HomeDigitalเปิด 4 เทรนด์ค้าปลีกไทย ลงทุน “อีคอมเมิร์ซ” อย่างไรให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค

เปิด 4 เทรนด์ค้าปลีกไทย ลงทุน “อีคอมเมิร์ซ” อย่างไรให้เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค

แชร์ :

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ช่องทาง “อีคอมเมิร์ซ” ถือเป็นช่องทางการขายที่แวดวงค้าปลีกยุคนี้ไม่อาจเมินเฉยได้อีกต่อไป และมีรายงานจากบริษัทที่ปรึกษาได้ออกมาชี้ไปในทิศทางเดียวกัน เช่น e-Conomy SEA Report ประจำปี 2022 ของ Google, Temasek และ Bain & Company ที่ระบุว่า อีคอมเมิร์ซจะเป็นหัวจักรขับเคลื่อนสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคิดเป็น 63% ของมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลโดยรวมของไทยในปี 2022

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แน่นอนว่าจากเทรนด์ดังกล่าว ยักษ์ใหญ่ในแวดวงค้าปลีกของทุกประเทศต่างมีการปรับตัว ซึ่งสำหรับประเทศไทย ก็พบว่ามีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในครึ่งปีหลังของปี 2023 ที่คุณนัยนา กอเจริญรัตน์ ผู้จัดการ ทีเอ็มเอ็กซ์ โกลบอล ประจำประเทศไทย ในฐานะที่ปรึกษา และผู้พัฒนาโซลูชันด้านคลังสินค้าและโลจิสติกส์จากออสเตรเลีย ได้ระบุว่ามีการลงทุนในหลายรูปแบบ

“ต้องยอมรับว่า อีคอมเมิร์ซถือเป็นธุรกิจดาวรุ่งในประเทศไทย โดยมีการคาดกาณ์ว่าค้าปลีกออนไลน์จะโต 13% หรือคิดเป็นมูลค่าถึง 6 แสนล้านบาท ในปี 2566 และครองสัดส่วน 16% ของตลาดค้าปลีกทั้งหมด ซึ่งแรงหนุนสำคัญที่ทำให้ค้าปลีกออนไลน์โตได้มาจากการเปิดเขตการค้าเสรีดิจิทัลแห่งแรกระหว่างไทยและ Alibaba ของจีน เมื่อเดือนธันวาคม ในปีที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคในไทยและจีนสามารถซื้อสินค้าจากตลาดของอีกประเทศหนึ่งได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้น”

คุณนัยนา กอเจริญรัตน์ ผู้จัดการ ทีเอ็มเอ็กซ์ โกลบอล ประจำประเทศไทย

คุณนัยนา กอเจริญรัตน์ ผู้จัดการ ทีเอ็มเอ็กซ์ โกลบอล ประจำประเทศไทย

เพื่อปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว สิ่งที่ผู้บริหารทีเอ็มเอ็กซ์ โกลบอลพบจากการเป็นที่ปรึกษาให้กับธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ของไทยก็คือการลงทุนเพิ่มขึ้นใน 4 ด้าน เพื่อตอบรับเทรนด์อีคอมเมิร์ซ ซึ่งได้แก่

1. คลังสินค้าที่มาพร้อมระบบอัตโนมัติ

เทรนด์แรกในการลงทุนของยักษ์ใหญ่ในแวดวงค้าปลีกไทยก็คือการมีคลังสินค้าที่มาพร้อมระบบอัตโนมัติ ทำงานโดยหุ่นยนต์ และมีซอฟต์แวร์เข้ามาควบคุมการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์เหล่านั้น

“เราอาจเคยเห็นภาพหุ่นยนต์ตัวกลม ๆ ที่คล้ายเครื่องดูดฝุ่นวิ่งไปวิ่งมาในคลังสินค้า ภาพเหล่านั้นกำลังจะเกิดขึ้นในเมืองไทยแน่นอน เพราะในอนาคตจะมีการปรับค่าแรงเพิ่มขึ้น – รวมถึงปัญหาขาดแคลนแรงงานจากสังคมผู้สูงอายุ การใช้หุ่นยนต์เพื่อลดค่าใช้จ่ายจึงมีโอกาสเกิดขึ้นตามมา และสามารถตอบโจทย์ธุรกิจได้มากกว่าในแง่ของ ROI (Return on Investment)”

แต่การลงทุนคลังสินค้าอัตโนมัติยังอาจไปไกลได้มากกว่านั้น เห็นได้จากรูปแบบในต่างประเทศที่เป็นระบบออโตเมชันทั้งหมด โดยใช้แรงงานคนเพียงนำสินค้าขึ้นมาจากท่า จากนั้น ระบบจะมีสายพาน นำสินค้าเข้าไปเก็บในคลังให้โดยอัตโนมัติ ซึ่งในส่วนนี้ คุณนัยนาเผยว่า จากการเป็นที่ปรึกษาให้กับหลาย ๆ แบรนด์ การสร้างคลังสินค้าดังกล่าวต้องมีการพิจารณาจากปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ขนาดของสินค้า  ความถี่ในการหยิบใช้สินค้า ฯลฯ เพื่อให้ทีมงานวิเคราะห์และออกแบบระบบได้อย่างถูกต้อง

shutterstock_ai-technology

2. ใช้ AI วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า

สำหรับการใช้งาน AI นั้น เป็นการใช้งานในส่วนของการวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าขณะเข้าใช้งานแอปพลิเคชันของธุรกิจค้าปลีก เพื่อให้สามารถสร้างประสบการณ์แบบ Personalization ได้

“เราพบว่า เทรนด์ของ AI กำลังมา บริษัทต่าง ๆ จะนำ AI มาช่วยสร้างประสบการณ์เฉพาะตัวของลูกค้า รวมถึงมาจับเทรนด์ตามแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เช่น หากระบบพบว่าเรากำลังสนใจของแต่งบ้าน แม้จะยังไม่แน่ใจว่าจะซื้ออะไร แต่ในหน้าฟีดก็จะมีของแต่งบ้านปรากฏขึ้นมาแล้ว นี่คือความสามารถของ AI ที่จะมีการใช้งานมากขึ้นอย่างแน่นอน”

คุณนัยนากล่าวว่า การพัฒนาซอฟต์แวร์ – แอปพลิเคชันเหล่านี้จะเป็นเทรนด์ที่ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของไทยให้ความสนใจและลงทุนเพิ่มขึ้นเช่นกัน

3. เพิ่มประสิทธิภาพคลังสินค้าเดิม

อีกหนึ่งเทรนด์ที่คุณนัยนามองว่าจะเกิดขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ก็คือ การเพิ่มประสิทธิภาพให้กับคลังสินค้าเดิม (Optimization) เช่น การปรับการใช้งานพื้นที่เสียใหม่ การเปลี่ยนรูปแบบการสต็อกสินค้า หรือการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้สามารถตัดสินใจได้ว่า จะเลือกหยิบสินค้าจากคลังสินค้าโดยมีต้นทุนที่ต่ำที่สุด ฯลฯ

“เราพบว่า ยักษ์ใหญ่ในวงการค้าปลีกหลายแห่งมีคลังสินค้าของเดิมอยู่ แต่ที่ผ่านมา ใช้งานคลังสินค้าเหล่านั้นได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และเขาอยากให้เราเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในส่วนนี้จากพื้นที่ที่เขามี สิ่งที่เราเข้าไปทำก็คือ เราปรับพื้นที่การใช้งานของคลังสินค้าใหม่ให้เหมาะกับช่องทางอีคอมเมิร์ซ รวมถึงปรับรูปแบบการสต็อกสินค้า เพื่อช่วยให้ธุรกิจให้สามารถขายได้ง่ายขึ้น”

“จากการเป็นที่ปรึกษาและออกแบบระบบให้กับค้าปลีกในไทย เราพบว่าความท้าทายที่ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของไทยเผชิญก็คือ เขามียอดจากอีคอมเมิร์ซโตขึ้น 30 – 50% ทุกเดือน เขาควรจะไปหยิบสินค้าจากไหนเพื่อไปส่งของให้ลูกค้าที่มาจากช่องทางออนไลน์ ซึ่งเราก็ต้องเข้าไปดูเพิ่มว่า ปัจจุบันเขามีร้านอยู่ 2,000 แห่งทั่วประเทศ มีคลังสินค้า ฯลฯ แล้วเขามีแอปฯ ของตัวเองในการขายของ  ถ้าคนเข้าไปซื้อผ่านแอป แบรนด์ควรจะไปหยิบของจากที่ไหนมาส่งมอบให้ลูกค้าจึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด”

4. ใช้เทคโนโลยี VR เพิ่มประสิทธิภาพ

อีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะมีการใช้งานกันมากขึ้นในครึ่งปีหลังนี้ก็คือเรื่องของ Virtual Reality (VR) ที่คุณนัยนาเผยว่า ทำให้ธุรกิจสามารถมองเห็น – เข้าถึงคลังสินค้าได้แบบเสมือนจริง ซึ่งมีประโยชน์มากในแง่ของการลงทุน โดยเฉพาะธุรกิจข้ามชาติที่อาจใช้ VR ในการบริหารจัดการคลังสินค้าในอีกซีกโลกหนึ่งได้อย่างง่ายดาย

ทั้งนี้ จากเทรนด์การลงทุนดังกล่าว คุณนัยนาให้ทัศนะว่า “ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางอีคอมเมิร์ซของภูมิภาคได้ เห็นได้จากการลงทุนของภาครัฐใน EEC ที่เริ่มเป็นรูปธรรม ที่สำคัญ การคมนาคมขนส่งของไทยถือว่าดีเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนั้นประเทศไทยยังเป็นแหล่งรวมของ Data Center ต่าง ๆ ซึ่งเอื้อต่อผู้ประกอบการที่สามารถนำ Data เหล่านั้นไปต่อยอดได้นั่นเอง” คุณนัยนากล่าวปิดท้าย


แชร์ :

You may also like