HomeBrand Move !!ผ่าโมเดล “ศิริราชปิยมหาราชการุณย์” ต้นแบบ รพ.รัฐ บริการพรีเมียม-นำรายได้คืนสู่สังคม

ผ่าโมเดล “ศิริราชปิยมหาราชการุณย์” ต้นแบบ รพ.รัฐ บริการพรีเมียม-นำรายได้คืนสู่สังคม

แชร์ :

“ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์” (SiPH) ถือเป็นต้นแบบโรงพยาบาลรัฐ ที่การบริหารและการให้บริการแบบโรงพยาบาลเอกชน ทั้งคุณภาพศิริราช และมาตรฐานสากล ถึงวันนี้เปิดดำเนินการเป็นเวลา 5 ปีแล้ว ภายใต้แนวคิด “ผู้รับ ผู้ให้” เนื่องจากรายได้ส่วนหนึ่งที่เข้าโรงพยาบาลแห่งนี้ จะส่งกลับคืนสู่ “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” เพื่อนำไปใช้ดำเนินการ “โรงพยาบาลศิริราช” และช่วยเหลือผู้ป่วยที่ด้อยโอกาส ซึ่งในแต่ละปี “ศิริราช” มีผู้ป่วยนอกไม่ต่ำกว่า 3 ล้านคนต่อปี และผู้ป่วยใน 80,000 คนต่อปี

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เบื้องหลังกว่าจะมาเป็น “ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์”

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ ประดิษฐ์ ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เล่าที่มาว่า ในช่วงปี 2546 – 2547 รัฐบาลเริ่มออกนโยบายให้มหาวิทยาลัยรัฐ ออกจากการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ซึ่งรวมถึง “มหาวิทยาลัยมหิดล” ด้วยเช่นกัน นั่นหมายความว่า มหาวิทยาลัยต้องเลี้ยงตัวเองได้ เพราะรัฐบาลจะตัดงบประมาณลงเรื่อยๆ

“คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล” อยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดล ย่อมได้รับผลกระทบจากการถูกตัดงบประมาณ เนื่องจากหน้าที่ของ “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” มี 3 ด้าน คือ การเรียนการสอน – งานวิจัย – การให้บริการทางการแพทย์

เมื่อเป็นเช่นนี้ ช่วงปี 2554 – 2555 ผู้นำของมหาวิทยาลัยมหิดล และคณบดีคณะแพทยศิริราชพยาบาล จึงริเริ่มทดลองทำโครงการหัวใจขนาดเล็กๆ ชื่อ “The Heart by Siriraj” ตั้งภายในโรงพยาบาลศิริราช จำนวน 21 เตียง เพื่อพิสูจน์ว่าถ้า “ศิริราช” ให้บริการคล้ายๆ โรงพยาบาลเอกชน จะมีคนมาใช้บริการไหม และเราจะอยู่ได้ไหม เพื่อหาเงินสนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ศิริราชฯ และช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสของโรงพยาบาลศิริราช

จากโครงการทดลองเล็กๆ ดังกล่าว ประชาชนให้การตอบรับ จึงได้ขยายผลสู่การสร้าง “โรงพยาบาลศิริราช ปิยราชมหาการุณย์” และเปิดดำเนินการ 26 เมษายน 2555

“เหตุผลในการสร้าง “ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์” ประการแรก เราต้องหารายได้เพื่อมาจุนเจือคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อดำเนินโรงพยาบาลศิริราช ในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้มาก และเหตุผลที่สอง เราเชื่อว่าในอนาคตโรงพยาบาลเอกชนจะโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้าจะเห็นการโตขึ้น เนื่องจากประชากรจะมีอายุยืนยาวขึ้น ทำให้ความต้องการบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น ดังนั้นการที่เราเปิดตรงนี้ เพื่อจะธำรงไว้ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ให้อยู่ในระบบ โดยสามารถมีรายได้มาจุนเจือ ทำให้มี SiPH เกิดขึ้น”

5 ปี ยอดผู้ใช้บริการกว่า 4 แสนคน – ส่งเงินคืน “ศิริราช” 625 ล้านบาท

ผลการดำเนินงานตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ในปี 2555 ปีแรกที่เปิดให้บริการ มีผู้ป่วยนอก 29,527 คน ส่วนผู้ป่วยใน 1,232 คน จำนวนเตียง 64 เตียง

ในปี 2556 รายได้เติบโต 140% เมื่อเทียบจากปีที่แล้ว มีผู้ป่วยนอก เพิ่มขึ้นเป็น 148,141 คน ผู้ป่วยใน 5,445 คน จำนวนเตียง 104 เตียง

ปีถัดมา รายได้เติบโต 43% มีผู้ป่วยนอก 234,299 คน ผู้ป่วยใน 7,868 คน จำนวนเตียง 150 เตียง

จากนั้นปี 2558 รายได้เติบโต 45% มีผู้ป่วยนอก 323,257 คน ผู้ป่วยใน 11,719 คน มี 211 เตียง

ส่วนปีที่แล้ว ทำรายได้ 4,000 ล้านบาท เติบโต 25% ขณะที่ผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้นเป็น 426,417 คน ผู้ป่วยใน 13,981 คน จำนวนเตียง 265 เตียง

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ได้ส่งมอบเงินคืน “คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล” เป็นจำนวนเงิน 625 ล้านบาท เพื่อใช้ในกิจการของคณะแพทย์ และช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาส

“ตั้งแต่ปี 2555 – 2559 สิ่งแรกที่เราทำ คือ พัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยเรามี Motto คือ คุณภาพการรักษาแบบศิริราช ได้มาตรฐานสากล จากนั้นในปี 2556 โจทย์ของเราต้องได้มาตรฐานสากล เราขอการรับรอง JCI ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐแห่งแรกที่ได้

ต่อมาปี 2557 เราต่อยอดจากมาตรฐานสากลทั้งโรงพยาบาล ไปสู่มาตรฐานสากลโรคเฉพาะทางที่เราถนัดและมีคนไข้มาหาเป็นจำนวนมาก คือ ข้อเข่า โดยเราได้มาตรฐานสากลด้านการรักษาข้อเข่า จากนั้นปี 2558 เราได้มาตรฐานสากลในด้านเวชภัณฑ์ปลอดเชื้อ และเมื่อปี 2559 จะยกระดับระบบ IT เพื่อช่วยให้แพทย์ และพยาบาลเข้าถึงข้อมูลผู้รักษาได้เร็วขึ้น ถูกต้องแม่นยำขึ้น ทันเวลาและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อผลประโยชน์ของคนไข้”

ปัจจุบัน SiPH เปิดศูนย์รักษาเฉพาะทาง 20 ศูนย์ ครอบคลุมการรักษาโรคยาก และโรคทั่วไป โดยศูนย์ที่มีผู้เข้ารับการรักษามากที่สุด 5 อันดับแรก คือ 1. ศูนย์อายุรกรรม 2. ศูนย์ออร์โธปิดิกส์ 3. ศูนย์เด็ก 4. ศูนย์ศัลยกรรม และ 5. ศูนย์หัวใจ

ชื่อเสียง-มาตรฐาน “ศิริราช” สร้างศรัทธาแบรนด์ “ศิริราช ปิยมหาราชฯ”

ภายใน 5 ปี การเติบโตทั้งด้านรายได้ จำนวนเตียง และผู้ใช้บริการของ “ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์” ถือว่าก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ทั้งที่ไม่ได้ใช้สื่อโฆษณามากนัก นอกเหนือจากใช้ Social Media เป็นหลัก แต่หัวใจสำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้เป็นที่รู้จัก และได้รับการตอบรับจากผู้บริโภค เนื่องจากชื่อเสียง และมาตรฐานของ “ศิริราช” ที่คนไทยให้ความเชื่อมั่นและศรัทธาอยู่แล้ว ดังนั้น คนที่มาใช้บริการทีนี่ ย่อมคาดหวังว่าจะได้รับการรักษากับแพทย์ศิริราช ประกอบกับมาจากการบอกปากต่อปาก (Word of Mouth)

“วัตถุประสงค์ของคนมารับการรักษาที่นี่ เพราะอยากรักษาที่ศิริราช และรักษากับแพทย์ศิริราช แต่เนื่องจากโรงพยาบาลศิริราชต้องดูแลคนไข้กลุ่มหนึ่งอยู่ ซึ่งเป็นภาพใหญ่ของประเทศ เพราะฉะนั้นเราจึงใช้วิธีให้แพทย์ศิริราชเป็นแพทย์ที่ปรึกษา เนื่องจากแพทย์ศิริราชมีงานประจำที่โรงพยาบาลศิริราชเป็นหลัก ขณะเดียวกันมีแพทย์ Full Time ที่ดูแลคนไข้ระหว่างวัน ประจำอยู่ที่นี่จำนวนหนึ่ง โดยปัจจุบันมีแพทย์ที่ปรึกษา 600 คน และแพทย์ Full Time 70 คน

เคสที่มารับการรักษาที่นี่ เป็นเคสยาก ซับซ้อนกว่าโรงพยาบาลเอกชนอื่น เพราะด้วยความที่ “ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์” ใช้มาตรฐานของศิริราช เพราะฉะนั้นบุคลากรศิริราชถูกฟูมฟักประสบการณ์การรักษาโรคที่ซับซ้อน จึงทำให้เคสยากเข้ามาหาเรา”

เปิดแผน ’60 – ’61 มุ่งพัฒนา 4 ด้าน  

แผนการพัฒนา “ศิริราช ปิยมหาราชการุณย์” ระหว่างปี 2560 – 2561 ได้กำหนด 4 ด้านหลัก คือ

1. ขยายการบริการ โดยปีนี้จะเพิ่มเตียงเป็น 300 เตียง พร้อมทั้งเปิดศูนย์ภูมิแพ้ และคลินิกเบาหวาน ไทรอยด์ และต่อมไร้ท่อ โดยตั้งเป้าหมายมีอัตราการเติบโตด้านรายได้ 20% มีผู้ป่วยนอก 511,700 คน ผู้ป่วยใน 16,804 คน และคาดการณ์ว่าปีนี้ จะมอบเงินคืนกลับเพิ่มอีก 250 ล้านบาท

ขณะที่ปี 2561 เปิดจำนวนเตียงได้ครบ 100% อยู่ที่ 357 เตียง และเปิดศูนย์ทางเดินปัสสาวะ

2. การทำ Re-accredit ทั้งมาตรฐาน JCI ทั้งโรงพยาบาล และมาตรฐาน JCI ศูนย์ข้อเข่า

3. พัฒนาบุคลากร ด้วยการจัดฝึกอบรมหลักสูตร Homey Service Experience Standard และ การเสริมสร้างปลูกฝังแก่นความสามารถหลักขององค์กร (Core Competency) “We R SiPH” มีจุดมุ่งหมายต้องการทำให้พนักงาน และผู้ป่วย หรือผู้มาใช้บริการรู้สึกว่าที่นี่เป็น “บ้านหลังที่สอง” เพราะฉะนั้นบุคลากรที่นี่ จะได้รับการปลูกฝังในเรื่อง Homey Service ที่ไม่ได้มองผู้ใช้บริการเป็นพระเจ้า แต่ให้ดูแลทุกคนเหมือน “ญาติ”

4. พัฒนาระบบไอที เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ เข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และทันเวลา ซึ่งปัจจุบันความเร็วโดยเฉลี่ยในการให้บริการคนไข้ 1 คน อยู่ที่ประมาณ 73 นาที ลดลงจากเดิมอยู่ที่ 75 นาที แม้จะยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย 45 นาทีต่อคน แต่เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เข้ามารับการรักษาเพิ่มขึ้น การลดเวลารอคอยลงได้ ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง และพบว่าผู้มาใช้บริการมีความพึงพอใจ ทว่าต่อไประบบไอทีจะเข้ามาพัฒนาปรับปรุงการให้บริการเร็วขึ้น

“ปัจจุบันอัตราครองเตียงของศิริราช ปิยมหาการุณย์ อยู่ที่ 75% ถือว่าแน่นแล้ว เพราะการบริหารจัดการโรงพยาบาลต้องหมุนเวียนให้มีช่องว่าง ไม่ได้เต็ม 100% เนื่องจากจะมีคนไข้ที่เข้ามาแบบไม่ได้นัดคิวล่วงหน้า

หลังจากขยายจำนวนเตียงได้ 357 เตียงแล้ว อาจเปิดเพิ่มอีก 200 เตียง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นในรูปแบบหาทำเลในบริเวณใกล้เคียงนี้ เพื่อสร้างอาคารใหม่ หรือปรับปรุงอาคารปัจจุบันนี้ เพื่อเพิ่มห้องมากขึ้น” ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ ประดิษฐ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงแผนการดำเนินงานในอนาคต


แชร์ :

You may also like