คุณไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
กสทช. จับมือผู้ให้บริการโทรคมนาคม “ทรู – เอไอเอส – NT” โชว์ความพร้อมระบบ Cell Broadcast บนสมาร์ทโฟน Android และ iOS โดยในการสาธิตที่เกิดขึ้นในวันนี้พบว่า สามารถส่งข้อความแจ้งเตือนได้สำเร็จ และไม่ต้องติดตั้งแอปพลิเคชันใดเพิ่มเติม ขณะที่กระบวนการในการรับข้อความแจ้งเตือนจาก ปภ. นั้น กสทช. ชี้แจงว่า ในช่วงที่ระบบ CBE (Cell Broadcast Entity) ของ ปภ. ยังพัฒนาไม่แล้วเสร็จ จะเป็นการตั้งไลน์กลุ่มที่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่รวมกัน ทั้ง ปภ. – กสทช. – โอเปอเรเตอร์ ฯลฯ ซึ่งเมื่อ ปภ. ส่งข้อความเข้ามาในไลน์กลุ่มนี้ ทางโอเปอเรเตอร์จะสามารถส่งออกไปยังประชาชนผ่านได้ภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที
สำหรับรูปแบบการส่งข้อความเตือนภัยในปัจจุบัน กสทช. ระบุว่า สามารถแบ่งออกได้ 2 แบบดังนี้
- กรณีภัยพิบัติแผ่นดินไหว จะมีการส่งข้อความแจ้งเตือนโดยกรมอุตุนิยมวิทยา และ ปภ. โดยไม่ต้องผ่าน สำนักงาน กสทช.
- กรณีภัยพิบัติอื่น ๆ เช่น อุทกภัย วาตภัย ปภ. จะเป็นหน่วยงานที่แจ้งให้ผู้ให้บริการทั้ง 3 รายส่งข้อความแจ้งเตือนโดยตรง เพื่อส่งข้อความแจ้งเตือนประชาชนด้วยตนเอง
ส่วนโทรศัพท์ที่ไม่ได้รับการแจ้งเตือน Cell Broadcast อาจมาจากปัญหา ดังนี้
- ปิดเครื่อง
- โทรศัพท์เป็นรุ่นที่เชื่อมต่อ 2G และ 3G (กรณีนี้จะใช้การส่ง SMS แทน โดยปัจจุบัน เอไอเอสมีผู้ใช้บริการกลุ่มนี้ประมาณ 1.6 ล้านเลขหมาย และทรูมีผู้ใช้งานประมาณ 9 แสนเลขหมาย)
- ใช้ Wi-Fi (ไม่ใช่ซิมการ์ด)
- เปิดใช้ Airplane Mode
ตั้งกลุ่มไลน์รอรับข้อความจาก ปภ.
จากภาพด้านล่างจะพบว่า ระบบ Cell Broadcast ที่สมบูรณ์นั้นจะมีกระบวนการทำงานที่ค่อนข้างสะดวก นั่นคือ ปภ. สามารถส่งข้อความตรงไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อแจ้งเตือนประชาชนได้เลย
อย่างไรก็ดี สำหรับรูปแบบการทำงาน ตลอดจนขั้นตอนการแจ้งเตือนในปัจจุบัน (ยังเป็นช่วงที่ระบบ CBE ของ ปภ. ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ) ทาง กสทช. ระบุว่าจะมีการตั้ง ไลน์กลุ่มที่รวมทั้งโอเปอเรเตอร์ ปภ. และ กสทช. อยู่ในกลุ่มไลน์ดังกล่าว ซึ่งเมื่อ ปภ. แจ้งข้อความที่ต้องการเตือนมาแล้ว โอเปอเรเตอร์แต่ละค่ายจะใช้เวลาไม่เกิน 5 นาที ก็สามารถส่งออกข้อความดังกล่าวไปยังประชาชนได้ และกลุ่มไลน์นี้จะมีเจ้าหน้าที่คอยมอนิเตอร์ตลอดเวลา
ทั้งนี้ ทาง กสทช. ระบุด้วยว่า ผู้ใช้ไอโฟน ควรอัปเดทระบบปฏิบัติการ iOS 18 เพื่อให้รองรับการแจ้งเตือนดังกล่าว ส่วนมือถือแอนดรอยด์พบว่าสามารถใช้ได้ตั้งแต่เวอร์ชัน 12 ขึ้นไป
แต่ในกรณีที่ต้องรับ SMS (สำหรับ มือถือ 2G 3G และ iPhone X (10) ลงมา) ปภ. จะเป็นผู้กำหนดการส่งข้อความแจ้งเตือน พร้อมระบุพื้นที่ โลเคชั่น และจังหวัดที่จะส่ง มายังโอเปอเรเตอร์ โดยใช้ SMS Sender Name เป็น DDPM ย่อมาจาก กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ส่วนถ้า SMS Sender Name เป็น TMD จะเป็นตัวย่อของกรมอุตุนิยมวิทยา