HomeBrand Move !!เปิดวิชั่น “ฐากร ปิยะพันธ์” แม่ทัพใหญ่ “เครือไทย โฮลดิ้งส์” ของเจ้าสัวเจริญ ใน 5 ปี ต้องเป็นผู้นำธุรกิจประกัน-การเงิน

เปิดวิชั่น “ฐากร ปิยะพันธ์” แม่ทัพใหญ่ “เครือไทย โฮลดิ้งส์” ของเจ้าสัวเจริญ ใน 5 ปี ต้องเป็นผู้นำธุรกิจประกัน-การเงิน

แชร์ :

นับตั้งแต่ตัดสินใจมาเป็น “แม่ทัพ” อาณาจักร “เครือไทย โฮลดิ้งส์” ชื่อของ “คุณฐากร ปิยะพันธ์” ก็สร้างความสนใจให้กับคนในธุรกิจประกันและการเงินมากมาย วันนี้ ฐากร เปิดใจถึงกลยุทธ์ และแผนการทำงาน หลังเข้ามานั่งเป็นแม่ทัพเกือบ 4 เดือน พร้อมกับเป้าหมายชัดเจนในการนำธุรกิจประกันและการเงินของเจ้าสัวสู่ผู้นำตลาดภายใน 5 ปี รวมถึงขยายธุรกิจไปไกลในอาเซียน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่แน่นอนว่าท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้เล่นยักษ์ใหญ่ที่ต้องปะทะมากมาย อีกทั้งไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และมีทางเลือกมากขึ้น ก็สร้างความท้าทายให้กับเครือไทย โฮลดิ้งส์เช่นกัน และทำให้เส้นทางธุรกิจหลังจากนี้ ต้องสร้างความแตกต่างและเดินอยู่บนเส้นทางสายใหม่ ซึ่งเป็นเส้นทางที่คุณฐากรบอกเลยว่า “สนุกแน่”

เส้นทางใหม่ “เครือไทย โฮลดิ้งส์” ที่สนุกกว่าเดิม

ถ้าพูดถึงเครือไทย โฮลดิ้งส์ เป็นอีกหนึ่งธุรกิจของกลุ่ม TCC ของเจ้าสัว “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ปัจจุบันธุรกิจเครือไทย โฮลดิ้งส์ ดำเนินธุรกิจหลักแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มธุรกิจประกัน กลุ่มธุรกิจการเงิน และกลุ่มธุรกิจ Health & Wellness ซึ่งเป็นธุรกิจน้องใหม่ของเครือไทย โฮลดิ้งส์ ที่จะเข้ามาเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพ รวมถึงการพัฒนาอสังหาฯ เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าผู้สูงวัยที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นในไทย โดยจะดูแลตั้งแต่การซื้อประกัน จนถึงการเกษียณ และรูปแบบการพักอาศัย

ซึ่งในตลาดประกัน จะแบ่งออกเป็นตลาดประกันภัยและตลาดประกันชีวิต โดยมีอาคเนย์ประกันภัย และไทยประกันภัย ดูแลธุรกิจประกันภัย ปัจจุบันอยู่อันดับ 6 ของตลาด มีส่วนแบ่งตลาด 4.1% ขณะที่อาคเนย์ประกันชีวิตจะดูแลตลาดประกันชีวิต ปัจจุบันอยู่อันดับ 9 ครองส่วนแบ่งตลาด 3%

ส่วนตลาดการเงิน จะเป็นธุรกิจบริการรถเช่า มีอาคเนย์ แคปปิตอล ดูแล และครองความเป็นผู้นำตลาด ด้วยจำนวนรถ 22,100 คัน นอกจากบริการรถเช่า ธุรกิจกลุ่มนี้ยังมี อาคเนย์ มันนี่ ซึ่งเพิ่งเปิดตัวปลายปีที่ผ่านมา ดูแลสินเชื่อรายย่อย ซึ่งถือว่ายังเป็นน้องใหม่ในตลาดอยู่มาก

เมื่อมามองที่รายได้เครือไทย โฮลดิ้งส์ แม้ในช่วงที่ผ่านมาจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง แต่รายได้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตลดลง โดยในปี 2561 มีรายได้ 28,217 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2562 มีรายได้ 24.163 ล้านบาท และปี 2563 มีรายได้ 23,300 ล้านบาท ดังนั้น การจะเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจประกันและการเงินให้ติด 1 ใน 5 ของตลาดท่ามกลางตลาดที่มีการแข่งขันดุเดือด คุณฐากร ปิยะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ Thai Group (TGH) บอกว่า จึงต้องเดินบนเส้นทางใหม่ ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นทางด่วนหรือไม่ แต่เชื่อว่าถนนสายนี้ “สนุก” กว่าเดิมแน่นอน

โฟกัสธุรกิจการเงิน ลุยปั้น “อาคเนย์มันนี่” เสริมทัพ

เดิมทีการทำธุรกิจของเครือไทย โฮลดิ้งส์ จะโฟกัสตลาดประกันเป็นหลัก สัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่จึงมาจากตลาดนี้ แต่คุณฐากรมองว่า ตลาดการเงินแม้จะเล็ก แต่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น แม้กระทั่งในปี 2563 ที่ต้องเผชิญกับความท้าทายจากโควิด-19 ทว่ากลุ่มธุรกิจการเงินของเครือไทย โฮลดิ้งส์ มีการเติบโตเพิ่มขึ้น 11% จากปี 2562 ขณะที่ธุรกิจประกันภัย และประกันชีวิต มีการเติบโตลดลง โดยในปี 2563 ธุรกิจประกันชีวิตเติบโตลดลง 11% จากปี 2562 และธุรกิจประกันภัย เติบโตลดลง 3% จากปี 2562 ดังนั้น เส้นทางใหม่ที่ต้องปรับเปลี่ยนเป็นเส้นแรกคือ การหันมาโฟกัสธุรกิจการเงินมากขึ้น

โดยได้เปิดตัวอาคเนย์มันนี่ เข้ามาเสริมทัพธุรกิจการเงินเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เพื่อรุกตลาดสินเชื่อรายย่อย ซึ่งคุณฐากร ยอมรับว่า ธุรกิจนี้มีผู้เล่นจำนวนมากในตลาด แต่ก็เชื่อว่า ยังมี “โอกาส” อีกมาก เพราะการมีผู้เล่นในตลาดจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นว่าปัญหายังมีอยู่ ในขณะเดียวกัน การขยายมาสู่ตลาดนี้ ยังจะช่วยเสริมทัพธุรกิจรถเช่าของอาคเนย์ แคปิตอลด้วย เพราะปกติมีการนำรถเช่ากว่า 22,100 คัน มาออกขายมือสองอยู่แล้ว

“เราไม่ได้อยากเป็นธนาคาร เราวางตัวเองเป็นผู้ให้บริการทางการเงินหลายรูปแบบ ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างวางโครงสร้างพื้นฐานสินเชื่อรายย่อย โดยในช่วงแรกจะเริ่มดำเนินการสินเชื่อเพื่อคู่ค้ากับบริษัทในเครือก่อน จากนั้นไตรมาส 3 จะออกสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ และไตรมาส 4 จะให้บริการสินเชื่อบุคคล”

สำหรับกลยุทธ์การรุกตลาดสินเชื่อรายย่อย คุณฐากร บอกว่า เนื่องจากอาคเนย์มันนี่เป็นน้องใหม่ จึงต้องทำการบ้านมากขึ้น และหากต้องการเข้าถึงลูกค้าทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องหาพันธมิตรหรือเข้าไปซื้อกิจการ เพราะถ้าสร้างเองตั้งแต่วันแรกไปเรื่อยๆ อาจต้องใช้ระยะเวลานานมากขึ้น เพราะไม่ได้มีสาขามากมาย ซึ่งการซื้อกิจการหรือจับมือกับพันธมิตร สามารถวิ่งต่อได้เลย โดยขณะนี้มีการพูดคุยไว้บางส่วน โดยในปีแรกตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อ 2,000 ล้านบาท

สู้ด้วย “เทคโนโลยี” และ “ดาต้า”

ส่วนการสู้รบในตลาดประกันภัยและประกันชีวิต เพื่อขยับอันดับส่วนแบ่งตลาดให้ติด 1 ใน 5 ของตลาด คุณฐากรบอกว่า คงไม่ใช้วิธีซื้อกิจการ หรือลดเบี้ยประกัน แต่จะมุ่งสร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างจากตลาด โดยใช้ เทคโนโลยีดิจิทัล และ บิ๊ก ดาต้า มาเชื่อมโยงฐานข้อมูล รวมถึงวิเคราะห์หา Customer Insight เพื่อนำมาออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันที่ตอบโจทย์ตรงใจลูกค้ามากขึ้น ทั้งยังสามารถต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละบุคคล

โดยเบื้องต้นจะเริ่มต้นทำ Dynamic Pricing กับประกันภัยรถยนต์ก่อน เพราะพอรู้ข้อมูลพฤติกรรมการใช้รถของลูกค้ามากขึ้น สามารถจะสิ่งเหล่านี้มาออกแบบค่าเบี้ยประกันตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคแต่ละคน ส่วนประกันสุขภาพ อาจจะต้องรอความชัดเจนเรื่องพรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่จะนำมาใช้ในการออกแบบกรมธรรม์ส่วนบุคคล

นอกจากการนำดาต้ามาใช้ในการวิเคราะห์ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างแล้ว ยังจะเดินหน้าขยายพอร์ตประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูง ควบคู่ไปกับการขยายตัวแทนจำหน่ายอีก 30-50% ทั้งในต่างจังหวัดและช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ จากปัจจุบันมีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธ.อ.ส)

5 ปี ติดปีกโตอาเซียน

คุณฐากร บอกว่า ในช่วง 2 ปีแรก ขอลุยตลาดในประเทศให้ได้ตามแผนก่อน จากนั้นปีที่ 3 จะขยายธุริจสู่อาเซียน เพราะมองว่าทางกลุ่ม TCC เองมีเครือข่ายอยู่แล้ว ไม่ถึงกับต้องเปิดตลาดใหม่ โดยคาดว่าจะเริ่มที่เวียดนามเป็นประเทศแรก ในธุรกิจประกันรถยนต์และประกันชีวิต

ขณะที่การเติบโตของธุรกิจในช่วง 3 ปีนี้ ตั้งเป้ารายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 14-15% หรือปี 2566 มีรายได้ 30,000 ล้านบาท และมีกำไรเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อนที่อยู่ที่ 739 ล้านบาท รวมถึงก้าวสู่ผู้นำทางการเงินและประกันภัยในไทยภายใน 5 ปีจากนี้


แชร์ :

You may also like