HomeBrand Move !!เจาะกลยุทธ์ OYO หาช่องว่างตลาดไทยอย่างไรในยุคธุรกิจท่องเที่ยวแข่งเดือด

เจาะกลยุทธ์ OYO หาช่องว่างตลาดไทยอย่างไรในยุคธุรกิจท่องเที่ยวแข่งเดือด

แชร์ :


สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการจองโรงแรม ที่พัก และเที่ยวบิน ข้อมูลจากรายงาน e-Conomy SEA 2019 ระบุว่าเป็นธุรกิจที่ทำรายได้จากเศรษฐกิจดิจิทัลมากเป็นอันดับแรกของประเทศไทย โดยมีมูลค่าตลาด (Gross Bookings Value) ในปี 2019 อยู่ที่ 7,200 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.18 แสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 17%

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ฟังดูสวยหรู แต่รายงานชิ้นเดียวกันนี้ก็ระบุว่า ธุรกิจท่องเที่ยวออนไลน์เป็นธุรกิจที่ “อิ่มตัว” มากที่สุดด้วยเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ ในยุค Digital Economy อย่าง Ride-Hailing, e-Commerce ดังนั้น การเปิดตัวของ OYO Hotels and Homes แพลตฟอร์มด้านโรงแรมที่พักสัญชาติอินเดียในเวลานี้จึงอาจทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า OYO มองเห็นช่องว่างอะไรในตลาดไทยที่ตนเองสามารถเข้ามาเติมเต็มได้ รวมถึงอาจสงสัยได้ว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ และเข้าใจอินไซต์ของคนไทยจริงหรือไม่

โดยที่ผ่านมา Ritesh Agarwal ผู้ก่อตั้ง OYO สร้างการรับรู้เกี่ยวกับแพลตฟอร์มผ่านการบอกว่าตนเองนั้นเป็นสตาร์ทอัพที่เติบโตเร็วมากเป็นอันดับต้น ๆ ของอินเดีย ซึ่งก็เป็นเช่นนั้น เพราะหากนับจากการเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2013 ปัจจุบัน OYO ระบุว่า แพลตฟอร์มของตนเองให้บริการห้องพักในมากกว่า 160 เมืองทั่วโลก โดยมีห้องพักในประเทศอินเดีย, จีน, เนปาล, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สหรัฐอเมริกา, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, เยอรมนี ฯลฯ หรือคิดเป็นจำนวนห้องพักกว่า 1.2 ล้านห้อง จากโรงแรมกว่า 35,000 แห่ง และบ้านพักตากอากาศอีกกว่า 125,000 หลัง

OYO ถูกจัดเป็นสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับสองของอินเดีย (ประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ) รองจาก One97 Communications ผู้พัฒนาบริการ Digital Payment อย่าง Paytm

ขณะที่ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศลำดับที่ 5 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ OYO เลือกเข้ามาลงทุน ตามหลัง มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ในวันเปิดตัว คุณอชูโตช สิงห์ ผู้อำนวยการบริหารของ OYO ประจำประเทศไทย เผยว่า มีห้องพักในประเทศไทยแล้วมากกว่า 8,000 แห่งจาก 250 โรงแรมใน 13 เมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต หัวหิน เขาใหญ่ และการเปิดตัวในไทยนั้น OYO คาดว่าจะช่วยให้เป้าหมายของบริษัทที่จะมีห้องพักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2 ล้านห้องภายในปี 2025 เกิดขึ้นได้เร็วมากขึ้น

คุณอชูโตช สิงห์

หาช่องว่างอย่างไรในยุคท่องเที่ยวแข่งเดือด

แต่ OYO จะหาช่องว่างเพื่อเข้ามาเติมเต็มในตลาดท่องเที่ยวออนไลน์ของไทยอย่างไร นี่ต่างหากเป็นคำถามสำคัญ โดยจากการเปิดเผยของคุณอชูโตชระบุว่า รูปแบบการขยายตลาดของ OYO นั้น จะเน้นไปที่กลุ่มผู้ประกอบการโรงแรมขนาดกลาง – เล็กที่มีจำนวนห้องพักไม่มากนัก ในจุดนี้คุณอชูโตชอธิบายว่า บริษัทพบ Pain Point จากผู้ประกอบการที่อาจไม่ได้รับความสนใจจากแพลตฟอร์มจองที่พักรายใหญ่เท่าที่ควรนั่นเอง

นอกจากนั้น ในเรื่องของประสบการณ์การเข้าพักในโรงแรมขนาดกลาง – เล็กก็มีปัญหา เพราะหลายครั้งที่ผู้ประกอบการขนาดกลาง – เล็ก อาจให้บริการในสไตล์ของตนเอง ซึ่งอาจตรง หรือไม่ตรงกับความคาดหวังของผู้เข้าพัก ทางบริษัทเลยมองว่า การที่ OYO มีมาตรฐานกลาง เช่น ห้องพักต้องมีฟรีไวไฟ, เครื่องปรับอากาศ, โทรทัศน์, บริการผ้าขนหนู, ผ้าปูที่นอนสะอาดสำหรับผู้เข้าพัก ฯลฯ น่าจะเป็นตัวเลือกที่ตอบโจทย์ได้มากขึ้นทั้งฝั่งผู้เข้าพัก และฝั่งเจ้าของโรงแรม

สำหรับประเทศไทย คุณอชูโตชเผยว่า มีโรงแรมขนาดกลาง – เล็กที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของบริษัทราว 30,000 – 50,000 แห่งเลยทีเดียว

ขายห้องพักได้บนทุกแพลตฟอร์ม

เรื่องของช่องทางการขายห้องพักก็น่าสนใจ โดยคุณอชูโตชเล่าว่า ผู้ประกอบการสามารถนำห้องไปขายได้บนทุกแพลตฟอร์ม ไม่จำกัดว่าจะต้องอยู่บนแอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ของ OYO เพียงอย่างเดียว ซึ่งทีมงานได้ลองทดสอบเข้าเว็บไซต์ต่าง ๆ แล้วก็พบว่ามีห้องพักของ OYO ตามเว็บไซต์ต่าง ๆ อยู่จริง

ส่วนเหตุผลที่เปิดกว้างนั้นก็เดาได้ไม่ยาก โดยคุณอชูโตชอธิบายว่า เพราะต้องการให้เกิดการจองที่พักให้มากที่สุด การเผยแพร่ในช่องทางต่าง ๆ แทนที่จะจำกัดให้อยู่บนแพลตฟอร์มของ OYO เพียงเจ้าเดียวย่อมส่งผลดีมากกว่า

อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญเช่นเดียวกันก็คือ เรื่องของความหลากหลาย เพราะเมื่อหันมามองห้องพักบนเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชันของ OYO เองจะพบว่า การที่ทุกโรงแรมออกแบบบนมาตรฐานเดียวกันนั้น ทำให้เว็บไซต์ขาดความหลากหลายไปพอสมควร การที่ห้องพักไปปรากฏตัวบนแพลตฟอร์มอื่นด้วยก็น่าจะทำให้เกิดความน่าสนใจมากขึ้น เพราะความหลากหลายด้านที่พักนี้ก็เป็นจุดเด่นที่ทำให้ผู้บริโภคเข้ามาเลือกจองห้องพักกับทางแพลตฟอร์มได้เช่นกัน

เปรียบเทียบการปรากฏตัวของ OYO บนแพลตฟอร์มของตัวเองกับบนแพลตฟอร์มจองที่พักอื่น ๆ ในแหล่งท่องเที่ยวหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

แต่เมื่อถามว่า ในการใช้งานจริงนั้น ลูกค้าที่จองห้องพักมาจากช่องทางไหนมากที่สุด คุณอชูโตชระบุว่า ขึ้นอยู่กับว่าบริษัทอยู่ใน Stage ไหนในการให้บริการในประเทศนั้น ๆ ยกตัวอย่างอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศบ้านเกิดของ OYO มาแต่ต้น ปัจจุบัน ลูกค้าที่จองเข้ามา 80% มาจากแอปพลิเคชันของ OYO ตรงกันข้ามกับประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการในภายหลังนั้นพบว่ามีผู้จองเข้ามาผ่านแพลตฟอร์มราว 30% ส่วนที่เหลือมาจากช่องทางอื่น

ทำธุรกิจอย่างไรกับ OYO 

สำหรับรูปแบบการทำธุรกิจของ OYO มี 2 แบบหลัก ๆ นั่นคือเป็นพาร์ทเนอร์กับทางโรงแรม และร่วมลงทุนกับโรงแรม (อาจมีการใส่เงินจาก OYO เพื่อเข้าไปปรับปรุงห้องพักให้โรงแรมนั้น ๆ ด้วย) โดยทั้งสองแบบจะมีการคิดค่าคอมมิชชั่นกับทางเจ้าของที่พัก และเป็นการทำสัญญาระยะยาว 1 – 5 ปี

ขณะที่ประเทศไทย ห้องพักที่ให้บริการบนแพลตฟอร์มนั้นเป็นแบบแรกทั้งหมด ยังไม่มีผู้ให้บริการรายใดที่เป็นการลงทุนจาก OYO โดยตรงเลย

ผู้บริหารของ OYO เผยว่าจะมีทีมงานจาก OYO เข้าไปให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการโรงแรม

นอกจากการให้ความรู้เรื่องการบริหารจัดการโรงแรมแล้ว จะมีระบบหลังบ้านมาติดตั้งให้ทางโรงแรมได้ใช้ด้วย

ไทยเป็นตลาดใหญ่ แต่ทำไมเป็นที่ 5

สำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศลำดับต้นที่มีชื่อเสียงด้านบริการและการท่องเที่ยว แต่สำหรับ OYO เลือกที่จะบุกตลาดมาเลเซียก่อน ตามมาด้วยอินโดนีเซีย ก่อนจะข้ามไปฟิลิปปินส์ และเวียดนาม นั่นจึงนำไปสู่คำถามว่า เหตุใดประเทศไทยจึงตกไปอยู่ลำดับที่ 5

ในจุดนี้ คุณอชูโตชอธิบายว่า การไปมาเลเซียก่อนแม้ว่ามาเลเซียจะบูมเรื่องการท่องเที่ยวน้อยกว่าไทย เป็นเพราะว่าต้องการไปทดลองตลาด เพื่อให้มั่นใจว่า โมเดลธุรกิจของ OYO นั้นสามารถปรับให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคได้ จึงอาจต้องเริ่มจากประเทศที่ไม่ใช่เป็นเบอร์ต้นของตลาดท่องเที่ยวนั่นเอง

“ถ้าโมเดลที่พัฒนาขึ้นประสบความสำเร็จ การจะขยายไปประเทศใกล้เคียงจะทำได้อย่างรวดเร็วมาก” คุณอชูโตชกล่าว

ตัวเลขนักท่องเที่ยวอินเดียโต เหตุ OYO ต้องลุยไทย?

นอกจากนั้น การคาดการณ์ของสถานเอกอัครราชทูตอินเดีย ประจำประเทศไทย ยังมองว่า นักท่องเที่ยวจากอินเดียให้ความสนใจตลาดไทยมากขึ้น โดยในปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวอินเดียเดินทางมากว่า 2 ล้านคน แพลตฟอร์มของ OYO ที่คนอินเดียคุ้นเคยจึงอาจดึงดูดนักท่องเที่ยวจากอินเดียได้มากขึ้น

อย่างไรก็ดี เมื่อถามว่า OYO นิยามตัวเองว่าเป็นธุรกิจอะไร ระหว่างอสังหาริมทรัพย์หรือ Tech Startup คุณอชูโตช กล่าวว่าไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากถ้ามองในมุมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ OYO มีแนวทางในการทำรายได้ให้ผู้ประกอบการโรงแรมที่แตกต่างจากสตาร์ทอัพรายอื่น ๆ ขณะเดียวกันก็มีมุมของ Tech Startup อยู่ด้วย นั่นคือระบบหลังบ้านของ OYO ที่พึ่งพา Data ในการตัดสินใจ (เช่น กำหนดราคาค่าห้องพักขึ้นลงตามความต้องการของแต่ละฤดูกาล เพื่อให้สามารถดึงดูดใจนักท่องเที่ยวได้)

แต่ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หรือ Tech Startup ในการระดมทุนรอบล่าสุด OYO ก็มี VC อย่าง SoftBank Vision Fund ของมาซาโยชิ ซัน และ Airbnb เป็นหนึ่งในนักลงทุนด้วย โดยสามารถระดมทุนไปได้ถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว ซึ่งการมีกระสุนเพียบระดับนี้ โอกาสในการขยายห้องพักแตะ 2 ล้านห้องในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็อาจไม่ใช่เรื่องยากสำหรับ OYO อีกต่อไป

Source

Source


แชร์ :

You may also like