HomeBrand Move !!‘ผมเชื่อว่าผมเรียน MBA ได้คุ้มค่าที่สุด’ ​วรวุฒิ อุ่นใจ ผู้ปั้นออฟฟิศเมท จากธีสิสปริญญาโท สู่ COL ธุรกิจหมื่นล้านในเซ็นทรัลอีโคซิสเท็ม

‘ผมเชื่อว่าผมเรียน MBA ได้คุ้มค่าที่สุด’ ​วรวุฒิ อุ่นใจ ผู้ปั้นออฟฟิศเมท จากธีสิสปริญญาโท สู่ COL ธุรกิจหมื่นล้านในเซ็นทรัลอีโคซิสเท็ม

แชร์ :

ในยุคสตาร์ทอัพเบ่งบาน ยุคที่ใครหลายคนอยากเป็นผู้ประกอบการ อยากสร้างธุรกิจด้วยตัวเอง ประกอบกับข้อถกเถียงในสังคมเรื่อง Skill และความสามารถของเด็กจบใหม่ เด็กที่ผ่านระบบการศึกษา เมื่อจบออกมาแล้วไม่สามารถทำงานในสนามจริงได้ หรือหลักสูตรตำราเรียนต่างๆ ไม่อัพเดท ก้าวไม่ทันกับองค์ความรู้ที่จำเป็นกับการใช้จริงในปัจจุบัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ทำให้หลายคนกังขา​ต่อความจำเป็นของการเรียนให้จบระดับปริญญา ประกอบกับการเห็น Role Model ที่สามารถประสบความสำเร็จในชีวิต โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยใบปริญญา ไม่ว่าจะเป็นบิล เกตต์, สตีฟ จ๊อบส์ หรือมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก โดยเฉพาะกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จในชีวิตบางราย ถึงกับตัดสินใจไปโฟกัสการทำงาน เพราะมองว่าการเรียนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จได้

ความเห็นต่อเรื่องนี้จากมุมของ คุณหมู-วรวุฒิ อุ่นใจ​ หนึ่งนักธุรกิจต้นแบบ ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งใน Role Model ของใครหลายคน จากการปั้นธุรกิจครอบครัวที่กำลังจะล้มละลายให้พลิกฟื้นกลับมาแข็งแรงได้ใหม่ พร้อมทั้งปั้นธุรกิจของตัวเองจนเติบโตเป็นบริษัทพันล้าน สร้างความโดดเด่นเตะตายักษ์ใหญ่อย่างเซ็นทรัลกรุ๊ป จนสามารถเข้ามาเป็นหนึ่งใน Ecosystem ของธุรกิจค้าปลีกระดับชาติ พร้อมสเกลธุรกิจที่ขยายขนาดเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว และขยับบทบาทมาเป็นหนึ่งในทีมผู้บริหารเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป ที่นอกจากดูแลธุรกิจเดิมที่ปั้นมาอย่างออฟฟิศเมทแล้ว ยังขยาย Area รับผิดชอบไปในธุรกิจใหม่ๆ ภายใต้เครือเซ็นทรัลอย่างบีทูเอส รวมทั้ง MEP อีกหนึ่งธุรกิจในกลุ่ม E-book และคอนเทนต์ ภายใต้หน่วยธุรกิจที่ชื่อว่า บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) ที่ทำรายได้ล่าสุดเมื่อสิ้นปีที่ผ่านมาได้กว่า 12,500 ล้านบาท

เด็กรุ่นใหม่ ต้องสู้งานหนัก ลืมคำว่า Slow Life ไปก่อน

คุณหมู พูดถึงความสำเร็จของตัวเองในวันนี้ว่าการศึกษามีส่วนสำคัญอย่างมาก “ผมว่าผมเป็นคนที่เรียน MBA ได้โคตรจะคุ้มค่ามากที่สุด เมื่อเทียบกับค่าเทอมในการเรียน MBA ที่นิดา 2 ปี ราวๆ 2 แสนกว่าบาท แต่ทำให้ผมก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งใน Billionaire ดังนั้น ถ้าไม่ใช่เพราะการศึกษา ผมคงไม่สามารถมาจนถึงจุดที่อยู่ในทุกวันนี้ได้อย่างแน่นอน”

ส่วนที่เด็กบางคนมองว่า การเรียน การศึกษาในระบบไม่มีความหมายเป็นวิธีคิดที่ผิด เพราะ Role Model ระดับโลกส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มคนอัจฉริยะที่ประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องจบปริญญา​ แต่คนธรรมดาอย่างเราๆ ต้องเรียนรู้ ต้องศึกษาให้มาก ​อย่าดูถูกว่าการศึกษาไม่มีความหมาย เพราะสุดท้ายแล้ว อยู่ที่เราว่าจะนำมาปรับใช้อย่างไร ตำราก็เหมือนเข็มทิศ ที่อาจไม่ได้บอกให้เราเดินไปทางซ้ายหรือขวา แต่สามารถบอกได้ว่าทิศที่ถูกต้องคือทิศไหน อยู่ที่คนเรียนต้องสามารถนำมาประยุกต์และพลิกแพลงใช้เองให้ได้ เพราะถ้าใช้แต่ทฤษฎี ธุรกิจก็ไม่ต้องจ้างผู้บริหารมาทำงาน แค่จ้างนักวิชาการมาเขียนแผนแล้วก็ทำไปตามแผน แต่ธุรกิจจริงไม่ได้ราบเรียบ ต้องเผชิญอุปสรรครอบด้าน ทำให้ต้องเลือกคนที่สามารถพลิกแพลงมาคอยแก้ปัญหาหรือตัดสินใจ เมื่อมีสิ่งนอกเหนือความคาดหมายต่างๆ เกิดขึ้น”​

ดังนั้น คนรุ่นใหม่ที่อยากประสบความสำเร็จต้องสามารถนำ​​ทุกสิ่งทุกอย่างที่อ่าน หรือความรู้จากตำราเรียน มาปรับใช้ในการทำธุรกิจหรือในชีวิตประจำวันให้ได้​ อย่ามองว่าเป็นแค่เรื่องของทฤษฎีเท่านั้น ที่สำคัญต้องไม่กลัวและไม่เกี่ยงกับการทำงานหนัก ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ หรือการเป็นผู้บริหาร เพราะยิ่งทำงานมาก ก็ยิ่งเจอปัญหามาก ทำให้มีโอกาสใช้ความสามารถในการแก้ปัญหาได้มากและเก่งขึ้น เพราะส่ิงที่ช่วยพัฒนาทักษะต่างๆ ในการทำงานให้เพิ่มขึ้น ต้องมาจากการหมั่นแก้ปัญหาบ่อยๆ ​

โดยเฉพาะ 10 ปีแรกของการทำงานให้ทำงานอย่างหนัก  อย่าเพิ่งคิดถึง Slow Life แต่ต้องพยายามทำงานให้เยอะ อย่าเกี่ยงงาน หรือเกี่ยงเงิน​ ให้ทำงานเพราะคิดว่าจะทำให้เราเก่ง​ เพราะเมื่อเราเก่งแล้ว ทั้งงานหรือเงินจะวิ่งมาหาเราเอง แต่ถ้ายังไม่เก่งแล้วเอาแต่วิ่งหาเงิน สุดท้าย​ก็ยังไม่​รู้ว่าจะได้เจอในสิ่งที่ต้องการจริงหรือเปล่า

ผมไม่เคยเห็นคนเก่ง คนประสบความสำเร็จโดยไม่ต้องทำงานหนัก เพราะชีวิตจริงไม่มีทางลัด โดยเฉพาะยุคที่โลกไร้พรมแดน เราไม่ได้แข่งแค่ในไทย แต่ตัวเลือกมีคนเก่งจากหลายชาติ โดยเฉพาะหลายๆ ชาติที่ขยัน และมีวัฒนธรรมในการทำงานหนักเพื่อให้ประเทศพัฒนา ทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่กำลังเติบโตในขณะนี้ โดยเฉพาะคนที่มีฝันใหญ่ต้องยิ่งพยายามให้มากขึ้นเป็นสองเท่า เพื่อให้เราเก่งขึ้น และมีทางเลือกมากขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วคนที่เลือกได้คือคนเก่ง ส่วนคนไม่เก่งก็ไม่สามารถเลือกอะไรทีดีที่สุดให้ตัวเองได้”

 ทฤษฎีจากตำรา ช่วยให้พ้นวิกฤต

หากลองย้อนกลับไปมองตั้งแต่เริ่มต้นจะพบว่า การศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวของคุณหมูที่ทำมาตั้งแต่รุ่นพ่ออย่างร้านขายเครื่องเขียนกิจวิทยา ในซอยเอกมัย 12 สามารถรอดพ้นวิกฤตมาได้แล้วครั้งหนึ่ง ตั้งแต่ในช่วงที่คุณหมูเพิ่งเข้าเรียนการตลาด ในคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้วยการนำความรู้จากตำรามาต่อยอด จนทำให้ธุรกิจของครอบครัวที่กำลังจะล้มละลาย จนคุณพ่อที่เตรียมกำลังจะหนีหนี้ไปอยู่ต่างจังหวัดสามารถกลับมายืนหยัดได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง

“ตั้งแต่จำความได้ผมก็มียางลบ ดินสอเป็นของเล่นมาตั้งแต่เด็ก เพราะที่บ้านเป็นร้านเครื่องเขียน และใช้พื้นที่ในบ้านเป็นสต็อกเก็บสินค้า บันไดก็เป็นที่เก็บกระดาษเขียนแบบ ห้องนอนเป็นที่เก็บปากกา ​โดยช่วงปี 2526 กรุงเทพฯ เกิดน้ำท่วมใหญ่ทำให้ซอยเอกมัยแถวๆ บ้านน้ำท่วมสูงจนต้องนำเรือมาใช้ และขายของไม่ได้นานถึง 3 เดือน ​ซึ่งผมกำลังเรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี 1 แต่ก็ไม่ค่อยชอบคณะการตลาดที่ตัวเองกำลังเรียนเท่าไหร่ และมีความคิดที่จะย้ายคณะไปเรียนในสาขาศาสนาและปรัชญาแบบที่ชอบ จนถึงวันที่พ่อเรียกลูกทุกคนมาบอกว่าอาจจะต้องย้ายไปอยู่ต่างจังหวัด เพราะธุรกิจกำลังจะเจ๊ง เป็นหนี้อยู่หลายล้าน ทำให้ผมเริ่มคิดว่า ในเมื่อเราเรียนการตลาดก็น่าจะนำความรู้ที่ได้เรียนมาช่วยกู้วิกฤตให้กับที่บ้าน”

ช่วงนั้น คุณหมูเพิ่งเรียนการตลาดพื้นฐาน ซึ่งตำราบอกไว้ว่า Middle Man หรือธุรกิจตัวกลาง รวมทั้งยี่ปั๊วต่างๆ จะสูญพันธุ์ และสิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นจริงกับครอบครัว ทำให้คุณหมูเชื่อว่า ตำราการตลาดเชื่อถือได้ และสิ่งที่อยู่ในตำราเป็นเรื่องจริง และพยายามหาความรู้จากตำราเพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาให้กับธุรกิจครอบครัวตัวเอง

“เราคิดว่าจะปรับไปทำค้าปลีก แต่ตำราก็บอกว่าสุดท้ายจะสู้โมเดิร์นเทรดจากต่างชาติไม่ได้ ซึ่งเมื่อสามสิบกว่าปีก่อนยังไม่มีห้างค้าปลีกต่างประเทศเข้าไปมากนัก แต่สุดท้ายก็มีหลากหลายแบรนด์เข้ามาจริงๆ และยังพบสิ่งหนึ่งที่ตำราบอกและเราสนใจคือ การทำตลาดด้วย Catalog Sell, Mail Ordering ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคิดว่าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจ แต่ตอนนั้นยังทำแบบที่ฝันไม่ได้ เพราะต้องใช้เงิน และธุรกิจที่บ้านก็กำลังล้มละลาย เลยใช้วิธีให้พี่น้องมาช่วยกันลิสต์รายการสินค้าที่มี พร้อมราคา เพื่อส่งให้ลูกค้าใช้ในการสั่งสินค้า โดยรวบรวมสินค้ากว่า 800 รายการ จำนวน 17 หน้า ​แล้วส่งให้โรงพิมพ์ ใช้เวลาทำอยู่ 3-4 เดือน”

หลังทำ Pricelist เสร็จ คุณหมูและพี่ๆ น้องๆ ก็ต้องทำหน้าที่เป็นเซลล์ ด้วยการตระเวนไปตาม Office Building ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อหาลูกค้าจากบริษัทต่างๆ โดยใช้วิธีเข้าไปในแต่ละตึกแล้วกดลิฟท์ไปชั้นบนสุด ก่อนจะค่อยๆ เดินเข้าไปในบริษัทต่างๆ ตั้งแต่ชั้นบนสุด ไล่ลงมาจนถึงชั้นล่าง ซึ่งบางครั้งถ้ายามรู้ก็จะมาไล่ เพราะบางตึกห้ามนำของมาขาย ทำให้คุณหมูต้องพยายามตีซี้กับยามเพื่อให้สามารถเข้าไปเสนอสินค้าในตึกได้ ​ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผลตอบรับจากการทำ Pricelist ​ถือว่าดีมาก มียอดออเดอร์เข้ามาจำนวนมาก จนทำให้ธุรกิจของครอบครัวผ่านพ้นวิกฤตไปได้ในที่สุด

ธีซิสปริญญาโท ต้นกำเนิด ออฟฟิศเมท

หลังช่วยกอบกู้ธุรกิจให้ครอบครัว คุณหมูก็เปลี่ยนความคิด จากเดิมที่ไม่อยากสานต่อธุรกิจครอบครัว กลายมาเป็นการวางเป้าหมายชัดเจนว่าหลังเรียนจบแล้วจะทำธุรกิจของครอบครัวต่อไป ซึ่งหลังจากช่วยธุรกิจครอบครัวอยู่ราว 4-5 ปี คุณหมูก็มีความคิด​อยากเปิดบริษัทและทำธุรกิจของตัวเอง เพราะอยากเรียนรู้ว่าระบบการทำงานในรูปแบบบริษัทนั้น มีวิธีการหรือขั้นตอนอย่างไรบ้าง รวมทั้งมองว่าความรู้เพียงแค่ปริญญาตรีที่มีอยู่ไม่เพียงพอ จึงตัดสินใจไปเรียนต่อในคณะบริหารธุรกิจที่ NIDA (YMBA รุ่นที่ 1) ซึ่งเป็นการเรียนภาคค่ำที่เปิดสอนเป็นครั้งแรก สำหรับคนทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย​

และการเข้ามาเรียนปริญญาโทที่ NIDA นี่เอง ที่เป็นที่มาของต้นกำเนิดธุรกิจออฟฟิศเมท เพราะระหว่างนั้นคุณหมูเริ่มมีความฝันที่ใหญ่ขึ้นด้วยการเปิดบริษัทแคตตาล็อกเซลล์ และเริ่มศึกษาเรียนรู้ระบบแคตตาล็อกเซลล์จากต่างประเทศทั้งในอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น ว่าเป็นอย่างไรและต้องทำอะไรบ้าง รวมทั้งเลือกที่จะทำโปรเจ็กต์ก่อนเรียนจบปริญญาโท เกี่ยวกับธุรกิจแคตตาล็อกเซลล์ในชื่อบริษัท “ออฟฟิศเมท” ซึ่งภายหลังจากเรียนจบแล้วก็นำธีสิสชิ้นนี้มาเขียนแผนธุรกิจเพื่อนำไปขอกู้เงินลงทุนทำธุรกิจจากธนาคาร จนได้รับอนุมัติเงินกู้มาถึง 25 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่า 3-4 เท่าของมูลค่าหลักทรัพย์ที่นำมาวางเป็นหลักประกัน เป็นที่ดินมูลค่าราว 6-7 ล้านบาท

คุณหมูนำเงินที่ได้มาสร้างตึก ที่มีทั้งคอลเซ็นเตอร์และใช้ชั้นบนเป็นสถานที่ในการเก็บสต็อกสินค้า​ โดยในระยะแรกก็ยังคงใช้ Pricelist เป็นเครื่องมือในการขาย ซึ่งโมเดลธุรกิจของออฟฟิศเมท ไม่ต่างจากธุรกิจสตาร์ทอัพในปัจจุบัน เพราะเป็นโมเดลที่ไม่มีหน้าร้าน ใช้วิธีสั่งสินค้าผ่านคอลเซ็นเตอร์ และนำสินค้าไปจัดส่งให้แก่ลูกค้า พร้อมทั้งเริ่ม​ทำแคตตาล็อกเล่มแรกขึ้นมาใช้ โดยคุณหมูเลือกที่ทำด้วยตัวเองทั้งหมด รวมไปจนถึงการถ่ายรูป ซึ่งหลังจากแคตตาล็อกเล่มแรกพิมพ์เสร็จ ก็ช่วยทำให้ยอดขายเพิ่มได้จริงๆ จากเดือนละ 2-3 ล้าน ในช่วงเปิดบริษัทใหม่ เพิ่มเป็นเดือนละสิบกว่าล้านบาทโดยมียอดขายต่อปีเป็นร้อยล้านบาทเลยทีเดียว ​

แต่ธุรกิจที่ดูว่ากำลังจะไปได้ดี ก็ต้องมาสะดุดในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง หลังจากเปิดบริษัทได้เพียง 2-3 ปีเท่านั้น เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่เริ่มมีปัญหาทางธุรกิจและปิดตัวลง ส่งผลกระทบให้ยอดขายของบริษัทลดลงไปกว่า 3-4 เท่า และกลับไปสู่จุดเดิมเหมือนในช่วงเริ่มธุรกิจใหม่ๆ อีกครั้ง จนคุณหมูมองว่า ถ้าไปต่อไม่ได้ก็อาจจะต้องปิดบริษัทลงด้วยเช่นกัน

“ช่วงที่ธุรกิจเหมือนกำลังจะไปต่อไม่ได้ เราก็รวบรวมเงินก้อนสุดท้ายที่มี เพื่อทำแคตตาล็อกในแบบที่เคยฝันไว้ ทำแบบมืออาชีพ จ้างครีเอทีฟ จ้างช่างถ่ายภาพสวยๆ รวมทั้งคุยกับทางซัพพลายเออร์แต่ละรายเพื่อช่วยสนับสนุนการจัดพิมพ์แคตตาล็อก เพราะถือเป็นหนึ่งในเครื่องมือการตลาดของแต่ละแบรนด์ กระทั่งพิมพ์แคตตาล็อกสำเร็จออกมา แล้วนำไปแจกให้ลูกค้า ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมาก และสามารถฟื้นธุรกิจให้กลับมายืนใหม่ได้อีกครั้งในเวลาเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น”

 มากกว่าแค่แคตตาล็อก แต่มอบ Efficiency ให้ธุรกิจ
ช่วงที่มีการทำแคตตาล็อกฉบับสมบูรณ์ออกมา ออฟฟิศเมทก็ได้สร้างเว็บไซต์ มาเป็นอีกหนึ่งช่องทางขายเพิ่มเติมจากคอลเซ็นเตอร์ โดยเป็นเว็บไซต์ในรูปแบบ Multimedia ที่สามารถรองรับการสั่งซื้อ รวมทั้งการชำระเงิน เป็นครั้งแรกในประเทศไทย รวมถึงเป็นรายแรกที่มีระบบเพย์เม้นต์ในการจ่ายค่าสินค้าผ่านออนไลน์ ด้วยการไปเจรจากับธนาคารเพื่อขอใช้ระบบในการจ่ายค่าสินค้าผ่านบัตรเครดิตเป็นรายแรกของประเทศอีกด้วย โดยเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งปีนี้ก็ถือว่าครบรอบ 20 ปี ของการมีระบบออนไลน์ในธุรกิจของออฟฟิศเมทพอดี

“ช่วงแรกเรายอมรับว่าไม่สามารถคาดหวังเรื่องยอดขายจากช่องทางออนไลน์ได้ เพราะเรานำสิ่งที่ยังใหม่มากสำหรับคนไทยเข้ามา รวมทั้งเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานทางด้านอีคอมเมิร์ซยังไม่รองรับเหมือนปัจจุบัน ทำให้ตลอด 5 ปีแรก ไม่มียอดขายผ่านออนไลน์เข้ามาเลย แต่สิ่งที่เราได้คือ การเรียนรู้และ R&D เพื่อให้สามารถเข้าใจและคุ้นเคยกับระบบบ จนเมื่อถึงวันที่อีคอมเมิร์ซเติบโต เราก็จะได้เริ่มได้เร็ว และทำทุกอย่างเป็น เพราะนี่คือโลกอนาคตของการค้าที่เรามองเห็น ​การทำการค้าในอนาคตจะเหลืออยู่แค่ 2 แบบ คือ การที่คนเป็นฝ่ายเดินไปหาของ และการที่ของเป็นฝ่ายเดินไปหาคน สิ่งที่เราทำก็คือ การทำให้ของเดินไปหาคน โดยใช้แคตตาล็อก และเว็บไซต์เป็นสื่อกลาง”​

ปัจจุบันยอดขายผ่านระบบออนไลน์ของออฟฟิศเมทสามารถเติบโต จนกลายเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่แข็งแรงของธุรกิจ ทำยอดขายได้ถึง 1 ใน 4 หรือมีสัดส่วน 25% ด้วยยอดขาย​ 2,000 ล้านบาท จากยอดขายออฟฟิศเมททั้งหมดกว่า 8,000 ล้านบาท ซึ่งนอกจากขายผ่านเว็บไซต์แล้ว ​ยังมียอดขายจากสโตร์ 4,000 ล้านบาท และจากคอลเซ็นเตอร์อีก 2,000 ล้านบาท

“เราเริ่มธุรกิจมาตั้งแต่ยังไม่รู้อะไร ลองผิดลองถูกด้วยตัวเองมาเรื่อยๆ เพราะยุคก่อนหน้าไม่มีใครมาสอนว่าต้องทำอย่างไร ไม่มีศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ไม่มี Case Study ต่างๆ เป็นตัวอย่างให้เรียนรู้มากเหมือนทุกวันนี้ เราต้องผ่านทุกอย่างมาด้วยตัวเอง เรียนรู้เอง เจ็บตัวเอง ขาดทุนเอง​ ที่สำคัญการจะมาทำธุรกิจออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซได้ เราต้องทดลองเป็นลูกค้าเองก่อน เพื่อเข้าใจว่าลูกค้าต้องการอะไร ทำให้ผมทดลองสั่งสินค้าจากเว็บไซต์ต่างๆ ทั่วโลก เพื่อรู้ว่ายังมีส่วนไหนในธุรกิจที่ต้องปรับ ต้องเติม จุดไหนที่ทำให้ลูกค้ามั่นใจได้มากขึ้น หรือเป็นสิ่งที่ต้องแก้ไข เพราะถ้าไม่มองจากมุมของลูกค้า ไม่เคยเป็นลูกค้ามาก่อน ก็ไม่สามารถทำธุรกิจออนไลน์ได้อย่างแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม การทำแคตตาล็อกเซลล์ แม้จะมีแคตตาล็อกเป็นเครื่องมือการขายที่สำคัญ แต่ หัวใจสำคัญ คือ การมอบ Efficiency หรือประสิทธิภาพในการทำธุรกิจที่มากขึ้นให้กับลูกค้า​ รวมทั้ง Productivity และ Control เพราะไม่ใช่เพียงแค่การมีแคตตาล็อกสวยๆ ที่ดึงดูดการซื้อ แต่ยังพัฒนาระบบให้รองรับการสั่งซื้อสินค้าที่มีอยู่ในสต็อก ให้ลูกค้าได้รับสินค้าที่สั่งซื้อได้ภายในวันรุ่งขึ้น ทำให้ลูกค้าไม่ต้องสต็อกสินค้าไว้จำนวนมาก​ ช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงานลงได้โดยที่ออฟฟิศเมทจะเป็นฝ่ายรับความเสี่ยงเหล่านั้นแทน

ซึ่งกว่า 20 ปี ที่ออฟฟิศเมท ให้ความสำคัญกับการพัฒนาและศึกษาข้อมูลจากฐานระบบธุรกิจ ทำให้สามารถคำนวณการบริหารจัดการสต็อกที่รองรับการสั่งซื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความ Lean และแม่นยำมากขึ้น ทั้งการสต๊อกสินค้าเพื่อรอคำสั่งซื้อได้อย่างเหมาะสม และความครบถ้วนในการจัดส่งสินค้าตามออเดอร์โดยสามารถส่งสินค้าที่มีอยู่ในแคตตาล็อกให้ลูกค้าได้​ภายในวันรุ่งขึ้นสูงถึง 99% เลยทีเดียว

ที่สำคัญวันนี้ Office Mate สามารถขยายศักยภาพไปได้มากกว่าแค่การให้บริการสินค้าและอุปกรณ์สำนักงาน แต่ยังรองรับกลุ่มสินค้าโรงงานต่างๆ ในชื่อ Factory Mate ด้วยการใช้โมเดลแค็ตตาล็อกเซลล์เช่นเดียวกับที่ทำสำเร็จมาแล้วในกลุ่มออฟฟิศ รวมทั้งยังต้ังใจจะขยายธุรกิจไปสู่กลุ่ม Medical และ Horeca ในอนาคตอันใกล้ เพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและสร้างความแข็งแกร่งในฐานะผู้นำใน B2B Marketplace อย่างแท้จริง


แชร์ :

You may also like