HomeInsightPentel x Kyoko Abe โปรเจกต์ปลุกวัฒนธรรมไทยโลดแล่น ผ่านพลังสีชอล์คกล่องเล็กๆ

Pentel x Kyoko Abe โปรเจกต์ปลุกวัฒนธรรมไทยโลดแล่น ผ่านพลังสีชอล์คกล่องเล็กๆ

แชร์ :

20 ปีก่อน “เคียวโกะ อาเบะ” ศิลปินนักวาดรูปจากประเทศญี่ปุ่นเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่เธอเล่าย้อนให้ฟังอย่างตลกว่า “อาหาร” คือสิ่งที่เธอสนใจมากที่สุด แต่เมื่อมาถึงเมืองไทย เธอก็รู้สึกประทับใจจนกระทั่งปัจจุบันเรียกได้ว่าเธอใช้ชีวิตและมีครอบครัวอยู่ที่เมืองไทยไปแล้ว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เมืองไทยในมุมมองของ เคียวโกะ อาเบะ

ถึงแม้ว่าเธอจะพูดภาษาไทยไม่ค่อยคล่องนัก รวมทั้งเขียนภาษาไทยไม่ได้ แต่หลายๆ ภาพของเธอกลับมีรูปแพ็กเกจจิ้งของสินค้าที่โด่งดังในประเทศไทยและที่เธอชื่นชอบ โดยชื่อที่ปรากฏในรูป เธออาศัยการวาดตามแบบ นับว่าเป็นพรสวรรค์ของนักวาด และสะท้อนให้เห็นว่าเธอหลงใหลองค์ประกอบหลายอย่างในความเป็นไทย ในมุมมองของชาวต่างชาติที่อยู่ในเมืองไทยมานาน ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวอีกต่อไปแล้ว

“ตอนที่มาถึงเมืองไทยครั้งแรกได้มีโอกาสไปเที่ยวที่ตลาดน้ำ เวลาที่เรือสวนกันหรือนั่งรถไปที่ไหน ก็จะมีคนไทยชอบโบกมือให้แล้วก็ยิ้ม หัวเราะ เป็นเรื่องที่คนญี่ปุ่นไม่ทำ นั่นทำให้รู้สึกดี รับรู้ได้ว่าคนไทยใจดี เป็นมิตร และต้อนรับชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก” คุณเคียวโกะ เล่าถึงความประทับใจแรกที่มาเมืองไทย

แต่ช็อตที่ทำให้เธอติดใจมากที่สุดในมุมมองของศิลปินก็คือ “ความประทับใจแรกเลย คือ อยู่ที่ริมน้ำแล้วมองเห็นพระอาทิตย์ตก วิวสวยมาก รู้สึกได้ทันทีว่าอยากมาอยู่ที่เมืองนี้ และก็คิดไม่ผิด เมืองไทยมีอะไรให้เรียนรู้ทุกวัน ทำให้ดิฉันรู้สึกตื่นเต้นได้ทุกวัน”

ยังมีเรื่องของวัฒนธรรม ไม่ว่าจะเป็นวัด หรือพิธีต่างๆ ที่เธอชื่นชอบ เช่น ลอยกระทง การร่ายรำ ลอยโคม จนหยิบมาใส่ในชิ้นงานบ่อยครั้ง

สดใส และมีสีสัน เอกลักษณ์ของเมืองไทย

และเมื่อ Pentel แบรนด์เครื่องเขียนชั้นนำจากญี่ปุ่น พบว่าคนไทยรู้สึกเศร้าโศกอย่างยิ่งต่อการสูญเสียครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ทาง Pentel จึงต้องการเป็นส่วนหนึ่งที่อยากจะสื่อสารให้คนไทยตระหนักว่า เมืองไทยมีพื้นฐานของความเป็นมิตร มีสีสัน และพร้อมจะลุกขึ้นเพื่อแต่งแต้มเรื่องสนุกในชีวิตอยู่เสมอ จึงจัดทำผลงานร่วมกับคุณเคียวโกะ เพื่อให้เธอนำเอาความสดใสเบิกบานและความมีสีสันในแบบวิถีชีวิตคนไทยให้กลับมาอีกครั้ง

ลายเส้นและวิธีการนำเสนออันเป็นเอกลักษณ์ซึ่งหลายคนขนานนามว่าเป็นภาพแบบ Feel Good ของ “เคียวโกะ อาเบะ” จึงถูกนำมาใช้ในงานครั้งนี้ ใกล้เคียงกับผลงานเดิมของเธอที่ครั้งหนึ่งเธอเคยวาดรูปที่กำแพงเมืองฟุกุโอกะ ของญี่ปุ่นที่แต่งแต้มให้เมืองที่ตอนนั้นกำลังเศร้าหลังจากเกิดสึนามิครั้งใหญ่ จนผู้คนรู้สึกแย่เกินกว่าจะทนกลับเข้ามาอยู่ในเมืองอีกครั้ง เธอรู้สึกว่าผลงานของเธอน่าจะมีส่วนกระตุ้นให้คนในฟุกุโอกะเล็งเห็นถึงสิ่งที่ยังงดงามเหลืออยู่ และเป็นความหวังของอนาคต จนสร้างผลงานศิลปะบนกำแพงเมืองขึ้นมา

โดยความร่วมมือของ Pentel กับ คุณเคียวโกะ ออกมาในรูปแบบของภาพที่ถูก wrap เป็นลวดลายบนรถไฟฟ้า BTS เพื่อเปลี่ยนยานพาหนะของคนกรุงให้กลายเป็น Art Gallery เคลื่อนที่ การเดินทางที่บางครั้งต้องเร่งรีบ ก็เป็นเรื่องที่มีความงามของศิลปะแบบสดใสๆ ให้เสพ ก่อนที่ไอเดียดังกล่าวจะถูกแปลงให้เป็น แพ็กเกจจิ้งดีไซน์พิเศษ 4 ลาย บนกล่องสีชอล์ค ขนาด 25 สี Pentel Oil Pastels Limited Edition คืนความสดใสให้คนไทย

รูปทั้ง 4 รูปเล่าเรื่องต่างกัน โดยอาศัยแนวคิดเรื่องของ “กาลเวลา” (Timing) ใน 1 วันเป็นคอนเซ็ปท์สะท้อนความรู้สึกว่า เมืองไทยมีเรื่องดีๆ อยู่ตลอดวัน ประกอบด้วย 

  1. รูปวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้วฯ รวมทั้งการรำไทย บ่งบอกถึงเรื่องราวที่สดใส ยามเช้า

2. ตลาดน้ำ ผู้คนที่เป็นมิตร การค้าขายที่เต็มไปด้วยสีสัน เล่าเรื่องชีวิตประจำวันของคนไทย

3. ตลาด เป็นภาพที่โดยส่วนตัวของคุณเคียวโกะชอบมากที่สุด เพราะเธอชอบการใช้ชีวิตที่สนุกสนาน Colorful แบบวิถีของคนไทย

4. โคมลอย สื่อถึงความงดงามยามค่ำคืน ของเมืองไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งซีนประทับใจในวัฒนธรรมของไทย ที่คุณเคียวโกะเล่าว่า เมื่อได้เห็นภาพดังกล่าวปรากฏขึ้นเบื้องหน้าเป็นครั้งแรก เธอถึงกับน้ำตาไหลกับความสวยงาม เมื่อต้องทำงานโปรเจ็กต์นี้ เธอจึงนึกถึงและหยิบมาใส่เป็นหนึ่งในชิ้นงานด้วย

เติมความสนุกให้กับงานศิลป์ด้วยเทคโนโลยีสุดล้ำ

สำหรับกล่องสีชอล์คลิมิเต็ด เอดิชั่นนี้มีกิมมิคเด็ดที่น่าจะโดนใจคนรุ่นใหม่ เพราะไม่ใช่แค่กล่องให้สะสมเท่านั้น แต่ยังตื่นเต้นกว่านั้น ด้วยการนำเอาเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) มาเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างศิลปะกับคนในยุคดิจิทัล ในรูปแบบของแอปพลิเคชั่นใช้งานง่าย ที่สามารถเปลี่ยนรูปภาพบนกล่องที่เป็นเพียงภาพ 2 มิติ ให้เคลื่อนไหวด้วยเทคโนโลยี AR ได้อย่างน่าสนใจ รวมไปถึงให้ข้อมูลความรู้ที่มาที่ไปของวัฒนธรรมแบบวิถีไทยผ่านเสียงบอกเล่าจากแอปพลิเคชั่น  ที่นอกจากจะสร้างความเพลิดเพลินในการระบายสีแล้ว ยังให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์นำความสดชื่นและสีสันมาปรากฏอยู่ตรงหน้า ทำให้จินตนาการก้าวไกลไปอีกระดับอีกด้วย

การใช้สื่อสมัยใหม่มาเป็นจุดเชื่อมโยงเข้าถึงเด็กยุคมิลเลนเนี่ยล หรือ Gen ใหม่ๆ ดูจะเป็นโจทย์ที่สินค้าแบบดั้งเดิมต้องต้องปรับตัว สำหรับ Pentel เลือกใช้การผสานผลงานศิลปะแบบดั้งเดิมที่เป็นแรงบันดาลใจกับการนำเสนอเช่นนี้ อย่างไรก็ตามสำหรับวงการนักวาดรูปออกแบบแล้ว การใช้สี หรือว่าเครื่องมือแบบเดิมๆ ก็ยังเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้เริ่มต้น

“สำหรับตัวดิฉันเองไม่ปฏิเสธการวาดรูปด้วยเครื่องมือสมัยใหม่เลยค่ะ บางครั้งก็ใช้ แต่ก็ยังชื่นชอบการวาดบนกระดาษและคิดว่ามันมีความรู้สึกมากกว่า การวาดบนกระดาษเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นตอนนั้นเลย ลงสีก็ทำได้ครั้งเดียว ลบไม่ได้ นั่นทำให้ผลงานที่เกิดขึ้นสะท้อนอารมณ์ ความรู้สึกตอนนั้นจริงๆ เป็นรูปที่มีรูปเดียว จะทำซ้ำไม่ได้แล้ว”

เส้นทางมืออาชีพ เริ่มต้นที่การฝึกฝน

สำหรับคำแนะนำที่คุณเคียวโกะอยากถ่ายทอดประสบการณ์ไปสู่คนรุ่นใหม่ หรือเยาวชนที่อยากจะทำงานศิลปะ เธอบอกว่า

“ก็อยากให้ฝึกทักษะต่างๆ ลองทุกอย่าง และค้นหาแนวทางที่เหมาะสมกับตัวเอง เครื่องมือหรือว่าอุปกรณ์ทุกอย่างมีข้อดี ข้อด้อย มีเสน่ห์ของตัวเอง อย่างเช่น สีชอล์คก็มีข้อดี สีอะคริลิคก็มีข้อดี และดิฉันไม่อยากแบ่งว่ามืออาชีพหรือคนที่รักศิลปะ เพราะนั่นเป็นเพียงการแบ่งด้วยรายได้ที่เกิดขึ้นเท่านั้น คนที่ทำงานศิลปะก็คือคนทำงานศิลปะ มืออาชีพอาจจะกดดันมากกว่าด้วยซ้ำ เพราะมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง ในขณะที่คนที่ทำเพราะรัก มีอิสระที่จะทำผลงานออกมามากกว่า ถ้าหากว่าศิลปะทำให้คุณรู้สึกสบายใจ รู้สึกดีขึ้นมา นั่นก็เป็นข้อดีของงานศิลปะแล้ว” คุณเคียวโกะกล่าว

ปัจจุบันนี้คุณเคียวโกะ ใช้เวลายามค่ำคืนหลังจากดูแลครอบครัว และเงียบสงบกว่า เพื่อผลิตผลงานใหม่ๆ ออกมาอย่างสม่ำเสมอ โดยเธอเชื่อว่าความชื่นชอบในประเทศไทยของเธอ ช่วยแต่งเติมแรงบันดาลใจในการทำงานอยู่เรื่อยๆ

“ในความแตกต่างของวัฒนธรรม-วิถีชีวิตไทยญี่ปุ่นที่เห็นชัดที่สุดนั้น ของญี่ปุ่น วิถีชีวิตค่อนข้างจะรวดเร็ว ทันสมัยเน้นการพัฒนาไปตามกระแสเทคโนโลยีเป็นหลัก พูดง่ายๆคือเป็นสังคมดิจิทัล แต่ของไทยจะมีความเรียบง่าย มีเสน่ห์ที่น่าหลงใหล สวยงาม และมีความเชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ที่แนบแน่น ทั้งนี้ทั้งนั้นทั้งสองวัฒนธรรมมีความงดงามทั้งคู่ แต่ด้วยความที่ตัวเองเป็นศิลปินจึงชอบในวัฒนธรรมของคนไทยมากกว่า” เธอกล่าวทิ้งท้าย


แชร์ :

You may also like