ปรากฏการณ์ Technology Disruption ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมาในทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก ทำให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ และ Tech Company จำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) ที่มีวิถีการดำเนินธุรกิจแตกต่างออกไปจากเดิม ที่เห็นได้ชัดเจนคือ แหล่ง “เงินทุน”
ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ SMEs หรือ สตาร์ทอัพ เมื่อมีไอเดียธุรกิจแล้ว “เงินทุน” ในการเริ่มต้นทำธุรกิจถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ หนึ่งในวิธีการระดมที่สร้างความสำเร็จให้ธุรกิจสตาร์ทอัพมาทุกยุค คือ Venture Capital หรือ VC
#ทำความรู้จัก VC สูตรเด็ดระดมทุนธุรกิจเอสเอ็มอี-สตาร์ทอัพ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จและการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพ หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังคือ Venture Capital หรือ VC ซึ่งเป็นกองทุนที่รวบรวมเงินลงทุนมาจากผู้ลงทุนอื่นๆ ที่สนใจร่วมทุน มีระยะเวลาลงทุนประมาณ 3-5 ปี และจะมีการลงเงินเป็นรอบๆ ตาม Stage ของธุรกิจ โดยนำเงินทุนก้อนนี้ไปหาโอกาสการลงทุนที่จะสร้างผลตอบแทนให้กับกองทุน VC และได้กำไรกลับมา
VC เป็น Private Equity Capital ลงทุนในกิจการที่เกิดใหม่และอยู่ในช่วงของการเติบโต VC จะเข้ามาลงทุนตั้งแต่ระดับ Series A (Growth / Survival Stage) ขึ้นไป ระยะนี้เป็นระยะที่ธุรกิจเริ่มมีรายได้เข้ามาแล้ว เป็นช่วงที่มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์เพื่อต้องการขยายกิจการหรือขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น หรือเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ วงเงินที่ใช้ในการสนับสนุนธุรกิจในระยะ Series A จะอยู่ที่ 12 -15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยแลกกับหุ้นร่วมกับการขอเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เช่น ขอที่นั่งในบอร์ดบริษัท การมีส่วนร่วมในการบริหารกิจการ
เมื่อธุรกิจเติบโตและต้องการขยายกิจการต่อเนื่องก็จะมีการขอเงินทุนในรอบ Series B (Expansion / Rapid Growth Stage) และ Series C (Maturity Stage) ต่อไป ซึ่ง VC ก็จะได้สัดส่วนของหุ้นจากผู้ประกอบการมากขึ้น
หากมองในฝั่งสตาร์ทอัพ ข้อดีของการระดมทุนผ่าน VC คือ อนุมัติเงินลงทุนง่าย ปลอดภาระการจ่ายคืนดอกเบี้ย นอกจากนี้ VC ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านบริหาร ยังมีส่วนร่วมในการให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการแผนการทำตลาด เป็น “พี่เลี้ยง” ในการดำเนินธุรกิจ ช่วยแนะนำและใช้เครือข่ายของ VC สนับสนุนสตาร์อัพขยายธุรกิจได้อีกด้วย
ในฝั่งผู้ลงทุนหรือ VC เป็นการลงทุนในกิจการที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งหรือก่อตั้งมาไม่นานแต่มีศักยภาพที่จะเติบโตสูง (High Growth) ต่อไป สามารถลงทุนในหลายธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต โดยเฉพาะสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี (Tech Startup) ที่จะต่อยอดสู่การเป็นพาร์ทเนอร์ในอนาคต สามารถสร้าง Win-Win Solutions ให้กับทั้งสองฝ่าย
#กรณีศึกษา ZTRUS สตาร์ทอัพดาวรุ่ง ด้าน Deep Tech และ AI
หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจของการระดมทุนผ่าน VC ที่ประสบความสำเร็จ คือ ZTRUS ธุรกิจดิจิทัล สตาร์ทอัพ สัญชาติไทย เป็นผู้พัฒนาธุรกิจที่ใช้ Deep Tech และ AI มาให้บริการ Document Process Automation บริการแปลงข้อมูลจากกระดาษหรือภาพถ่ายเข้าสู่ระบบดิจิทัล ด้วยเทคโนโลยี AI-based OCR แบบไม่จำกัดรูปแบบเอกสาร
มาทำความรู้จัก ZTRUS ที่มีจุดเริ่มต้นเห็นปัญหาการจัดเก็บเอกสารบัญชีของธุรกิจครอบครัว“สำนักงานบัญชีกิจ” ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบและให้คำปรึกษาด้านการทำบัญชี จึงมีเอกสารจำนวนมากที่ต้องตรวจสอบ ทำให้ ดร.พณชิต กิตติปัญญางาม CEO & Co-Founder ZTRUS ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี จากการศึกษาปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและปริญญาโทด้านวิศวกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุน Overseas Research Scheme ไปศึกษาในระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ (The University of Manchester) ประเทศอังกฤษ และมีประสบการณ์ทำงานด้านเทคโนโลยีทั้งภาครัฐและเอกชน เห็นโอกาสพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบจัดการเอกสาร และมองว่างานบัญชีปัจจุบันสามารถใช้เทคโนโลยี AI มาพัฒนาการทำงานได้
ดร.พณชิต เล่าที่มาการก่อตั้ง ZTRUS ว่ามาจากประสบการทำงานด้านเทคโนโลยี AI จึงร่วมกับเพื่อนที่ทำงานวิจัยและศึกษาเทคโนโลยี OCR (Optical Character Recognition) ที่เกี่ยวข้องกับการแปลงภาพเป็นตัวอักษรมาอย่างยาวนาน พัฒนาซอฟต์แวร์ระบบจัดการเอกสารการเงินด้วย Deep Tech และ AI สร้างให้เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพ อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการจัดการเอกสารทางบัญชีให้ธุรกิจครอบครัวและผู้ประกอบการอื่น ๆ
จึงก่อตั้ง บริษัท แอ็คโคเมท จำกัด หรือ ZTRUS สตาร์ทอัพสัญชาติไทย ผู้ให้บริการบันทึกข้อมูลอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี OCR และแม่แบบอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วย AI รองรับเอกสารหลากหลายประเภท เทคโนโลยีของ ZTRUS ทำงานได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ที่มาของชื่อ ZTRUS มีความหมายมาจากคำว่า See “เห็น” และ Trust “น่าเชื่อถือ” โดยจะทำหน้าที่อ่านเอกสารแทนนักชบัญชีด้วยความน่าเชื่อถือ ส่วนอีกความหมายมาจากคำว่า Citrus แปลว่าผลไม้รสเปรี้ยว เพื่อสื่อความหมายให้งานบัญชีดูไม่น่าเบื่อ โดย ZTRUS เริ่มต้นธุรกิจเมื่อ 5 ปีก่อน ปีนี้เข้าสู่ปีที่ 6
อธิบายธุรกิจของ ZTRUS ให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า เทคโนโลยี OCR ที่ถูกนำมาใช้แปลงข้อมูลจากภาพเอกสารเข้าสู่ระบบบัญชี ก่อนหน้านี้ยังไม่ตอบโจทย์หลายเรื่อง แม้มีความถูกต้องสูง แต่ไม่ได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ต้องสร้าง template ให้เอกสาร และไม่สามารถอ่านรายการต่าง ๆ ในตารางใบเสร็จ หรือ ใบเสร็จข้อมูลหลายหน้าได้
ขณะที่ ZTRUS OCR ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยสามารถอ่านข้อมูลจากใบเสร็จที่หลากหลายฟอร์แมท จากนั้นแปลงข้อมูลเป็นตัวอักษรไฟล์ดิจิทัลได้อย่างถูกต้องด้วย AI ที่สามารถทำงานซ้ำ ๆ กันได้อย่างรวดเร็วและมีความแม่นยำมากขึ้นเรื่อย ๆ อ่านได้หลายหน้า โดยไม่ต้องสร้าง template สามารถถอดรายการต่าง ๆ ในส่วนของตาราง ออกมาเพื่อใช้ในกระบวนงานต่างๆ ทางบัญชี นอกจากนี้ยังช่วยตรวจสอบและแนะนำให้นักบัญชีได้ว่า เอกสารใบใดบ้างที่ไม่ต้องตรวจทานอีก ทำให้ลดเวลาและต้นทุนในการสอบทานผลลัพธ์เป็นจำนวนมาก
วิธีการใช้งาน ZTRUS OCR 5 ขั้นตอน 1. สแกนเอกสาร 2. อัพโหลดไฟล์เข้า ZTRUS 3. ดาวน์โหลดไฟล์ excel ที่ถอดข้อมูลจากเอกสาร 4. ตรวจข้อมูลใบที่ ZTRUS แนะนำสอบทาน และ 5. อัพโหลดเข้าโปรแกรม peak จากนั้นก็สามารถลงบันทึกบัญชีได้อย่างสะดวก รวดเร็ว อีกทั้งยังลดต้นทุนคนได้อีกด้วย
#เจาะเคล็ดลับความสำเร็จ ZTRUS
ZTRUS ให้บริการหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การทำบัญชีลูกหนี้ (AR) เช่น การแปลงไฟล์เอกสารใบสั่งซื้อเป็นใบเสร็จ การจัดการเรียกเก็บหนี้ บริการการทำบัญชีเจ้าหนี้ (AP) เช่น กระบวนการจัดการค่าใช้จ่าย ใบแจ้งหนี้ที่ไม่ได้มาจากใบสั่งซื้อ ใบแจ้งหนี้ที่มาจากใบสั่งซื้อ ปัจจุบันมีลูกค้ากว่า 30 บริษัท และมีกว่า 100 โปรเจกต์ที่ให้บริการสำเร็จไปแล้ว
“ZTRUS พัฒนาเทคโนโลยี Deep Tech และ AI ด้วยตัวเอง เราเลือกพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำได้ในประเทศไทยและแข่งขันในระดับโลกได้ โอกาสที่จะชนะไม่ใช่แค่ภาษาไทย แต่เป็นภาษาอังกฤษ นั่นหมายถึงโอกาสขยายไปได้ทั่วโลก”
หากดู Key Success Factor ที่ทำให้ ZTRUS ประสบความสำเร็จ
– มาจากจุดเริ่มต้นเทคออฟธุรกิจ เห็นโอกาสในยุคดิจิทัล ด้วยการต่อยอดเทคโนโลยี OCR การแปลงข้อมูลจากภาพเอกสารเป็นดาต้า ด้วย Deep Tech และ AI ที่มีความแม่นยำสูง เพราะเทคโนโลยีการถอดข้อมูลจากภาพเป็นเอกสารดิจิทัลใคร ๆ ก็ทำได้ แต่การทำให้น่าเชื่อถือต้องใช้เทคโนโลยีและความรู้ที่ต้องพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
– ZTRUS เลือกที่จะเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีและเป็นเจ้าของระบบซอฟต์แวร์เอง เมื่อโลกก้าวสู่ยุค AI ทุกคนหนีไม่พ้นและจะต้องใช้ AI จึงต้องเริ่มด้วยแนวคิดว่า จะ Build or Buy ซึ่ง ZTRUS เลือกพัฒนาเทคโนโลยี AI เอง เพื่อสร้างสินค้าและบริการที่มีจุดแข็งให้ธุรกิจ นั่นทำให้ ZTRUS แตกต่าง “แม้ AI เป็นสิ่งที่ทำให้ทำงานได้เร็วขึ้น แม่นยำมากขึ้น แต่สุดท้ายคนตัดสินใจก็คือคนที่พัฒนา AI”
– เป็นธุรกิจที่สามารถเจาะลูกค้าระดับองค์กร (Enterprise Business) ที่มีฐานตลาดขนาดใหญ่ ทั้งบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ SET และ mai บริษัทที่เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มีเอกสารจำนวนมากและต้องปิดงบเร็ว
– การเป็นดิจิทัล สตาร์ทอัพ ด้านเทคโนโลยี Deep Tech และ AI จึงไม่ได้ขายแค่บริการแต่ขายเทคโนโลยี ทำให้การขยายธุรกิจไม่ต้องลงทุนสูง ระบบซอฟต์แวร์สามารถขยายไปตลาดต่างประเทศได้ ปัจจุบัน ZTRUS มีพนักงาน 25 คน มีทีม Developer, Machine Learning, R&D และ Operation
– เลือกเครื่องมือระดมทุนผ่าน VC เพราะการเป็นสตาร์ทอัพ ก็ต้องเข้าใจเกมสตาร์ทอัพ ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มก่อตั้งธุรกิจ ZTRUS ที่เป็น Deep Tech และ AI เป็นธุรกิจมีความเสี่ยงสูง กู้สินเชื่อธนาคารไม่ได้ เมื่อมีความเสี่ยง ก็ต้องเลือกแหล่งเงินทุนให้เหมาะ ซึ่ง VC เป็นคำตอบที่ดี เพราะเป็นแหล่งทุนที่เข้าใจธุรกิจสตาร์ทอัพว่า “เสี่ยงสูงก็มีผลตอบแทนสูงเช่นกัน หากธุรกิจประสบความสำเร็จ”
#ถอดรหัส 5 สูตรลับ ZTRUS ระดมทุนผ่าน VC
ดร.พณชิต เล่าว่าการก่อตั้งธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ ช่วงเริ่มต้นมักใช้เงินทุน ที่เรียกว่า 3F คือ Friend, Fool และ Family คือเงินทุนจากเพื่อน เงินจากคนที่ไม่เข้าใจธุรกิจ และเงินจากครอบครัว ช่วงก่อตั้งจะต้องมีทุน 2-5 ล้านบาท เพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้ 18 -24 เดือน เพราะเป็นช่วงเวลาที่ต้องพัฒนาสินค้าและบริการ ก่อนที่จะสร้างรายได้
แต่หนึ่งในเครื่องมือระดมทุนที่ดีของสตาร์ทอัพ คือ VC ซึ่ง ZTRUS ประสบความสำเร็จในการระดมทุนระดับ Pre-Series A จากดีป้า ร่วมกับกลุ่มบริษัท วินเซิร์ฟ คอร์ปอเรชั่น และอินโนสเปซ (ประเทศไทย) ได้รับทุนจากตลาดหลักทรัพย์ระดับ Series A และธนาคารออมสิน ระดับ Seed Pre Series A
และนี่คือ 5 เคล็ดลับความสำเร็จการระดมทุนผ่าน VC ของ ZTRUS ดังนี้
1. ต้องเข้าใจ VC เจ้าของเงินว่าต้องการอะไร เพราะ VC เป็นผู้บริหารจัดการกองทุน โดยการหาบริษัทมาร่วมลงทุน VC จะคุยกับเจ้าของเงิน (Limited Partner หรือ LP) อาจจะเป็นธุรกิจครอบครัว นักธุรกิจที่มีความมั่งคั่งสูง รวมเงินก้อนเพื่อมาลงทุนกับสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง แต่หากสตาร์ทอัพเติบโต ก็สร้างผลตอบแทนสูงเช่นกัน ดังนั้น VC จะเลือกลงทุนในสตาร์ทอัพ โดยดูโอกาสการเติบโตตามเทรนด์ธุรกิจ เพราะเชื่อว่าในอนาคตจะสามารถขายหุ้นที่เข้าไปลงทุนในสตาร์ทอัพได้ในราคาที่สูงกว่าและสร้างกำไรได้
การเลือกระดมทุนผ่าน VC ต้องเข้าใจเงื่อนไขการลงทุนต่าง ๆ ให้ดี ว่าจะใช้เงินเพื่ออะไรและใช้ถึงเมื่อไหร่ ในวันที่ VC เข้ามาลงทุน จะเข้ามาควบคุมอะไรบ้าง และวันที่ VC ออก (exit) จะพาบริษัทไปถึงจุดไหน และจะให้ผลตอบแทนอย่างไร สตาร์ทอัพต้องดูเงื่อนไขร่วมกับ VC
ZTRUS เริ่มคุยกับ VC ตั้งแต่วันแรกที่ก่อตั้งบริษัท เพราะการทำดิจิทัล สตาร์ทอัพ “เกมนี้เงินของเราไม่พอและต้องการเงินทุนในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสร้างโปรดักต์” และ VC เองก็เห็นด้วยกับแนวคิดการทำธุรกิจด้าน Deep Tech และ AI ที่สามารถขยายได้ในตลาดต่างประเทศ
2. กำหนดเป้าหมายของธุรกิจและ VC ให้สอดคล้องกัน เพราะ VC ต้องเข้ามาร่วมถือหุ้นและนั่งในบอร์ดด้วย จึงต้องมีวิธีคิดและการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อช่วยให้บริษัทก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน จึงต้องเข้าใจตัวเอง และเข้าใจ VC เพื่อลดความเสี่ยงการทำธุรกิจ
สิ่งสำคัญ VC ไม่ได้มีแค่เงินทุนเข้ามาสนับสนุนเท่านั้น แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญในหลายด้านและมักลงทุนในธุรกิจที่ VC ถนัด จึงมาช่วยวิเคราะห์และแนะนำการทำธุรกิจ ให้ความเห็นต่างๆ สอนการใช้เครื่องมือทางการเงิน อีกทั้งมีเครือข่ายลูกค้า
3. จับเทรนด์ธุรกิจที่ VC สนใจลงทุน ก่อนโควิดเป็นช่วงที่มีการระดมจำนวนมาก VC สนใจลงทุนกับธุรกิจ B2C ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนทั่วไป หลังโควิด พบว่าสตาร์ทอัพ B2C หายไปจำนวนมาก และสตาร์ทอัพที่รอดมาได้ส่วนใหญ่เป็น B2B เป็นธุรกิจที่ขายสินค้าและบริการให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจที่มีโมเดลการหารายได้แบบ Subscription Based
ปัจจุบัน VC จึงโฟกัสลงทุนกับธุรกิจ B2B โดยเฉพาะธุรกิจ Software as a Service หรือ Saasเพราะการเป็น Saas จะสร้าง Asset Light ไม่ได้ลงทุนกับทรัพย์สินที่จับต้องได้ (Intangible Asset) ที่ใช้เงินลงทุนสูง ข้อดีของ Asset Light คือเวลาขยายธุรกิจ (Scale) จะมีต้นทุนต่ำ และสามารถขยายไปต่างประเทศได้ โดยไม่ต้องลงทุนสินทรัพย์จำนวนมาก
วิธีการทำธุรกิจในยุคดิจิทัลคล้ายกันทั่วโลก คือ การทำที่หนึ่งสำเร็จ โอกาสที่จะขยายไปต่างประเทศก็สูงขึ้น VC จึงสนใจลงทุนในธุรกิจ Saas ยิ่งมี Deep Tech, R&D และ AI ด้วย ยิ่งทำให้คนทำเลียนแบบธุรกิจได้ยาก “ระดับความลึกของเทคโนโลยี จะทำให้มี Barriers to Entry มากขึ้น”
4. ประเมินให้ได้ว่าผู้ลงทุนจะ Exit เมื่อไร หรือ ณ จุดไหน เพราะการเลือกเกมระดมทุนผ่าน VC ซึ่งเป็นธุรกิจที่เสี่ยงสูง จึงต้องสร้างผลตอบแทนสูงให้ VC ด้วยการพาผู้ลงทุน Exit หรือการขายหุ้นให้ได้ ไม่ว่าจะขายในตลาดหลักทรัพย์ ขายให้ผู้สนใจที่จะมาซื้อหุ้นบริษัทต่อ โดยต้องทำให้หุ้นสามารถขายได้ในราคาสูงกว่าที่ VC เข้ามาลงทุนครั้งแรก
หากสตาร์ทอัพสามารถพาตัวเอง และผู้ลงทุน Exit ได้ ในราคาที่แฮปปี้ ถือเป็น Smooth Landing ดังนั้นการวางแผน Landing ให้กับ VC ต้องกำหนดให้ชัดตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นทำธุรกิจ “หากไม่มีแผน Landing แต่ Take off จะเกิดปัญหาว่าจะไปทางไหนต่อ”
5. หลักคิดเริ่มระดมทุนผ่าน VC ต้องเข้าใจเกมธุรกิจ เข้าใจตลาด และเข้าใจ Value ที่ตอบโจทย์ลูกค้า การทำสตาร์ทอัพ ไม่ใช่การทำ Software Solution แต่เป็นการสร้าง Software Solution เพื่อสร้างคุณค่าให้ลูกค้าและรู้ว่าลูกค้าคือใคร คุณค่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เติบโตในตลาดได้
การเปิดตัวธุรกิจ ZTRUS ที่เริ่มธุรกิจในประเทศไทยจนประสบความสำเร็จ แผนในระยะต่อไปคือการใช้โมเดลธุรกิจนี้ขยายไปในต่างประเทศ โฟกัสตลาดอาเซียนและญี่ปุ่น รวมทั้งมองโอกาสขยายบริการด้านเอกสารรูปแบบอื่นๆ มากกว่าเอกสารบัญชี
อยากรู้ว่า ZTRUS ประสบความสำเร็จจากการระดมทุนผ่าน VC ได้อย่างไร ก็เก็บกระเป๋าแล้วตามมาขึ้นเครื่องบินตรงไปกับนักธุรกิจมืออาชีพ ที่จะมาเผยเคล็ดลับปั้นธุรกิจดิจิทัล สตาร์ทอัพ ในรายการ “The Business Class” โดย LiVEPlatform