HomeInsightร้อนนี้! คนไทยความสุข ‘ลดลง’ ต้องเอาตัวรอดจากเศรษฐกิจ-หารายได้หลายช่องทาง

ร้อนนี้! คนไทยความสุข ‘ลดลง’ ต้องเอาตัวรอดจากเศรษฐกิจ-หารายได้หลายช่องทาง

3 อันดับแรกจับจ่าย 'อาหาร-ของใช้จำเป็น-มือถือ'

แชร์ :

hakohodo cover

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เข้าสู่ปีที่ 3 แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ยังเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่อง ซ้ำเติมด้วยภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง สินค้าปรับขึ้นราคาดันค่าครองชีพพุ่ง ทำให้ ค่าความสุขของคนไทยลดลง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune


สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) รวมกับ ฮาคูโฮโด เฟิร์ส (ประเทศไทย) สรุปผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทยประจำเดือนเมษายน 2565 พบว่าภาพรวมค่าความสุขของคนไทยลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ดังนี้

– ดัชนีค่าความสุขเดือนเมษายน 2565 โดยรวมอยู่ที่ 63 คะแนน (จากเต็ม 100 คะแนน) ลดลง 2 คะแนนเทียบเดือนกุมภาพันธ์

– เมื่อถามถึงในอีก 3 เดือนข้างหน้า คาดว่าระดับความสุขจะเป็นอย่างไร เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สรุปได้ดังนี้
1. มีความสุขมากขึ้น 42% (ลดลง 2%)
2. มีความสุขเท่ากับตอนนี้ 51% (เพิ่มขึ้น 1%)
3. มีความสุขน้อยลง 7% (ลดลง 1%)

สถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง สถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ประเด็นการเมือง และอาชญากรรม ส่งผลให้สินค้าอุปโภคและบริโภคมีราคาสูงขึ้น ทำให้คนไทยมองหาความมั่งคั่งมากกว่างานที่มั่นคง เพื่อให้มีรายได้ที่มากขึ้นจากหลายช่องทาง ชดเชยกับค่าใช้จ่าย และต้องวางแผนการจับจ่ายให้รัดกุมมากขึ้น ลดการเดินทางและการท่องเที่ยว แต่ยังคงใส่ใจครอบครัวด้วยการซื้อของให้ญาติผู้ใหญ่ในวันสำคัญ

“จริง ๆ แล้วคนไทยชอบช้อป แต่สถานการณ์ต่างๆ ตอนนี้ ทำให้สินค้าหลายอย่างราคาสูงขึ้น ทั้งสินค้าอุปโภคและบริโภค คนไทยจึงระมัดระวังเรื่องการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น และซื้อของที่ไม่จำเป็นลดลง” คุณชุติมา วิริยะมหากุล ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) ระบุHakuhodo april

10 อันดับสินค้าและบริการคนไทยใช้จ่ายสูงสุด

เมื่อดูแนวโน้มพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคไทย พบว่าสินค้าและบริการที่ให้ความสำคัญมากที่สุด 10 อันดับแรกในเดือนเมษายน (เทียบเดือนกุมภาพันธ์) ดังนี้

1. อาหาร 25% (เพิ่มขึ้น 5%)
2. ของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน 15% (เพิ่มขึ้น 2%)
3. โทรศัพท์มือถือ/สมาร์ทโฟน 11% (คงที่)
4. เสื้อผ้า 6% (ลดลง 1%)
5. ตู้เย็น, เครื่องซักผ้า 5% (เพิ่มขึ้น 1%)
6. ท่องเที่ยว 4% (ลดลง 1%)
7. ผลิตภัณฑ์เสริมความงาม 4% (ลดลง 2%)
8. คอมพิวเตอร์,แท็บเล็ต 3% (ลดลง 1%)
9. รถยนต์ 4% (เพิ่มขึ้น 2%)
10. ของใช้จำเป็นในห้องนอน 3% (คงที่)

แม้จะมีข้อจํากัดจากสถานการณ์โควิด แต่คนไทยยังให้ความสำคัญกับครอบครัวและญาติ อย่างการรวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองในวันปีใหม่ไทย การไหว้บรรพบุรุษ แต่จะถูกปรับเปลี่ยนวิธีมาเป็นการเฉลิมฉลองด้วยวิธีที่ปลอดภัยอย่างการฉลองที่บ้าน แทนการออกไปนอกสถานที่ สอดคล้องกับพฤติกรรมการซื้ออาหารกักตุนไว้ที่บ้านช่วงสงกรานต์

Hakuhodo 2

แนะกลยุทธ์แบรนด์ทำตลาดซัมเมอร์

1. แบรนด์ควรชวนคลายเครียดด้วยกิจกรรมใหม่ๆ เน้นเสริมความสัมพันธ์กับครอบครัวแต่ยังปลอดภัยหลบโควิด เพราะเทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงเวลาของครอบครัว ที่แบรนด์สามารถเข้าไปเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ เปลี่ยนบรรยากาศการเฉลิมฉลองกับครอบครัว สนับสนุนการอุปโภคและบริโภคสินค้าภายในบ้านที่ดีต่อสุขภาพและจิตใจ เพื่อชดเชยข้อจำกัดด้านการเดินทางท่องเที่ยว

2. เสนอโปรโมชันช่วงซัมเมอร์ที่แปลกใหม่ สนับสนุนการส่งความรักความห่วงใยถึงกันของครอบครัวในช่วงเทศกาลปีใหม่ไทย

สถานการณ์เช่นนี้ถือเป็นความท้าทายของทุกฝ่ายในการปรับตัวเพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอยู่ได้ แม้ว่าโควิดจะทำให้ไม่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวที่ไหนไกล แต่ยังสามารถแสดงความห่วงใยและกระชับความสัมพันธ์กับสมาชิกในครอบครัวหรือคนสำคัญในชีวิตได้ เพื่อเพิ่มดัชนีความสุขให้คนไทยในไตรมาสต่อไป

สถาบันวิจัยความเป็นอยู่ฮาคูโฮโด อาเซียน (ประเทศไทย) หรือ Hakuhodo Institute of Life and Living ASEAN (THAILAND) ทำการศึกษาเกี่ยวกับ “การคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย” ทุก ๆ 2 เดือน โดยผลสำรวจการคาดการณ์พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคในประเทศไทย เดือนเมษายน 2565 เป็นผลสำรวจจากการรวบรวมข้อมูลจากวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ถึง วันที่ 1 มีนาคม 2565 ผ่านการทำแบบสอบถามเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ จากประชากรเพศชายและหญิงจำนวน 1,200 คน อายุระหว่าง 20-59 ปี จาก 6 ภูมิภาค ทั่วประเทศ


แชร์ :

You may also like