HomeBrand Move !!Baskin-Robbins แบรนด์ร้านไอศกรีมนำเข้าจากสหรัฐฯ “ปิดกิจการ” ในไทย หลังขาดทุนต่อเนื่อง

Baskin-Robbins แบรนด์ร้านไอศกรีมนำเข้าจากสหรัฐฯ “ปิดกิจการ” ในไทย หลังขาดทุนต่อเนื่อง

แชร์ :

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

แบรนด์ร้านไอศกรีม Baskin-Robbins (บาสกิ้น ร็อบบิ้นส์) อายุ 78 ปี ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากชาย 2 คนที่ทำธุรกิจร้านไอศกรีมด้วยกันทั้งคู่ คือ “Burt Baskin” เปิดร้านไอศกรีม Burton’s Ice Cream ในเกลนเดล รัฐแคลิฟอร์เนียในปี 1945 กับ “Irv Robbin” เปิดร้านไอศกรีมในแพซาดีน่า แคลิฟอร์เนีย ซึ่งมีศักดิ์เป็นน้องเขยของ Burt Baskin ต่อมาทั้งคู่ได้รวมธุรกิจเข้าด้วยกัน และก่อตั้งแบรนด์ “Baskin-Robbins”

ปัจจุบัน Baskin-Robbins เชนร้านไอศกรีมระดับโลก เจ้าของโลโก้หมายเลข 31 (ที่มาจากการนำเสนอไอศกรีม 31 รสชาติ) มีสาขาอยู่ในกว่า 50 ประเทศ จำนวนกว่า 7,700 สาขาทั่วโลกรวมทั้งในไทย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ในประเทศไทยมีบริษัท โกลเด้น สกู๊ป จำกัด ในเครือ บมจ.มัด แอนด์ ฮาวด์ หรือ MUD เป็นผู้ได้รับสิทธิมาสเตอร์แฟรนไชส์จาก Baskin Robbins Franchising LLC ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิเดียวกับแบรนด์ “ดังกิ้นโดนัท”

การทำตลาดแบรนด์ Baskin-Robbins ไอศกรีมทุกชนิดที่จำหน่ายในประเทศไทยนำเข้าสินค้ามาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมาตรฐาน Baskin-Robbins ที่ทำตลาดแบบเดียวกันทั่วโลก

การทำธุรกิจของ Baskin-Robbins ในประเทศไทย นับจากปี 2563 ที่มีสาขากว่า 34 สาขา ได้ลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง ถึงสิ้นปี 2564 เหลืออยู่ 10 สาขา ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นร้านรูปแบบคีออสก์ พื้นที่ประมาณ 20-30 ตารางเมตร

ปี 2565 Baskin-Robbins ประเทศไทยเปิดให้บริการเหลือ 4 สาขา คือ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ชั้น 3, เค วิลเลจ ชั้น 1, สยามพารากอน ชั้น 3 และเดอะวอล์ค เกษตร-นวมินทร์ ชั้น 1 โดยต้นปี 2566 ร้าน Baskin-Robbins ได้แจ้งเจ้าของพื้นที่เช่า “ปิดกิจการ” ทั้งหมด ในประเทศไทย

หากดูผลประกอบการ “โกลเด้น สกู๊ป” ผู้ได้รับสิทธิแฟรนไชส์ Baskin-Robbins ในประเทศไทย พบว่า “ขาดทุน” ต่อเนื่อง

– ปี 2560 รายได้ 110 ล้านบาท ขาดทุน 11.8 ล้านบาท
– ปี 2561 รายได้ 112 ล้านบาท ขาดทุน 9.8 ล้านบาท
– ปี 2562 รายได้ 103 ล้านบาท ขาดทุน 10.2 ล้านบาท
– ปี 2563 รายได้ 63 ล้านบาท ขาดทุน 10.4 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้ 52 ล้านบาท ขาดทุน 7.4 ล้านบาท

หลังจากปิดกิจการ Baskin-Robbins ในประเทศไทย บมจ.มัด แอนด์ ฮาวด์ ยังมีธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งธุรกิจไลฟ์สไตล์อีกหลายแบรนด์

ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มภายใต้สิทธิแฟรนไชส์

– Dunkin Donuts ภายใต้บริษัท โกลเด้น โดนัท (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตและจำหน่ายโดนัทและเครื่องดื่มแบรนด์ “ดังกิ้น โดนัท”

– Au Bon Pain ภายใต้บรษัท เอบีพี คาเฟ (ประเทศไทย) จำกัด ผลิตและจำหน่ายเบเกอรี่ แบรนด์ “โอ บอง แปง”

ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มภายใต้แบรนด์ของตัวเอง

– เกรฮาวด์ คาเฟ่ (Greyhound Cafe), อนาเธอร์ฮาวด์ คาเฟ่ (Another Hound Cafe), เกรฮาวด์ ออริจินอล, ครัวเอ็ม, เลอ กรองด์ เวฟู

– การให้สิทธิแฟรนไชส์ร้านอาหาร “เกรฮาวด์ คาเฟ่” ในต่างประเทศ โดยเริ่มเปิดสาขาแฟรนไชส์แรกปี 2560 ที่ลอนดอน อังกฤษ จากนั้นขยายแฟรนไชส์ ในเอเชีย เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น

– นอกจากนี้ยังมีแบรนด์ร้านอาหารใน ปารีส ฝรั่งเศส

– ปี 2565 มีสาขารวมทุกแบรน์ 476 สาขา รายได้หลักมาจากแบรนด์ดังกิ้นโดนัทและเกรฮาวด์ คาเฟ่

ผลประกอบการ บมจ.มัดแอนด์ฮาวด์

– ปี 2563 รายได้ 2,315 ล้านบาท ขาดทุน 395 ล้านบาท
– ปี 2564 รายได้ 2,316 ล้านบาท ขาดทุน 101 ล้านบาท
– ปี 2565 รายได้ 3,168 ล้านบาท กำไร 24 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม


แชร์ :

You may also like