HomeBrand Move !!คำเตือนจากเจ้าพ่อ Uniqlo “ปิดเมืองได้แต่อย่าชัตดาวน์เศรษฐกิจ”

คำเตือนจากเจ้าพ่อ Uniqlo “ปิดเมืองได้แต่อย่าชัตดาวน์เศรษฐกิจ”

แชร์ :

เรียกว่าเป็นแบรนด์ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัส Covid-19 ไม่น้อยเลยทีเดียวสำหรับ Uniqlo เห็นได้จากการประกาศปิดสาขาในประเทศต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก รวมถึงประเทศแม่อย่าง “ญี่ปุ่น” ซึ่งส่งผลให้ Fast Retailing บริษัทแม่ของ Uniqlo ต้องออกมาประกาศหั่นตัวเลขคาดการณ์รายได้ในปีการเงินนี้ (กันยายน 2019 – สิงหาคม 2020) ลง 44% แล้วเรียบร้อย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดย Fast Retailing คาดการณ์ว่า กำไรจากการดำเนินงานในปีนี้จะอยู่ที่ 145,000 ล้านเยน ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าที่ 245,000 ล้านเยน หรือลดลง 44% เมื่อเทียบกับผลประกอบการในปีก่อนหน้า ส่วนปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ในปีนี้ของบริษัทไม่สู้ดีนักมาจากไวรัส Covid-19 ที่ระบาดอย่างหนักในตลาดใหญ่ของ Uniqlo ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น หรือภูมิภาคที่ Uniqlo กำลังไปบุกเพื่อชิงส่วนแบ่งอย่างสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

โดยเมื่อ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา Uniqlo ได้มีการปิดร้านค้าราว 100 แห่งในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเป็นการชั่วคราว หลังพบการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 เป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่ง Uniqlo ต้องปิดร้านสาขาไปกว่า 390 แห่งจากที่มีทั้งหมด 750 แห่งทั่วประเทศ (ปัจจุบันกลับมาเปิดให้บริการทั้งหมดแล้ว แต่พบว่ายอดขายของแต่ละสาขาก็ไม่ได้กลับมาดีดังเดิม)

ไม่เพียงเท่านั้น ผลประกอบการ 6 เดือนแรกของบริษัทที่มีการเปิดเผยเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ก็พบว่าตกลง 21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ที่เคยทำได้ 136,700 ล้านเยนด้วย

จากสถานการณ์ที่บริษัทกำลังเผชิญนี้ ทำให้ Tadashi Yanai ซีอีโอของ Fast Retailing ต้องออกมากระทุ้งรัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมถึงรัฐบาลญี่ปุ่นอีกครั้งว่า การควบคุมไวรัสของรัฐบาลนั้นไม่ควรนำไปสู่การ “ชัตดาวน์” ภาคเศรษฐกิจอย่างเต็มรูปแบบ เพราะการทำเช่นนั้นจะส่งผลให้การฟื้นฟูต้องใช้เวลานานและจะมีผู้ได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น

ไม่เพียงเท่านั้น เขายังมองว่า บทบาทที่สำคัญของรัฐบาลคือการให้ความช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาทางการเงิน และกระจายความช่วยเหลือนั้น ๆ อย่างรวดเร็ว ส่วนงานด้านอื่น ๆ อาจปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่นในการจัดการได้

“เราเข้าใจถึงความจำเป็นของรัฐบาลที่ขอให้ภาคธุรกิจหยุดการทำงานเพื่อช่วยลดการแพร่ระบาดของไวรัส ซึ่งภายใต้การขอความร่วมมือนี้ อาจเป็นการดีกว่าถ้าบริษัทต่าง ๆ จะปรับกลยุทธ์เพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ พร้อม ๆ กับช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส เพราะถ้าเศรษฐกิจล่มสลาย สังคมก็จะพังพินาศไปด้วย นั่นคือความจริงที่เราปฏิเสธไม่ได้”

Uniqlo แม้เปิดร้านใหม่ยอดขายก็ไม่กลับมาเท่าเดิม

โดยสิ่งที่ Tadashi มองเห็นก็คือ การจะรีสตาร์ทภาคธุรกิจขึ้นมาใหม่นั้นต้องใช้เวลา เหมือนเช่น Fast Retailing ที่ปิดร้านสาขาไปกว่า 390 แห่งในจีนแผ่นดินใหญ่นั้น แม้ตอนนี้จะกลับมาเปิดร้านได้แล้ว แต่รายได้ของแต่ละสาขาก็ไม่กลับมาที่จุดเดิม โดยปัจจุบัน พวกเขาขายได้ที่ 60 – 70% ของยอดเดิมเท่านั้น ที่สำคัญ ตัวเลขนี้ไม่ได้เกิดกับ Uniqlo อย่างเดียว แต่ทุกอุตสาหกรรมต่างเจอเหมือนกันหมด ซึ่งเขามองว่า ธุรกิจในญี่ปุ่น ถ้าต้องหยุดลง อาจต้องใช้เวลานานกว่าจีนด้วยซ้ำจึงจะพลิกฟื้นขึ้นมาได้ใหม่

อย่างไรก็ดี Tadashi เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่า บริษัทมีเงินทุนเพียงพอที่จะดำเนินกิจการต่อไป โดยถึงตอนนี้ Fast Retailing ยังคงเป็นบริษัทค้าปลีกด้านแฟชั่นที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย และเป้าหมายของบริษัทก็คือการก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งของโลก ซึ่งทำให้ Uniqlo ต้องท้าชนกับเบอร์หนึ่งและเบอร์สองอย่าง Inditex เจ้าของแบรนด์ Zara และ H&M นั่นเอง

ทั้งนี้ นาย Tadashi Yanai เป็นหนึ่งในซีอีโอของบริษัทยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นที่ออกมาตั้งคำถามต่อการทำงานของรัฐบาล โดยผู้บริหารก่อนหน้า Tadashi ที่เคยตั้งคำถามเกี่ยวกับการรับมือของญี่ปุ่นต่อไวรัส คือ Masayoshi Son แห่ง SoftBank Group Corp และ Hiroshi Mikitani แห่ง Rakuten นั่นเอง

โดยทุกวันนี้ ร้านสาขาของ Uniqlo ในญี่ปุ่นประมาณ 600 แห่งได้ถูกปิดเป็นการชั่วคราว หรือถ้าเปิดก็เปิดในช่วงเวลาสั้น ๆ ไปแล้วเรียบร้อย

Source

Source


แชร์ :

You may also like