HomeFeaturedเจาะที่มา-อินไซท์ ผู้บริโภคกลุ่มรักคนแก่ #แก่แล้วรักปะล่ะ จากเมีย 2018

เจาะที่มา-อินไซท์ ผู้บริโภคกลุ่มรักคนแก่ #แก่แล้วรักปะล่ะ จากเมีย 2018

แชร์ :

“แก่สุด  – แก่แล้วไง แก่แล้วรักปะล่ะ – รักดิ”

คำพูดจากละครชื่อดัง เมีย 2018 ของตัวละครบอสวศินที่หลงรักนางเอกที่อายุมากกว่ามาก เป็นที่ชื่นชอบกลุ่มคนแก่หรือเริ่มแก่ที่มีคนอายุน้อยกว่ามาชอบ(หรือแอบหวังว่าจะมีคนแบบนี้มาชอบ) ซึ่งในชีวิตจริงก็มีให้เห็นมากมายไม่ว่าจะเป็นถึงระดับประธานาธิบดีมาครอง ของประเทศฝรั่งเศส ที่ภรรยาอายุมากกว่ามาก หรือตัวอย่างคนที่มีชื่อเสียงในสังคมไทยก็มีมากมาย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

จะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร แต่ที่มักจะถูกเพ่งเล็งก็เพียงเพราะความแตกต่างที่มีสัดส่วนน้อยกว่าคนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแมสที่มีแนวโน้มชอบคนอายุใกล้เคียงกันหรือชอบอายุน้อยกว่า โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชายก็มักจะชอบเอ๊าะๆ พอมีคนที่ชอบแตกต่างก็มองว่าแปลก แท้จริงแล้วเป็นแค่ความชอบที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนคนกลุ่มส่วนใหญ่ที่เป็นพวกแมสต่างหาก

ศัพท์ที่เรียกกลุ่มคนที่ชอบคนสูงวัยคือคำว่า Gerontophilia

Gerontophilia is the primary sexual attraction to the elderly. A person with such a sexual preference is a gerontophile. The word gerontophilia was coined in 1901 by Richard von Krafft-Ebing. It derives from Greek: geron, meaning “old man or woman” and philie, meaning “love”.

คำนี้มาจากการผสมคำของคำว่า Geron ที่แปลว่า ชายหรือหญิงที่สูงวัยกว่า และคำว่า Phile หมายถึง ความรักความชอบ ผสมจนอ่านว่า – เจอรนโทฟิเลีย – แปลว่าการหลงรักคนแก่กว่า ส่วนคนที่เป็นแบบนี้เรียกตัวเองได้ว่า  Gerontophile – เจอรนโทรฟิล –

สำหรับมุมมองในทางการตลาดสามารถนำไปใช้ในเรื่องของการแบ่งกลุ่มลูกค้าที่ไม่ได้ถูกแบ่งตามเพศ วัย อายุ รายได้เท่านั้น แต่แบ่งตามรสนิยม ความชอบ ซึ่งอาจจะถูกต้องกว่ามาก การนำเสนอสินค้าก็ไม่ได้เสนอเพราะอนุมานเอาเองว่าคนแก่ต้องเป็นแบบนั้น เด็กวัยรุ่นก็ต้องชอบรุ่นเดียวกัน จึงนำเสนอแบบเหมาพวกจากรูปลักษณ์ภายนอกที่เห็นเป็นการแบ่งแบบหยาบๆ แต่นี่เป็นการแบ่งลูกค้าตามอินไซท์ (Market segmentation by insight)

Insight เป็นเรื่องของปัจจัยจิตวิทยาภายในจิตใจที่ตามองไม่เห็น ซึ่งความหมายง่ายๆคือ mental vision ซึ่งบอกได้ว่าให้ “เอาใจมอง” อย่าเอาตามอง ดังนั้นการเข้าใจคนถึงระดับอินไซท์เป็นเรื่องยาก เพราะจะรวมไปถึง mindset ทัศนคติ บุคลิกภาพ การรับรู้และอื่นๆอีกมากมายในใจคนที่จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของคนเรา

อินไซท์นี่แหละคือ ความต้องการ ความรู้สึกภายใน อารมณ์ที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดพฤติกรรมของคนเราเป็นการมองลูกค้าในเชิงลึกและพยายามหาสินค้ามาตอบโจทย์ที่ไม่ใช่มองแค่กายหยาบ

ดังนั้นในโลกปัจจุบันที่คิดกันเองว่าคนเราชอบความทันสมัยและปรับแบรนด์ให้ทันสมัยย่อมมีคนที่ชอบความคลาสสิค ความเก่าแก่ที่ทำให้เกิดการระลึกถึงความสุขในอดีต (Nostalgia) จึงมีสินค้าพยายามตอบโจทย์อินไซท์ของคนกลุ่มนี้ได้เช่นกัน

ส่วนคำถามถึงอินไซท์ที่มาว่าทำไมคนบางคนถึงมีพฤติกรรมหลงรักคนสูงวัยกว่า เพราะขาดความอบอุ่น ขาดความมั่นใจ ขาดเงิน ขาดที่ปรึกษา หรือชอบเหมาไปว่าชอบคนแก่เพราะขาดเงิน แท้จริงแล้วเรื่องของความชอบไม่ชอบ รักไม่รักที่แท้จริงเป็นเรื่องที่ไม่ได้มีเหตุผล จึงเป็นคุณค่าทางอารมณ์ (Emotional value) ที่มีผลทางจิตใจมากกว่าแค่คุณค่าภายนอก (Physical value)

ดังนั้นในกลุ่มที่ชอบคนแก่กว่าก็แบ่งออกได้อีกหลายกลุ่ม (subsegment) อาจอนุมานได้ว่าเป็นกลุ่ม พวกประเภทต้องเล็งไปที่คนอายุมากกว่าเท่านั้นเด็กกว่าไม่เอา (Hard core gerontophile) อายุแก่ต้องมาก่อนแล้วมาเลือกความเข้าใจตรงกันทีหลัง ส่วนอีกกลุ่มบอกว่าที่ชอบคนแก่กว่านั้นไม่ได้ชอบเพราะแก่ แต่เพราะบังเอิญคนที่พูดคุยกันรู้เรื่อง เข้าใจกันมากกว่าเป็นคนที่แก่กว่าก็เท่านั้น (Gerontophile by insight) ส่วนอีกพวกก็คือจะไม่ชอบคนแก่กว่าเลยไม่ว่าอย่างอื่นจะถูกใจอย่างไรก็ตาม

ถ้ามองแบบนี้ดาราที่เล่นบทนี้โดยคุณฟิล์ม ที่ให้สัมภาษณ์ว่า “ผมเป็นคนที่ชอบตกหลุมรักคนที่อายุมากกว่า รู้สึกว่าเวลามองแล้วมีอะไรบางอย่างที่อายุน้อยกว่าไม่มี มันเป็นเสน่ห์บางอย่างที่บอกไม่ได้ว่าเป็นอะไร” ดูๆจะเป็นสายแข็งชอบคนแก่กว่าโดยแท้ (Hard core gerentophile) คุณค่าทางจิตใจต้องมาพร้อมกับความแก่กว่าเท่านั้น

ส่วนบอสวศินของเราก็ต้องเป็นแบบหลังเพราะเคยชอบกันยามาก่อน คำพูดของบอสวศินต่ออรุณาที่แก่กว่าจนทำให้สาวสูงวัยยิ้มน้อยยิ้มใหญ่นั้นน่าจะเป็นเพราะผู้หญิงที่กลัวความแก่ (Gerontophobia) ได้หลุดพ้นว่าโลกนี้มีคนชอบคนแก่กว่าเป็นการสร้าง Hope แต่ถ้าจะมองให้ลึกความรักความชอบนั้น ไม่ได้รักที่แก่กว่าอย่างเดียว แต่แก่แล้วสวยแบบบีน้ำทิพย์ ประเภทแก่อย่างเดียวก็คงไม่ได้

คนเราไม่ว่าจะเป็นประเภทไหนก็คงสรุปได้ว่าความรักความชอบไม่ได้เกิดจากปัจจัยหนึ่งปัจจัยเดียว แต่จะให้น้ำหนักอันไหนมาหรือน้อยแล้วเป็นเรื่องปัจเจกบุคคลทั้งสิ้น ถ้าคนนั้นอายุแก่กว่าต้องบวกอะไรอีกจึงจะทำให้ชอบให้รัก จึงแปลความว่าคุณค่าจากรูปลักษณ์ (physical value) อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีคุณค่าทางอารมณ์ (emotional value) ประกอบด้วย

ถึงตอนนี้หลายคนคงอยากได้คำตอบตามวิสัยพื้นฐานของมนุษย์ที่อยากให้คนมาบอกรัก เพราะคนเราล้วนต่างมีข้อด้อย แต่บริบทสุดท้ายไม่ว่าจะเป็นชีวิตจริงหรือในโลกของการตลาด ต้องสร้างให้เห็นคนเราหรือลูกค้าเห็นให้ได้ว่าแม้ว่าจะมีข้อที่ดูเหมือนจะด้อยแต่มีปัจจัยบวกอื่นที่มีพลังเอาชนะปัจจัยนี้ไปได้

สุดท้ายการสร้างให้เกิดความชอบได้แม้จะมีบางอย่าง ท่านผู้อ่านก็ลองคิดดูกันว่าจะเปลี่ยนคำว่า “แก่” เป็นอะไรได้อีก แก่แล้วรักปะละ จนแล้วรักปะละ อ้วนแล้วรักปะละ เผื่อจะได้เอาไปใช้ในชีวิตจริง แต่สุดท้ายของความรักที่เกิดจากจิตใจแล้วย่อมมีพลังและคุณค่ามากกว่า

Love has no age, love has no race, love has no gender..

Love has no labels

รักแท้ไม่มีฉลากครับ

#แก่แล้วรักปะละ #โรคบอสวศิน #หลงรักคนแก่ #ตลาดคนแก่

 

by  Marketing is All Around 

ผู้เขียน :  ผศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร  หัวหน้าภาควิชาการตลาด จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


แชร์ :

You may also like