HomeBrand Move !!แบรนด์เนมไม่ฟุ่มเฟือย! วิธีคิดของ “ไฮโซจิ๊บ-เสาวณีย์ ผไทวณิชย์” กับธุรกิจสินเชื่อ เพื่อคนรักแบรนด์เนม ตั้งเป้าเดือนละ 10 ล้านบาท

แบรนด์เนมไม่ฟุ่มเฟือย! วิธีคิดของ “ไฮโซจิ๊บ-เสาวณีย์ ผไทวณิชย์” กับธุรกิจสินเชื่อ เพื่อคนรักแบรนด์เนม ตั้งเป้าเดือนละ 10 ล้านบาท

แชร์ :

สภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาต่อเนื่องกันมาหลายปี บวกกับปัญหาเงินเฟ้อสูง ทำให้หลายธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก แต่ความนิยมใน “สินค้าแบรนด์เนม” กลับไม่เคยลดลง แต่มีมูลค่าสูงขึ้นสวนกระแสเศรษฐกิจ สะท้อนได้จากอัตราการเติบโตของตลาดสินค้าแบรนด์เนมที่เพิ่มขึ้นทุกปี ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร โดยในปี 2565 ตลาดรวมสินค้าแบรนด์เนมทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 13 ล้านล้านบาท เฉพาะในญี่ปุ่นมีมูลค่าตลาด 9.2 ล้านบาท ส่วนไทยมีมูลค่าประมาณ 1.4 แสนล้านบาท

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อีกทั้งหากดูยอดขายของบริษัท LVMH อาณาจักรแบรนด์แฟชั่นหรูระดับโลกอย่าง Louis Vuitton, Celine, Christian Dior และอีกมากมาย รวมไปถึง Hermes ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดดมาตั้งแต่ช่วงโควิดแพร่ระบาด จนทำให้มีผู้ประกอบการเข้ามาบุกตลาดนี้กันอย่างคึกคัก และหลายรายก็ประสบความสำเร็จ เติบโตอย่างโดดเด่น หนึ่งในนั้นคือ คุณเสาวนีย์ ผไทวณิชย์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เงินเรื่องจิ๊บ จำกัด ที่วันนี้ต่อยอดมาสู่ธุรกิจ Jibjib Money ซึ่งเป็นสินเชื่อเพื่อคนรักแบรนด์เนม BrandBuffet จะพาไปถอดวิธีคิดของเธอคนนี้ พร้อมทำความรู้จักธุรกิจใหม่กันอย่างเจาะลึก

ความไม่ตั้งใจ + ความชอบ แจ้งเกิดธุรกิจแบรนด์เนม 

บางครั้งไอเดียธุรกิจก็มาจากความบังเอิญหรือความชอบใกล้ตัวโดยไม่รู้ตัว มารู้อีกทีก็เข้าสู่ธุรกิจเต็มตัวแล้ว เช่นเดียวกับคุณเสาวนีย์ ที่เริ่มต้นธุรกิจแบรนด์เนมจากความไม่ตั้งใจ โดยเริ่มจากความชอบในกระเป๋าแบรนด์เนมเมื่อ 15 ปีที่แล้ว แต่ตอนนั้นยังเด็กและมีเงินไม่มาก เธอจึงเก็บเงินจนสามารถซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมมือสองใบแรกในชีวิต นั่นคือ Lady Dior ขนาด 10 นิ้ว ในราคาประมาณ 40,000-50,000 บาท

หลังจากนั้นก็เริ่มศึกษาตลาดกระเป๋าอย่างจริงจัง กระทั่งซื้อใบที่ 2 และใบที่ 3 จนเกือบเต็มตู้ พอเบื่อ ก็เริ่มหยิบออกมาขาย ซึ่งใบแรกได้กำไรงามทีเดียว ประมาณ 5,000-10,000 บาท เมื่อเห็นตัวเลขกำไร เธอจึงค่อยๆ เอาออกมาขายจนหมดตู้ แถมยังผันตัวมาเป็นคนรับซื้อกกระเป๋าแบรนด์เนมอีกด้วย ต่อมาก็เริ่มมีคนนำกระเป๋ามาฝาก และให้ดอกเบี้ย 2% เธอจึงลองดู กระทั่งกลายมาเป็นธุรกิจรับจำนำ

“Christian Dior ทำให้เริ่มเล่นกระเป๋า แต่ยังไม่เล่น Hermès เพราะตอนนั้นราคาค่อนข้างสูง และมีเงินไม่มาก โดยปัจจุบันมีกระเป๋ากว่า 200 ใบ ราคาแพงสุด 8 ล้านบาท และแบรนด์ที่ชอบมากที่สุดคือ Hermes”

คุณเสาวณีย์ บอกถึง Passion ที่นำเธอก้าวสู่ถนนสายนี้อย่างไม่ตั้งใจจนสั่งสมประสบการณ์มากว่า 15 ปี ประกอบกับมองเห็นโอกาสของตลาดสินค้าแบรนด์เนมที่มีขนาดใหญ่ และมีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี เฉลี่ย 9-11% โดยตลาดสินค้าแบรนด์เนมไทยมีมูลค่าประมาณ 1.4 แสนล้านบาท รวมทั้งมองว่าผู้หญิงส่วนใหญ่มีกระเป๋าไม่ต่ำกว่า 20 ใบต่อคน ส่วนสาวไทยมีไม่ต่ำกว่า 2 ใบต่อคน จึงทำให้เธอตัดสินใจเปิด บริษัท เงินเรื่องจิ๊บ จำกัด เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา เพื่อดำเนินธุรกิจ bagforcash รับฝากกระเป๋าแบรนด์เนม

โดยจุดแข็งที่แตกต่างของ bagforcash คือ การอนุมัติเร็วภายใน 45 นาที และดอกเบี้ยต่ำ ทั้งยังมีระบบเตือนการต่อสัญญา พร้อมความปลอดภัยด้วยตู้เซฟนิรภัย และช่องวางกระเป๋า 1 ต่อ 1 ส่งผลให้กว่า 8 เดือนที่ผ่านมา bagforcash ได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก โดยมีผู้ใช้บริการ 1,217 เคส คิดเป็นวงเงินประมาณ 200 ล้านบาท ลูกค้ามีตั้งแต่ไฮโซ ดารา และนักศึกษา จนต้องขยายตู้เซฟสำหรับเก็บกระเป๋าลูกค้าที่มาแลกเป็นเงินห้องที่ 3 โดยแต่ละห้องสามารถเก็บกระเป๋าได้ 800 ใบ

จาก bagforcash ต่อยอดสู่ Jipjip Money

แม้หลายคนอาจมองสินค้าแบรนด์เนมเป็นของฟุ่มเฟือย แต่ในมุมมองคุณเสาวณีย์ กลับมองเป็นสินทรัพย์ที่สามารถทำกำไรให้ผู้ครอบครอง เพราะคำว่า “ฟุ่มเฟือย” มูลค่าของสินค้าต้อง “ลดลง” หรือไม่มีค่า แต่มูลค่าของสินค้าแบรนด์เนมกลับสูงขึ้นก้าวกระโดดทุกปี แถมยังเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ไวกว่า สะท้อนได้จากราคากระเป๋าแบรนด์เนมหลายรุ่นที่พุ่งสูงขึ้น เช่น กระเป๋า Hermes Himalayan Birkin ในปี 2010 ราคา 3 ล้านบาท จนถึงปี 2020 ราคาพุ่งเป็น 7.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 150%

ส่วน Channel Classic Flap Medium ขนาด 10 นิ้ว ในปี 2010 ราคา 104,040 บาท จนถึงปี 2020 ราคา 372,000 บาท เพิ่มขึ้น 257% ขณะที่รถยนต์หรูอย่าง Benz S Class ปี 2010 ราคา 2 ล้านบาท พอปี 2020 ราคาเหลือเพียง 800,000 บาท หายไป 75% ส่วนบ้านทาวน์เฮ้าส์ ปี 2010 ราคา 3 ล้านบาท ในปี 2020 ราคาขึ้นเป็น 4.3 ล้านบาท

และเมื่อมาดูพฤติกรรมของลูกค้าในการซื้อกระเป๋าแบรนด์เนม จะพบว่าส่วนใหญ่นิยมรูดบัตรเครดิต หรือซื้อจากร้านจำหน่ายสินค้าแบรนด์เนมที่สามารถมัดจำได้ จากนั้นจะผ่อนจนจบจึงได้รับกระเป๋า บางคนที่ไม่ชอบผ่อน ก็จะเก็บเงินเพื่อซื้อกระเป๋า แต่พอเก็บครบ ราคากระเป๋ากลับปรับขึ้น ทำให้ไม่ได้ซื้อสักที จาก Pain Point เหล่านี้ จึงเป็นที่มาให้คุณเสาวณีย์ต่อยอดการให้บริการมาสู่การให้สินเชื่อสำหรับคนรักแบรนด์เนมในชื่อ “Jipjip Money” นับเป็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในประเทศไทยที่มีใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ให้บริการสินเชื่อสำหรับสินค้าแบรนด์เนมทั้งกระเป๋าและนาฬิกา

“เราอยากให้การเข้าถึงสินค้า Luxury เป็นสิ่งที่ง่ายขึ้น และแฟร์ เพราะสมัยก่อนคนมองสินค้า Luxury ต้องเป็นคนมีเงินเท่านั้นถึงจะซื้อสินค้าเหล่านี้ได้ อีกทั้งทั่วโลกไม่มีโมเดลธุรกิจแบบนี้มาก่อน แต่หากดูจากมูลค่าและการเติบโตของตลาด ก็มั่นใจธุรกิจนี้มีตลาดและเติบโตได้อีกมาก จึงตัดสินใจขอไลน์เซ่นส์จากธนาคารแห่งประเทศไทศ จนกระทั่งได้รับใบอนุญาต”

ทำธุรกิจ ต้อง “เข้าใจตลาด” หัวใจสร้างความสำเร็จ

สำหรับการให้บริการ Jipjip Money เมื่อลูกค้าเจอกระเป๋าที่อยากได้จากร้านพาร์ทเนอร์ สามารถคุยเรื่องวงเงินกับบริษัท เพื่อขออนุมัติสินเชื่อ จากนั้นเมื่อบริษัทพิจารณาและอนุมัติ จะจัดการโอนเงินเต็มจำนวนให้ร้านค้าและจัดส่งกระเป๋าให้กับลูกค้าทันที ส่วนดอกเบี้ยมีอัตราเริ่มต้น 1.59-1.99% ต่อเดือน และวงเงินอนุมัติขึ้นอยู่กับเครดิตลูกค้า วงเงินต่อหนึ่งสัญญาไม่เกิน 1 ล้านบาท สามารถผ่อนยาวสูงสุด 60 เดือน

แม้ Jipjip Money เพิ่งเปิดให้บริการ แต่ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการมาขอสินเชื่อกว่า 10 สัญญาแล้ว ซึ่งอนุมัติไปแล้ว 3-4 สัญญา โดยตั้งเป้าว่ายอดสินเชื่อเดือนละ 10 ล้านบาท เพราะไม่อยากให้มีหนี้เสีย โดยสิ้นปีนี้ตั้งเป้ารายได้ 50 ล้านบาท ซึ่งหลักๆ ยังมาจาก bagforcash จากค่าตรวจกระเป๋า และค่าฝากกระเป๋า

โดยในอนาคต คุณเสาวณีย์ มีแผนจะขยายสู่บริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น watchforcash และ diamondforcash ซึ่งจะเปิดบริการในปี 2567 จากนั้นจะขยายตลาดไปต่างประเทศ พร้อมทั้งวาดหวังจะนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ภายใน 3 ปี หรือในปี 2569 ซึ่งเธอมั่นใจว่าเป็นไปได้

สำหรับเคล็ดลับที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จและโลดแล่นในตลาดนี้มายาวนาน สิ่งสำคัญคือ การเข้าใจตลาด และเมื่อคิดแล้วก็ต้องลงมือทำ ดังนั้น ใครที่อยากลงทุนในกระเป๋าแบรนด์เนมสักใบ เธอแนะว่า ต้องศึกษาข้อมูลให้เข้าใจ เพราะถึงแม้มูลค่ากระเป๋าแบรนด์เนมจะสูงขึ้นทุกปี แต่ไม่ใช่ทุกรุ่นทุกใบจะเพิ่มขึ้น


แชร์ :

You may also like