HomeCSRนมในประเทศไม่เคยพอ “เนสท์เล่” ขอยกระดับฟาร์มโคนมไทยด้วย แนวคิดเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู (Regenerative agriculture)

นมในประเทศไม่เคยพอ “เนสท์เล่” ขอยกระดับฟาร์มโคนมไทยด้วย แนวคิดเกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู (Regenerative agriculture)

แชร์ :

เพราะในปัจจุบันพบว่าประเทศไทยมีผลผลิตน้ำนมดิบประมาณ 2,800-3,000 ตันต่อวัน ในขณะที่ตลาดผลิตภัณฑ์นมพร้อมดื่มโดยรวมปีนี้เติบโตสูงกว่าปีก่อนถึง 7% แต่แนวโน้มปริมาณการผลิตน้ำนมดิบกลับลดลง เนื่องจากต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้น ภาวะโลกเดือด และจำนวนเกษตรกรโคนมที่ลดลง ทำให้ภาคเอกชนต้องนำเข้า “นม” จากต่างประเทศ ขณะเดียวกัน เนสท์เล่ ยังมีความตั้งใจที่จะดำเนินโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในฟาร์มโคนม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเหลือศูนย์ หรือ Net Zero ให้ได้ ภายในปี 2050

ADFEST 2024

Santos Or Jaune


แหล่งวัตถุดิบชั้นดี นี่ที่ “เนสท์เล่” ต้องการ

ตามที่ คุณสลิลลา สีหพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด อธิบายว่า “เพราะน้ำนมดิบถือเป็นวัตถุดิบสำคัญของเนสท์เล่ในการนำมาผลิตผลิตภัณฑ์แบรนด์ต่าง ๆ ที่เป็นที่รู้จัก เช่น ไมโล ตราหมี และเนสกาแฟ เราจึงให้ความสำคัญกับการจัดหาน้ำนมดิบที่ต้องมีคุณภาพดี และมีแหล่งผลิตที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Sourcing เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม”

คุณสลิลลา สีหพันธุ์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด

จากความต้องการวัตถุดิบที่ดีมีคุณภาพ รวมทั้งส่งเสริมอาชีพให้เกษตรกรไทย และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไปพร้อมๆ กัน ทำให้ เนสท์เล่ ต้องรุกให้องค์ความรู้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ด้วยแนวคิด เกษตรกรรมเชิงฟื้นฟู หรือ Regenerative agriculture  ปกป้องสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบจากสภาวะโลกเดือด ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้นจากปริมาณและคุณภาพผลผลิตที่ดีขึ้น พร้อมตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคด้วยการนำวัตถุดิบคุณภาพดี จากแหล่งผลิตที่ยั่งยืน มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่อร่อย เนสท์เล่ จึงแก้ปัญหาที่ต้นตอด้วยการส่ง นักวิชาการเกษตร ของบริษัท อย่างคุณศิรวัจน์ ปิณฑะดิษ ลงไปทำงานในพื้นที่ เพื่อเรียนรู้และพัฒนาฟาร์มโคนมร่วมกับเกษตรกรตัวจริง นำเอาแนวคิดการเกษตรเชิงฟื้นฟู (Regenerative agriculture) เข้ามาปรับใช้กับฟาร์มโคนม โดยการเกษตรเชิงฟื้นฟูมุ่งเน้น 3 ด้านสำคัญในการบริหารจัดการฟาร์มโคนมอย่างครบวงจร คือ 1. การพัฒนาการจัดการอาหารและโภชนาการของวัว 2. การจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้นำมาสู่ปริมาณและคุณภาพของน้ำนม  3. สนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย

“จากเดิมการเลี้ยงวัวของประเทศเราให้วัวกินฟางหรือกินหญ้า ซึ่งก็เหมือนคนที่กินข้าวเอาอิ่ม แต่สารอาหารอาจจะไม่ครบถ้วน สิ่งที่เราเข้าไปทำคือการให้เกษตรกรเลี้ยงถั่วหลายๆ ชนิดในพื้นที่ แจกเมล็ดถั่ว นั่นทำให้เกิดโปรตีนเพิ่มในพื้นที่เลี้ยง พอวัวได้โปรตีนเพื่ม น้ำนมก็เพิ่ม ปัจจุบันเราได้ปริมาณน้ำนมดิบโดยเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 13.5 กก. ต่อตัวต่อวัน ซึ่งมากกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่ 11.7 กก. ต่อตัวต่อวัน นอกจากนี้ คุณค่าโภชนาการในน้ำนมดิบก็ดีขึ้น วัดได้จากระดับโปรตีนในนมที่เพิ่มขึ้นเป็น 3.02% จากระดับ 2.94% ในปี 2566 ซึ่งระดับโปรตีนในนมมีสูงกว่า 3%”  คุณศิรวัจน์ อธิบาย

แนวคิดดังกล่าวเน้นส่งเสริมเรื่องการพัฒนาดิน ความหลากหลายทางชีวภาพ และการมองหาพลังงานทดแทนที่เหมาะสมในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถปรับใช้ได้กับฟาร์มอื่นๆ หรือแม้แต่อุตสาหกรรมเกษตรอื่นๆ

เป้าหมาย 15-17 กิโลกรัมต่อวัน

คุณวรวัฒน์ เวียงแก้ว ตัวแทนเกษตรกรโคนม อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เล่าให้ฟังว่า ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา ราคาถั่วเหลืองซึ่งเป็นอาหารหลักของวัวถีบตัวสูงขึ้น จาก 13 บาท เป็น 20 บาท ส่งผลกระทบกับต้นทุนและผลิตเป็นอย่างมาก จึงหาวิธีที่จะลดต้นทุนและพัฒนาน้ำนมให้มีปริมาณเพิ่มขึ้นจนมาเจอกับโครงการของเนสท์เล่ ที่ฟาร์มของพี่วรวัฒน์ ปลูกถั่วหลากชนิดทั้งรักษาดินและเพิ่มโปรตีน เพื่อให้เป็นอาหารของวัว

หลังจากนั้นก็มีความรู้เรื่องการจัดการมูลโคให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เพราะวัว 1 ตัว มีมูลออกมาวันละเกือบๆ 20 กิโลกรัมเลยทีเดียว และการจัดการมูลวัวให้ดีก็ช่วยให้พื้นที่ฟาร์มสะอาด ส่งผลกับสุขภาพของวัว สำหรับฟาร์มของพี่วรวัฒน์ใช้วิธีการที่เนสท์เล่แนะนำ นั่นคือนำมูลวัวไป “ตากแดด” ด้วยลานปูน ซึ่งทำให้แห้งเร็วกว่าลานดินแบบเดิมถึง 3-5 วัน เมื่อแห้งแล้วสามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ในแปลงหญ้าอาหารสัตว์ บางส่วนสามารถแบ่งไปจำหน่ายในรูปของปุ๋ยคอก พร้อมขยายไปเลี้ยงไส้เดือน ซึ่งปุ๋ยมูลไส้เดือนถือว่าเป็นปุ๋ยคุณภาพสูง ซึ่งเป็นการเปลี่ยน “มูลโค สู่มูลค่า” ช่วยสร้างรายได้อีกกว่า 40,000 บาทต่อปี

นอกจากนี้ ยังใช้พลังงานทดแทน เช่น ติดตั้งบ่อไบโอแก๊สเพื่อนำมูลโคมาหมักในบ่อและนำก๊าซมีเทนไปใช้ประโยชน์เป็นแก๊สหุงต้มในครัวเรือน ช่วยให้การจัดเก็บน้ำนมมีคุณภาพมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ติดตั้ง Solar Pannel ใช้งานในฟาร์ม หลักๆ ก็คือ ใช้สูบน้ำบาดาลมาใช้ในแปลงหญ้า เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้ตลอดปี และลดต้นทุนด้านพลังงาน

“ทุกวันนี้ผมผลิตนมดิบได้วันละ 13.5 กิโลกรัม ต่อตัว ต่อวัน มากกว่าค่าเฉลี่ยที่ 11.7 กิโลฯ แต่เป้าหมายของผมคือ 15-17 กิโลฯ” นี่คือเป้าหมายที่พี่วรวัฒน์ตั้งไว้

จากการส่งเสริมหลักการเกษตรเชิงฟื้นฟู ทำให้เกษตรกรได้รับความรู้ด้านการทำปศุสัตว์ที่เหมาะสม สามารถส่งน้ำนมดิบให้เนสท์เล่ด้วยมาตรฐาน GAP จากกรมปศุสัตว์ทั้ง 100% จนถึงตอนนี้ เนสท์เล่ได้ให้ความรู้และเทคนิคการเกษตรเชิงฟื้นฟูแก่เกษตรกรไปแล้วกว่า 160 ฟาร์มจาก 3 สหกรณ์ และมีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมที่ได้เริ่มทำการเกษตรเชิงฟื้นฟูครบวงจรแล้วกว่า 40 ฟาร์ม และเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรในการมีตลาดรองรับผลผลิตน้ำนมดิบ เนสท์เล่ยังรับซื้อน้ำนมดิบจากเกษตรกรผ่านสหกรณ์โคนมในราคาที่เป็นธรรมตามเกณฑ์มาตรฐานการรับซื้อที่กำหนดไว้ เพื่อเป็นส่วนผสมสำคัญสำหรับแบรนด์ในเครือ ไม่ว่าจะเป็น ไมโล ตราหมี และ เนสกาแฟ

อย่างไรก็ตาม ทางเนสท์เล่ระบุว่า ด้วยปริมาณการเลี้ยงและผลผลิตในปัจจุบันนี้ เมื่อเทียบกับการบริโภคภายในประเทศแล้ว ในระยะเวลาอันใกล้วัตถุดิบก็ยังคงไม่เพียงพอ ทั้งภาวะการขาดแคลนผู้เลี้ยงที่คนรุ่นใหม่ไม่นิยมทำอาชีพนี้อีกแล้ว และเวลาที่วัวต้องอายุ 4-5 ปี หรือท้องเป็นครั้งที่ 3 แล้ว จึงจะให้ผลผลิตดีที่สุด ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นโจทย์สำคัญด้านการผลิตที่ทำให้เนสท์เล่ต้องเดินหน้าส่งเสริม Regenerative agriculture ต่อไป


แชร์ :

You may also like