HomeBrand Move !!เมื่อ Brand Loyalty ต่ำ รสชาติก็ไม่ต่าง “ไวไว” เลือกเดินทางใหม่ แตกไลน์ 3 ธุรกิจอาหารแห่งอนาคต ที่มากกว่าแค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

เมื่อ Brand Loyalty ต่ำ รสชาติก็ไม่ต่าง “ไวไว” เลือกเดินทางใหม่ แตกไลน์ 3 ธุรกิจอาหารแห่งอนาคต ที่มากกว่าแค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

แชร์ :

ข้อมูลจาก “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไวไว” ที่ศึกษาผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายแล้วพบว่า ลูกค้ามีแบรนด์ลอยัลตี้ในระดับต่ำลงเรื่อยๆ ขณะที่ความนิยมในรสชาติก็ลดน้อยลง และยังหาความแตกต่างในตลาดได้ยาก ประกอบกับเทรนด์ผู้บริโภคที่เกิดขึ้นทั้งการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ บวกกับกระแสดิจิทัลที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างสิ้นเชิง​ ทำให้สามารถเข้าถึงทางเลือกต่างๆ ที่หลากหลายได้เป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ภาพรวมในธุรกิจอาหารเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะความต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ “ไวไว”​ต้องเดินยุทธศาสตร์ใหม่ มากกว่าแค่การอยู่ในธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแต่เพียงอย่างเดียว พร้อมทั้งได้พัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อเพิ่มโอกาสในการเติบโตจากอีก 3 ขาธุรกิจ ที่ยังอยู่บนความถนัดคือ อยู่ในกลุ่มธุรกิจอาหาร รวมทั้งยังสอดคล้องกับเทรนด์ในตลาด โดยเฉพาะความต้องการอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และอาหารที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในอนาคต พร้อมวางเป้าหมายการเติบโตที่ท้าทายด้วยการเติบโตสู่บริษัทที่มียอดขายแตะหมื่นล้านบาทให้ได้ ภายในอีก 5-10 ปีข้างหน้า

คุณปรีชา นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงงานผลิตภัณฑ์อาหารไทย จำกัด ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูปภายใต้เครื่องหมายการค้า “ไวไว ควิกแสบ และซือดะ” เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมขยายธุรกิจโมเดลใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพในธุรกิจอาหาร ทั้งการ​ปั้นแบรนด์ร้านอาหาร “ควิกเทอเรส” โดยวางเป้าหมายที่จะเติบโตไปสู่ระดับ Global Brand การแตกไลน์สินค้าอาหารออแกนิค และการพัฒนาสินค้าเกษตรแปรรูปต่างๆ โดยได้แบ่งลักษณะของธุรกิจใหม่ๆ รวมทั้งวางทิศทางในการขับเคลื่อนแต่ละกลุ่มธุรกิจ​ไว้ ดังต่อไปนี้

1. ธุรกิจการพัฒนาอาหารแห่งอนาคต เพื่อรองรับแนวโน้มและเทรนด์ต่างๆ ของผู้บริโภคยุคใหม่ทั่วโลก เช่น ความต้องการอาหารที่กินได้สะดวก รวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับสุขภาพและความปลอดภัย รวมถึงการพัฒนาอาหารที่ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าอาหารที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ และคำนึงถึงโภชนาการทางอาหารเป็นสิ่งสำคัญ เช่น อาหารเสริมสุขภาพ และอาหารเกษตรอินทรีย์ต่างๆ เป็นต้น พร้อมทั้งได้แต่งตั้งให้มีผู้บริหารเพื่อดูแลกลุ่มธุรกิจนี้โดยเฉพาะอีกด้วย

“บริษัทมอบหมายให้คุณวีระ นภาพฤกษ์ชาติ กรรมการและผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ เป็นผู้เข้ามาดูแลกลุ่มธุรกิจที่เน้นการพัฒนาอาหารในเชิงสุขภาพอย่างจริงจัง ​พร้อมทั้งยังร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) รวมถึงสนับสนุนทุนวิจัยให้กับอาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์อาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อพัฒนาสินค้าให้เป็นอาหารที่เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ในการดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาผลิตผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพและแก้ไขปัญหาให้แก่ผู้บริโภคที่มีอาการแพ้สารอาหารบางกลุ่ม ​เช่น​ การพัฒนาผลิตภัณฑ์เส้นบะหมี่สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้กลูเตน​ รวมถึงพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมทานที่ไม่ใส่สารกันบูด ตลอดจนมุ่งเน้นที่จะพัฒนาสินค้าให้ได้รับสัญลักษณ์ “Free Form” ซึ่งสัญลักษณ์นี้ คือ มาตรฐานที่บ่งบอกถึงสินค้าที่ปราศจากสารปรุงแต่งต่างๆ”

นอกจากนี้ ยังได้มีการเจรจาความร่วมมือกับเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) เพื่อกำหนดแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเชิงสุขภาพ และกระบวนการผลิตโดยใช้นวัตกรรมใหม่ๆ พร้อมกับขยายความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยและนักวิจัยในเครือข่ายของเมืองนวัตกรรมอาหารอีกไม่น้อยกว่า 16 แห่ง เพื่อนำงานวิจัยที่มีศักยภาพมาต่อยอดสำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารกลุ่มทางเลือกสุขภาพ (Healthy Choice) เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำ และน้ำตาลต่ำ เสริมคุณค่าทางอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น ไฟเบอร์ เพื่อตอบสนองแนวโน้มความต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพสำหรับผู้บริโภคทุกเพศทุกวัย และอาหารเฉพาะกลุ่ม

“ข้อมูลของสถาบันอาหารระบุว่า 50% ของผู้บริโภคให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติ ขณะที่มีผู้บริโภคมากถึง 30% ที่ยอมจ่ายเงินให้แก่อาหารเกษตรอินทรีย์ ประกอบกับแนวโน้มการบริโภคอาหารเกษตรอินทรีย์ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่องมากกว่า 10% ทั้งในประเทศไทยและกลุ่มประเทศยุโรป อเมริกา จีน และญี่ปุ่น ทำให้บริษัทมั่นใจว่า การขยายธุรกิจเข้ามาในกลุ่มที่โฟกัสอาหารเพื่อสุขภาพ รวมทั้งการพัฒนาอาหารเกษตรอินทรีย์​ จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคทั้งในรูปแบบของอาหารพร้อมทานและเครื่องปรุงรส จากการที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความต้องการอาหารที่มีส่วนประกอบจากธรรมชาติ ไม่มีการใช้สารเคมีใด ๆ และไม่ก่อมลพิษในกระบวนการผลิต” 

2. ธุรกิจร้านอาหาร “ควิกเทอเรส” ซึ่งเป็นร้านอาหารที่นำจุดเด่นของบริษัท คือ เส้นบะหมี่มาเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ทั้งการทำเป็นอาหารจานหลักและอาหารทานเล่น ในราคาที่ย่อมเยา โดยได้เปิดให้บริการสาขาแรกในช่วงทดลองที่บริเวณหน้าโรงงานไวไว ที่อ้อมใหญ่ มากว่า 2 ปีแล้ว และพร้อมสำหรับการขยาย​สาขาที่ 2 ในช่วง​เดือนพฤษภาคมนี้ ที่จังหวัดชลบุรี รวมทั้งมีแผนในการขยายสาขาใหม่เพิ่มเติมในปีนี้อีกราว 3-5 สาขา ทั้งภายใต้การลงทุนของบริษัทเอง รวมทั้งผ่านระบบแฟรนไชส์

“บริษัทตั้งเป้าการขยายร้าน “ควิกเทอเรส” ในช่วง 3-5 ปีนับจากนี้ จะมีจำนวนสาขาครบ 100 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งสามารถขยายไปในต่างประเทศได้ด้วย เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย อังกฤษ และฝรั่งเศส เป็นต้น”​

3. ธุรกิจแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร โดยจะดำเนินการในรูปแบบของความร่วมมือกับบริษัทที่มีชื่อเสียงในธุรกิจการผลิตผลิตผลทางการเกษตร รวมทั้งการพัฒนาแปรรูปเป็นผงปรุงรส และเครื่องเทศที่มีคุณภาพสูงและปลอดภัย ซึ่งสามารถทำตลาดได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ​ ซึ่งเป็นการต่อยอดการใช้ประโยชน์จากเครื่องจักรของบริษัทที่มีอยู่  และเป็นแนวทางในการส่งเสริมเกษตรกรที่ปลูกพืชผลทางการเกษตรให้มีรายได้ที่ดีเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

“บริษัทเชื่อมั่นว่าธุรกิจใหม่ทั้ง 3 กลุ่ม จะสามารถเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคทุกกลุ่ม รวมทั้งจะสามารถผลักดันยอดขายทั้งกลุ่มให้อยู่ที่ 10,000 ล้านบาท ในอีก 5-10 ปี และเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการส่งออกจาก 15% เป็น 30%”​

 


แชร์ :

You may also like