HomeBrand Move !!Citibank ฟันธง 5 เรื่อง เศรษฐกิจโลก ไทย และเทรนด์การลงทุนในปี 2021

Citibank ฟันธง 5 เรื่อง เศรษฐกิจโลก ไทย และเทรนด์การลงทุนในปี 2021

แชร์ :

ปี 2020 เป็นปีหนึ่งที่สร้างความท้าทายให้กับนักลงทุนทั่วโลก เพราะต้องเผชิญกับผลกระทบจากโควิด-19 เล่นงานมาตั้งแต่ต้นปี 2020 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจของแต่ละประเทศแทบหยุดชะงัก และทำให้การลงทุนต้องเจอความผันผวนอย่างหนัก เพราะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ซิตี้แบงก์ ได้สรุป 5 เรื่องเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก ไทย พร้อมคำแนะนำสำหรับการลงทุนในปี 2021 ไว้อย่างน่าสนใจ ดังนี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

1.ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกกลับมาสดใส

แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่อง แต่ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2021 จะเริ่มทยอยกลับมาสดใส จากหลายปัจจัยทั้งการประกาศผลการทดลองวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงเป็นครั้งแรก การทยอยฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ในหลายประเทศที่น่าจะมีขึ้นในช่วงกลางปี รวมถึงประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มมีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว โดยมองว่าการสิ้นสุดของการแพร่ระบาดจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี ทำให้โลกกลับสู่สภาวะปกติใหม่และเป็นการเริ่มต้นอย่างเต็มรูปแบบของวัฏจักรเศรษฐกิจใหม่ โดยภาพรวมเศรษฐกิจโลกจะเติบโตอยู่ที่ 5% อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 2.2%

เมื่อเจาะลึกลงไปในแต่ละภูมิภาค มองว่าจีดีพีของสหรัฐฯ จะอยู่ที่ 5.1% จากสัญญาณเชิงบวกของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและอัตราการว่างงานที่ลดลงจาก 14.7% ช่วงต้นปีที่แล้วมาอยู่ที่ 6.7% ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังคงผ่อนคลายมาตรการทางการเงินและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับ 0% – 0.25% อย่างต่อเนื่อง รวมถึงรัฐบาลสหรัฐฯ มีแผนกระตุ้นตลาดแรงงานเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ

ในส่วนยุโรปจะเติบโต 3.6% แม้หลายประเทศจะมีการกลับมาล็อกดาวน์ แต่การล็อกดาวน์น่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นกว่าเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2020 ตลอดจนธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงดำเนินนโยบายการคลังและมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำ

2.เศรษฐกิจไทยจะฟื้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป

แนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศไทยจะฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ขยายตัวราว 4.0% ส่วนระดับอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 1.4% โดยมีแรงหนุนจากภาครัฐทั้งการบริโภคและการลงทุนด้านน้ำมันจากการร่วมมือปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัส ทำให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์และน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 54 และ 51 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลตามลำดับ

3.จับตา “เอเชีย” โตมากสุด

เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียในปีนี้ จะเป็นผู้นำในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก คาดการณ์จีดีพีของเอเชียจะโตถึง 7.5% โดยเฉพาะประเทศจีนอาจโตแตะ 8.2% จากตัวเลขอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศที่ต่ำ ตลอดจนสัญญาณการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากกิจกรรมการท่องเที่ยว และความต้องการภายในประเทศ รวมถึงการร่วมมือในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะทำให้ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กจะได้รับประโยชน์และส่งผลดีบวกเป็นอย่างมากต่อภูมิภาคอาเซียน

4.ค่าเงินยังผันผวน ราคาทองลง

ในปี 2563 ทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีความต้องการสูงเพราะความผันผวนของตลาด แต่ในปี 2564 ทองคำ ความต้องการลดลงจากความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนในเชิงบวก แต่ยังเป็นสินทรัพย์ที่มีประสิทธิภาพ คาดการณ์โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,900 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วน ค่าเงิน ต้องจับตาเป็นพิเศษเพราะยังคงมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีนี้คาดยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อไปในระยะกลางถึงระยะยาวจากปัจจัยทางการเมือง รวมทั้งนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ด้านเงินหยวน (CNY) แข็งแกร่งขึ้น จากการฟื้นตัวของการเติบโตของจีนมีแนวโน้มที่จะยั่งยืนในปีนี้ ตลอดจนการเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ของโจ ไบเดน อาจทำให้สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ – จีน มีแนวโน้มผ่อนคลายลง และสำหรับเงินบาท กรอบความเคลื่อนไหวจะอยู่ระหว่าง 30.0 – 30.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

5.แนะกระจายการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ และ ESG

นักวิเคราะห์ซิตี้ยังคงแนะนำเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นทั่วโลก โดยให้น้ำหนักในภูมิภาคเอเชีย ละตินอเมริกา รวมถึงแนะนำการกระจายการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ อาทิ พลังงานใหม่ โทรคมนาคมและเทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชั่น สุขภาพ อสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งกระจายการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำประเภทอื่น ๆ เช่น ตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่และตราสารหนี้ผลตอบแทนสูงในอเมริกา รวมถึงทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอ

นอกจากนี้ ยังแนะนำการลงทุนแบบยั่งยืนในกลุ่ม ESG ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่ถูกจับตาและได้รับความสำคัญมากขึ้น จากการที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ทำให้นักลงทุนเริ่มหันมาใส่ใจและมองว่าถ้าต้องการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่มีความยั่งยืน ไม่อาจมองข้ามเรื่องการลงทุนในธุรกิจที่มีความยั่งยืนระยะยาว และต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม ทำให้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การลงทุนแบบยั่งยืนมีอัตราการเติบโตของสินทรัพย์ค่อนข้างมาก โดยในปี 2012 อยู่ที่ประมาณ 13.33 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ในปี 2018 ขึ้นมาประมาณ 3 เท่า มูลค่าสินทรัพย์อยู่ที่ 30 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like