HomeBrand Move !!“เถ้าแก่น้อย” ทรานส์ฟอร์มสู่ Innovative Food Company – ลุย Plant-based ตั้งเป้าปี ’64 รายได้ 5.2 พันล้าน

“เถ้าแก่น้อย” ทรานส์ฟอร์มสู่ Innovative Food Company – ลุย Plant-based ตั้งเป้าปี ’64 รายได้ 5.2 พันล้าน

แชร์ :

Taokaenoi (TKN)

สถานการณ์ COVID-19 ที่สร้างผลกระทบแทบจะทุกบริษัท ทุกอุตสาหกรรม ไม่เว้นแม้แต่ “เถ้าแก่น้อย” (TKN) ในปี 2563 ที่ผ่านมาเป็นปีแห่งความท้าทายครั้งใหญ่ของผู้นำตลาดขนมขบเคี้ยวสาหร่ายรายนี้ เพราะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ขณะที่ในปี 2564 เถ้าแก่น้อย หวังพลิกฟื้นธุรกิจกลับมาเติบโตเหมือนก่อนสถานการณ์ COVID-19 โดยตั้งเป้ารายได้ไม่ต่ำกว่า 5,100 – 5,200 ล้านบาท และต้องการขยายอาณาจักรไปสู่การเป็น Innovative Food Company เพื่อสร้างรายได้หลายทาง ทั้งจากกลุ่มสินค้าอาหาร ขนมขบเคี้ยว และผลิตภัณฑ์นม – เครื่องดื่ม

สำรวจสถานการณ์ “เถ้าแก่น้อย” รอบปี 2563

สถานการณ์ตลาดในประเทศ

– ภาพรวมตลาดขนมขบเคี้ยวในไทยตลอดระยะเวลา 9 เดือนของปี 2563 อยู่ในทิศทางตกลง 3 – 4% ในขณะที่ตลาดสาหร่าย ตกไปมากกว่า 10% ซึ่งในช่วง 7 – 8 ปี

– รายได้การขายจากตลาดนักท่องเที่ยว ลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงตรุษจีน โดยเฉพาะการหายไปของฐานลูกค้านักท่องเที่ยวจีน เนื่องจากสาหร่ายเถ้าแก่น้อยติดอันดับ Top 3 สินค้าที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมซื้อ เมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว จึงกระทบกับทั้งเถ้าแก่น้อย และตลาดรวมสาหร่ายแปรรูป

– การปิดห้างสรรพสินค้า – ศูนย์การค้า และสถานที่ต่างๆ ส่งผลกระทบต่อรายได้

สถานการณ์ตลาดต่างประเทศ

– รายได้จากการขายลดลง เนื่องจากหลายประเทศยังคงเผชิญกับการแพร่ระบาด COVID-19 อย่างหนัก

– ตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของการส่งออกเถ้าแก่น้อย รายได้จากการขายลดลงถึง 8.7%

– อย่างไรก็ตาม ตลาดสหรัฐอเมริกายังคงเติบโตต่อเนื่อง เป็นผลมาจากการรุกตลาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาของบริษัทในเครือคือ Taokaenoi USA Inc.

ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้ผลประกอบการไตรมาส 3 และช่วง 9 เดือนของปี 2563 ในส่วนรายได้จากการขายลดลง เมื่อช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 แต่ยังคงมีกำไรเพิ่มขึ้น เนื่องจากปรับองค์กรให้กระชับ และลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ภายในองค์กร เช่น รวมฐานการผลิตมาไว้ที่โรงงานเดียวมาไว้ที่โรจนะ จากเดิมมี 2 โรงงานคือ ที่นพวงศ์ และโรจนะ ปิดสาขาเถ้าแก่น้อยแลนด์ 10 สาขา จากเดิมมี 15 สาขา

ผลประกอบการ ปี 2563

– รายได้จากาการขายในไตรมาส 2 อยู่ที่ 979 ล้านบาท (ช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 รายได้ 1,268 ล้านบาท) / กำไร 88.9 ล้านบาท (ช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 กำไร 68.7 ล้านบาท)

– รายได้จากการขายช่วง 9 เดือน 3,100 ล้านบาท (เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 รายได้ 3,850 ล้านบาท) / กำไร 263.5 ล้านบาท (เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 กำไร 248.4 ล้านบาท)​

– รายได้ทั้งปี 2563 อยู่ที่ 4,200 ล้านบาท

Taokaenoi_seaweed snack

 

Diversify ธุรกิจจาก “สาหร่าย” สู่การเป็น “Food Innovative Company”

ผ่านมาภายใต้อาณาจักรเถ้าแก่น้อย พยายามกระจายฐานธุรกิจให้กว้างขึ้น ทั้งขนมขบเคี้ยว ที่นอกจากสาหร่าย กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ธุรกิจรีเทล ธุรกิจร้านอาหาร แต่ถึงที่สุดแล้วรายได้หลักยังคงมาจากธุรกิจสาหร่ายมากถึง 90% ของรายได้รวมบริษัท

แต่เมื่อเผชิญกับวิกฤต COVID-19 ครั้งใหญ่ ทำให้ยุทธศาสตร์ธุรกิจ “เถ้าแก่น้อย” นับจากนี้ ต้อง Invent ตัวเองขึ้นใหม่ ด้วยการขยายธุรกิจไปยังตลาดใหม่ เซ็กเมนต์ใหม่ ลูกค้าใหม่

บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้รายงานว่าในการประชุมนักวิเคราะห์ เถ้าแก่น้อย เผยถึงเป้าหมายใหม่ ซึ่งจะเป็นทิศทางการก้าวเดินของบริษัทฯ นับจากนี้ คือ ต้องการเป็น Food Innovative Company” ที่ครอบคลุมทั้งผลิตภัณฑ์อาหาร ขนมขบเคี้ยว และผลิตภัณฑ์นม โดยนอกจากสาหร่ายแล้ว ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ไม่ใช่สาหร่าย ต้องมีนวัตกรรมใหม่เพิ่มเข้ามา

ในขณะที่กลุ่มธุรกิจสาหร่ายนั้น เมื่อครั้งเปิดตัวชานม “ฉุน ชุ่ย เฮอ” (純萃。喝 Chun Cui He) หรือ “จัสท์ดริ้งค์” (JUSTDRINK) ช่วงปลายปีที่แล้ว คุณต๊อบ – อิทธิพันธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวไว้ว่าธุรกิจสาหร่ายยังคงต้องดำรงอยู่ เพราะเป็นธุรกิจหลัก และมองว่ายังมีโอกาสขยายตลาดได้อีกมาก ทั้งตลาดในประเทศ และต่างประเทศ ทว่าต่อไปในอนาคต บริษัทฯ อาจมี 3 – 4 กลุ่มสินค้า ต้องการให้แต่ละกลุ่มสินค้า มีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ 30 – 40%

Taokaenoi_Justdrink

คุณต๊อบ – อิทธิพันธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู้ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)

 

จับตาปี 2564 ตั้งเป้ากลับมามีรายได้ 5,200 ล้าน – กำไร 600 ล้าน พร้อมรุกตลาด “Plant-based”

นอกจากการตั้งเป้าหมายเป็น Innovative Food Company แล้ว เถ้าแก่น้อย ได้ตั้งเป้ารายได้ในปี 2564 จะกลับมาฟื้นตัวในระดับก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19 คือ อยู่ที่ 5,100 – 5,200 ล้านบาท ซึ่งเท่ากับรายได้ในปี 2562 อีกทั้งยังตั้งเป้าอัตรากำไรสุทธิในปีนี้ อยู่ที่ 12 – 14% ซึ่งเท่ากับว่าเถ้าแก่น้อย จะมีกำไรกว่า 600 ล้านบาท

คุณสุทธาทิพย์ พีรทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เล่าถึงปัจจัยที่จะทำให้ยอดขายเถ้าแก่น้อย กลับไปอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท ประกอบด้วย

– ออกสินค้าใหม่ ทั้งในกลุ่มสาหร่าย โดยจะ Co-brand ร่วมกับสินค้าอื่น และทำตลาด Plant-based

– เพิ่มกำลังการผลิตชานมฉุน ชุ่ย เฮอ (純萃。喝 Chun Cui He) หรือ จัสท์ดริ้งค์ (JUSTDRINK) จากช่วงแรกของการทำตลาด อยู่ที่ 30,000 ขวดต่อวัน กระจายเข้าเซเว่น อีเลฟเว่น (7-Eleven) 6,000 สาขา เฉลี่ยสาขาละ 5 – 6 ขวด แต่ตั้งแต่เดือนมกราคม ปี 2564 เป็นต้นไป จะทยอยเพิ่มกำลังการผลิตให้เป็น 60,000 ขวดต่อวัน จากนั้นเพิ่มเป็น 100,000 ขวดต่อวัน พร้อมทั้งกระจายเข้าเซเว่นฯ​ ทั้งกว่า 12,000 สาขาทั่วประเทศ

นอกจากนี้การทำตลาดชานม JUSTDRINK ในช่วงกลางปี และปลายปี จะออกรสชาติใหม่ โดยเถ้าแก่น้อยคาดว่ายอดขายชานม JUSTDRINK ในปี 2564 จะอยู่ที่ 300 ล้านบาท

คุณสุทธาทิพย์ มองว่าถึงแม้ยอดขายชานม 300 ล้านบาท อาจไม่ได้มาก เมื่อเทียบกับรายได้ของ TKN ที่ในแต่ละปี มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 4,000 – 5,000 ล้านบาท แต่สินค้านี้มีแนวโน้มเติบโต และชานม มี Gross Margin เกิน 30% ซึ่งดีกว่าสินค้าสาหร่าย ที่มี Gross Margin ไม่ถึง 30% ทำให้ยอดขายจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ชานม อาจช่วยให้ Net Profit ของเถ้าแก่น้อยกลับมาโตได้ในระดับหนึ่ง

Taokaenoi_Justdrink

– ต้นทุนการผลิตลดลง เป็นผลจากการรวมโรงงานผลิต จาก 2 โรงงาน เหลือ 1 โรงงาน ทำให้ลดต้นทุนการผลิต พนักงานลดลง นำเครื่องจักรที่เป็นระบบอัตโนมัติมาใช้มากขึ้น ต้นทุนการซื้อวัตถุดิบสาหร่าย ที่คาดว่าปีนี้ลดลง 10% รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ต่อเนื่อง เช่น ใช้พรีเซนเตอร์น้อยลง และทำการตลาดออนไลน์มากขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ จะทำให้อัตรากำไรเพิ่มขึ้น

– ส่งออกสินค้าไปยังประเทศจีน หลังจากปี 2563 ประสบหลายปัญหา ไม่ว่าจะเป็น COVID-19 ตู้คอนเทนเนอร์ขาด และเหตุการณ์น้ำท่วมในจีน

ขณะที่ปี 2564 สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลาย จึงคาดว่าการส่งออกจะค่อยๆ กลับมา และหลังจากเมื่อปีที่แล้ว ได้จับมือเป็นพันธมิตรกับ Orion Group (ผู้ผลิต และตัวแทนจำหน่ายขนมขบเคี้ยวรายใหญ่ของเกาหลี) เพื่อให้เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเถ้าแก่น้อยในจีนแต่เพียงผู้เดียว ในปีนี้จะเริ่มทำตลาดมากขึ้น และขยายไปในหลายช่องทาง จึงมองว่าการส่งออกไปจีน จะฟื้นตัวจากปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม จากเป้าหมายยอดขายปี 2564 ที่ต้องการทำให้ได้ 5,100 – 5,200 ล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 12 – 14%

“อัตรากำไรสุทธิที่เถ้าแก่น้อยตั้งเป้าไว้นั้น ทำได้ค่อนข้างยาก ซึ่งเรามองความเป็นไปได้ของอัตรากำไรสุทธิน่าจะอยู่ที่ 10.5% หรือมีกำไรประมาณกว่า 500 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของเถ้าแก่น้อยปีนี้ จะ ฟื้นตัวกลับขึ้นมา เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว” คุณสุทราทิพย์ วิเคราะห์ทิ้งท้ายถึงโอกาสการทำกำไรสุทธิของ TKN ปี 2564

Taokaenoi Land

ร้านขายของฝากเถ้าแก่น้อยแลนด์ ปัจจุบันมี 5 สาขา หลังจากปี 2563 ปิดไป 10 สาขาจากทั้งหมด 15 สาขา (Facebook เถ้าแก่น้อยแลนด์)​


แชร์ :

You may also like