TikTok แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นยักษ์ใหญ่ เปิดข้อมูลเชิงลึกตลาดสินค้าอุปโภคและบริโภค (FMCG) ในประเทศไทย เผยผู้บริโภคพัฒนาตัวเองเป็น Omni-Shopper การขายจึงต้องผสานความบันเทิงและการสร้างคอมมูนิตี้ที่แข็งแกร่งเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถค้นพบและมีส่วนร่วมกับผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลังผลวิจัยพบ เกือบครึ่งหนึ่งของครัวเรือนในประเทศไทยหรือประมาณ 45% ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคทางออนไลน์เป็นหลัก
พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปนี้มาจากรายงานของ Kantar เรื่อง “The Omni-Shopper Revolution” ที่พบว่า ผู้บริโภคในประเทศไทยได้พัฒนาไปสู่การเป็น Omni-Shopper นั่นคือ สามารถเข้าถึงการซื้อสินค้าได้หลายช่องทางทั้งออนไลน์และออฟไลน์ และทำให้เห็นว่า ช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ได้รับความนิยมจากหมู่ผู้บริโภคชาวไทยมากขึ้น โดยปัจจุบันเกือบครึ่งหนึ่งของครัวเรือนในประเทศไทยหรือประมาณ 45% ซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคทางออนไลน์เป็นหลัก
จากผลสำรวจดังกล่าว คุณสิรินิธิ์ วิรยศิริ Head of Business Marketing จาก TikTok ประเทศไทย กล่าวว่า TikTok ได้กลายมาเป็นจุด Eye-Level ใหม่ที่สามารถดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคและสร้างผลลัพธ์ให้กับสินค้า FMCG ได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยผู้ใช้ชาวไทยกว่า 92% ยกให้ TikTok เป็นพื้นที่แห่งความบันเทิงและการชอปปิงที่พวกเขานึกถึง ซึ่งเปิดโอกาสให้ธุรกิจรายย่อยตลอดจนแบรนด์และเอเจนซี่สามารถใช้แพลตฟอร์ม TikTok เพื่อสร้างการเติบให้กับธุรกิจ
สอดคล้องกับผลการสำรวจผู้บริโภคของ Accenture Song (จัดทำขึ้นในเดือนสิงหาคม 2023 ร่วมกับ TikTok) ซึ่งชี้ให้เห็นว่ากว่า 78% ของผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้าเพราะรับชมคอนเทนต์เกี่ยวกับสินค้านั้น ๆ บนแพลตฟอร์ม
ทั้งนี้ TikTok เผยถึงปัจจัยสำคัญ 3 ประการที่ช่วยปลดล็อกโอกาสในการทำการตลาดสินค้า FMCG ว่ามีดังนี้
1. การเติบโตของคอมมูนิตี้คอนเทนต์สินค้าอุปโภคบริโภคบน TikTok: ผู้ใช้งาน TikTok ให้ความสนใจกับคอนเทนต์เกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคบนแพลตฟอร์มอย่างมีนัยสำคัญและมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคอมมูนิตี้คอนเทนต์ของสินค้าประเภทนี้มีการเติบโตสูงขึ้นในหลากหลายหมวดหมู่ อาทิ ผลิตภัณฑ์ดูแลบ้าน ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ตลอดจนผลิตภัณฑ์ความงาม ซึ่งการเติบโตดังกล่าวได้รับแรงผลักดันจากความสามารถอันโดดเด่นของ TikTok ในการเป็นพื้นที่แห่งการมีส่วนร่วมของผู้ใช้งาน
2. สร้างสะพานเชื่อมระหว่างแบรนด์กับครีเอเตอร์และคอมมูนิตี้: TikTok เชื่อมโยงแบรนด์กับคอมมูนิตี้ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับครีเอเตอร์ ช่วยให้แบรนด์และผู้บริโภคใกล้ชิดกันมากขึ้นและต่อยอดไปสู่การเติบโต โดย 83% ของผู้ใช้หันมาพิจารณาแบรนด์หรือสินค้าอุปโภคบริโภคเพราะคอนเทนต์ของครีเอเตอร์ที่ค้นพบบนแพลตฟอร์ม ครีเอเตอร์บน TikTok จึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนความสำเร็จให้กับแบรนด์
3. พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนจากการค้นพบสู่การกระทำ: พฤติกรรมของผู้บริโภคบน TikTok เปลี่ยนไปอย่างมากจากการค้นพบไปสู่การกระทำที่เป็นรูปธรรม โดย 90% ของผู้ใช้ที่ค้นพบแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคบน TikTok จะค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมหลังจากนั้นทันที แสดงให้เห็นถึงความสามารถของแพลตฟอร์มในการกระตุ้นการมีส่วนร่วมที่ลึกซึ้ง และผู้ใช้ 2 ใน 3 ตั้งใจเสิร์ชบน TikTok เพื่อค้นหาข้อมูลหรือสินค้าที่สนใจ สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค
ปัจจัยเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและการมีส่วนร่วมของคอมมูนิตี้บน TikTok สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้บริโภคในการซื้อสินค้าทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ที่จะช่วยส่งเสริมการเติบโตให้แก่ธุรกิจได้นั่นเอง