่างๆที่นำมาประเมินว่าเข้าเกณฑ์การเป็นเมืองรองหรือไม่

ในเบื้องต้นได้ประกาศการท่องเที่ยวเมืองรองมีจำนวนทั้งสิ้น 55 เมืองรอง โดยยังมีเมืองรองอื่นๆที่น่าสนใจอีก อาทิ เชียงราย พะเยา ลำพูน อุทัยธานี หนองบัวลำภู ยโสธร มุกดาหาร ชัยนาท ตราด ระนอง ชุมพร ยะลา นราธิวาส เป็นต้น ซึ่งในอนาคตอาจประกาศเพิ่มเติมได้อีก หลังจากมองว่ายังมีอีกหลายเมืองที่ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวตามนโยบายดังกล่าว ตัวอย่างเช่น สุราษฎร์ธานี ที่มองว่านักท่องเที่ยวอาจไปกระจุกอยู่ที่เกาะสมุยกันมาก ในกรณีนี้รายได้ก็อาจไม่กระจายไปยังบริเวณอื่นๆ ในอนาคตก็อาจประกาศเพิ่มเติมให้บรรจุ สุราษฎร์ธานี เข้าไปในเมืองรอง ยกเว้นพื้นที่เกาะสมุย เป็นต้น

ในอดีตนโยบายท่องเที่ยวอาจสนใจกันในเรื่องตัวเลขว่าเมืองต่างๆจะมีนักท่องเที่ยวมากี่คน มียอดใช้จ่ายต่อคนเท่าไหร่ แต่กลับไม่รู้ว่าเงินเหล่านั้นกระจายไปที่ใครบ้าง สำหรับด้านไทยเที่ยวไทยที่มีนักท่องเที่ยวในประเทศ 145 ล้านคน/ครั้ง กระจุกตัวอยู่ในภาคใต้มากถึง 40% โดยสัดส่วนกว่า 50% ของภาคใต้กระจุกตัวอยู่ที่อันดามัน และคิดเป็นสัดส่วน 50% ที่อยู่ในภูเก็ต อย่างไรก็ดี เมื่อมองที่ภาคอีสาน พบว่าได้สัดส่วนรายได้เพียง 2.9% เท่านั้นจากรายได้การท่องเที่ยว 3.3 ล้านบาท ซึ่งเห็นได้ว่าการกระจายรายได้แตกต่างกันมากและกระจุกตัวอยู่ในบางโซน

ที่ผ่านมา ทางกระทรวงฯได้พยามผลักดันมาตรการต่างๆเพื่อส่งเสริมให้คนไปเที่ยวเมืองรองกันมากขึ้น เช่น การให้สิทธิลดหย่อนภาษีจากการเข้าพักที่พักในเมืองรองที่ถูกต้องตามกฏหมาย หรือแม้กระทั่งนิติบุคคล บริษัทต่างๆที่จัดอบรมสัมมนาในเมืองรองก็สามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวที่ผลักดันออกมาเพื่อต้องการให้ “แต้มต่อ” ให้กับเมืองรองดังกล่าว ท้ายนี้ ยังย้ำเตือนอีกว่าบรรดาเมืองรองทั้งหลาย อย่าฝากความหวังทั้งหมดไว้กับการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว เพราะการท่องเที่ยวมีความเหมาะสมของการเป็นรายได้เสริม หากยึดถือเป็นรายได้หลัก ในกรณีที่นักท่องเที่ยวไม่เข้ามาเที่ยวก็จะลำบาก

Key Success ของการสร้างเมืองรอง คือ การยึดมั่นในทิศทางความยั่งยืน เมื่อคิดได้แบบนี้ก็จะไม่พยายามไปยัดเยียดเมืองรองให้เป็นไปในทิศทางไหน แต่จะปล่อยให้พวกเขาได้คิดเองว่าในระยะยาวอยากเป็นแบบไหน”


แชร์ :

You may also like