HomeBrand Move !!“ไปรษณีย์ 4.0” เมื่อตู้ ปณ. เปลี่ยนเป็น “พี่ตู้…รู้ทุกเรื่อง” ใช้โซลาร์เซลล์-ชาร์จโทรศัพท์ได้

“ไปรษณีย์ 4.0” เมื่อตู้ ปณ. เปลี่ยนเป็น “พี่ตู้…รู้ทุกเรื่อง” ใช้โซลาร์เซลล์-ชาร์จโทรศัพท์ได้

แชร์ :


เมื่อการติดต่อสื่อสารของผู้คนยุคปัจจุบัน มีหลากหลายช่องทางมากมาย แถมยังทันอกทันใจมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ตู้ไปรษณีย์สีแดงๆ ที่ใช้เพื่อการรับส่งจดหมายที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดี อาจไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มศักยภาพเหมือนในสมัยก่อน

และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายในการ Transform สู่  ไปรษณีย์ 4.0 ในการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้คนในยุคดิจิตอล รวมทั้งพร้อมสำหรับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด พยายามพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ  มาใส่ในระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงในมิติต่างๆ  ที่จะส่งผลประโยชน์ให้กับชุมชนต่างๆ ได้ทั่วประเทศ และเกิดประโยชน์มากที่สุด

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ประกอบกับในโอกาส ก้าวสู่ปีที่ 15 ของการจัดตั้งเป็น บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ 134 ปี ของการกำเนิดกิจการไปรษณีย์ไทย เราจะได้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงที่มีความทันสมัย และเต็มไปด้วยนวัตกรรมต่างๆ  ทยอยกันออกมาแนะนำตัวกันอย่างต่อเนื่อง จนได้ภาพเต็มๆ ของการเป็นไปรษณีย์ 4.0 ตามเป้าหมาย ในปี 2562  โดยสิ่งแรกที่ไปรษณีย์ไทยภูมิใจ และพร้อมที่จะแนะนำต่อสาธารณชน คือโฉมใหม่ของตู้ไปรษณีย์ กับสีเหลืองสดใส แปลกตา พร้อมชื่อเรียกใหม่ว่า “พี่ตู้…รู้ทุกเรื่อง”

พลเอกสาธิต พิธรัตน์  ประธานกรรมการ และ คุณสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท ) ผู้นำและแม่ทัพหญิงคนสำคัญของ ปณท  ร่วมกันให้รายละเอียดว่า ปัจจุบันตู้ไปรษณีย์ลดบทบาทและความสำคัญลงมาก เพราะจำนวนคนส่งจดหมายลดน้อยลง ทำให้มีแนวคิดที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตู้ไปรษณีย์ที่มีกระจายอยู่จำนวนมากทั่วทั้งประเทศ  และเพื่อให้สามารถสร้างประโยชน์แก่ผู้คน สังคม รวมทั้งเป็นหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่ได้ด้วย จึงเป็นที่มาในการพัฒนา”พี่ตู้…รู้ทุกเรื่อง”  ที่สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดที่ตู้ เพื่อดูรายละเอียดสถานที่ท่องเที่ยว ข้อมูลต่างๆ ของจังหวัด สินค้าของดี ของฝาก รวมทั้งสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ทันที โดยระบบการจัดส่งของไปรษณีย์ไทย

“เราเริ่มนำร่องใน จ. พิษณุโลก เนื่องจากเป็นพื้นที่สี่แยกอินโดจีน และยังเป็นเกตเวย์ของภาคเหนือ ภาคอีสาน มีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก เป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องราวน่าสนใจหลายอย่าง และยังมีของดี ของฝาก ผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ โดยข้อมูลในแต่ละตู้จะแตกต่างกันไปตามพื้นที่ที่ตู้แต่ละตู้ตั้งอยู่  ด้วยจำนวนนำร่อง 15 ตู้  วางอำเภอละ 1 ตู้ ใน 8 อำเภอ ส่วนอำเภอเมืองมีจำนวน 7 ตู้ โดยเชื่อมั่นว่าจะมีส่วนช่วยประชาสัมพันธ์และกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นของแต่ละพื้นทีให้ไหลเวียนได้ดีขึ้น”

สำหรับตู้ล็อตแรกที่เป็นสีเหลือง เนื่องจาก เป็นสีของดอกนนทรี ดอกไม้ประจำจังหวัดพิษณุโลก  ซึ่งหากมีการกระจายไปยังจังหวัดอื่นๆ ก็สามารถดีไซน์ให้มีความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของแต่ละจังหวัดได้ และจะมีข้อมูลที่แตกต่างกันไปของแต่ละจังหวัด โดยมีแผนจะกระจายให้ครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ  ซึ่งนอกจากข้อมูลเกี่ยวกับแต่ละจังหวัด สถานที่ท่องเที่ยว หรือผลิตภัณฑ์ชุมชนต่างๆ  ตู้ไปรษณีย์โฉมใหม่นี้ยังเป็นประโยชน์ต่อผู้คนในชุมชน เพราะภายในตู้จะมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้ด้านบน เพื่อเก็บสะสมพลังงาน และเมื่อบรรยากาศเริ่มมืดก็จะมีไฟส่องสว่างจากตู้ เพื่อความปลอดภัยของคนในชุมชน รวมทั้งด้านข้างยังมีช่อง USB สำหรับชาร์จโทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ได้อีกด้วย

สำหรับโอกาสในการต่อยอดเพื่อให้  พี่ตู้..รู้ทุกเรื่อง  สามารถสร้างประโยชน์และมีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น คือ โอกาสในการเข้าไปร่วมในนโยบาย อินเตอร์เน็ตประชารัฐ  ร่วมกับสำนักงานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยใช้ตู้ไปรษณีย์ที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นหนึ่งในจุดที่ช่วยกระจายสัญญาณ Wi-Fi  เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารและการเรียนรู้ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายหลักของไปรษณีย์ไทยที่ต้องการให้ที่ทำการไปรษณีย์ที่มีกว่า  1,300 จุดทั่วประเทศ สามารถเป็นศูนย์กลางของแต่ละชุมชนได้

ขณะที่ในมิติของการเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของ ปณท นั้น จะพยายามลดขั้นตอนต่างๆ ที่เป็น Manual ลง เพื่อทำให้เกิดความสะดวกสบายมากขึ้น ทั้งต่อผู้ทำงานและผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใน 4 ส่วน สำคัญของส่วนงานด้านการสื่อสาร ทั้งรับฝาก คัดแยก ส่งต่อ และนำจ่าย โดยเฉพาะการพัฒนาแอพพลิเคชั่น Prompt Post  ที่สามารถลงทะเบียนรายละเอียดของสินค้าที่ต้องการส่งมาก่อนล่วงหน้า เพื่อลดความแออัดบริเวณหน้าเค้าน์เตอร์ ทำให้ลดเวลาในการรอคิวหรือให้บริการลง รวมทั้งสามารถสแกนข้อมูลการส่งสินค้าได้คราวละมากกว่า 1 ชิ้น เพื่อสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ส่ง โดยเฉพาะผู้ทำธุรกิจด้าน E commerce ที่ส่วนใหญ่มักส่งสินค้าคราวละมากๆ

นอกจากนี้  ยังมีการพัฒนาธุรกิจให้ลูกค้าสะดวกต่อการใช้บริการและมีความพึงพอใจยิ่งขึ้น ทั้งการพัฒนาแอปฯ  Messenger Post ที่สามารถเรียกบริการไปรับพัสดุหรือเอกสารได้ถึงสถานที่  หรือการเพิ่มบริการ Same Day Post  เพื่อความรวดเร็วในการส่งสินค้าภายในวันเดียว  ซึ่งจะนำร่องบริการที่ภาคธุรกิจที่ต้องขนส่งสินค้าครั้งละมากๆ ก่อนจะขยายการให้บริการมาสู่คนทั่วไปตามมา

“และเพื่อให้การบริการทำได้อย่างครบวงจร ทาง ปณท เตรียมพัฒนา E Wallet ขึ้นมาเพื่อเป็นโซลูชั่นส์ในการอำนวยความสะดวกในการชำระค่าบริการต่างๆ ของลูกค้า  หรือระหว่างลูกค้าที่ส่งสินค้าผ่านทางไปรษณีย์ ก่อนจะพัฒนาไปสู่การชำระค่าสาธารณูปโภคอื่นๆ  ตามมาเพิ่มเติมในอนาคต”

การรุกธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพทำให้ ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ปณท สามรถเติบโตได้ตามเป้าหมาย มีรายได้มากกว่า 1.3 หมื่นล้าน  ทำกำไรได้เกือบ 2 พันล้านบาท  โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจาก 2 กลุ่มธุรกิจหลัก คือ ด้านบริการไปรษณีย์ภัณฑ์ 38%  และกลุ่มงานบริการขนส่งและโลจิสติกส์ ด้วยสัดส่วนถึง 42%  หรือราว 6 พันล้านบาท เนื่องจากปัจจัยสำคัญในการขยายตัวของธุรกิจ E Commerce  เป็นสำคัญ ขณะที่รายได้สิ้นปีตั้งเป้าไว้ 26,000  ล้านบาท และสามารถทำกำไรได้ 3,300 ล้านบาท

สำหรับ Road Map สู่การเป็นไปรษณีย์ 4.0 อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2562 ภายใต้งบประมาณในการขับเคลื่อนรวม 7 พันล้านบาท  โดยมีทิศทางในการดำเนินงานด้วยการโฟกัสจุดแข็งจากการมีเครือข่ายที่สามารถเข้าถึงและรู้จักชุมชนได้ทั่วทั้งประเทศ  เพื่อผลักดันเศรษฐกิจระดับฐานราก พร้อมมุ่งมั่นพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น ผ่านการพัฒนา 3 ส่วนหลักตอบโจทย์ความต้องการผู้ประกอบการชุมชน ได้แก่

1. e-Marketplace & Platform ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ไทยแลนด์โพสต์มาร์ท (www.thailandpostmart.com) เพื่อเป็นมาร์เก็ตเพลสระดับประเทศ พื้นที่ฝากขายสินค้าที่รวบรวมสินค้าชุมชนจากผู้ประกอบการทุกพื้นที่ในประเทศไทย

2. e-Logistics คิดค้นและพัฒนาช่องทางส่งของให้กลุ่มลูกค้าอีคอมเมิร์ซ อาทิ กล่องฟอร์คอมเมิร์ซ กล่องลดต้นทุน หนุนธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ บริการนำจ่ายให้ผู้รับปลายทาง C2C Fulfillment Solution เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนเมืองให้ได้รับสิ่งของที่รวดเร็วขึ้น และ บริการกำหนดจุดรับสินค้า (Drop Off) เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเลือกสถานที่รับสินค้าที่สะดวกได้

3. e-Payment พัฒนาระบบการชำระค่าสินค้าและบริการ ได้สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย สู่การเป็นดิจิทัลวอลเล็ท (Digital Wallet) รองรับสังคมไร้เงินสด

นอกจากนี้  จะมุ่งหน้ายกระดับสู่ “ไปรษณีย์ 4.0” ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้กับระบบงานทุกกระบวนการ ทั้งงานรับฝาก คัดแยก ส่งต่อ และนำจ่าย เพื่อประสิทธิภาพ และมาตรฐานที่เข้มข้นมากขึ้น โดยจะทำการจัดตั้งเครือข่ายรถยนต์สำหรับรับฝากสิ่งของ ณ ที่อยู่ลูกค้ากลุ่มอีคอมเมิร์ซ นำร่องที่ที่การไปรษณีย์ในเขตกรุงเทพฯ 10 แห่ง ได้แก่ สามเสนใน หลักสี่ ปากเกร็ด จระเข้บัว รังสิต คลองจั่น ภาษีเจริญ ยานนาวา พระโขนง และพระประแดง รวมทั้งเพิ่มจำนวนตู้บริการ iBox เพื่อลดความแออัดของผู้ใช้บริการบริเวณห้องรอจ่าย จัดตั้งจุดรับสิ่งของที่อยู่ใกล้บ้าน (Drop Station) โดยตั้งเป้าในการจัดตั้งทั้งหมด 80 จุดเพื่อให้ครอบคลุมผู้ใช้บริการทั่วประเทศ เป็นต้น

 


แชร์ :

You may also like