HomeBrand Move !!เผย 3 สูตรลับ JKN ปั้นคอนเทนต์นอกโกยเรตติ้ง ได้เวลาขน 70 ละครไทยโกอินเตอร์บ้าง

เผย 3 สูตรลับ JKN ปั้นคอนเทนต์นอกโกยเรตติ้ง ได้เวลาขน 70 ละครไทยโกอินเตอร์บ้าง

แชร์ :

ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจทีวีดิจิทัลที่ดุเดือนและรุนแรง  จากปริมาณช่องทีวีที่มี  22 ช่อง  ซึ่งมากเกินไปกว่าเม็ดเงินโฆษณาที่มีอยู่จะกระจายแบ่งไปได้ทั่วทุกช่อง  จนทำให้บรรดาทีวีดิจิทัลสามารถดำเนินธุรกิจมีกำไรได้  ด้วยงบประมาณโฆษณาที่จำกัด  ไม่ได้สูงเหมือนที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้าการประมูลทีวีดิจิทัล  ช่องทีวีต่างๆ  จึงพยายามดิ้นหาทางรอดด้วยกลยุทธ์ต่างๆ  โดยเฉพาะการเพิ่มเรตติ้งช่องทีวี  เพื่อนำมาซึ่งรายได้ที่เติบโต  ผู้ประกอบการจึงมุ่งที่เสริมคอนเทนต์แม่เหล็กเพื่อดึงคนนั่งเฝ้าหน้าจอทีวี

คอนเทนต์ส่วนใหญ่ถูกผลิตขึ้นผู้ประกอบการคนไทย  แต่คอนเทนต์ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นซีรี่ย์ละคร  ภาพยนตร์ต่างประเศ  รายการบันเทิง และสารคดี ก็ถือเป็นแพล็ตฟอร์มที่มีโอกาสเพิ่มเรตติ้งได้รวดเร็ว  หากเป็นคอนเทนต์ที่ประสบความสำเร็จมาจากต่างประเทศ  หรือมีกระแสจากต่างประเทศมาก่อนหน้าแล้ว  หากคอนเทนต์นั้นถูกจริตความชื่นชอบของผู้ชมคนไทย แม้จะไม่ใช่ทุกรายการก็ตาม  แต่ก็ถือเป็นทางลัดที่ช่องทีวีดิจิทัลให้ความสนใจ  ที่ผ่านมาจึงมีคอนเทนต์จากต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยจำนวนมาก  ที่เห็นได้ชัดเจนและประสบความสำเร็จอย่างสูงก็คือ  ซีรีย์อินเดีย  ที่มาแรงและคว้าเรตติ้งแซงซีรีย์ทุกชาติ รวมถึงละครไทยบางเรื่องด้วยซ้ำ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

กวาดสายตาไปยังช่องทีวีดิจิทัลหลายๆ ช่อง อาทิ  ช่อง 8, ช่อง 33, ช่อง 28, ช่อง 13 และช่องไบรท์ทีวี ล้วนแต่มีซีรีย์อินเดียอยู่ในผังรายการแทบทั้งสิน  และที่สำคัญซีรี่ย์หลายเรื่องก้าวขึ้นมามีเรตติ้งเป็นอันดับต้นๆ ของช่องด้วย  อย่างเช่น  เรื่อง หนุมาน สงครามมหาเทพ ที่ออกอากาศทางช่อง 8 เคยทำเรตติ้งได้สูงสุดถึง 4.499 เป็นอันดับ 2 รองจากละครมือปราบเหยี่ยวดำ ที่ออกอากาศทางช่อง 7 ที่มีเรตติ้ง 5.431 ในช่วงวันที่ 25 มกราคม 2561 สำหรับรายการที่ออกอากาศในช่วงเวลา 20.00-22.30 น. ที่สำคัญซีรีส์เรื่องหนุมานทำเรตติ้งได้สูงกว่ารายการ The Mask Singer 3 ที่มีเรตติ้ง 3.950 ที่ออกอากาศทางช่องเวิร์คพอยท์ด้วยซํ้า

“แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” 

ซีรีย์อินเดียถือเป็น case study ที่ชี้ให้เห็นว่าหากคัดเลือกคอนเทนต์ที่ถูกจริตคนไทย ก็สามารถทำเรตติ้งได้ดีไม่แพ้คอนเทนต์ของคนไทย  ซึ่งความสำเร็จของซีรีย์อินเดียรวมถึงคอนเทนต์ต่างประเทศที่ออกอากาศอยู่ทุกวันนี้  คงต้องยกให้เธอคนนี้  “แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์”  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ในฐานะผู้นำเข้าและผู้ถือลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากต่างประเทศ  ซึ่งคอนเทนต์ต่างๆ ที่ออกอากาศอยู่ทุกช่องทีวีทุกวันนี้  ล้วนแต่ผ่านสายตาของเธอมาแล้วทั้งสิ้น จากประสบการณ์ที่มีมาอย่างยาวนานในการคัดเลือกคอนเทนต์ให้ถูกจริตคนไทย

เคล็ดไม่ลับที่เป็นสูตรในการคัดเลือกคอนเทนต์ต่างประเทศเข้ามาทำตลาดในประเทศไทย  มีแนวทางสำคัญ ได้แก่

1.คัดเลือกคอนเทนต์ให้ถูกจริตคนนไทย  อาทิ  หากเป็นรายการสารคดี  จะต้องเป็นประเภทป่า เขา ธรรมชาติ โลกของเรา บ้านของเรา  ไม่ใช่สารคดีประเภทวิทยาศาสตร์ และประวัติศาสตร์  ซีรีย์ฝรั่ง  ต้องเป็นแนวแอ็กชั่น สัตว์ประหลาดมหันตภัย ไม่ใช่แนวดราม่ามา  ส่วนละครเอเชีย  ต้องเป็นประเภทอภินิหาร แฟนตาซี  การแต่งกายสวยงาม   และหากละครแนวโมเดิร์น พระเอกและนางเอง  ต้องสวยและหล่อ  อยู่ในดวงใจ มีฐานแฟนคลับจำนวนมาก​  รวมถึงการคัดเลือกผู้ผลิตหรือเจ้าของคอนเทนต์ระดับโกลบอล

2.ปรุงแต่งคอนเทนต์ให้กลมกล่อม ไม่ว่าจะเป็นการใส่เสียงพากษ์ใหม่ การแต่งเพลงภาษาไทย  การตัดต่อและลำดับภาพใหม่ให้มีความน่าสนใจ  เล่าเรื่องให้กระชับและถูกจริตคนไทย

3.การทำตลาดและการสื่อสารครบวงจร ด้วยกลยุทธ์​ Local Marketing ทั้ง Above the line และ Below the line รวมถึงการจัดกิจกรรมการตลาด  เพื่อทำให้คอนเทนต์เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยม และการนำเอาดารา ศิลปินของคอนเทนต์มาสร้างกระแสความนิยม ด้วยกลยุทธ์ Superstar Marketing ผ่านสื่อและกิจกรรมการตลาดต่างๆ

“มุมบริหารเราใช้สมอง  มุมเลือกคอนเทนต์เราใช้หัวใจ เรานั่งดู แล้วคิดว่ามันใช่ไหม  แต่ก็มีองค์ประกอบอื่นๆ สคริปต์เป็นอย่างไร พระนางใช่ว่าหล่อสวยแล้วจบ ไดอะล็อกเป็นอย่างไร บทสำคัญสุด เกี่ยวหัวใจคนไหม  เป็นกัญชา เป็นยาเสพติดทางสายตาของคนไหม  อันนี้คือสิ่งสำคัญมาก และดูจากผู้กำกับ ต้นทุนสร้าง สตูดิโอ การคัดเลือกเรื่องมาจากประสบการณ์ล้วนๆ แต่เราก็ได้ทำตำราเอาไว้หนาเป็นหลายสิบหน้าเลย” คุณแอน จักรพงษ์​  เล่าถึงแนวทางในการคัดเลือกคอนเทนต์

เป้าหมายต่อไปของเจเคเอ็น  คือ การผลักดันให้คอนเทนต์ไทย ก้าวออกไปสู่สายตาของชาวโลก   โดยล่าสุด จับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารทีวีดิจิทัลกลุ่มช่อง 3  ได้แก่ ช่อง 13  ช่อง 28 และช่อง 33  เป็นตัวแทนจำหน่ายคอนเทนต์ของกลุ่มช่อง 3 แต่เพียงผู้เดียวในต่างประเทศ  เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม  ซึ่งเริ่มต้นนำละครที่ออกอากาศไปแล้วตั้งแต่ปี 2556-2560 ไปจำหน่ายในต่างประเทศรวม 70 เรื่อง  เช่น สามีตีตรา, ทรายสีเพลิง, รอยฝันตะวันเดือด, ลมซ่อนรัก, สองหัวใจนี้เพื่อเธอ, กำไลมาศ, เพลิงนารี, และ นาคี  สำหรับละคร 70 เรื่องที่ช่อง 3 ให้สิทธิบริษัทนำไปจำหน่ายนั้น สามารถทำการตลาดได้เกือบทุกประเทศ ยกเว้นประเทศจีน ฮ่องกง มาเก๊า กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา เพราะเป็นตลาดที่ช่อง 3 มีละครออกอากาศอยู่แล้ว

การนำคอนเทนต์ไทยไปทำตลาด  คงใช้รูปแบบและวิธีการลักษณะเดียวกับการนำคอนเทนต์ต่างประเทศเข้ามาทำในประเทศไทย  คือ  การสร้างการรับรู้และความชื่นชอบในดาราและศิลปิน  ให้เกิดการเสพติดทางสายตาเช่นเดียวกัน  ซึ่งบริษัทจะเน้นการสร้างแบรนด์ละครของช่อง 3 ให้ทั่วโลกรู้จักก่อน หลังจากนั้นปีที่ 2 จะเริ่มทำการตลาดอย่างจริงจัง  เริ่มต้นในปีแรกจะนำละครของช่อง 3 ออกไปโรดโชว์ตามประเทศต่างๆ เริ่มจากเวียดนาม ฝรั่งเศส และสิงคโปร์ เพื่อให้ละครเป็นที่รู้จัก ซึ่งคาดว่าปีแรกน่าจะทำรายได้ 9 หลัก


แชร์ :

You may also like