HomeDigitalรู้จัก Plus Codes อีกหนึ่งทางเลือกในการแชร์ที่อยู่ในวันที่ไร้สัญญาณอินเทอร์เน็ต

รู้จัก Plus Codes อีกหนึ่งทางเลือกในการแชร์ที่อยู่ในวันที่ไร้สัญญาณอินเทอร์เน็ต

แชร์ :

สำหรับคนที่อยู่ในเมืองใหญ่ และเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา การแชร์ที่อยู่อาจเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน ผ่านการใช้บริการ Food Delivery, ช้อปปิ้งบนแพลตฟอร์ม e-Commerce หรือแม้แต่การแชทบน LINE

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อย่างไรก็ดี สำหรับคนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ไม่มีอินเทอร์เน็ต การแชร์ที่อยู่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายแบบที่คนเมืองคุ้นเคย นั่นจึงทำให้ David Martin หนึ่งในทีมผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Google Maps ออกมาบอกว่า ยังมีอีกหนึ่งฟีเจอร์สำหรับแชร์ที่อยู่ที่อยากให้คนไทยได้รู้จักกัน ในชื่อ Plus Codes โดยที่มาของฟีเจอร์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการพัฒนาให้กับองค์กร NGO ใช้งานในพื้นที่ห่างไกล และใช้งานมาแล้วทั่วโลกตั้งแต่ปี 2015

David Martin

สำหรับรูปแบบของ Plus Codes จะประกอบด้วยรหัส 6 ตัว ที่สร้างขึ้นจากพิกัดละติจูดและลองจิจูด โดยพิกัดเหล่านี้สามารถใช้ระบุสถานที่ต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ ไม่ว่าจะเป็นบ้านในพื้นที่ชนบทที่ตั้งอยู่บนทุ่งหญ้า ไปจนถึงแผงขายของเล็ก ๆ บนถนนที่ไม่มีชื่อ

ตัวอย่างการใช้ Plus Codes ระบุตำแหน่งในประเทศเคนยา

เหตุที่ Google พัฒนา Plus Codes ขึ้นมานั้นเพราะความจริงที่ว่า มีผู้คนกว่า 2 พันล้านคนทั่วโลก หรือประมาณ 25% ที่ไม่มีที่อยู่ หรือมีที่อยู่แต่ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ชัดเจนได้ด้วยสาเหตุต่าง ๆ (เช่น หลาย ๆ ประเทศไม่มีงบประมาณมากพอที่จะสร้างสาธารณูปโภคที่จำเป็นให้กับประชาชน รวมถึงไม่มีเงินมากพอจะวางโครงสร้างด้านโทรคมนาคมที่ทันสมัย) ซึ่งหากเกิดเหตุฉุกเฉิน คนที่ไม่สามารถระบุตำแหน่งได้ชัดเจนเหล่านี้อาจไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีก็เป็นได้

หรือแม้แต่ผู้ใช้งานที่เป็นคนเมืองเองก็ตาม บางทีเราอาจต้องไปอยู่ในถิ่นทุรกันดาร แล้วต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนขึ้นมาก็ได้ การใช้ Plus Codes เป็นก็จะช่วยให้ระบุตำแหน่งได้ง่ายขึ้น

Plus Codes ของเราอยู่ที่ไหนกัน

ผู้ใช้งานทุกคนสามารถเข้าไปดู Plus Codes ของตัวเองได้จาก Google Maps โดยคลิกเข้าไปที่ปุ่มกลม ๆ สีฟ้า แล้วแตะค้างไว้ รหัส 6 หลักก็จะปรากฏขึ้นมาให้เราแชร์ได้เลย

กรณีที่เราอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต เราก็สามารถแชร์ Plus Codes ผ่านช่องทางอื่น ๆ ได้ เช่น ส่งเป็นข้อความ หรือโทรศัพท์บอกคนรู้จักก็ได้เช่นกัน

นอกจากนั้นเรายังสามารถค้นหา Plus Codes ของสถานที่ต่าง ๆ ได้โดยการแตะที่แผนที่ค้างไว้เพื่อปักหมุดตำแหน่งที่ต้องการรหัส Plus Codes ได้อีกด้วย

Google บอกว่าฟีเจอร์ดังกล่าวสามารถใช้งานแบบออฟไลน์ได้ รวมถึงสามารถพิมพ์ลงบนกระดาษ โปสเตอร์ และแผ่นป้ายได้ด้วย นอกจากนี้ เทคโนโลยีในการสร้างรหัส Plus Codes ยังเป็นแบบโอเพนซอร์ส ซึ่งหมายความว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใช้งานฟรี ซึ่งไม่เฉพาะผู้ใช้งาน แต่ธุรกิจ Food Delivery หรือธุรกิจอื่น ๆ ก็สามารถเข้าไปศึกษา และนำไปต่อยอดในการพัฒนาแอปพลิเคชันของตัวเองได้ตามต้องการ


แชร์ :

You may also like