HomeBrand Move !!ไปรษณีย์ไทยฟื้นแล้ว! ครึ่งปีแรกโชว์ ‘กำไร’ หลังเจอสงครามราคาฉุดปี 65 ขาดทุน 3,000 ล้าน

ไปรษณีย์ไทยฟื้นแล้ว! ครึ่งปีแรกโชว์ ‘กำไร’ หลังเจอสงครามราคาฉุดปี 65 ขาดทุน 3,000 ล้าน

แชร์ :

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาแม้ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยเติบโตสูง แต่ “ธุรกิจขนส่งพัสดุ” กลับอยู่ในสงครามราคา มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาแข่งขันมากขึ้น ทั้งบริษัทข้ามชาติ แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่สร้างเครือข่ายจัดส่งพัสดุเอง  เข้ามาช่วงชิงตลาดจากผู้ประกอบการรายเดิม ทำให้ “ไปรษณีย์ไทย” องค์กร 140 ปี ต้องเจอกับตัวเลขขาดทุน 3,000 ล้านบาทในปี 2565

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หากดูผลประกอบการ ปี 2565 ธุรกิจขนส่งรายใหญ่ในตลาด ก็พบว่าอยู่ในสถานการณ์เดียวกันคือ “ขาดทุน” หลักพันล้าน ไม่ว่าจะเป็น Kerry ขาดทุน 2,829 ล้านบาท แฟลช เอ็กซ์เพลส ขาดทุน 2,190 ล้านบาท

สาเหตุหลักมาจากธุรกิจขนส่งต้องมีเครือข่ายทั่วประเทศ จึงมีต้นทุนขนส่งหลักหมื่นล้านบาทต่อปี แต่ปี 2565 หลังสถานการณ์โควิด ยอดสั่งซื้อผ่านออนไลน์ลดลงทั้งจำนวนชิ้นและยอดซื้อต่อครั้ง เพราะผู้บริโภคออกไปใช้ชีวิตปกติ ซื้อสินค้าจากช่องทางออฟไลน์มากขึ้น ขณะที่ “ผู้เล่นหน้าใหม่” ในธุรกิจขนส่งยังเข้ามาต่อเนื่อง จึงมีการแย่งตลาดกันเอง โดยใช้ “สงครามราคา” แม้จะลดลงแต่ก็ยังมีอยู่

ย้อนดูผลประกอบการ “ไปรษณีย์ไทย” เบอร์หนึ่งในธุรกิจขนส่ง

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า  รายงานผลการดำเนินการไปรษณีย์ไทย 5 ปีย้อนหลังไว้ดังนี้

– ปี 2561 รายได้ 29,298 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,809 ล้านบาท

– ปี 2562 รายได้ 27,162 ล้านบาท กำไรสุทธิ 589 ล้านบาท

– ปี 2563 รายได้ 23,712 ล้านบาท กำไรสุทธิ 238 ล้านบาท

– ปี 2564 รายได้ 21,226 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,730 ล้านบาท

– ปี 2565 รายได้ 19,546 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 3,018 ล้านบาท

หลังเจอตัวเลขขาดทุน 2 ปีต่อเนื่อง “ไปรษณีย์ไทย” เดินหน้าปรับโครงสร้างองค์กร ลดบุคลากรจาก 42,000 คน เหลือ 38,000 คน รวมทั้งหาช่องทางเพิ่มรายได้ในกลุ่มขนส่งที่ยังเติบโต ทั้งขนส่งด่วน ขนส่งชิ้นใหญ่ ร่วมกับพันธมิตรทำบริการขนส่งสินค้าควบคุมอุณหภูมิแบรนด์ FUZE

โดยเริ่มเห็นสัญญาณบวก จากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก 2566

– ทำรายได้ 10,833 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% ขณะที่ค่าใช้จ่ายลดลง 15% ทำให้ผลประกอบการกลับมา “กำไร” 158 ล้านบาท

– กลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ (ขนส่งพัสดุด่วน) มีชิ้นงานเพิ่มขึ้น 29% รายได้ในกลุ่มนี้เติบโต 22%

– ปัจจุบันไปรษณีย์ไทยมีเครือข่ายจุดบริการครอบคลุมทุกพื้นที่กว่า 30,000 แห่ง

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์

ตั้งเป้า ปี 66 รายได้ 2.2 หมื่นล้านบาท

ดร.ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่าตัวเลขขาดทุน 3,000 ล้านในปี 2565  มาจากขาดทุนจากการดำเนินงาน 2,000 ล้านบาท และการปรับโครงสร้างบุคลากรทำให้ต้อง early retire มีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ 1,000 ล้านบาท

ปีนี้เริ่มเห็นสัญญาณบวกแล้วจากภาพรวมธุรกิจไปรษณีย์ไทยช่วงครึ่งปีแรกเติบโตดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา และเห็นตัวเลข “กำไร” อีกครั้ง มาจากการปรับโครงสร้างตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย

โดยกลุ่มบริการขนส่งและโลจิสติกส์ ครองสัดส่วนรายได้สูงสุดถึง 44.11% ตามด้วย กลุ่มบริการไปรษณียภัณฑ์ 36.04% กลุ่มบริการระหว่างประเทศ 13.60% กลุ่มบริการค้าปลีก 2.35% กลุ่มบริการการเงินและบริการอื่นๆ 2.84% และรายได้อื่นๆ 1.06%

นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีแรก 2566 ไปรษณีย์ไทยได้สนับสนุนการให้บริการพื้นฐาน เข้าถึงทุกพื้นที่ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมคิดเป็นมูลค่ากว่า 1,200 ล้านบาท ซึ่งเป็นบทบาทของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ต้องรับผิดชอบ

สำหรับแผนธุรกิจครึ่งปีหลัง จะใช้เทคโนโลยีพัฒนาบริการใหม่ๆ เพื่อให้ไปรษณีย์ไทยเป็น “มากกว่าการขนส่ง” โดยเฉพาะการก้าวสู่ Data Company จากการเป็น Information Logistics ที่มีข้อมูลแบบไร้ขีดจำกัด เช่น บริการ Prompt Post ที่จะทรานส์ฟอร์มเอกสารทุกรูปแบบสู่เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การแปลงระบบจ่าหน้าหรือที่อยู่ในรูปแบบดิจิทัลผ่านระบบ Digital Post ID การให้บริการในรูปแบบ Postman as a service ที่สามารถนำข้อมูลและความรู้ ความเข้าใจในทุกพื้นที่มาต่อยอดนำเสนอบริการที่ตรงใจ พร้อมทั้งร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อนพี่ไปรฯ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการใช้บริการ

ปัจจุบัน Post Family ระบบสมาชิกของไปรษณีย์ไทย ที่ให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ มีฐานสมาชิกกว่า 600,000 ราย ปีนี้ตั้งเป้าให้ครบ 1,000,000 ราย ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีลอยัลตี้กับแบรนด์ จึงไม่อ่อนไหวกับกลยุทธ์ราคาในตลาด ขณะที่ลูกค้าทั่วไปที่ใช้บริการไปรษณีย์ไทยมีกว่า 10 ล้านคนต่อปี ในแต่ละวันไปรษณีย์ไทยเข้าถึง 1  ครัวเรือนไทย

ปี 2566 ไปรษณีย์ไทยวางเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่ 22,000 ล้านบาท เติบโต 15% จากปีก่อน เชื่อว่าครึ่งปีหลังยังทำกำไรได้ต่อเนื่อง และเป็นปีที่ผลประกอบการ Turnaround

ครบรอบ 140 ปีกับกลยุทธ์ 1-4-0

ในโอกาส ไปรษณีย์ไทยครบรอบ 140 ปี จึงวางเป้าหมายขับเคลื่อนองค์กร ด้วยกลยุทธ์ 1-4-0 ดังนี้

1 คือ การเป็นที่หนึ่งเรื่องคุณภาพ พร้อมส่งมอบคุณค่าด้วยบริการที่มีคุณภาพเพื่อคนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยให้บริการส่งพัสดุแตกต่างกันในแต่ละประเภทสินค้า ทั้งสินค้าทั่วไป ผลไม้ ของสด

4 คือ เส้นทางขนส่งทางรถยนต์ ทางรถไฟ ทางอากาศ ทางดิจิทัลครอบคลุมทั่วไทย ทั่วโลก ครบทุกไลฟ์สไตล์

0 คือ Zero Complaint ลดข้อร้องเรียนเป็นศูนย์ หรือแก้ปัญหาให้ผู้ใช้บริการอย่างรวดเร็วที่สุด ” การให้บริการตลาดแมส ไม่ใช่ว่าไปรษณีย์ไทย ไม่มีข้อร้องเรียน แต่ได้วางแนวทาง จัดตั้งทีมงานดูแลเรื่องร้องเรียนโดยเฉพาะ เพื่อแก้ปัญหาให้จบอย่างรวดเร็ว”

เราเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรและการทำงานใหม่ ให้บริการ 365 วัน ไม่มีวันหยุด เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภค เสนอบริการมากกว่าที่ลูกค้าคาดหวังและเป็นมากกว่าธุรกิจขนส่ง

ผศ.ดร.เอกก์ ภทรธนกุล กรรมการและประธานคณะอนุกรรมการด้านกลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาดและการสื่อสาร บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่าปีนี้ที่ไปรษณีย์ไทยเดินทางมาถึงอายุ 140 ปี และอยู่ในตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงให้ความสำคัญกับการเป็น “แบรนด์” ที่ทุกคนเชื่อถือเมื่อนึกถึงบริการขนส่ง

โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อาจมีภาพจำว่าไปรษณีย์ไทยเป็นแบรนด์ที่อยู่มานาน ไม่ทันสมัย ไปรษณีย์ไทยต้องทลายกำแพงภาพจำตรงนี้ไปให้ได้ เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนนิวเจนให้มากขึ้น ทั้งในเชิงการสร้างฐานผู้บริโภคผ่านโครงการและแคมเปญต่าง ๆ พร้อมทั้งมองหาไอเดียใหม่ๆ และอินไซต์จากคนรุ่นใหม่ Gen Z มาปรับใช้และต่อยอดให้กับแบรนด์ให้ดูสดใสมากขึ้น เหมือนองค์กรอายุ 14 อีกครั้ง ทำให้องค์กรมีทั้ง “พี่ไปรฯ” และ “น้องไปรฯ” ร่วมกันทำงาน

“การทำตลาดจะให้ความสำคัญกับการครองใจผู้ใช้บริการ เป็นเพื่อนสนิทที่พร้อมเดินเคียงข้างคนไทยในทุกเส้นทาง ที่ส่งมอบทั้งความสัมพันธ์และความสำเร็จ อีกทั้งยังรู้จริง รู้ใจ ผู้ใช้บริการทุกคน ด้วยแนวคิด ส่งทุกความสัมพันธ์ สู่ทุกความสำเร็จ”

ไปรษณีย์ไทยยังมุ่งเน้นความเป็น Top of Mind ที่คนไทยจะนึกถึง ไม่ว่าจะเป็นการมีบริการที่ออกแบบมาเฉพาะและน่าจดจำสำหรับคนทุกเจเนอเรชัน ความเชื่อใจกับคุณภาพที่สัมผัสได้จริง การสร้างประสบการณ์ใหม่ๆที่นอกเหนือไปจากการสื่อสารและการขนส่งแล้ว ยังเป็นแบรนด์ที่ช่วยแนะแนวทางและนำพาธุรกิจต่างๆ ไปสู่ตลาดที่เหมาะสม เป็นแบรนด์ที่พร้อมก้าวไปกับโลกอนาคตทุกยุค ทุกสมัย


แชร์ :

You may also like