ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคสมัย “ร้านอาหาร” ยังคงเป็นหนึ่งในธุรกิจหอมหวาน ด้วยมูลค่าสูงถึง 4.18-4.25 แสนล้านบาท จึงมีร้านอาหารเกิดใหม่เป็นจำนวนมาก แต่การจะสร้างแบรนด์ให้ติดตลาดและอยู่ในใจของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการแข่งขันที่ร้อนแรง ก็ไม่ง่ายเช่นกัน จึงมีแบรนด์ไม่มากที่ได้ไปต่อ หนึ่งในนั้นคือ “บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)” หรือ “MAGURO Group” แบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นและเกาหลีที่สามารถแทรกตัวในตลาดและเติบโตอย่างรวดเร็ว แม้ในช่วงโควิด ก็ยังสร้างรายได้เป็นบวก
ที่สำคัญตอนนี้ Maguro กำลังจะสร้างสตอรี่ใหม่ ด้วยการเข้ามา IPO ในตลาดหลักทรัพย์ mai อะไรคือ ปัจจัยที่สร้างความสำเร็จให้ Maguro มาตลอด 9 ปี BrandBuffet พามาเจาะลึกเรื่องราว พร้อมแผนธุรกิจหลังเข้าตลาดกับ คุณเอกฤกษ์ แสงเสรีดํารง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง และ คุณจักรกฤติ สายสมบูรณ์ กรรมการบริหาร บริษัท มากุโระ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
จาก Passion สู่เส้นทางธุรกิจอาหาร
เส้นทางธุรกิจอาหารของ Maguro เกิดขึ้นในปี 2558 โดยกลุ่มเพื่อน 4 คน คือ คุณชัชรัสย์ ศรีอรุณ, คุณเอกฤกษ์ แสงเสรีดำรง, คุณจักรกฤติ สายสมบูรณ์ และคุณรณกาจ ชินสำราญ ที่ต้องการทำธุรกิจร่วมกัน หลังเป็นมนุษย์เงินเดือนมานาน ด้วย Passion ในการกินเหมือนกัน บวกกับมองว่าร้านอาหารเป็นธุรกิจที่เข้าสู่ตลาดได้ง่าย จึงสนใจทำร้านอาหารญี่ปุ่น เพราะชอบทาน อีกทั้งจากการได้มีโอกาสเดินทางไปญี่ปุ่นบ่อยๆ ทำให้เห็นร้านอาหารคุณภาพดีแทบจะมีทุกที่ ขณะที่ตลาดอาหารญี่ปุ่นในไทยจะแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ พรีเมี่ยม อาหารคุณภาพสูงในราคาสูง และกลุ่มระดับกลาง คุณภาพอาหารปานกลางในราคาปานกลาง จึงเห็นช่องว่างตลาดและอยากนำวัตถุดิบคุณภาพมาให้คนไทยได้สัมผัสในราคาเข้าถึงได้
แต่เนื่องจากไม่มีความรู้และประสบการณ์เรื่องอาหาร จึงตระเวนเก็บข้อมูลและทำการบ้านอย่างหนักประมาณ 1 ปี MAGURO จึงเกิดขึ้น โดยสาขาแรกเปิดที่ชิค รีพับบลิค บางนา คุณเอกฤกษ์ อธิบายว่า สาเหตุที่เลือกเปิดสาขาแรกที่ชิค รีพับบลิค บางนา เพราะไม่อยากเสี่ยงกลางเมือง ซึ่งเป็นสมรภูมิที่มีการแข่งขันดุเดือด จึงมองหาทำเลชานเมือง ที่มีกลุ่มเป้าหมายศักยภาพ เพราะลูกค้าก็ไม่อยากขับรถออกมาทานอาหารในเมือง ปรากฎว่า 1-2 เดือนแรก ได้รับการตอบรับจากคนในย่านนั้นดีมาก มีคิวต้องรอประมาณ 1-2 ชั่วโมง จากนั้นก็ค่อยๆ ขยายสาขา 2 จนถึงสาขา 5 โดยเลือกใช้กลยุทธ์แบบป่าล้อมเมือง
หลังจากนั้นจึงตัดสินใจรุกขยายสาขาในเมือง โดยสาขาแรกเปิดที่สยามสแควร์ วัน กระทั่งแบรนด์ MAGURO เติบโตไปได้ดี จึงมีความคิดที่จะขยายร้านอาหารแนวอื่นบ้าง ในปี 2564 จึงเปิดร้านปิ้งย่างเกาหลี SSAMTHING TOGETHER และอีก 1 ปีถัดมาก็เปิดร้านชาบู HITORI SHABU ปัจจุบันมีทั้งหมด 3 แบรนด์ รวม 26 สาขา และรายได้มีการเติบโตต่อเนื่อง โดยในปี 2566 มีรายได้ 1,045.81 ล้านบาท
4 กลยุทธ์ ดันแบรนด์เข้าถึงผู้บริโภค
แม้จะเป็นแบรนด์ที่เพิ่งเปิดตัวมาได้เพียง 9 ปี แต่สิ่งที่ทำให้ “MAGURO” ประสบความสำเร็จและสร้างการเติบโตจนมีรายได้ทะลุ 1 พันล้าน มาถึงทุกวันนี้ ท่ามกลางคู่แข่งจำนวนมากในตลาด และต้องเจอกับวิกฤตโควิด คุณเอกฤกษ์ บอกว่า มาจาก 4 กลยุทธ์ ดังนี้
1.การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Innovative Product Development) หนึ่งในหัวใจสำคัญที่ทำให้ Maguro แจ้งเกิด คือ เมนูอาหารมีความแตกต่างด้วยคุณภาพวัตถุดิบและรสชาติที่ถูกใจผู้บริโภค โดยในช่วงแรกมีเพียงไม่กี่เมนู ต่อมาได้พัฒนาเมนูใหม่ๆ ออกมามากขึ้น และทุกไตรมาสจะมีการพัฒนาเมนูใหม่ออกมาเรื่อยๆ จึงทำให้ลูกค้ากลับมาทานต่อเนื่องเป็นประจำและสร้างการเติบโตให้กับแบรนด์
2.การขยายสาขาและช่องทางการให้บริการ (Channel Expansion) นอกจากการพัฒนาเมนูให้หลากหลายแล้ว Maguro ยังมีการขยายสาขาและการให้บริการในรูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งสาขาในห้าง เดลิเวอรี่ และรับจัดเลี้ยงนอกสถานที่ ซึ่งส่งผลให้ Maguro เข้าไปอยู่ใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น และเติมเต็มโอกาสพิเศษให้ลูกค้า
3.สร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า (Customer Experience) MAGURO Group เป็นแบรนด์ที่ไม่เพียงให้ความสำคัญกับรสชาติของอาหาร แต่ยังนำวัฒนธรรมญี่ปุ่นเข้ามาถ่ายทอดด้วย ไม่ว่าจะเป็นการบริการ ความใส่ใจและพิถีพิถันในการปรุงอาหาร พร้อมทั้งลงทุนระบบ CRM ในการเก็บข้อมูล เพื่อให้เข้าใจอินไซต์ลูกค้ามากขึ้น และนำข้อมูลมาพัฒนากิจกรรมการตลาดให้ตรงกับผู้บริโภคแต่ละคน จึงส่งผลให้ผู้บริโภคจดจำและเกิดการบอกต่อ จนกลายมาเป็นความผูกพันกับแบรนด์ โดยปัจจุบันมีฐานสมาชิกกว่า 1.5 แสนราย และผู้ติดตามกว่า 850,000 Follower
4.Diversification ถึงแม้ “Maguro” มีการเติบโตต่อเนื่อง แต่ไม่เคยหยุดมองหาโอกาสทางธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโต โดยหนึ่งในกลยุทธ์ที่ช่วยขยาย Portfolio ให้เติบโตมากขึ้น คือ การสร้างแบรนด์ใหม่ เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้า และได้ส่วนแบ่งตลาดมากขึ้น โดยปัจจุบันมีร้านอาหารในเครือทั้งหมด 3 แบรนด์ คือ MAGURO ร้านอาหารญี่ปุ่นและซูชิที่เน้นการใช้คุณภาพสูงจากประเทศญี่ปุ่น 14 สาขา, SSAMTHING TOGETHER ร้านปิ้งย่างเกาหลีระดับพรีเมียม 6 สาขา และ HITORI SHABU ร้านชาบูและสุกี้ยากี้หม้อเดี่ยวสไตล์คันไซต้นตำหรับ 6 สาขา
ระดมทุน ขาย IPO 34 ล้านหุ้น ลุยสร้างแบรนด์ใหม่ เสริมแกร่งพอร์ต
สำหรับภาพรวมธุรกิจร้านอาหารในปีนี้ คุณจักรกฤติ บอกว่า การแข่งขันรุนแรงอย่างมาก สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา สะท้อนได้จากกำลังซื้อลดลง จึงส่งผลทำให้ตลาดร้านอาหารมีการเติบโตไม่สูง แต่สำหรับอาหารญี่ปุ่นและเกาหลียังมีช่องว่างในการเติบโตอีกมาก เพราะแม้ตลาดอาหารเกาหลีจะเข้ามาในไทยหลายปีแล้ว แต่ยังเป็นเซ็กเม้นต์ใหม่ ส่วนตลาดสุกี้ชาบูเป็นตลาดใหญ่มาก มีมูลค่า 20,000 ล้านบาท ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันต้องการความคุ้มค่า ร้านอาหารที่เน้นคุณภาพในราคาสมเหตุสมผลจึงยังไปได้และมีแนวโน้มโตขึ้นเรื่อยๆ
สเต็ปต่อไปของ Maguro จึงต้องการขยายธุรกิจอาหารให้เติบโตมากขึ้น ไม่ได้พึ่งพิงแบรนด์ใดแบรนด์เดียว จึงเป็นที่มาของการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ mai ซึ่งบริษัทฯ จะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 34,060,200 หุ้น หรือคิดเป็นไม่เกิน 27.03% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมด โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนนั้น บริษัทฯ มีแผนจะนำไปเปิดสาขาเพิ่ม 11 สาขาในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงปรับปรุงสาขาเดิมและครัวกลาง พร้อมกับติดตั้งและพัฒนาระบบ IT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้รองรับการขยายตัวของสาขาในอนาคต
ขณะเดียวกัน หลังจากเข้าตลาดยังมีแผนเปิดแฟลกชิปสโตร์ ซึ่งจะรวม 3 แบรนด์ไว้ในที่เดียวกัน พร้อมทั้งสร้างแบรนด์ใหม่ เพื่อที่จะไม่พึ่งพิงแบรนด์ใดแบรนด์เดียว โดยใน 2 ปีจากนี้จะมีมากกว่า 1 แบรนด์ โดยแบรนด์แรกจะได้เห็นในครึ่งปีหลัง ซึ่งจะมีทั้งการแตกซับแบรนด์อาหารญี่ปุ่น และอาหารแนวใหม่ที่ฉีกจากอาหารญี่ปุ่นและเกาหลี
จึงเป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่น่าตามอง ซึ่งต้องติดตามกันต่อว่า หลังจากเข้าตลาดแล้ว MAGURO Group จะมีทิศทางการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างไร
ติดตามพวกเราได้ที่ LINE