HomeDigitalอลหม่าน ‘ภาษี e-Business’ ช่วยสร้าง Rule of The Game ได้จริงหรือ?

อลหม่าน ‘ภาษี e-Business’ ช่วยสร้าง Rule of The Game ได้จริงหรือ?

แชร์ :

เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถกเถียงและสร้างความสับสนให้บรรดาผู้ประกอบการ e-Business หลังกรมสรรพากรเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนต่อร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) โดยจะเปิดรับฟังถึงวันที่ 11 ก.ค. 2560 นี้ ก่อนจะสรุปเพื่อเสนอร่างกฎหมายให้กับกระทรวงการคลังต่อไป 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับที่มาของการเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ กรมสรรพากรชี้แจงว่ามาจากการความแพร่หลายในการทำธุรกิจผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business)  ขณะที่การจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการต่างประเทศที่เข้ามาสร้างรายได้หรือมีผลกำไรจากการซื้อขายสินค้าจากประเทศไทยยังทำได้อย่างจำกัด เนื่องจากธุรกรรมออนไลน์ในปัจจุบันมีทั้งส่วนที่อยู่ในระบบ เช่น การจองตั๋วเครื่องบินออนไลน์ หรือการชำระเงินเงินผ่านระบบ Payment ทั้งของราชการและเอกชน รวมทั้งในส่วนที่ไม่อยู่ในระบบ เช่น การจ่ายค่าโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก กูเกิล  ไลน์ หรืออูเบอร์ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้รับการชำระภาษีจากธุรกรรมเหล่านี้

ประกอบกับตามประมวลรัษฎากรยังมีการกำหนดข้อยกเว้นสินค้านำเข้าทางไปรษณีย์ที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท ให้ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในการชำระภาษีระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ เพราะผู้ประกอบการไทยต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยไม่ได้รับการยกเว้น ซึ่งไม่เป็นธรรมในแง่ของการแข่งขันด้วย     

สำหรับประเด็นนี้  คุณภาวุธ  พงษ์วิทยภานุ ในฐานะนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย หรือ สมาคม E-Commerce ให้ความเห็นผ่าน Live ในเฟซบุ๊ก Pawoot Pom Pongvitayapanu ของเขาเอาไว้ว่า กฎหมายฉบับนี้ออกมาเพื่อดูแลผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่ไปประกอบธุรกิจในประเทศอื่นๆ ด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การซื้อโฆษณาผ่านออนไลน์ การดูหนังจาก Netflix  การซื้อสินค้าต่างๆ หรือการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นจากต่างประเทศ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าประเทศไทยกำลังสูญเสียรายได้ไปให้ต่างประเทศโดยตรง โดยเฉพาะในส่วนของเม็ดเงินเพื่อการโฆษณา ที่คาดว่ามีมูลค่าไม่ต่ำกว่าปีละ 1-2 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมถึงการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่น หรือการให้บริการต่างๆ ผ่านออนไลน์ ที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นทั้งสิ้น

“หากมีการรวบรวมข้อมูลจากแบงก์ชาติหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิต จะระบุได้อย่างชัดเจนว่ามีการใช้จ่ายเม็ดเงินในส่วนนี้ไปเท่าไหร่ จ่ายให้ใครบ้าง ซึ่งควรแชร์ข้อมูลเหล่านี้ออกมาให้รับรู้ต่อสาธารณะเพราะเป็นตัวเลขที่มีความสำคัญ และเป็นที่มาของการเกิดขึ้นของกฎหมายฉบับนี้ โดยตามความเข้าใจกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ส่งผลกระทบใดๆ ต่อผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทย แต่มีขึ้นเพื่อควบคุมผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทยมากกว่า”

สำหรับสาระสำคัญภายใต้ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้  ประกอบด้วย

1. บริษัทต่างประเทศที่ประกอบกิจการลักษณะใดลักษณะหนึ่งด้วยสื่ออิเล็กโทรนิกส์ ซึ่งมีรายได้หรือกำไรในประเทศไทย ให้ถือว่าเป็นผู้ประกอบกิจการในไทย มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในประเทศไทย โดยลักษณะที่เรียกว่าเป็นการประกอบกิจการ คือ

– มีการใช้โดเมนท้องถิ่นไทย เช่น Google.co.th,

– มีการสร้างระบบชำระเงินเป็นสกุลเงินไทย หรือมีการโอนเงินออกจากประเทศไทย

– กรณีอื่นๆ ตามที่อธิบดีกำหนด ซึ่งจะเป็นเรื่องเพิ่มเติมอื่นๆ ที่มีความเกี่ยวข้องเข้ามา

2. บริษัทต่างประเทศที่ไม่มีที่ตั้งในไทยแต่ได้รับเงินได้พึงประเมินจากการประกอบกิจการ อาทิ ค่าโฆษณาออนไลน์ ค่าใช้พื้นที่ในเว็บไซต์ หรือประเภทที่จะกำหนดโดยกฎกระทรวงที่จะมีตามมาอีก โดยกำหนดให้ผู้จ่ายสามารถหักภาษี 15% และนำส่งสรรพากร

3. ผู้ประกอบการต่างประเทศในกลุ่มผู้ให้บริการต่างๆ เช่น หนัง เพลง ซอฟต์แวร์ต่างๆ ซึ่งมีรายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อจ่ายภาษีตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขวิธีการที่อธิบดีกำหนด

4. บริษัทต่างประเทศที่ขายสินค้าหรือให้บริการผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่น จะกำหนดให้เจ้าของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชั่นนั้นๆ เป็นตัวแทนในการยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการ โดยมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดเทียบเท่าผู้ประกอบการ ซึ่งกรณีนี้จะครอบคลุมเมื่อมีคนไทยไปซื้อ

5. ยกเลิกการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการนำเข้าสินค้าทางไปรษณีย์ที่มีราคาต่ำกว่า 1,500 บาท โดยจากนี้ไปจะเริ่มคิดตั้งแต่บาทแรก

“ต้องยอมรับว่าคนไทยเริ่มซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น เพราะราคาถูกและได้รับยกเว้นภาษี จึงกลายเป็นช่องให้เงินไหลออกนอกประเทศ ขณะที่กฎหมายฉบับนี้จะควบคุมเฉพาะผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่มาดึงเม็ดเงินออกไป จึงไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อผู้ประกอบการไทย แต่ในแง่ของการปฏิบัติยังคงต้องสร้างความเข้าใจที่ตรงกันในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องของการหัก 15% เพื่อนำส่งสรรพากร ว่าจะสามารถหักได้เลยหรือไม่ จะมีปัญหาใดๆ ตามมาหรือไม่ หรือถ้าจ่ายเต็มจำนวนไป ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ จะนำส่งหรือไม่ รวมทั้งจะส่งผลกระทบใดๆ ต่อภาคธุรกิจโดยรวมหรือไม่”

อย่างไรก็ตาม การกำหนดกรอบที่ชัดเจนเพื่อเข้ามาควบคุมและดูแลถือว่ามีความจำเป็น เพราะในอนาคตการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์จะขยายตัวมากยิ่งขึ้น หากไม่มีกฎหมายเหล่านี้ประเทศไทยจะมีโอกาสเสียดุลการค้าให้กับต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งในหลายๆ ประเทศ เริ่มมีมาตรการเข้ามาดูแล หรือวางระบบให้ผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้าไปอยู่ในระบบเพิ่มมากขึ้น เช่น ออสเตรเลีย เพื่อควบคุมให้มีการดำเนินธุรกิจอย่างตรงไปตรงมา และสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันด้วย สำหรับผู้ที่จะแสดงความคิดเห็นควรพิจารณาทั้ง 2 ด้าน โดยให้ความสำคัญทั้งในมุมมองของผู้บริโภค, ผู้ประกอบการที่ได้ประโยชน์จากการซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ ส่วนอีกด้านเป็นมุมของคนไทยที่ต้องเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ของประเทศที่จะได้จากการจัดเก็บภาษีทั้งกล่าว ทั้งนี้ทุกคนสามารถเข้าไปร่วมเสนอความเห็นให้แก่กรมสรรพากรเพื่อนำไปพิจารณาผ่านทาง http://www.rd.go.th/publish/27682.0.html เพราะนี่เป็นเพียงร่างกฎหมายเท่านั้น อีกทั้งต้องกำหนดขั้นตอนต่างๆ ถ้าหากจะทำให้แนวทางของร่างกฎหมายนี้ใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ

 

Google โยนฝ่ายกฎหมายศึกษาผลกระทบ    

ขณะที่ผู้ประกอบการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบกับข้อกฎหมายใหม่นี้โดยตรงอย่าง Google ที่มีสำนักงานตัวแทนขายและการตลาดอยู่ในประเทศไทย ก็กำลังเร่งศึกษาเงื่อนไขต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมยืนยันว่าปฏิบัติตามกฎระเบียบในทุกประเทศที่เข้าไปดำเนินธุรกิจอย่างเคร่งครัด

โดย ตัวแทนจาก Google Thailand ให้ความเห็นต่อแนวคิดในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาษี e-Business ว่า อยู่ระหว่างการศึกษาข้อกฎหมายว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง มีกฎระเบียบอะไรเพิ่มเติมเข้ามาบ้าง โดยฝ่ายกฎหมายในสิงคโปร์จะเข้ามาดูแลโดยตรง เพราะเป็นเรื่องของระบบหลังบ้าน ขณะที่ทาง Google Thailand จะดูแลทางด้าน Sale และ Marketing เป็นหลัก แต่ตลอด 4-5 ปีที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ได้ทำทุกอย่างภายใต้กฎระเบียบมาโดยตลอด แต่จำเป็นต้องศึกษาอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เพราะบางกรณีถ้ามีการชำระเงินในประเทศหนึ่งไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมาชำระกับอีกประเทศหนึ่ง ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังปรับอัตราภาษีเป็น 15% ในขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ ต้องรอให้มีการศึกษาอย่างชัดเจนออกมาก่อน ประกอบกับกูเกิลประเทศไทยไม่ได้ดูแลเรื่องของรายได้ในส่วนนี้

“โดยปกติการซื้อโฆษณาผ่านกูเกิลหรือยูทูป ต้องขึ้นอยู่กับลูกค้าเป็นหลัก เพราะไม่ได้มีการจำกัดว่าต้องซื้อจากช่องทางใดช่องทางหนึ่งเท่านั้น บางครั้งถ้าเป็น Global Campaign ลูกค้าอาจเลือกซื้อผ่านอเมริกาหรือสิงคโปร์ แต่หากเป็น Local Campaign ก็อาจจะซื้อผ่านเอเยนซี่ในประเทศไทย ซึ่งเราจะไม่สามารถทราบได้เลยว่าโฆษณาที่ขึ้นอยู่บนแพลตฟอร์มในแต่ละชิ้นนั้นเป็นการซื้อผ่านเอเจนซี่จากประเทศใด”

สำหรับการลงโฆษณาบน YouTube  นั้น ปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบที่ปรากฏให้เห็น  แต่สามารถจัดเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 4 รูปแบบ ประกอบด้วย

1.YouTube Masthead เป็นการเหมาหน้าโฮมเพจยูทูปทั้งวัน ทั้งบนโมบายและเดสก์ท็อป เมื่อเปิดหน้าโฮมเพจขึ้นมา จะเห็นวีดีโอแรกที่ขึ้นมาค้างไว้ทั้งวัน เหมาะสำหรับการสร้าง Awareness ให้แคมเปญใหญ่ๆ หรือลอนช์สินค้าใหม่

2.Video Pre-Roll Ad เป็นลักษณะ In-Screen เป็นวิดีโอแอดที่อยู่ในคอนเท็นต์ทั้งช่วงต้นหรือระหว่างที่ดูคอนเท็นต์อยู่และมีวีดีโอโฆษณาแทรกเข้ามา ซึ่งยังรวมถึง Bumper Ad วิดีโอสั้นๆ ยาว 6 วินาที ที่ไม่สามารถกดข้ามได้ แต่หากเป็นวิดีโอที่ยาวกว่านี้ จะสามารถกดข้ามได้

3.Trueview Discovery Ad จะอยู่ในลิสต์ของ Recommend Video เพื่อแนะนำว่าต่อไปควรดูอะไร โดยมีวิดีโอโฆษณาขึ้นมาในลำดับ 1-2 ของลิสต์ โดยไม่ได้แสดงแทรกขึ้นในระหว่างดูคอนเทนต์ ต้องเป็นการคลิกเพื่อเข้าไปดูจริงๆ

4.Display Ad จะเป็นเหมือน Banner Ad ที่โชว์ขึ้นมาจากด้านล่างในจอยูทูปหรือมุมขวาบน ซึ่งจะเป็นโฆษณาแบบภาพ ที่สามารถกดปุ่ม X เพื่อให้แบนเนอร์หายไปได้

เรียกว่ากลุ่ม e-Business ในช่วงนี้มีหลายปัจจัยเข้ามารุมเร้าให้ต้องพิจารณาทุกๆ ส่วนกันอย่างละเอียด ขณะที่การบังคับใช้กฎหมาย หรือกฎระเบียบต่างๆ จากฟากฝั่ง Regulator  ก็ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเช่นกัน เพราะด้วยคำว่า “ไร้พรมแดน” ที่เป็นลักษณะพิเศษของกลุ่มธุรกิจประเภทนี้ ทำให้การกำหนดหรือจำกัดขอบเขตที่หลายๆ ฝ่ายพยายามจะทำให้ชัดเจนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน งานนี้เหล่าผู้คุมกฎต้องยกระดับไปเป็น Regulator 4.0  เพื่อสามารถออกกฎที่สอดคล้องและเหมาะสมกับภูมิทัศน์ใหม่ของธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปจากเดิมค่อนข้างมาก


แชร์ :

You may also like