Homeข่าวการตลาดจับประเด็นเศรษฐกิจ กับ TMB Analytics “2558 ปีแห่งการปฏิรูป”

จับประเด็นเศรษฐกิจ กับ TMB Analytics “2558 ปีแห่งการปฏิรูป”

แชร์ :

TMBAnalytic_Economic2015Prediction

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics มอง “2558 ปีแห่งการปฏิรูป” เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไม่สวยหรู  เล็งจีดีพีโตร้อยละ 3.5 เหตุฟื้นตัวล่าช้ากว่าคาดและขาดโมเมนตัมการเร่งตัว ภายใต้การฟื้นตัวอย่างเปราะบางของเศรษฐกิจโลก  ชี้แก้ “5 ห่วง” สำเร็จ ได้คุ้มเสียแล้ว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

23 ธันวาคม 2557: ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี ผู้อำนวยการอาวุโสศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผยมุมมองเศรษฐกิจปี 2558 ว่า เศรษฐกิจโลกยังมีการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ยุโรปยังน่าเป็นห่วง ญี่ปุ่นต้องจับตาความสำเร็จของลูกศรดอกที่สามของนายกอะเบะ ส่วนจีนน่าจะยังขยายตัวได้ในระดับที่ไม่สูงมากตามทิศทางการปฏิรูปของรัฐบาลกลาง ทำให้ส่งออกไทยอาจเติบโตไม่มากนัก ที่ร้อยละ 3.5 เนื่องจากมีตลาดสหรัฐอเมริกาเพียงตลาดเดียวเท่านั้นในหมู่ตลาดหลักที่ยังมีสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC จะเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในกลุ่ม ASEAN โดยเฉพาะจากการขยายตัวของกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม (CLMV) ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับอานิสงส์ผ่านการค้าชายแดน พร้อมกับการเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษในประเทศและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเสริมสร้างความเชื่อมโยง (Connectivity) ระหว่างเศรษฐกิจภูมิภาคของไทย จะช่วยให้ไทยได้ประโยชน์จากการเข้าสู่ AEC มากขึ้น

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ มองภาวะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันว่าล่าช้ากว่าคาดการณ์ไว้มาก ไม่ว่าจากการบริโภคที่ยังประสบปัญหาอยู่ในหลายหมวดสินค้า และการลงทุนที่ยังรอการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อน ส่วนเม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ จะยังไม่เข้าสู่ระบบเต็มที่ในปี 2558 โดยประเมินเม็ดเงินก่อสร้างจะแพร่สะพัดจริงในปี 2559-60 ตามโครงการเร่งด่วนและแผนพัฒนารถไฟ ทำให้ประเมินว่าปี 2558 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า หรือเป็น U-shape และขาดโมเมนตัมที่จะทำให้เร่งตัวขึ้นได้ ทำให้จีดีพีปีนี้จะขยายตัวที่ประมาณร้อยละ 0.6 ก่อนจะฟื้นกลับมาขยายตัวได้มากขึ้นในปีหน้าที่ร้อยละ 3.5

ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในปี 2558 ที่ต้องจับตาดูคือ เรื่องของการเบิกจ่ายและการดำเนินโครงการของรัฐบาลที่ล่าช้ากว่าที่ภาครัฐคาดหวังและตั้งเป้าไว้ อีกทั้งการปรับตัวลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงของราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อต่ำ (Disinflation) ขึ้นทั่วโลก แม้จะส่งผลดีต่อภาคธุรกิจที่เป็นผู้ใช้พลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงถึงสองในสามของทั้งหมด แต่การลดลงอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมัน ก็ส่งผลกดดันราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักๆ หลายตัวของประเทศและรายได้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเหตุการณ์ดังกล่าวยังส่งผลลบต่อประเทศผู้ส่งออกน้ำมันอย่างเช่น รัสเซีย โดยอาจส่งผลทางอ้อมมากระทบไทยผ่านช่องทางการท่องเที่ยวในช่วงฤดูท่องเที่ยวนี้ และยังมีโอกาสลุกลามมากขึ้นจนกลายเป็นวิกฤติการเมืองระหว่างประเทศได้ตั้งแต่ต้นปีหน้า จึงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามดูอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจประเมินราคาน้ำมันดุลยภาพที่ 58 เหรียญต่อบาร์เรลในปีหน้า

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ยังมองธุรกิจดาวเด่นในปี 2558 โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มด้วยกัน กลุ่มแรกได้รับอานิสงส์จากมาตรการ นโยบายและแผนการลงทุนพัฒนาของภาครัฐ ได้แก่ พลังงานทดแทน ไอทีและสื่อสารเทคโนโลยี ก่อสร้าง/ที่ปรึกษาวิศวกรรม-สิ่งแวดล้อม และวัสดุก่อสร้าง ในขณะที่กลุ่มที่สอง ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก พร้อมรับแรงหนุน AEC ได้แก่ ท่องเที่ยว ขนส่ง แปรรูปอาหาร ค้าปลีก และบริการทางการแพทย์ ส่วนธุรกิจที่มีปัจจัยต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ผู้ผลิตและค้าน้ำมันจากความเสี่ยงในการบริหารจัดการสต๊อก กลุ่มสินค้าคงทน (ยานยนต์ เฟอร์นิเจอร์) และอสังหาริมทรัพย์ยังคงถูกกดดันจากระดับหนี้ครัวเรือน สินค้าเกษตรและแปรรูปมีปัญหาจากราคาสินค้าเกษตรหลัก และท้ายสุดกลุ่มที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labor intensive) ในการผลิต จะเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานต่อเนื่องในปี 2558

นอกจากนี้ ดร. วราพงศ์ วงศ์วัชรา รองผู้อำนวยการศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี มองภาพรวมของตลาดการเงินและการธนาคารว่า สภาพคล่องอาจตึงตัวขึ้นเล็กน้อยในปี 2558 จากการกลับมาขยายตัวของสินเชื่อในประเทศ พร้อมแนวโน้มสัญญาณการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ รวมทั้งการลดยอดคุ้มครองเงินฝาก จะส่งผลให้ต้นทุนของธนาคารเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากภาวะสินเชื่อที่จะกลับมาขยายตัวได้ตามเศรษฐกิจ ปัจจัยในภาคการเงินตัวอื่นๆ อาจเผชิญ “โรคเลื่อน” ทำให้สภาพคล่องส่วนเกินในระบบน่าจะมีอยู่จนกระทั่งต้นปี 2559 ภายใต้ภาวะเงินเฟ้อที่ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ด้วยมุมมองเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.5-1.8 ในปี 2558 จะเอื้อต่อดอกเบี้ยนโยบายในระดับผ่อนคลาย ส่งผลดีกับสินทรัพย์เสี่ยง ทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน ทั้งนี้ ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากปีนี้ โดยค่าเฉลี่ยทั้งปี 2558 จะอยู่ที่ประมาณ 33.5 บาทต่อดอลลาร์ จากความกังวลของนักลงทุนต่อกรณีการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Normalization) ซึ่งจะช่วยหนุนค่าเงินดอลลาร์และกดดันสกุลเงินในตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets)

โดยทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจคาดว่า การขยายตัวของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ที่จะกลับมาเติบโตที่ระดับร้อยละ 10.9 ในปี 2558 เร่งตัวขึ้นจากระดับร้อยละ 5.8 ในปีนี้ โดยสินเชื่อไม่มีหลักประกัน (Unsecured loan) เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อเงินสด ยังเป็นแรงขับเคลื่อนหลักในการขยายตัว ในส่วนของเงินฝากขยายตัวต่ำกว่าสินเชื่อเล็กน้อย ที่ระดับร้อยละ 9.3 ในปี 2558 แต่เร่งตัวขึ้นจากระดับร้อยละ 4.4 ในปีนี้ โดยมองว่าธนาคารจะยังดำเนินกลยุทธ์ด้วย “เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ” ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยน่าดึงดูด แต่เปิดช่องให้ถอนที่ยืดหยุ่น เอื้อต่อการบริหารการเงินของผู้ฝาก นอกจากนี้ ระบบธนาคารไทยจะให้ความสำคัญในการเข้าสู่รูปแบบธุรกิจ “ธนาคารไร้สาขา” หรือ Branchless banking มากขึ้น เอื้อให้ผู้ใช้บริการสามารถทำธุรกรรมได้ทุกที่โดยไม่ต้องเดินทางไปสาขา สอดรับกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital economy) ของภาครัฐ

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปี 2558 นับเป็นปีที่มุ่งเน้นเรื่องการปฏิรูปประเทศเป็นหลัก การที่เศรษฐกิจจะขยายตัวได้อย่างร้อนแรงนั้น คงเป็นไปได้ยากและอาจไม่ใช่เป้าหมายหลักของรัฐบาล สอดคล้องกับประสบการณ์การปฏิรูปประเทศในชาติอื่นๆ ที่ได้เริ่มดำเนินการไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้น ทางศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจจึงมองว่า หากการปฏิรูปเศรษฐกิจสามารถแก้ปัญหา “5 ห่วง” กล่าวคือ ปัญหาคอร์รัปชั่น ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ปัญหาการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเกษตรไทย ปัญหาความสามารถทางการแข่งขันของ SME และปัญหาประสิทธิภาพของการขนส่งระบบราง ได้อย่างยั่งยืน จึงนับว่า “ได้คุ้มเสีย” กับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ได้เพียงอย่างค่อยเป็นค่อยไปในปี 2558


แชร์ :

You may also like