HomeBrand Move !!“ศูนย์กลางจักรวาล B2B” ออฟฟิศเมทเพิ่ม 3 แนวรบใหม่ เป้าหมายสู่ B2B Business Solutions   

“ศูนย์กลางจักรวาล B2B” ออฟฟิศเมทเพิ่ม 3 แนวรบใหม่ เป้าหมายสู่ B2B Business Solutions   

แชร์ :

จากความสำเร็จในการพิชิตอาณาจักร Office Supply ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่การขึ้นแท่นแชมเปี้ยนที่มีมาร์เก็ตแชร์สูงสุดเท่านั้น แต่ “ออฟฟิศเมท” ยังสามารถรวบแบรนด์ต่างๆ ที่เคยมีอยู่ในตลาดให้กลายมาเป็นพาร์ทเนอร์ภายใต้การบริหารเดียวกัน ทำให้ตลาดอุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงานของไทยกลายเป็นตลาดที่มีศูนย์กลางรวมอยู่ที่จุดเดียว หรือสามารถสร้างให้เกิดเป็น Hub ขึ้นในตลาดได้ในที่สุด

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โอกาสและความได้เปรียบของออฟฟิศเมท คือการเป็นรายใหญ่ในตลาด Office Supply ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ว่าจะทำธุรกิจอะไรต่างก็จำเป็นต้องใช้ทั้งสิ้น ทำให้ออฟฟิศเมทมีฐานลูกค้าหลากหลายจากทุกกลุ่มธุรกิจ รวมทั้งเห็นทิศทางการเติบโตที่ดีของแต่ละอุตสาหกรรม ประกอบกับการมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับธุรกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง ไปจนถึงห้างร้าน และองค์กรขนาดใหญ่ทั่วประเทศกว่า 5 แสนราย นำมาสู่โอกาสในการขยายไลน์ธุรกิจไปสู่กลุ่มที่มีขนาดตลาดที่ใหญ่กว่า และมีการเติบโตสูงกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่เป็นเทรนด์ในอนาคต

ขยาย 3 แนวรบใหม่

คุณวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงการขยายแนวรบใหม่ของออฟฟิศเมท ในการเข้าไปเป็นผู้ให้บริการอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับ  3 กลุ่มธุรกิจใหม่ ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจโรงงานหรือกลุ่ม DIY (FACTORY) กลุ่มธุรกิจอาหาร (HORECA) และในกลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ (MEDICAL) ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มต่างเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่มากกว่าธุรกิจออฟฟิศซัพพลาย และต่างเติบโตได้ดี รวมทั้งยังเป็นฐานลูกค้าที่ซื้ออุปกรณ์สำนักงานของออฟฟิศเมทอยู่แล้ว หากมีการขยายไลน์อัพสินค้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโดยตรงก็เชื่อว่าจะได้รับการตอบรับที่ดี เพราะจะทำให้ลูกค้ามีความสะดวกเพิ่มมากขึ้น

“ตลาด HORECA และ MEDICAL มีมูลค่ากว่าแสนล้านบาท และขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตลาดโฮเรก้าที่เป็นฐานลูกค้าออฟฟิศเมทเกือบ 20% หรือกว่า 4,800 ราย จากผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ราว 25,000 ราย รวมทั้งผู้ประกอบการรายเล็กๆ อย่างร้านกาแฟ หรือร้านอาหารที่มีอยู่อีกกว่า 2-3 แสนราย ก็จะเป็นโอกาสให้สามารถขยายเพิ่มเติมได้ในอนาคต ขณะที่ในส่วนของ FACTORY และ DIY มูลค่าตลาดไม่ต่ำกว่า 6-7 หมื่นล้านบาท ซึ่งมากกว่าตลาด Office Supply ที่มีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และแม้จะยังเติบโตทุกปี แต่การเพิ่มการเติบโตทั้งในแนวลึกและกว้างก็จะเพิ่มโอกาสที่มากกว่าให้กับธุรกิจได้”

แม้จะนำร่องใน 3 ธุรกิจที่เห็นการเติบโตอย่างโดดเด่นและชัดเจน ประกอบกับมีฐานลูกค้าที่ค่อนข้างมาก โดยกลุ่มธุรกิจอาหารมีอยู่ 4,800 ราย กลุ่มการแพทย์มีกว่า 1,500 ราย และในกลุ่มโรงงานที่มีอยู่ถึง 4-5 หมื่นราย แต่ใน Pipeline ยังมีอยู่อีกกว่า 10 อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพให้ออฟฟิศเมทสามารถจะขยายไปทำตลาดแบบลงลึกได้ แต่ด้วยการขยายแนวรบใหม่ๆ เช่นนี้ คุณวรวุฒิมองว่า ไม่ใช่เพียงแค่การเพิ่ม Category ใหม่ให้กับธุรกิจเท่านั้น แต่ไม่ต่างจากการเปิดบริษัทใหม่เพิ่มพร้อมกันถึง 3 บริษัท เลยทีเดียว และต้องรอดูผลการตอบรับจาก Top 3 Category ที่นำร่องออกรบไปก่อนว่าจะมีผลลผัพธ์เป็นอย่างไร ก่อนจะเปิดแนวรบใหม่ๆ เพิ่มเติมเข้าไปอีก ซึ่งหากผลตอบรับออกมาดี ภายใน 2-3 ปีจากนี้ จะได้เห็นการขยายธุรกิจที่เจาะเข้าไปในไลน์อัพใหม่ๆ เพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 6-7 อุตสาหกรรมอย่างแน่นอน

ในส่วนของการรุกตลาดเพื่อเจาะเซ็กเม้นต์ใหม่ๆ จะใช้โมเดลเดียวกับที่เคยปั้นให้ออฟฟิศเมทเติบโตขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การพิมพ์แคตตาล็อกในแต่ละ Category เพื่อส่งให้กลุ่มเป้าหมาย โดยเริ่มด้วยกลุ่ม  FACTORY, DIY ที่ตั้งใจจะพิมพ์จำนวน 5 หมื่นเล่ม เพื่อแจกให้ลูกค้าในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม และฝ่ายจัดซื้อของโรงงานต่างๆ ภายในเดือน พ.ค. นี้ โดยได้เพิ่มสินค้าใหม่รวมกว่า 1 หมื่นรายการ ขณะที่ในส่วนของกลุ่ม MEDICAL และ HORECA จะทยอยออกมา ด้วยจำนวนสินค้าเริ่มต้นมากกว่า 5 พันรายการ

“แม้ปัจจุบันออนไลน์จะเป็นช่องทางที่มีความสำคัญเพิ่มขึ้น และจะกลายมาเป็นช่องทางหลักในอนาคต เช่นเดียวกับออฟฟิศเมทที่ช่องทางออนไลน์เติบโตได้ 50% ทุกปี แต่แค็ตตาล็อกยังมีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา สามารถพิสูจน์ได้ว่า แค็ตตาล็อกมีความทรงพลังในการสร้าง Awareness ได้เป็นอย่างดี และถือเป็นคัมภีร์ที่ฝ่ายจัดซื้อต้องใช้ ประกอบกับลูกค้าของอฟฟิศเมทจะรับรู้ได้ว่า สินค้าที่พิมพ์อยู่ในแค็ตตาล็อกจะมีอยู่ในสต็อกและพร้อมจัดส่งให้ทันที แต่ในส่วนของออนไลน์จะมีจุดเด่นที่สามารถอัพเดทเพิ่มเติมสินค้าใหม่ๆ เข้ามาในระหว่างปีได้ แต่ปัจจุบันคนเข้ามาทำออนไลน์มากขึ้น ใครๆ ก็สามารถทำได้ สามารถออกแบบเว็บไซต์ให้สวยให้ดีอย่างไรก็ได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะพิมพ์แคตตาล็อกเป็นหมื่นๆ เล่มได้ ต้องเป็นตัวจริงในธุรกิจเท่านั้น เพราะนอกจากการพิมพ์แคตตาล็อกแล้ว ยังต้องสามารถบริหารจัดการระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย จึงจะทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมั่นได้”

เป้าหมายใหญ่ ศูนย์กลางธุรกิจ B2B

ความเคลื่อนไหวล่าสุดของออฟฟิศเมทในครั้งนี้ ยังสะท้อนถึงเป้าหมายสำคัญที่ออฟฟิศเมทกำลังจะมุ่งไป นั่นก็คือ การขยับตำแหน่งจากที่เคยอยู่ในฐานะ Champion of Office Supply มาสู่การเป็น B2B Business Solutions ไม่ใช่เพียงแค่ OfficeMate แต่จะเป็นทั้ง FactoryMate, HorecaMate, MedicalMate และในธุรกิจอื่นๆ ที่จะตามมาในอนาคต ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในกลุ่มของสินค้าเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้ออฟฟิศเมทได้ขยายเข้าไปในฟากของธุรกิจบริการมาแล้ว ทั้งในส่วนของงานรับส่งพัสดุ งานปริ้นท์ รวมทั้งในธุรกิจ On Demand ต่างๆ เช่น รับออกแบบสินค้าของที่ระลึก หรือของพรีเมียมต่างๆ

“เราจะไม่หยุดอยู่แค่ในธุรกิจอุปกรณ์สำนักงาน แต่เราจะเป็นตัวกลางของคนที่ทำธุรกิจ และคนที่ต้องการซื้อของต่างๆ ให้กับองค์กร ไม่ว่าจะเป็นบริษัทขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทประเภทไหน ต้องการสินค้าอะไร เราจะเป็นผู้ซัพพลายให้ได้ทั้งหมด โดยเฉพาะในตลาดที่ยังไม่มี Key Player Vendor ซึ่งเราจะทำหน้าที่เป็นเหมือน Hub เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนทำธุรกิจ ให้สามารถหาทุกอย่างที่ต้องการได้ภายในจุดเดียว รวมทั้งเจ้าของแบรนด์หรือผู้ขายที่ก็สามารถเข้ามาเป็นพันธมิตรและใช้ออฟฟิศเมทเป็นช่องทางในการเข้าถึงลูกค้าได้เช่นกัน เหมือนอย่างที่สามารถทำได้ในตลาดอุปกรณ์สำนักงาน รวมทั้งจุดเด่นในเรื่องของการให้บริการและลอจิสติกส์ที่จะทำให้ลูกค้าเกิดการซื้อซ้ำและซื้อต่อเนื่อง”

อีกหนึ่งเหตุผลที่ออฟฟิศเมทตัดสินใจขยาย Category ใหม่ในปีนี้ มาจากการที่ Warehouse ในฉะเชิงเทรา ซึ่งลงทุนไปกว่า 1 พันล้านบาท แล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปีนี้เช่นกัน ทำให้มีพื้นที่ในการบริหารจัดกการสินค้าเพิ่มขึ้นจากเดิม 1 เท่าตัว แต่ในแง่ศักยภาพของ Warehouse จะเพิ่มขึ้นได้มากกว่าเดิมถึง 6-8 เท่าตัว เพราะนำระบบ Semi-automated ที่นำแขนกลมาใช้ทำให้ประสิทธิภาพของระบบการบริหารจัดการดีขึ้น เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ส่งผลให้ระบบลอจิสติกส์โดยรวมพัฒนามากยิ่งขึ้นด้วย โดยเชื่อว่าจะสามารถรองรับการทำธุรกิจได้ถึง 10 ปีเลยทีเดียว

“ศักยภาพของแวร์เฮ้าส์ที่เพิ่มขึ้นทำให้สามารถบริหารจัดการสินค้าที่หลากหลายได้ดีขึ้น จึงสามารถขยับไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ ได้ โดยปัจจุบันบริษัทมีการบริหารจัดการสินค้ารวมกว่า 3 หมื่นรายการ และคาดว่าในอนาคตจะมีสินค้าที่ต้องบริหารจัดการเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 2 แสนรายการ ภายใน 2-3 ปีนับจากนี้”

นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาส 2-3 บริษัทจะพัฒนาการส่งสินค้าในรูปแบบ Next Day Delivery ที่สามารถส่งของให้ถึงผู้รับได้ภายในวันถัดไป จากปัจจุบันส่งได้เร็วที่สุดต้องใช้เวลาประมาณ 2 วัน ยิ่งจะส่งผลดีให้กับผู้ที่ทำธุรกิจได้มากขึ้น รวมทั้งมีแผนจะพัฒนาการส่งในรูปแบบ Same Day ในบางพื้นที่ในเขต กทม. และในบางสินค้าตามความเหมาะสม ซึ่งจะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อคนทำธุรกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจ SME หรือร้านอาหารต่างๆ เนื่องจากสามารถทำธุรกิจแบบ Zero Stock สามารถสั่งของใหม่ได้ทุกวัน ลดภาระในการบริหารจัดการสต็อก และช่วยควบคุมต้นทุนให้มีประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

เร่งพัฒนา Omni-channel

Credit : facebook OfficeMate


อีกหนึ่งจุดแข็งที่ออฟฟิศเมทจะชูในปีนี้คือ การเป็นธุรกิจ Convenience Specialty Store เพื่อให้สามารถเข้าถึงธุรกิจได้แบบสะดวกในทุกที่ ทุกเวลา ซึ่งที่ผ่านมาความสะดวกเป็นหนึ่งในข้อจำกัดของธุรกิจ Specialty Store เพราะมีสินค้าจำนวนมาก และหลากหลาย ทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์ในเรื่องของความสะดวกได้ดีนัก

ขณะที่ออฟฟิศเมทจะพัฒนาช่องทางในการเข้าถึงธุรกิจที่หลากหลายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าองค์กรและ SME ทั่วประเทศ หรือพัฒนาช่องทางให้เป็น Omni-channel โดยช่องทางออนไลน์สามารถสั่งซื้อผ่านเว็บไซต์ officemate.co.th และ OfficeMate Mobile App ได้ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมเลือกสถานที่ในการรรับสินค้าตามที่สะดวก ทั้งที่ออฟฟิศลูกค้าหรือสาขาออฟฟิศเมทที่ต้องการ รวมทั้งให้บริการ Call Center 1281 ในการให้บริการจัดหาสินค้าที่อยู่นอกเหนือจากแคตตาล็อก โดยขยายระยะเวลาจาก 5 วัน ต่อสัปดาห์ มาให้บริการทุกวัน ตั้งแต่ 8.30- 18.00 น. โดยไม่หยุดเสาร์- อาทิตย์

ในส่วนของออฟไลน์ สามารถเข้าไปซื้อสินค้าจากหน้าร้านที่กระจายอยู่ 80 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งในปีนี้มีแผนใช้งบอีกกว่า 150 ล้านบาท ในการขยายสโตร์ใหม่เพิ่มเติมอีก 8 แห่ง รวมทั้งจะเปิดโอกาสให้มีแฟรนไชส์เข้ามาบริหารร้านออฟฟิศเมท ซึ่งจะเป็นครั้งแรกสำหรับธุรกิจแบบ Omni-channel Franchise ที่แฟรนไชส์จะมีสิทธิ์นำเว็บทางการของธุรกิจมาเป็นหนึ่งในช่องทางให้กับลูกค้าของตัวเองได้ โดยอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางเพื่อให้โมเดลที่พัฒนาขึ้นเป็นระบบที่มีความแข็งแกร่ง เพื่อให้ผู้ได้รับสิทธิ์เปิดแฟรนไชส์ประสบความสำเร็จ โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ประมาณไตรมาสสามของปีนี้ ขณะที่ผลประกอบการที่วางไว้สิ้นปีนี้ คาดว่าจะเติบโตได้เพิ่มขึ้น 15% สามารถทำรายได้รวม 8,600 ล้านบาท โดยเฉพาะการเติบโตของช่องทางออนไลน์ที่ตั้งเป้าขยายตัวเพิ่มขึ้น 40% และมีรายได้ขยับเป็น 1,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 1,200 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา


แชร์ :

You may also like