ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ได้ประกาศมาตรการผ่อนปรน Lockdown ระยะที่ 3 เริ่มวันที่ 1 มิถุนายนนี้ทั่วประเทศ โดย กรุงเทพมหานคร ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพิ่มเติมตามมาตรฐานกลางของ ศบค. ใน 17 สถานที่
ในการการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร วันนี้ (31 พฤษภาคม 2563) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กรุงเทพมหานคร สรุปมาตรการคลาย Lockdown ระยะที่ 3 ของ กทม. หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น โดยช่วง 10 วันที่ผ่านมา กรุงเทพฯไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ ตลอดเดือนพฤษภาคม 2563 กรุงเทพฯ มีผู้ติดเชื้อใหม่ 9 ราย (ไม่รวม State Quarantine ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ) ขณะที่เดือนเมษายน พบผู้ติดเชื้อใหม่ 497 ราย แสดงให้เห็นว่าเดือนพฤษภาคมลดลง 55 เท่า
จากสถานการณ์ที่ดีขึ้นในเดือนมิถุนายน จึงมีมาตรการผ่อนปรนเพิ่มเติมตามที่ ศบค. ได้พิจารณาไปแล้ว โดย กทม. กำหนดรายละเอียดข้อปฏิบัติเพิ่มเติม 17 สถานที่ ที่จะเปิดให้บริการในวันที่ 1 มิถุนายนดังนี้
1. ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งได้ผ่อนปรนให้เปิดตั้งแต่ระยะที่ 1 แต่เนื่องจากยังมีการแพร่ระบาดอยู่มาก จึงมีมาตรการการดูแลเข้มข้น เดิมกำหนดให้มีฉากกั้นและเว้นระยะห่าง 1.5 เมตร แต่การคลายล็อกดาวน์ระยะ 3 จะผ่อนปรนมากขึ้น โดยให้นั่งรับประทานร่วมกันได้ แต่เว้นระยะห่าง 1 เมตร (ลดลงจาก 1.5 เมตร) ที่ยังต้องกำหนดระยะ 1 เมตร เพราะไม่ต้องการให้มีความหนาแน่นของผู้ใช้บริการ ดังนั้นจึงไม่จำกัดคนนั่งในแต่ละโต๊ะ แต่จำกัดความหนาแน่น จากระยะเก้าอี้นั่งห่างกัน 1 เมตร โดยไม่ต้องมีแผ่นกั้น
2. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า และคอมมูนิตี้มอลล์ ปิดบริการ 21.00 น. จากเดิม 20.00 น.
3. ร้านเสริมสวย สามารถให้บริการได้ทุกอย่าง แต่จะควบคุมระยะเวลาการใช้บริการครั้งละไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อคน เพื่อให้ร้านทำความสะอาดทุก 2 ชั่วโมง และเปิดให้อากาศถ่ายเท ผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา
4. คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานที่สักผิวหนัง เจาะผิวหนังส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เปิดให้บริการได้ทุกกิจกรรม แต่ต้องให้บริการไม่เกิน 2 ชั่วโมง และสวมหน้ากากตลอดเวลา กทม.กำหนดเพิ่ม ผู้ให้บริการต้องใส่ Face Shield ด้วย ส่วนการเสริมความงามบริเวณใบหน้า ให้ประยุกต์ใช้อุปกรณ์ที่สามารถช่วยป้องกันการหายใจทั้งจมูกและปากโดยมีสิ่งปกปิดด้วย ซึ่งผู้ประกอบการระบุว่าสามารถปฏิบัติได้ ตามหลักการคือให้สวมใส่อุปกรณ์ให้ได้มากที่สุด
5. ฟิตเนส ทุกแห่งสามารถให้บริการได้ทุกกิจกรรม แบบจำกัดผู้เล่น เว้นระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร จำกัดเวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อคน งดการอบตัว อบไอน้ำ ห้ามใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกัน และต้องทำความสะอาดเครื่องเล่นตลอดเวลา ผู้ใช้บริการต้องใส่หน้ากากขณะอยู่ในฟิตเนส แต่อนุญาตให้ถอดได้ขณะเล่นอุปกรณ์ต่างๆ
6. การผ่อนผันใช้สถานที่ของโรงเรียน สถาบันการศึกษา ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงปิดเทอม แต่ให้เตรียมการศึกษา เตรียมความพร้อมประชุมหลักสูตร คุณครูผู้สอน ให้สามารถทำได้ ก่อนที่จะประกาศเปิดเทอมอีกครั้ง เนื่องจากมีตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น เกาหลีใต้ ที่เปิดโรงเรียนและพบการติดเชื้อ ทำให้ต้องประกาศปิดแล้ว 2 รอบ สวนโรงเรียนเอกชนนอกระบบ สอนวิชาชีพ ศิลปะ กีฬา สามารถทำได้ในกีฬาที่ผ่อนผันแล้ว
7. จัดแสดงสินค้าในศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์นิทรรศการ กำหนดพื้นที่ไม่เกิน 20,000 ตารางเมตร จำกัดสูงสุดไม่เกิน 5,000 คน กำหนดพื้นที่ความหนาแน่น 4 ตารางเมตรต่อคน เว้นระยะห่าง 1 เมตรต่อที่นั่ง ปิดบริการ 21.00 น.
8. ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา เปิดได้โดยไม่มีการจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม หรือจัดประมูล
9. ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กก่อนวัยเรียน เพราะขณะนี้เด็กบางส่วนไม่ได้ไปโรงเรียน ในกลุ่มเด็กขาดแคลนจึงไม่ได้รับอาหารเพียงพอ การเปิดศูนย์เด็กเล็ก เพื่อประกอบอาหารเพื่อจัดส่งให้ผู้ปกครองตามบ้าน หรือให้ผู้ปกครองมารับอาหาร นม โดยยังไม่เปิดรับดูแลเด็กทั้งวัน ยังต้องให้เด็กอยู่บ้านก่อน
10. สถานบริการนวดเพื่อสุขภาพ นวดแผนไทย เปิดให้บริการเต็มรูปแบบ แต่ห้ามนวดบริเวณใบหน้า ห้ามอบตัว อบสมุนไพรแบบหลายคน จำกัดการใช้บริการไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อครั้ง ผู้ใช้บริการและผู้ใช้บริการ ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา สถานบริการ อาบอบนวด ยังปิดต่อไป
11. สถานที่ฝึกซ้อมมวย โรงยิม ค่ายมวย เปิดเฉพาะส่วนการฝึกซ้อมนักมวยแบบส่วนบุคคล โดยไม่มีคู่ซ้อม
12. สนามกีฬา อนุญาตประเภทกีฬามากขึ้น ฟุตบอล ฟุตซอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล การเข้าร่วมกิจกรรมไม่เกิน 10 คน ไม่นับรวมนักกีฬา
13. สถานที่เล่นโบว์ลิ่ง สเก็ต โรลเลอร์เบลด เปิดเฉพาะกิจกรรมการออกกำลังกาย แต่ไม่ให้มีการแข่งขัน
14. สถาบันสอนลีลาศ ความหนาแน่นใช้บริการ 5 ตารางเมตรต่อคน
15. กีฬาทางน้ำ เจ็ตสกี ไคท์เซิร์ฟ เครื่องเล่นทางน้ำ เช่น บานานาโบ๊ท เปิดดำเนินการได้
16. โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ จำกัดผู้เข้าร่วมกิจกรรม ไม่เกิน 200 คน งดเว้นการจัดดนตรี คอนเสิร์ต และกิจกรรมอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงในการรวมกลุ่ม ทำให้คนใกล้ชิดกัน
17. สวนสัตว์ และการจัดแสดงสัตว์ เปิดดำเนินการได้ตามมาตรการของรัฐ
เปิดลิสต์สถานที่ “ปิดชั่วคราว” ต่อไป
นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ยังได้เห็นชอบให้ “ปิดสถานที่” ชั่วคราว บางประเภทที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโควิด-19 ต่อไป ดังนี้
- สถานบริการ ผับ บาร์ สถานบันเทิง และสถานประกอบการที่คล้ายสถานบริการ
- สวนน้ำ สวนสนุก
- สนามเด็กเล่น เครื่องเล่นสำหรับเด็กในตลาด ตลาดน้ำ และตลาดนัด
- โต๊ะสนุกเกอร์ บิลเลียด
- สถานที่เล่นตู้เกม
- ร้านเกมและร้านอินเทอร์เน็ต
- สนามชนไก่และสนามซ้อมชนไก่
- สถานรับเลี้ยงเด็ก หรือ สถานดูแลผู้สูงอายุ (ยกเว้นมีการรับตัวไว้พักค้างคืน)
- สนามมวย
- โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ (ยิม)
- สนามม้า
- สถานประกอบกิจการอาบน้ำ
- สถานประกอบกิจการอาบอบนวด
- สนามแข่งขันทุกประเภท
- สถานที่ให้บริการห้องจัดเลี้ยง สถานที่จัดเลี้ยง รวมถึงสถานที่อื่นใดที่มีลักษณะเดียวกัน
- สนามชนโค สนามกัดปลา สถานแข่งขันอื่นในลักษณะเดียวกัน