ทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า Influencer คืออีกหนึ่งฟังก์ชันสำคัญของแวดวงการตลาดและโฆษณา โดยจะเห็นได้ว่า ผู้มีอิทธิพลในโซเชียลมีเดียเหล่านี้มักผลิตชิ้นงานที่สามารถสร้างอิมแพคต่อพฤติกรรมและความคิดของคนในสังคมได้มากมาย
อย่างไรก็ดี การทำงานกับ Influencer ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด และทำให้แบรนด์เติบโตอย่างรวดเร็วก็มีความท้าทายไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะการเลือก Influencers ให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์ ซึ่งจะนำไปสู่ความรู้สึกที่ดีกับตัวสินค้า – บริการ สะท้อนได้จากรายงาน Fast Facts about Influencer จาก Far East Fame Line DDB และ Data First บริษัทด้านที่ปรึกษาการตลาดและดาต้า ที่พบว่า สิ่งที่ผู้บริโภคในปัจจุบัน ให้ความสนใจติดตาม Influencers มาจากปัจจัยดังต่อไปนี้
- 68% ต้องการศึกษาข้อมูล อัปเดตรายละเอียดสินค้าหรือบริการใหม่ ๆ
- 67% เพิ่มทักษะความรู้ให้ทันกับสถานการณ์ปัจจุบัน
- 63% ได้แรงบันดาลใจ แง่คิด ในการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะกลุ่ม Silver Gen
- 62% ดูเพื่อความสนุกสนาน บันเทิง ผ่อนคลาย พบมากในกลุ่ม Pet, Travel
- 56% ดูการใช้งานจริง และการได้ส่วนลดพิเศษ
อัปคอนเทนต์เวลาไหน ได้ผลสูงสุด
ขณะที่พฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์จาก Influencers ของผู้ตอบแบบสอบถามที่พบในรายงานชิ้นนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน โดย
- ผู้บริโภคทั่วไปใช้เวลา 1 – 3 ชั่วโมงต่อวันในการอ่านเนื้อหารีวิว ชมคลิปรายการของอินฟลูเอนเซอร์
- ช่วงเวลา 18.00 – 21.00 น. คือช่วงที่มีการรับชมเนื้อหาต่าง ๆ มากที่สุดของวัน
- 62% ของกลุ่ม Silver Gen ชอบดูคอนเทนต์นาน
- แพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมสูงสุดในการติดตามรับชมคอนเทนต์จากอินฟลูเอนเซอร์ คือ YouTube, Facebook และ TikTok
- 82% ระบุว่า การรับชมเนื้อหาการรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือบริการในระดับที่สูงมาก
- ช่วงเวลา 7.00 – 11.00 น. อาจเป็นช่วงเวลาที่ผู้บริโภคเน้นการทำงาน คอนเทนต์ที่อัปในเวลาดังกล่าวจึงอาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
เปิดความชอบผู้บริโภค อะไรที่ Influencer ควรทำ – ไม่ควรทำ
แม้ประเทศไทยจะมี Influencer ที่เชี่ยวชาญในการทำคอนเทนต์ และรู้จักฐานผู้ติดตามของตัวเองพอสมควรแล้ว แต่สิ่งที่อาจต้องทราบเพิ่มเติมก็คือ ผู้บริโภคในแต่ละแพลตฟอร์มมีพฤติกรรมอย่างไร ชอบหรือไม่ชอบคอนเทนต์แบบไหน ซึ่งรายงาน Fast Facts about Influencer พบว่า
แพลตฟอร์ม YouTube
- 85% สนใจคลิปสั้นที่มีเนื้อหากระชับ สรุปได้ใจความ
- 78% สนใจคอนเทนต์ที่มีภาพประกอบ และการพูดบรรยาย
- 77% ให้ความสนใจกับเนื้อหาที่กำลังเป็นกระแส
- 62% ให้ความสนใจกับเนื้อหาที่แปลกใหม่
- สิ่งที่ไม่ชอบดูมากที่สุดบน YouTube คือแม่ค้าออนไลน์ที่ไลฟ์ขายของ
แพลตฟอร์ม Facebook
- 90% ชอบคลิปสั้น ๆ กระชับ สรุปได้ใจความ
- 80% เน้นคลิปที่ไม่ภาพประกอบและการพูดบรรยาย
- 69% เน้นชมคอนเทนต์เพื่อความผ่อนคลาย
- รีวิวจากผู้ใช้จริงจะมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
แพลตฟอร์ม TikTok
- 95% ชอบคลิปสั้น ๆ กระชับ สรุปได้ใจความ
- 75% เน้นคลิปที่ไม่ภาพประกอบและการพูดบรรยาย
- 78% เน้นชมคอนเทนต์เพื่อความผ่อนคลาย
- สิ่งที่ผู้บริโภคไม่ชอบดูมากที่สุดคือการรีวิวสินค้าจากแบรนด์โดยตรง หากไม่ใช่สินค้าหรือสิ่งที่กำลังสนใจ
แพลตฟอร์ม Instagram
- 92% ชอบคลิปสั้น ๆ กระชับ สรุปได้ใจความ
- 80% เน้นคลิปที่ตัดต่อเป็นคลิปย่อย ๆ เพื่อแสดงรายละเอียดที่ชัดเจน
- 78% เน้นความบันเทิงทั่วไป
การไลฟ์
- 96% เคยรับชมไลฟ์ขายของจากช่องทางออนไลน์ โดยช่องทางที่เคยดูมากที่สุดคือ Facebook และ TikTok
- ปัจจัยของคอนเทนต์ที่มีผลต่อการซื้อ 48% ตอบว่า เข้าถึงง่าย และเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม ส่วน 43% บอกว่า ข้อมูลที่นำเสนอต้องสามารถนำมาใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน
เปิดใจช่องดัง “หมอท็อป-กายฮารุ” แนะควรเล่นตามเกมแพลตฟอร์ม
นอกจากข้อมูลของรายงานที่เชื่อว่าแบรนด์จะนำไปใช้ประโยชน์ได้แล้ว ในฝั่งของ Influencers ก็มีการให้แนวคิดในการทำคอนเทนต์เอาไว้อย่างน่าสนใจเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ หมอท็อป จาก Doctor Top ที่ให้คำแนะนำในการเป็น Influencers สายแพทย์ว่า “การเป็น Influencers นั้น ต้องให้ความสำคัญกับคำแนะนำของแพลตฟอร์ม เช่น เดือนนี้เขามีแนวทางอย่างไร ก็ต้องเล่นตามเกมของแพลตฟอร์มนั้น ส่วนจะทำอย่างไรให้คลิปน่าสนใจ อยากให้มองเหมือนกับการพาดหัวข่าว ถ้าการพาดหัวของเรา ทำให้เขาเข้ามาแล้วเจอสิ่งที่เปลี่ยนชีวิตเขาได้ก็ถือว่าคุ้มค่า”
ส่วนคุณกาย-ฮารุ จากช่อง Guy Haru Family ซึ่งเป็น Influencer สายครอบครัว ใหัทัศนะว่า บางทีการทำคอนเทนต์อาจไม่ต้องเป๊ะตามสิ่งที่คิดไว้ในใจทุกกระเบียดนิ้ว
“เวลาเราคิดคอนเทนต์เราคิดไว้แล้วว่าจะต้องมี 1 -2 – 3 – 4 เหมือนเวลาเราอ่านหนังสือแล้วเรามีภาพในหัว แล้วพอไปสถานการณ์จริง แล้วไม่เป็นอย่างที่เราหวังเอาไว้ มันก็แอบเฟลเหมือนกันนะ เลยทำให้เราได้ข้อคิดว่า เราอย่าไปกำหนดว่ามันจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ เราวางบทไว้ได้ 1 – 2 – 3 – 4 – 5- 6 – 7 – 8 แต่รายละเอียดข้างในคือเสน่ห์ของแต่ละช่อง”