HomeBrand Move !!ไม่ได้มีแค่ศูนย์การค้า! กางพอร์ต 8 ธุรกิจ MBK ตั้งบริษัทย่อย Spin-Off เตรียมเข้าตลาดฯ เปิดทางพันธมิตรร่วมทุน 

ไม่ได้มีแค่ศูนย์การค้า! กางพอร์ต 8 ธุรกิจ MBK ตั้งบริษัทย่อย Spin-Off เตรียมเข้าตลาดฯ เปิดทางพันธมิตรร่วมทุน 

แชร์ :

หลังเจอผลกระทบโควิด-19 จากธุรกิจที่ทำกำไรมาต่อเนื่อง ต้องขาดทุนอยู่ 2 ปี หยุดการลงทุนทุกอย่าง มาปีนี้  MBK ภายใต้การนำของซีอีโอคนใหม่ คุณวิจักษณ์ ประดิษฐวณิช กลับมาเดินหน้าลงทุนอีกครั้ง พร้อมจัดทัพ 8 ธุรกิจ Spin-Off บริษัทลูก เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และเปิดทางพันธมิตรที่สนใจแต่ละกลุ่มเข้ามาร่วมทุน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ย้อนหลังดูผลประกอบการ MBK ก่อนโควิด ปี 2562  มีรายได้ 11,431 ล้านบาท กำไร 818 ล้านบาท ช่วง 2 ปีโควิด ธุรกิจศูนย์การค้าและโรงแรม กระทบหนักจากนักท่องเที่ยวต่างชาติหยุดเดินทาง  ทำให้ปี 2563  ขาดทุน 227 ล้านบาท  ปี 2564 ขาดทุน 322 ล้านบาท  เมื่อโควิดคลี่คลาย ปี 2565  จึงเริ่มฟื้นตัว

“ช่วงโควิดปี 2563 ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์จะจบลงเมื่อใด  ช่วงนั้นศูนย์การค้าและโรงแรม เป็น 2 ธุรกิจหลักได้รับผลกระทบหนัก MBK ต้องหยุดการลงทุนใหม่ๆ เก็บเงินสดที่มีในมืออยู่ 4,000 ล้าน ไว้ก่อน เพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่อง หลังจากเห็นสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน ปีนี้ MBK จะกลับมาลงทุนอีกครั้ง” คุณสุเวทย์ ธีรวชิรกุล กรรมการและรองประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าว

คุณวิจักษณ์ ประดิษฐวณิช

จัดทัพ 8 ธุรกิจ Spin-Off เข้าตลาดฯ 

การประกาศกลับมาเดินหน้าลงทุนธุรกิจหลังโควิดของ MBK  ในปี 2566 คุณสุเวทย์ ได้ส่งไม้ต่อให้ คุณวิจักษณ์ ประดิษฐวณิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารลูกหม้อ MBK ขึ้นมานำทัพแทน

เริ่มตั้งแต่ปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจ MBK ใหม่ จากเดิมมี MBK เป็นโฮลดิ้ง คอมพานี (Holding Company) มี 8 กลุ่มธุรกิจ 

ได้แก่ ธุรกิจศูนย์การค้า, ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว, ธุรกิจกอล์ฟ, ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจอาหาร, ธุรกิจการเงิน, ธุรกิจการประมูล และศูนย์สนับสนุนองค์กร  โดยทั้ง 8 กลุ่มมีหลายบริษัทย่อย ได้ปรับโครงสร้างตั้งบริษัทลูกเป็น Sub-holding ดูแล 8 กลุ่มธุรกิจให้ชัดเจน

โดยวางเป้าหมาย Spin-Off บริษัทลูก เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ระดมทุนขยายธุรกิจ รวมทั้งเปิดทางให้พันธมิตรที่สนใจเข้ามาร่วมทุน 

“ที่ผ่านมามีผู้สนใจเข้ามาลงทุนกับ MBK  แต่สนใจเพียงบางธุรกิจเท่านั้น การตั้งบริษัทลูกเป็น  Sub-holding แต่ละธุรกิจให้ชัดเจน จะทำให้พาร์ทเนอร์เข้ามาร่วมทุน หรือเข้าตลาดฯ ได้ง่ายขึ้น”

เปิดพอร์ต 8 ธุรกิจ MBK พร้อมแผนลงทุนปี 2566

1. ธุรกิจศูนย์การค้า  

– ศูนย์การค้าพาราไดซ์ พาร์ค ปีนี้วางแผนปรับโฉมครั้งใหญ่ในรอบ 13 ปี หลังจากต่อสัญญาเช่าที่ดิน 20 ปีกับบริษัท เอส.เอส.เรียล (สวนหลวง) จำกัด ใช้งบลงทุน 1,000 ล้านบาท  ด้วยคอนเซปต์ The Philosophy of Living ด้วยพื้นที่ร้านค้าและบริการด้านสุขภาพและความงาม ( Health & Wellness ) ครบวงจร อาทิ ร้านอาหารประเภท Vegan Restaurant ร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ Organic Food ศูนย์รวมจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์ คลินิกเฉพาะทาง เป็นต้น

การปรับโฉมใหม่ พาราไดซ์ พาร์ค เพื่อสร้าง “จุดขาย” ที่แตกต่างรองรับการแข่งขันค้าปลีกในย่านถนนศรีนครินทร์  รองรับสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) และเทรนด์ดูแลสุขภาพเชิงป้องกันและใส่ใจความสวยความงาม โดยจะปรับโฉมแล้วเสร็จในไตรมาส 3

– ศูนย์การค้าเอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ได้ปรับปรุงพื้นที่และเพิ่มร้านค้าใหม่ๆ ตอบโจทย์ลูกค้าคนไทยตั้งแต่ปี 2564 ด้วยคอนเซปต์ Food Destination และแหล่ง Hang Out กลางคืน เพิ่มพื้นที่ติวเตอร์ สำหรับนักเรียน  รวมทั้งโซนร้านค้าเปิด 24 ชั่วโมง อย่าง Donki  ปัจจุบันมีผู้เช่าพื้นที่ 90%

ปีนี้เปิดตัวพันธมิตรรายใหม่ บนพื้นที่ชั้น 6 คือ ARTPIA จากเกาหลี เป็นสาขานอกเกาหลี แห่งแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็น Entertainment Shows ท่องแดนแฟนตาซีด้วยเทคโนโลยี 3D สร้างภาพ แสง สี เสียง และกลิ่น ที่ได้รับความนิยมในประเทศเกาหลี

ปัจจุบันศูนย์การค้า MBK มีทราฟฟิก 80,000 คนต่อวันเท่ากับช่วงก่อนโควิดแล้ว แต่สัดส่วนลูกค้าเปลี่ยนไป เป็นคนไทยกว่า 50% (ก่อนโควิด 40%) ขณะที่เดิมลูกค้าต่างชาติมีสัดส่วน 60% แต่ปัจจุบันลดลงจากโควิด และต้องรอลูกค้าจีนกลับมาท่องเที่ยวก่อนจะทำให้สัดส่วนลูกค้าต่างชาติเพิ่มขึ้น

– ส่วนศูนย์การค้า เดอะ ไนน์ เซ็นเตอร์  และ เดอะ ไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์ ไม่มีการรีโนเวตในปีนี้

2. ธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว 

– ขยายธุรกิจทั้งรูปแบบ Business Partner และการรับบริหารโรงแรม อาทิ โรงแรมทินิดี โฮเต็ล, บางกอก กอล์ฟ คลับ และ โรงแรมทินิดี กอล์ฟ รีสอร์ท ภูเก็ต  โดยเฉพาะการขยายตลาดการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว (Long Stay) ในกลุ่มนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติที่เกษียณอายุการทำงาน

– ปีนี้มีแผนปรับปรุงโรงแรมดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ลูกค้า ส่วนโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส มีการปรับปรุง ภายใต้คอนเซปต์ Comfort Luxury เพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ๆ มากขึ้น

– ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มกลับมาแล้ว อัตราการเข้าพัก (Occupancy rate) อยู่ที่ 90% แต่ราคายังไม่กลับไปเท่ากับก่อนโควิด เนื่องจากเป็นการขายห้องพักล่วงหน้าตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีก่อน โดยจะทำราคาห้องพักได้เพิ่มขึ้นในช่วงกลางปี 2566

3. ธุรกิจอสังหาฯ 

– โครงการอสังหาฯ Big Project บนพื้นที่ 1,500 ไร่ในโครงการ Riverdale District รูปแบบ Mixed Use จังหวัดปทุมธานี ปีนี้จะมีการพัฒนาต่อเนื่อง ประกอบด้วย โครงการที่พักอาศัยระดับ Luxury อย่าง โครงการ Riverdale Residence โครงการ Park Riverdale รวมถึง สนามกอล์ฟ Riverdale Golf Club สนามกอล์ฟ Bangkok Golf Club ที่เปิดให้บริการทั้งกลางวันและกลางคืน (Night Golf) โรงแรมทินิดีโฮเต็ล บางกอก กอล์ฟ คลับ ศูนย์การค้าเดอะไนน์ เซ็นเตอร์ ติวานนท์

– โปรเจกต์ล่าสุด “ริเวอร์เดล มารีน่า” (Riverdale Marina) ท่าเรือระดับ A-Class และศูนย์กลางผู้ให้บริการกิจกรรมทางน้ำอย่างครบวงจรแห่งแรกในแม่น้ำเจ้าพระยา ปีนี้วางแผนลงทุนต่อเนื่องโดยไตรมาส 2 เตรียมเปิดตัว Marina Plaza ศูนย์รวมร้านจำหน่ายอุปกรณ์เกี่ยวกับเรือแบบครบวงจร บริการติดตั้งอุปกรณ์เรือ สอนขับเรือ จดทะเบียนเรือ ทำและต่อใบขับขี่เรือ ประกันภัยเรือ รวมทั้ง Chris Craft โชว์รูมเรือ (Boat Showroom) และศูนย์ซ่อมบำรุงเรือ

– พัฒนาให้เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ สำหรับการจัดงานริมน้ำแบบ Outdoor ที่ใหญ่ที่สุดริมน้ำเจ้าพระยาและเป็นจุดหมายปลายทางของสถานที่จัดงานอีเวนต์นอกอาคาร (Outdoor Event Destination)

4. ธุรกิจกอล์ฟ 

– ร่วมมือกับพันธมิตรจัดแข่งขันกอล์ฟระดับประเทศและนานาชาติ อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หน่วยงานท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมวงการกอล์ฟและนักกอล์ฟอาชีพของไทย โดยสนามริเวอร์เดล กอล์ฟ คลับ ปทุมธานี และ สนามบางกอก กอล์ฟ คลับ ที่ร่วมมือกับ “สิงห์ คอร์เปอเรชั่น” จัดการแข่งขันกอลฟ์รายการระดับประเทศอย่าง Golf Thailand Open 2 ปีซ้อน และ รายการ SINGHA-BANGKOK OPEN 2022 โดยปีนี้จัดแข่งขันต่อเนื่อง และเตรียมเปิดตัวศูนย์ฝึกกอลฟ์ในไตรมาส 2

5. ธุรกิจอาหาร 

ธุรกิจข้าวถุงแบรนด์ “มาบุญครอง” ก้าวสู่ปีที่ 45 ภายใต้ Brand Positioning ข้าวเพื่อสุขภาพดีที่อยู่ในทุกไลฟ์สไตล์ของผู้คน จำหน่ายผลิตภัณฑ์ครอบคลุมทุกกลุ่มผู้บริโภค ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวขาว และกลุ่มข้าวเพื่อสุขภาพ พร้อมวางแผนขยายตลาดส่งออกในประเทศใหม่ๆ เช่น ซาอุดิอาระเบีย ออสเตรเลีย และยุโรป

6. ธุรกิจการเงิน

สินเชื่อรถมอเตอร์ไซค์ “ที ลีสซิ่ง” ปีนี้จะรุกขยายตลาดภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มเติม หลังจากเข้าไปทำตลาดในนครราชสีมา ขอนแก่น และ อุดรธานี โดยจะโฟกัสจังหวัดที่มีขนาดใหญ่และกำลังซื้อสูง และจะขยายธุรกิจสินเชื่อประเภทอื่น ๆ อาทิ สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) สินเชื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น

7. ธุรกิจการประมูล 

โดยบริษัท แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งร่วมทุนกับญี่ปุ่น เป็นผู้นำในธุรกิจประมูลรถยนต์มือสองครบวงจร เตรียมขยายผลิตภัณฑ์ให้บริการที่มีความหลากหลายขึ้นและหาโอกาสใหม่ๆ ในธุรกิจการประมูล ล่าสุดร่วมมือทางธุรกิจกับ บริษัท เอ็ม บี เค การันตี จำกัด ผู้ให้บริการสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มธุรกิจการเงินในเครือ MBK เพื่อให้บริการประมูลอสังฯ ออนไลน์

8 ศูนย์สนับสนุนองค์กร 

ปัจจุบันธุรกิจนี้มีบริษัทย่อย 17 บริษัท เป็นส่วนงานให้บริการเทคโนโลยีสารสนเทศภายในกลุ่ม MBK

ในปี 2566 กลุ่ม MBK จะใช้งบลงทุนรวม 2,000 ล้านบาท ทั้งศูนย์การค้า โรงแรม และลงทุนซื้อที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย

ขณะที่รายได้ปีนี้คาดว่าจะกลับมาได้เท่าก่อนโควิด หรือราว 11,000 ล้านบาท

คุณสุเวทย์ ธีรวชิรกุล

จากประสบการณ์บริหาร MBK มา 33 ปี และได้ส่งไม้ต่อให้ซีอีโอคนใหม่แล้ว  คุณสุเวทย์ ธีรวชิรกุล เชื่อว่าหลังจากผ่านวิกฤติแต่ละครั้ง MBK  สามารถสร้างการเติบโตใหม่ๆ ให้องค์กรได้เสมอ อย่างในยุควิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 ก็เห็นโอกาสทำธุรกิจสนามกอล์ฟ  เพราะมีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบและต้องขายกิจการ จึงเป็นโอกาสให้เข้าไปลงทุน  จากยุคนั้นที่มี Asset มูลค่า 2,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 56,000 ล้านบาท 

เชื่อว่าหลังวิกฤติโควิด MBK ก็ยังหาโอกาสเติบโตได้เหมือนทุกวิกฤติที่ผ่านมา    

อ่านเพิ่มเติม

 


แชร์ :

You may also like