HomeBrand Move !!“เทสโก้ โลตัส แฮกกาธอน 2018” โปรเจ็กท์ดิ้นสู้หาทางรอดในธุรกิจค้าปลีก ของเทสโก้ฯ

“เทสโก้ โลตัส แฮกกาธอน 2018” โปรเจ็กท์ดิ้นสู้หาทางรอดในธุรกิจค้าปลีก ของเทสโก้ฯ

แชร์ :

กระแสการเข้ามาสนับสนุนกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพขององค์กรขนาดใหญ่ เป็นหนึ่งแนวทางให้เกิด Breakthrough เพื่อหาโอกาสใหม่ๆ ในการเติบโตให้แก่ธุรกิจตัวเอง รวมไปถึงการเพิ่ม Business Model เพื่อให้ธุรกิจสามารถรักษาระดับการเติบโตไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางหลากหลายความท้าทายที่มีอยู่รอบด้าน ทั้งจากการแข่งขันที่รุนแรง พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างสิ้นเชิง สภาพปัจจัยแวดล้อมทางธุรกิจและเศรษฐกิจต่างๆ รวมทั้งกระแส Technology Disruption ที่ถาโถมเข้ามาอย่างรุนแรงและสร้างให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ตามที่ได้เห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วในหลากหลายธุรกิจ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เช่นเดียวกับเทสโก้ โลตัส หนึ่งในยักษ์ใหญ่ของธุรกิจค้าปลีกระดับโลก ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ควบคู่ไปกับการคำนึงถึงและเข้าใจเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้ง Retail Trend และ Consumer Trend เพื่อนำมาประยุกต์เป็น New Application ที่เป็นประโยชน์แก่ธุรกิจอยู่เสมอ ประกอบกับธุรกิจค้าปลีกยังมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เพราะต่างอยู่ร่วมกันภายใน Supply chain อาทิ ธุรกิจอาหาร เกษตร การเงิน การขนส่ง e-Commerce ดังนั้น การพัฒนาธุรกิจค้าปลีกให้สามารถก้าวไปสู่ความเป็น Retail 4.0 ได้ จึงมีส่วนสำคัญในการช่วยเติมเต็มศักยภาพในการแข่งขันให้กับธุรกิจต่างๆ เหล่านี้ให้มีความครบวงจรยิ่งขึ้น 

โมเดลปั้นสตาร์ทอัพไทยสู่เวทีโลก

ขณะเดียวกันธุรกิจค้าปลีกยังเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจาก Technology Disruption โดยตรง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและต้องปรับตัวอย่างหนัก ทั้งจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่นิยมซื้อสินค้าผ่าน e-Commerce มากขึ้น ธุรกิจค้าปลีกจึงต้องปรับจากการมี Store เพื่อรองรับการจับจ่ายและซื้อสินค้าของผู้บริโภค มาเป็นสถานที่ที่จะสามารถตอบโจทย์การใช้ชีวิตและสร้างประสบการณ์ในรูปแบบต่างๆ ให้แก่ผู้บริโภคแทน รวมไปถึงปัจจัยและองค์ประกอบอื่นๆ ที่ต้องกลับมาทบทวนบทบาทรวมไปถึงการจัดลำดับความสำคัญต่างๆ ในธุรกิจอย่างเหมาะสม

ขณะที่เทสโก้ กรุ๊ป บริษัทแม่ของเทสโก้ โลตัส เริ่มโปรเจ็กต์ Tesco Hackathon ครั้งแรกในประเทศอังกฤษ เมื่อราว 5-6 ปีที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้ธุรกิจ และถือเป็นครั้งแรกในธุรกิจค้าปลีกที่มีการนำโมเดล Hackathon” (แฮกกาธอน) หนึ่งในอีเวนต์ใหญ่ของเหล่าสตาร์ทอัพ นักเขียนโปรแกรม หรือนักพัฒนาซอฟต์แวรต์ รวมทั้งบุคลากรทุกแขนงในแวดวงการพัฒนาและออกแบบซอฟต์แวรต์คอมพิวเตอร์ มาร่วมระดมความคิดจนสามารถเฟ้นหาสุดยอดไอเดีย หรือนวัตกรรมใหม่ต่างๆ มาปรับใช้ในธุรกิจได้อย่างเป็นรูปธรรม ภายในช่วงระยะเวลาอันสั้นระหว่างที่มีการเข้าบูธแคมปันั้นนั่นเอง

คุณสลิลลา สีหพันธุ์

คุณสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวถึงต้นแบบบริการที่ได้มาจาก Tesco Hackathon และนำมาต่อยอดเพื่อให้บริการแก่ลูกค้า เช่น Tesco Now บริการ On Demand Delivery สำหรับการส่งสินค้าบริการด่วนภายใน 1 ชั่วโมง ที่ทางกลุ่มเทสโก้ ในประเทศอังกฤษ ได้นำมาให้บริการเพื่อเพิ่มความสะดวกที่มากขึ้นให้กับผู้บริโภค จากที่ก่อนหน้านั้นการจัดส่งสินค้าแต่ละครั้งต้องใช้เวลาอย่างน้อยราวครึ่งวัน

โดยในปีนี้ เทสโก้ โลตัส ได้นำโปรเจ็กต์ Hackathon เข้ามาเริ่มใช้ในประเทศไทยภายใต้ชื่อโครงการ “เทสโก้ โลตัส แฮกกาธอน 2018” ซึ่งถือว่าเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในวงการค้าปลีกไทย กับการเข้ามาร่วมระดมไอเดียกับเหล่าสตาร์ทอัพเพื่อให้ได้โมเดลในการนำมาต่อยอดทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นทั้งในมิติของการตอบโจทย์หรือแก้ปัญหาที่เป็น Pain Point ของลูกค้า รวมไปถึงการหา Application ต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับ Productivity ให้กับธุรกิจได้ดีมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น New Business Model หรือ New Execution ที่จะนำมาซึ่งการลดต้นทุน หรือเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจในมิติต่างๆ

“ไอเดียของผู้ที่ชนะในโครงการนี้ จะถูกนำไปต่อยอดทางธุรกิจโดยเทสโก้ โลตัสในประเทศไทย จึงถือเป็นการเปิดโอกาสให้แก่เหล่าสตาร์ทอัพที่มีไอเดียสร้างสรรค์มีโอกาสได้ทำงานร่วมกับบริษัทขนาดใหญ่ ช่วยเพิ่มประสบการณ์ในการทำธุรกิจแบบมืออาชีพและมีมุมมองในการต่อยอดการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ให้สามารถตอบโจทย์ธุรกิจได้ดีขึ้น และยังเป็นการผลักดันให้เกิดการพัฒนามากขึ้นในกลุ่มสตาร์ทอัพไทย เพราะไม่ใช่เพียงแค่โอกาสเฉพาะในประเทศเท่านั้น แต่ยังเปิดกว้างไปถึงเครือข่ายธุรกิจในกลุ่มเทสโก้ที่มีอยู่ใน 10 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญในการก้าวไปสู่เวทีระดับโลกของแวดวงสตาร์ทอัพไทยอีกด้วย”

5 เมกะเทรนด์ ขับเคลื่อนนวัตกรรมค้าปลีก

สำหรับประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 3 ที่นำโปรเจ็กต์แฮกกาธอนมาใช้เพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจ หลังจากบริษัทแม่ในอังกฤษเริ่มต้นโครงการ ตามมาด้วยประเทศอินเดีย โดยแต่ละประเทศจะมีการตั้งโจทย์เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมให้ตอบโจทย์ธุรกิจค้าปลีกในด้านต่างๆ ตามบริบทแวดล้อมของแต่ละประเทศหรือเทรนด์ต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในขณะนั้น

โดยในประเทศไทยจัดขึ้นภายใต้ธีม “ค้าปลีกยุคใหม่ สู่ประเทศไทย 4.0” (Revolutionising Retail Towards Thailand 4.0) พร้อมตั้งโจทย์ในการหานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาร้านเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส Store Format ขนาดเล็กที่สุดของเทสโก้ โลตัส และเป็น Touchpoint สำคัญในการเข้าถึงลูกค้าคนไทยได้ทั่วถึงมากที่สุด ทั้งจำนวนสาขาที่มีไม่ต่ำกว่า 1,500 แห่งกระจายไปทั่วประเทศ และยอดการซื้อสินค้าผ่านร้านมากกว่า 415 ล้านครั้งต่อปี

“นวัตกรรมที่ได้จากการพัฒนาเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส สามารถนำมาปรับใช้กับการพัฒนาร้านค้าปลีกขนาดเล็กตามชุมชนทั่วไปที่กระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศอีกด้วย เนื่องจากขนาดของร้านค้าใกล้เคียงกับ Store Format ในกลุ่มนี้มากที่สุด ทำให้นวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมาได้นี้ นอกจากจะเป็นประโยชน์กับเทสโก้ โลตัสแล้ว ยังสามารถนำไปต่อยอดการพัฒนาธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมได้ด้วย จึงทำให้กลายเป็นอีกหนึ่งส่วนที่เข้ามาช่วยเหลือยกระดับธุรกิจค้าปลีกโดยรวมของประเทศไทยให้เกิดการพัฒนาและสามารถแข่งขันได้ในฐานะที่เป็น Retail 4.0 อย่างแท้จริง”

สำหรับโจทย์ที่ทางโครงการใช้ในการวางกรอบเพื่อพัฒนานวัตกรรมให้แก่ธรกิจค้าปลีกของเหล่าสตาร์ทอัพที่เข้ามาร่วมในโครงการครั้งนี้ จะอยู่ภายใต้ 5 เมกะเทรนด์ที่มีอิทธิพลต่อโลกค้าปลีกในปัจจุบัน ประกอบด้วย

Pic. : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

1. Digital Transformation บทบาทและอิทธิพลของโลกดิจิทัลและเทคโนโลยี ที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในธุรกิจค้าปลีก ไม่ว่าจะในแง่ของการแข่งขัน หรือพฤติกรรมของผู้บริโภค

2. Healthy Lifestyle สอดคล้องกับพฤติกรรมการใส่ใจและให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องของการดูแลสุขภาพ

3. New Family Structure โครงสร้างครอบครัวประชากรไทยที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เช่น มีขนาดเล็กลง รูปแบบการใช้ชีวิตหรือไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไป ลักษณะที่อยู่อาศัยที่เปลี่ยนไป เป็นต้น

4. Experience & Convenience การให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า รวมทั้งการอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น

5. Sustainable สอดคล้องไปกับเป้าหมายในการทำธุรกิจที่อยู่บนพื้นฐานของการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

นวัตกรรมที่ดีต้องขายได้และมีประโยชน์  

คุณอมฤต เจริญพันธ์ หนึ่งตัวอย่างสตาร์ทอัพไทยที่ประสบความสำเร็จในการบุกเบิกธุรกิจ Co-working Space ให้เป็นที่นิยมแพร่หลายในประเทศไทยอย่าง “HUBBA” แนะนำสตาร์ทอัพไทยที่อยากประสบความสำเร็จ ต้องคำนึงว่านวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นมานั้นต้องมีประโยชน์ต่อสังคมหรือตอบโจทย์ธุรกิจ เพราะสตาร์ทอัพไทยส่วนใหญ่จะมีไอเดียที่ดี แต่ยังขาดองค์ประกอบสำคัญในการเปลี่ยนไอเดียเหล่านี้ให้กลายเป็นธุรกิจ

คุณอมฤต เจริญพันธ์

“สตาร์ทอัพที่จะประสบความสำเร็จต้องประกอบด้วย 3H คือ Hacker คือ กลุ่มคนที่เป็นผู้สร้างหรือพัฒนานวัตกรรมหรือเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นมา Hustler กลุ่มคนที่สามารถขาย ทำการตลาด หรือระดมทุนจากไอเดียที่คิดค้นขึ้นมาได้ และ Hipster  กลุ่มคนที่เข้าใจเทรนด์ และมีความสามารถในการออกแบบหรือดีไซน์ให้สิ่งต่างๆ ที่คิดขึ้มาดูน่าใช้ น่าสนใจ รวมไปถึงกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องของข้อมูลอินไซต์ หรือรีเสิร์ชต่างๆ”

แม้สตาร์ทอัพไทยจะไม่โดดเด่นในเรื่องของการสร้างแพลตฟอร์มที่สามารถดึงดูดให้คนจำนวนมากจากทั่วโลกมาใช้ แต่กลับมีจำนวนสตาร์ทอัพไทยที่มีโอกาสทำงานร่วมกับองค์กรขนาดใหญ่มากที่สุดในอาเซียน โดยหัวใจสำคัญที่นำมาสู่ความสำเร็จของสตาร์ทอัพ เพื่อให้เป็นมากกว่าแค่กลุ่ม SME ที่มีเทคโนโลยี อยู่ที่การมีทีมที่ดี มีผู้สนับสนุนที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ และมีความเข้าในใจในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งอย่างถ่องแท้ ไม่ใช่เพียงแค่มีไอเดีย มีความคิดอยากสร้างนวัตกรรมขึ้นมาโดยที่ไม่มีความเข้าใจใดๆ ในธุรกิจเหล่านั้นเลย

โครงการเทสโก้ โลตัส แฮกกาธอน 2018 ที่จัดขึ้นนี้ จะเป็นโอกาสสำคัญในการทำให้สตาร์ทอัพไทย มีความรู้ความเข้าใจในการหาแอปพลิเคชั่นที่ช่วยแก้ Pain Point ต่างๆ ของผู้บริโภค มีความเข้าใจพื้นฐานในการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ธุรกิจได้มากขึ้น เพราะปัญหาหนึ่งที่เห็นได้บ่อยจากเหล่าสตาร์ทอัพที่ส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจในเรื่องของธุรกิจหรืออุตสาหกรรมนั้นๆ บางคนรู้แต่เรื่องเทคโนโลยี โดยที่ไม่มีความเข้าใจผู้บริโภคทำให้ไม่สามารถสร้างแอปพลิเคชั่นให้เป็นที่ต้องการในการนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์อย่างจริงจัง

“ที่สำคัญประเทศไทยยังไม่มี Next Unicorn ที่สามารถสร้างนวัตกรรมที่มีศักยภาพในการเติบโตมากกว่าแค่ในประเทศไทย หรือเป็นไอเดียที่สามารถช่วยแก้ปัญหาได้มากกว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในไทย แต่ต้องเป็นไอเดียที่คนในอาเซียน หรือคนทั่วทั้งโลกให้ความสนใจ อยากจะร่วมลงทุน หรืออยากที่จะเข้ามาร่วมงานด้วย จนกลายเป็นโมเดลที่สามารถขยายการเติบโตไปได้ในหลายๆ ประเทศ จนถึงในระดับโลก”

เทสโก้ โลตัส แฮกกาธอน 2018 เปิดรับสมัครผู้ที่สนใจ ทั้งในประเภทบุคคลและทีม ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจสตาร์ทอัพ บุคคลทั่วไปจากทุกวงการ นักเรียน นิสิต นักศึกษา ตั้งแต่ 8 ม.ค. –  20 ก.พ. 2561 โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมและสมัครผ่านทาง www.facebook.com/TescoLotusHackathon2018 โดยจะมีการจัดกิจกรรม Open House วันที่ 3 มีนาคม 2561 เพื่อเป็นการปฐมนิเทศให้กับผู้เข้าร่วมแข่งขันแฮกกาธอน ได้เรียนรู้เกี่ยวกับธุรกิจของเทสโก้ โลตัส และได้รับความรู้จากกูรูในสาขาต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง ก่อนเริ่มต้นแข่งขันในวันที่ 16-18 มีนาคม ให้เวลาแข่งขันทั้งสิ้น 48 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้เข้าสมัครได้ระดมความคิดและนำเสนอไอเดียกันอย่างเต็มที่

สำหรับคณะกรรมการตัดสินประกอบไปด้วย  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และผู้บริหารเทสโก้ โลตัส  ชิงรางวัลมูลค่า 400,000 บาท ตั๋วเครื่องบินไป-กลับ กรุงเทพฯ ลอนดอน เพื่อไปดูงานที่เทสโก้ แล็บ ประเทศอังกฤษ และพบปะผู้บริหารกลุ่มเทสโก้ นอกจากนั้นยังมีรางวัลเงินสดสำหรับทีมที่ได้รับการคัดสรรค์ไอเดียในประเภทต่างๆ รวมมูลค่ารางวัลทั้งหมดกว่า 450,000 บาท


แชร์ :

You may also like