HomeCreativityผ่า ‘ภูฏานโมเดล’ ทฏษฎี GNH ขับเคลื่อนประเทศด้วย ‘ความสุข’ มวลรวมของคนในชาติ

ผ่า ‘ภูฏานโมเดล’ ทฏษฎี GNH ขับเคลื่อนประเทศด้วย ‘ความสุข’ มวลรวมของคนในชาติ

แชร์ :

เป็นหนึ่งประเทศที่สร้างแบรนดิ้งระดับชาติได้อย่างชัดเจนสำหรับ ภูฏาน ประเทศเล็กๆ ทางฝั่งตะวันออกของเทือกเขาหิมาลัย โดยวางแนวทางการขับเคลื่อนพัฒนาภายใต้กรอบการสร้าง “ความสุขมวลรวมประชาชาติ” หรือ GNH (Gross National Happiness) ตามพระราชปณิธานของอดีตพระราชาธิบดี จิกมี ซิงเย วังชุก พระราชาธิบดีลำดับที่ 4 แห่งราชอาณาจักรภูฏาน ซึ่งได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะสร้างความสุขให้ประชาชนภายในประเทศมากกว่าสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไว้ตั้งแต่ปี 1970  ผ่านคำกล่าวที่เลื่องลือไปทั่วโลกว่า  “Gross National Happiness is more important than Gross National Product”  

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

การขับเคลื่อนนโยบาย GNH ของราชอาณาจักรภูฏาน ไม่ใช่เพียงอุดมการณ์ที่สวยหรู ล่องลอย แต่มีหลักการอยู่บนแนวทางการปฏิบัติไปสู่การพัฒนาอย่างรอบด้าน ด้วยการวางเป็นนโยบาย 4 เสาหลัก และ  9 แนวทางปฏิบัติ (4 Pillars and 9 Domains) เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาในแบบฉบับ “ภูฎาน โมเดล”  อย่างเป็นรูปธรรม

ในส่วนของนโยบาย 4 เสาหลัก ที่เป็นแก่นสำคัญของ GNH ประกอบด้วย การบริหารอย่างมีธรรมาภิบาล (Good Governance ), การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแบบยั่งยืน (Sustainable Socio-economic Development)  การส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งคุณค่าทางวัฒนธรรม (Preservation and Promotion of Culture) และการให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสภาพแวดล้อม (Environmental Conservation)   พร้อมทั้งได้วาง  9 แนวทาง เพื่อเป็นดัชนีในการชี้วัดอย่างเป็นรูปธรรม แสดงถึงทิศทางในการพัฒนาที่เกิดขึ้น และสามารถวัดผลการขับเคลื่อนภายใต้นโยบาย GNH ที่สามารถจับต้องได้  ประกอบด้วย

  1. การมีคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ตามมาตรฐาน (Living standards)
  2. ประชาชนมีการศึกษา (Education)
  3. มีสุขภาพที่แข็งแรง (Health)
  4. ความสามารถในการรักษาความสมดุลของสภาพแวดล้อม (Environment )
  5. การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน (Community vitality)
  6. การใช้เวลาในการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม (Time-use) หรือสร้างความสมดุลเรื่อง Work Life Balance
  7. การมีสภาวะทางด้านจิตใจที่ดี (Psychological well-being)
  8. การมีธรรมาภิบาล (Good governance)
  9. ส่งเสริมและรักษาวัฒนธรรมของชาติ (Cultural resilience and promotion)

และเมื่อแแนวคิดเรื่อง GNH กลายมาเป็นหัวข้อที่นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกให้ความสนใจ ขณะที่ภูฏานเริ่มมีแนวทางในการส่งเสริมแนวคิด GNH ออกไปนอกประเทศภูฏานมากขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเข้ากับแนวทางในการพัฒนาของภาคธุรกิจ โดยล่าสุดเจ้าหญิงเคซัง โชเดน วังชุก พระขนิษฐาในสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล  วังชุก ทรงกล่าวแสดงแนวพระราชดำริและวิสัยทัศน์ในการพัฒนาธุรกิจ ภายใต้แนวคิด GNH  ทำให้ภาพความเชื่อมโยงระหว่างปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับดัชนีความสุขมวลรวม (Happiness index) ฉายภาพชัดขึ้น โดยเฉพาะการมองเห็นเป้าหมายสุดท้ายในการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก็คือเรื่องของความสุข หรือ Happiness นั่นเอง

เจ้าหญิงเคซัง โชเดน วังชุก

GNH – เศษฐกิจพอเพียง รอยต่อที่พอดี  

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แบรนด์บีอิ้ง จำกัด ที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ และผู้อำนวยการโครงการ Sustainable Brands ประจำประเทศไทย  ให้แนวคิดเรื่องการขับเคลื่อนด้วยทฤษฎี GNH ว่า ภาพของภูฏานจะชัดมากเมื่อพูดถึง GNH แต่ก่อนหน้านี้ หลายคนมองเป็นเรื่องภายใน จึงไม่รู้ว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ แต่เมื่อเข้าสู่ยุค Globalization ที่มีการแชร์องค์ความรู้ต่างๆ ระหว่างกันมากขึ้น โดยเฉพาะในมิติของการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ทำให้ภูฏานมีแนวคิดยกระดับเรื่อง GNH ให้เป็นอีกหนึ่งองค์ความรู้เพื่อพัฒนาโลกใบนี้ จนมีการจัดตั้ง GNH Centre เพื่อเป็นตัวกลางในการเผยแพร่ความรู้และแบ่งปันเรื่องของ GNH เพื่อให้คนทั่วไปมีความเข้าใจเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ทั้งในมิติของการพัฒนาประเทศ พัฒนาองค์กร หรือในระดับปัจเจกชนที่นำแนวคิดไปใช้ในการดำรงชีวิตของตัวเองก็ตาม

ดร.ศิริกุล เลากัยกุล

“ความแตกต่างของ GNH คือ การทำให้แนวคิดเรื่องความยั่งยืนสามารถจับต้องได้ จากตัวชี้วัดใน 4 Pillars และ 9 Domains ที่มีอยู่ และยังพบความมหัศจรรย์ของหลักการนี้ ที่สามารถเชื่อมต่ออย่างพอดีกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงวางรากฐานเหล่านี้ไว้ให้ประชาชนไทยมานานแล้ว ด้วยการทำสิ่งที่พอดีกับตัวเองอย่างพอประมาณ เมื่อเข้มแข็งก็สามารถแบ่งปันให้คนอื่นในสังคมต่อได้ เพราะความสุขที่เกิดขึ้นต้องเป็นความสุขแบบมวลรวมไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง โดยมาตรวัดความสุขต้องมองมากกว่าแค่เรื่องของวัตถุ หรือแค่มิติของเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ซึ่งในความเป็นจริงการเติบโตเหล่านี้ อาจเป็นการเติบโตที่ไม่มีคุณภาพเลยก็ได้”

การพัฒนาต่างๆ ที่นำมาสู่การขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ไม่ว่าจะมีจุดกำเนิดจากประเทศใด หากมีการผลักดันให้กลายเป็นวาระของโลก ย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ชัดขึ้น  ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นหลายฝ่ายตื่นตัวในเรื่องเหล่านี้มากขึ้น และเป็นการเพิ่มขึ้นในมิติของคุณภาพ โดยเฉพาะในภาคธุรกิจของไทย ที่ไม่ว่าจะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ กลาง หรือในกลุ่ม SME ต่างมองเรื่องการทำธุรกิจด้วยสำนึกรับผิดชอบและแบ่งปันมากขึ้น เนื่องจากมีความคุ้นเคยและมีต้นแบบจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาก่อน ขณะที่ภูฏานเองก็มีแนวคิดในทิศทางเดียวกัน โดยมีจุดหมายปลายทางเดียวกันในการสร้างความยั่งยืนที่มีความสุขเป็นปลายทาง โดยเฉพาะปัจจุบันที่ก้าวเข้าสู่ยุคแห่ง Spiritual ที่คนเริ่มมองหาความสุขในลักษณะที่ Beyond Material มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายสำคัญอยู่ที่การประยุกต์องค์ความรู้มาต่อยอดเป็นแนวทางในการปฏิบัติที่จะเกิดผลได้จริง การเข้าไปเรียนรู้ในพื้นที่จริงจึงมีความสำคัญ เพื่อสามารถมองหาวิธีการหรือแนวทางในการนำไปปรับใช้ รวมทั้งหาทางสายกลาง หรือจุดที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยเฉพาะความสามารถในการเปลี่ยน Conceptual Thinking  ไปสู่ Application ที่เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจ วัฒนธรรมองค์กรแต่ละแห่ง หรือการหาทางออกให้กับปัญหาที่แต่ละธุรกิจกำลังเผชิญอยู่ จึงเกิดกิจกรรม “SB Leaders Journey, GNH & Business, Bhutan” ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 – 14 กันยายน 2560 ณ ประเทศภูฏาน เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงและนักธุรกิจชั้นนำของไทยได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีนำแนวคิดเรื่อง GNH มาใช้กับธุรกิจได้อย่างไร รวมทั้งเข้าใจเหตุผลที่ทฤษฎี GNH จะก้าวมาเป็นเครื่องมือที่นักธุรกิจต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจ รวมถึงให้ความสำคัญ

B.GRIMM นำร่อง GNH Centre Thailand

สำหรับประเทศไทย บริษัท B.Grimm ซึ่งทำธุรกิจในไทยมากว่า 139 ปี และมีธุรกิจหลากหลาย ทั้งด้านพลังงาน ระบบอาคารและอุตสาหกรรม สุขภาพ การคมนาคม  วิถีชีวิตและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และมีปรัชญาในการดำเนินงาน คือ ทำธุรกิจด้วยความโอบอ้มอารี” ได้ก้าวเข้ามาเป็นองค์กรต้นแบบในการนำทฏษฎี GNH จากภูฏานมาใช้บริหารธุรกิจและดูแลบุคลากร พร้อมทั้งก่อตั้ง GNH Bhutan Centre Thailand เพื่อแบ่งปันองค์ความรู้ให้แก่ชุมชนและสังคม ผ่าน GNH Program เพื่อเรียนรู้หลักการในการสร้างความสุข ในการใช้เป็นแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยไม่แสวงหาผลกำไร  โดยเริ่มต้นจากพนักงานในองค์กร เพื่อทำให้เป็นต้นแบบ ก่อนจะส่งต่อไปยังมิติอื่นๆ ในสังคม

บี.กริม นำร่องภายในองค์กร โดยพัฒนา GNH Program มาเป็นเครื่องมือพัฒนาองค์กร ธุรกิจ และบุคลากร ควบคู่ไปกับการนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ และสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรในหลากหลายด้านอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในแง่ผลประกอบการของธุรกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง การเติบโตขององค์กร รวมทั้งประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานที่เพิ่มมากขึ้น แสดงให้เห็นถึงคุณค่าที่เกิดจากการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งผลกำไรที่บริษัทได้รับไม่ใช่ตัวเงินอย่างเดียว แต่เป็นความสุขพนักงาน และผู้คนที่ต้องเกี่ยวข้องกับองค์กรด้วย ถือเป็นมุมมองในการทำธุรกิจอย่างลึกซึ้ง

 


แชร์ :

You may also like