HomeCSRมูลนิธิเอสซีจี ร่วมสร้างนักพัฒนา “ต้นกล้าชุมชน”….ก้าวที่กล้าเพื่อชุมชน

มูลนิธิเอสซีจี ร่วมสร้างนักพัฒนา “ต้นกล้าชุมชน”….ก้าวที่กล้าเพื่อชุมชน

แชร์ :

1

มูลนิธิเอสซีจี มุ่งเน้นการพัฒนา “คน” มาอย่างต่อเนื่อง นับเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้วที่มูลนิธิฯ ได้ร่วมทำงาน แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การทำงานภาคประชาสังคมร่วมกับผู้นำชุมชนมาโดยตลอด และพบว่าปัญหาการขาดแคลนคนรุ่นใหม่ในชุมชนส่งผลให้การพัฒนาชุมชนขับเคลื่อนไปได้ยาก  ด้วยคนหนุ่มสาวจำต้องละถิ่นฐานเข้ามาหางานทำในเมืองหลวงเพื่อหารายได้ให้เพียงพอต่อการครองชีพ  ขณะที่ในบางชุมชน ถึงแม้พวกเขาจะอยากกลับบ้าน แต่กลับไม่มีงานรองรับ รวมถึงปัญหาค่านิยมในสังคมบางแห่งที่พัดพาหนุ่มสาวเหล่านั้นให้ยิ่งไกลออกไปจากบ้าน มูลนิธิเอสซีจี จึงริเริ่มโครงการต้นกล้าชุมชน ขึ้นเมื่อปี 2557 เพื่อเปิดโอกาสให้เมล็ดพันธุ์ชุดใหม่ได้หยั่งรากและเติบโตงอกงามบนผืนดินท้องถิ่นของตนเอง โดยมีพี่เลี้ยงนักพัฒนารุ่นพี่ผู้มากประสบการณ์ในพื้นที่เป็นผู้ชี้แนะแนวทางการทำงานชุมชนอย่างใกล้ชิดทั้งภาคสนามและภาคทฤษฎี

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

7

สำรวย ผัดผล ผู้บริหารศูนย์การเรียนรู้โจ้โก้  เครือข่ายมูลนิธิฮักเมืองน่าน และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเมืองจัง จ. น่าน “มันก็คือโครงการชวนเด็กกลับบ้านนั่นแหละ คำบ่นของเด็กๆ นั้นน่าฟัง ความจริงสถานที่ที่อยากกลับที่สุดก็คือบ้าน แต่มันกลับไม่ได้ เพราะถ้ากลับแล้วจะเจอเสียงสะท้อนเยอะแยะไปหมด พ่อแม่คนไหนถ้าลูกกลับบ้าน ก็จะเกิดคำถามจากคนรอบข้างว่าหางานทำในเมืองไม่ได้เลยกลับบ้าน ผมมองว่ากระบวนการศึกษาและค่านิยมแบบนี้จะยิ่งทำให้ลูกหลานไปไกลบ้าน ครั้นจะให้เป็นผู้นำชุมชน มียศมีตำแหน่งในหมู่บ้าน ปลายทางของมันก็ยังไม่สุดฝัน สุดท้ายจึงมีเสียงสะท้อนจากเด็กๆ ลอยมาในสายลมว่า “ต้องประกอบการ” ผมเชื่อว่าการจะสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ให้อยู่ในชุมชนบ้านเกิดได้นั้น ที่สำคัญที่สุดคือเราต้องมีพื้นที่ให้พวกเขา พื้นที่ปฏิบัติการ (Operation area)  ให้พวกเขาได้ลงมือทำ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนผ่านงานที่พวกเขาทำ สร้างคุณค่าให้แก่งาน สร้างคุณค่าให้ตัวเอง ให้อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี”  

นี่คือสิ่งที่ชายวัยกลางคนผู้ผ่านประสบการณ์การทำงานชุมชนมากว่า 30 ปี ตระหนัก พี่สำรวยยังบอกต่ออีกว่า “เวลานี้แผ่นดินของเราแห้งผาก โล้น แล้ง เราต้องการต้นกล้าใหม่ๆ อยากเห็นต้นกล้ากระจายไปเต็มแผ่นดิน การทำให้แผ่นดินชุ่มชื้นร่มเย็นคือการร่วมกัน  บ่มเพาะต้นกล้า มันคือการบ่มเพาะคนที่เป็นสมองของแผ่นดิน ผมอยากเห็นต้นกล้าพัฒนาบ้านเกิดตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี มีองค์ความรู้ และในวันข้างหน้าอยากเห็นต้นกล้าแข็งแรง และกำหนดวิถีชีวิตตัวเองได้ ต้องสามารถกำหนดแนวทางหมู่บ้านร่วมกับคนในชุมชนได้ นี่คือระบบประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง”

3

สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า “ด้วยความเชื่อว่าไม่มีการสร้างใดจะยั่งยืนไปกว่าการสร้าง คน’  มูลนิธิเอสซีจีจึงเปิดพื้นที่ให้นักพัฒนารุ่นใหม่ได้มีโอกาสนำเสนอโครงการเพื่อพัฒนาท้องถิ่นภูมิลำเนาของตนเองในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางการศึกษา สังคม วัฒนธรรม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  โดยมูลนิธิฯ พร้อมที่จะส่งเสริมศักยภาพการทำงานของต้นกล้าชุมชนโดยสนับสนุนเบี้ยยังชีพ ค่าจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ รวมถึงจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของต้นกล้าตลอดระยะเวลา 3 ปีของการดำเนินโครงการ นอกจากนี้น้องๆ ต้นกล้ายังมีพี่เลี้ยงซึ่งเป็นผู้ที่ทำงานและมีประสบการณ์ในพื้นที่จริงเป็นที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำ เพื่อให้ต้นกล้าสามารถสืบทอดแนวคิดและวิธีปฏิบัติในการทำงานชุมชนได้เป็นอย่างดี และเป็น ‘นักพัฒนารุ่นใหม่’ ที่เป็นมืออาชีพในอนาคต”

คุณสมบัติและหลักเกณฑ์การคัดเลือกต้นกล้าชุมชน

คุณลักษณะของต้นกล้าชุมชน :

1.มีอายุระหว่าง 25 – 35 ปี และมีภูมิลำเนาหรือมีความประสงค์จะทำงานอย่างต่อเนื่องในพื้นที่บ้านเกิดของตนเอง

2.เป็นผู้ใฝ่เรียนรู้และมีจิตอาสา มีประสบการณ์ในการทำงานพัฒนาชุมชนในพื้นที่ที่นำเสนออย่างน้อย 3 ปี โดยต้องมีผลงานภาคสังคมเสนอแก่กรรมการอย่างน้อย 1 ชิ้น และต้องเชื่อมโยงกับโครงการที่เสนอรับการสนับสนุน

3.ชุมชนต้องรับรองว่าผู้สมัครเป็นผู้ที่ทำงานกับชุมชนมาแล้วอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี และโครงการที่เสนอต้องสอดคล้องกับความต้องการหรือประเด็นปัญหาของชุมชน โดยมีพี่เลี้ยงที่เป็นนักพัฒนาซึ่งทำงานในพื้นที่คอยให้คำแนะนำการทำงานภาคสังคมแก่นักพัฒนารุ่นใหม่ตลอดระยะเวลาที่ทำโครงการ

วิธีการคัดเลือกต้นกล้าชุมชน :

1.ผู้ที่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าวต้องส่งใบสมัคร แนบประวัติการทำงาน พร้อมเสนอโครงการที่คิดว่าจะดำเนินการกับพื้นที่ชุมชนของตนเอง

2.มูลนิธิฯ จัดให้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ ในเครือข่ายของมูลนิธิฯ เช่น มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม สมาคมไทบ้าน มูลนิธิฮักเมืองน่าน เป็นต้น ส่งผู้แทนเข้ามาเป็นคณะกรรมการในฐานะผู้ที่มีประสบการณ์ เพื่อคัดเลือกผู้ที่ผ่านเกณฑ์

3.ผู้สมัครจะต้องนำเสนอผลงานพร้อมทั้งโครงการที่จะดำเนินการในชุมชนของตนเองให้กับคณะกรรมการ และพี่เลี้ยงก็จะต้องร่วมนำเสนอแผนในการพัฒนาศักยภาพของตัวต้นกล้า ในระหว่างที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการต้นกล้าชุมชนด้วย

การดำเนินโครงการ

มูลนิธิฯ มีแผนที่จะสนับสนุนเยาวชนจากโครงการต้นกล้าชุมชนเป็นระยะเวลา 3 ปี ซึ่งในช่วงระยะเวลาดังกล่าว  มูลนิธิฯ จะให้การสนับสนุนใน 2 ลักษณะ คือ

1.การสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการตามที่ต้นกล้าชุมชนเสนอ มูลนิธิฯ จะสนับสนุนงบประมาณโครงการที่เป็นประโยชน์ให้กับชุมชนตามที่ต้นกล้าเสนอ โดยการสนับสนุนนั้นแบ่งเป็น เบี้ยยังชีพของต้นกล้า ค่าจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ และค่าตอบแทนการให้คำปรึกษาและพัฒนาต้นกล้าของพี่เลี้ยง

2.การพัฒนาศักยภาพต้นกล้าชุมชน แบ่งเป็น  2  ลักษณะ ได้แก่

2.1   การพัฒนาศักยภาพโดยองค์กรพี่เลี้ยง

นับตั้งแต่การเลือกเฟ้นเหล่าต้นกล้า  มูลนิธิฯ ได้ทำข้อตกลงร่วมกับพี่เลี้ยงในการช่วยเสริมทักษะให้กับต้นกล้าที่อยู่ในความดูแล โดยพี่เลี้ยงจะต้องถ่ายทอดองค์ความรู้ที่มีอยู่ให้กับต้นกล้าฯ เพื่อที่จะสืบทอดแนวคิดและวิธีปฏิบัติในการทำงานชุมชน และสร้างต้นกล้าฯ เหล่านี้ให้เติบโตทดแทนตนเองได้ในอนาคต

2.2   การพัฒนาศักยภาพต้นกล้าชุมชน โดยมูลนิธิเอสซีจี

มูลนิธิฯ มีแนวทางในการพัฒนาผู้นำชุมชนจากประสบการณ์ที่ดำเนินการร่วมกับผู้นำชุมชนต่างๆ มาโดยตลอดนั้น จึงมีแผนการจัดกิจกรรมอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพให้กับต้นกล้าโดยแบ่งเป็น 3 ระยะ ตามการสนับสนุนโครงการ 3 ปี ได้แก่ การนำเสนอโครงการ การจัดสรรงบประมาณ การบริหารจัดการโครงการ การพัฒนาแนวคิดในการทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อความเป็น ‘นักพัฒนารุ่นใหม่’ ที่เป็นมืออาชีพต่อไปในอนาคต

รายชื่อ 9 ต้นกล้าชุมชนกับมูลนิธิเอสซีจี

1.ด้านสืบสานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

        1.นายชิตนุสันต์ ตาจุมปา (ต้นกล้าอาร์ต)

        โครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา

พื้นที่: บ้านดงหลวง ต.วังผาง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน

       2.นางสาวอิสรีย์ พรายงาม (ต้นกล้าก้อย)

        โครงการสืบทอดและฟื้นฟูภูมิปัญญาไทดำบ้านไทรงามและบ้านทับชันสามัคคี

พื้นที่ ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาไทดำ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี

        3.ธนวรรษ อินทร์สุวรรณ์ (ต้นกล้านะโม)

        โครงการรักษ์ถิ่นเรียนรู้บ้านเกิด

พื้นที่ ชุมชนตำบลประศุก ต.ประศุก อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี

2.ด้านการศึกษา

        1.นางสาวชมเดือน คำยันต์ (ต้นกล้าเดือน)

        โครงการอาสาเป็นครูพันธ์ใหม่

พื้นที่ ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน ต.เบือ อ.เชียงกลาง จ.น่าน

       2.นายเฉลิมศักดิ์  สิทธิสมบัติ (ต้นกล้าอาร์ท)

        โครงการพลังงานทดแทน

พื้นที่ โรงเรียนโคกขาม(นาคพัฒนา) ต.โบสถ์ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา

        3.นางสาววันวิสา แสงสี (ต้นกล้าเจี๊ยบ)

        โครงการหัตถกรรมพอเพียงโลกเย็น

พื้นที่ โรงเรียนโคกขาม(นาคพัฒนา) ต.โบสถ์ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา

3.ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

       นางสาวเมติมา ประวิทย์ (ต้นกล้าเม)

       โครงการพัฒนาห้องเรียนชุมชนคลองยัน

พื้นที่ ศูนย์เรียนรู้สภาเด็กและเยาวชนภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี

4.ด้านพัฒนาอาชีพชุมชน

       1.นายโชคชัย มัยราช (ต้นกล้าเจมส์)

       โครงการอาสาปศุสัตว์(หมูหลุม)พัฒนาชุมชน

พื้นที่ ศูนย์เรียนรู้โจ้โก้ จ.น่าน

      2.นางสาวหยาดรุ้ง ภูมิดง (ต้นกล้ารุ้ง)

      โครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชน เพื่อการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น

พื้นที่ โรงเรียนชุมชนชาวนา ต.หนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

98111514

การส่งเสริมศักยภาพของคน และการสนับสนุนให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ เป็นแนวทางการดำเนินงานที่มูลนิธิฯ ยึดถือมาโดยตลอด ดังนั้นการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีใจมุ่งมั่นพัฒนาบ้านเกิดของตนจึงเป็นภารกิจที่มูลนิธิฯ ไม่อาจมองข้าม เพราะก้าวเล็กๆ ในวันนี้ อาจจะเป็นก้าวที่หยัดยืนมั่นคงในวันหน้า มูลนิธิฯ ภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนักพัฒนา หนุนเสริมก้าวของนักพัฒนารุ่นใหม่ ให้กล้าที่จะก้าวมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชนและประเทศชาติให้ยั่งยืน พร้อมหวังว่าโครงการต้นกล้าชุมชนจะจุดประกายให้เมล็ดพันธุ์รุ่นใหม่ได้แสดงฝีมือและหยั่งรากนักพัฒนา รับใช้ท้องถิ่นของตนเองได้ต่อไป

มูลนิธิเอสซีจี “เชื่อมั่นในคุณค่าของคน”


แชร์ :

You may also like