เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ออกประกาศ เรื่อง การกำหนดค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื้อหาดังนี้
ตามที่รัฐบาลมีมติ คณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2559 มอบหมายให้กรุงเทพมหานครบริหารจัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยได้สร้างเสร็จสมบูรณ์พร้อมเดินรถเมื่อปลายเดือนธันวาคม 2563 และกรุงเทพมหานครได้มีประกาศ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 จัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในอัตราไม่เกิน 104 บาท ตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไปนั้น
กรุงเทพมหานครได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้พิจารณาทบทวนอัตราค่าโดยสารตามประกาศ โดยคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายประชาชน และภาระของกรุงเทพมหานครให้เกิดความเหมาะสม ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 โดยร่วมหารือแนวทางในการดำเนินการกับสภากรุงเทพมหานคร เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว
อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 แห่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าบริการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2552 จึง “เลื่อน” การจัดเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตามประกาศกรุงเทพมหานคร ลงวันที่ 15 มกราคม 2564 ออกไปก่อน
กทม.ผลักดันตั๋วบีทีเอสสูงสุด 65 บาทตลอดสาย
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่าที่ผ่านมา กทม. พยายามผลักดันค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว “เพดานสูงสุด” 65 บาท มาโดยตลอด (61 สถานี ระยะทาง 67.45 กิโลเมตร) คือเดินทางระยะไกลหรือตลอดสาย “ราคาสูงสุด 65 บาท” และเดินทางระยะสั้น “คิดตามจำนวนสถานี”
โดย กทม.ได้หารือกับรัฐบาล เพื่อหาข้อยุติในการแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด ทั้งปัญหาหนี้สินจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียวกว่า 120,000 ล้านบาท เป็นหนี้จากงานโยธาก่อสร้าง ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้า ค่างานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ค่าซ่อมบำรุง และอื่น ๆ และการปรับราคาค่าโดยสารตั้งแต่สถานีคูคต – สถานีเคหะสมุทรปราการ ให้มีเพดานสูงสุดไม่เกิน 65 บาท ไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าซ้ำซ้อนกันระหว่างโครงการส่วนหลักและส่วนต่อขยาย โดยจ่ายค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวเท่านั้น
ที่ผ่านมา กทม.ได้ผลักดันค่าโดยสารให้ไม่เกิน 65 บาท มาโดยตลอด และพยายามปรับค่าโดยสารให้ถูกกว่า 65 บาท และงดเก็บค่าธรรมเนียมแรกเข้าที่ต้องเก็บซ้ำซ้อน เพื่อให้คน กทม. ได้ใช้ระบบรถขนส่งมวลชนสาธารณะที่ดีและถูกที่สุด
สำหรับอัตราค่าโดยสารแต่ละช่วงของการเดินทาง อธิบายแบบง่าย ๆ ดังนี้
– หากเดินทางในเส้นทางหลัก 2 เส้นทาง คือ สายสุขุมวิท (หมอชิต-อ่อนนุช) และสายสีลม (สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน) ค่าโดยสารอยู่ที่ 16-44 บาท (ค่าโดยสาร สถานีละ 4 บาท)
– แต่ถ้าเดินทางต่อไปยังเส้นทางส่วนต่อขยาย ค่าโดยสารจะอยู่ที่สถานีละ 3 บาท และไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าเพิ่ม โดยมีเส้นทางจาก
- สถานีห้าแยกลาดพร้าว-คูคต
- สถานีบางจาก-เคหะสมุทรปราการ
- สถานีโพธิ์นิมิตร-บางหว้า
– ถ้าเดินทางจากเส้นทางส่วนต่อขยาย เข้ามายังเส้นทางหลัก จะไม่มีการเรียกเก็บค่าแรกเข้าอีก เช่น
- เดินทางจาก คูคต เริ่มต้นที่ 15 บาท สถานีต่อไปเพิ่มสถานีละ 3 บาท และเมื่อเข้าเส้นทางหลักที่สะพายควาย ค่าโดยสาร สถานีละ 4 บาท ซึ่งถ้าเดินทางจนถึงสถานีอนุสาวรีย์ชัยฯ ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 65 บาท และหากเดินทางต่อไปจากอนุสาวรีย์ชัย จนถึงสถานีสุดท้ายเคหะสมุทรปราการ ค่าโดยสารสูงสุดเพียง 65 บาทเท่านั้น
- เดินทางจาก เคหะสมุทรปราการ เริ่มต้นที่ 15 บาท สถานีต่อไปเพิ่มสถานีละ 3 บาท และเมื่อเข้าเส้นทางหลักที่แบริ่ง ค่าโดยสารสถานีละ 4 บาท ซึ่งถ้าเดินทางจนถึงสถานีอโศก ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 65 บาท และหากเดินทางต่อไปจากอโศก จนถึงสถานีสุดท้ายคูคต ค่าโดยสารสูงสุดก็เพียง 65 บาทเท่านั้นเช่นกัน
เปรียบเทียบความคุ้มค่าในการเดินทาง
กรณี เดินทางจาก คูคต จ.ปทุมธานี ไป เคหะสมุทรปราการ จ. สมุทรปราการ
-รถไฟฟ้าสายสีเขียว ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 65 บาท
-รถเมล์ ใช้เวลาเดินทาง 3 ชั่วโมงครึ่ง ค่าโดยสาร 70 บาท
-รถแท็กซี่ ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมง ค่าโดยสาร 421 บาท
รถไฟฟ้าเมื่อเทียบกับรถเมล์จะใช้เวลาในการเดินทางน้อยกว่า และเมื่อเทียบกับรถแท็กซี่จะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 6 เท่า ที่สำคัญรถไฟฟ้ามีความแน่นอนของเวลาในการเดินทางมากกว่ารถเมล์และรถแท็กซี่
กทม. ยืนยันจะพยายามทำให้ระบบการขนส่งมวลชนสาธารณะเป็นระบบที่ดีและถูกที่สุด เพื่อให้คน กทม. ได้ใช้บริการ “รถไฟฟ้า BTS” หรือรถสาธารณะอื่นได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และราคาถูกที่สุด