อพท. ปักธงท่องเที่ยวโดยชุมชน เตรียมปั้นแบรนด์ “CBT Thailand” พร้อมเดินหน้าเป็นองค์กร “สร้างต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” จากการใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกหรือ GSTC และเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุม ชนอย่างยั่งยืน หรือ CBT Thailand เพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน ปีนี้ตั้งเป้า 40 ชุมชนทั่วประเทศ ดันรายได้เพิ่ม 20% ความสุขล้น 85%
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เปิดเผยว่า เพื่อสร้างการรับรู้การทำงานของ อพท. ให้ขยายวงกว้างออกไปยังภาคีเครือข่ายและผู้สนใจเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยสู่ความยั่งยืน และเป็นการท่องเที่ยวที่กระจายรายได้ลงสู่ชุมชนผู้ซึ่งเป็นผู้ให้บริการทางการท่องเที่ยว อพท. จึงได้กำหนดสร้างแบรนด์ “CBT Thailand” ระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี (พ.ศ. 2562 – พ.ศ. 2566) เป้าหมายเพื่อให้เกิดการรับรู้และจดจำ แบ่งดำเนินงานออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะสั้นภายในปี 2562พัฒนาและสร้างตราสัญลักษณ์ CBT Thailand ระยะกลาง (พ.ศ.2563- พ.ศ.2564) สร้าง Sub brand และทำการสื่อสารอย่างสม่ำเสมอด้วยการนำเสนอคุณค่าการท่องเที่ยวผ่านปัจจัยแห่งความสำเร็จชุมชน ผ่านช่องทางสื่อ Social media พัฒนาฐานข้อมูลบน Online platform และระยะยาว (พ.ศ.2565 – พ.ศ. 2566) ขยายฐานการรับรู้แบรนด์ CBT Thailandที่พร้อมการเติบโตซึ่งมีเป้าหมายใหญ่คือการรวบรวมผลงานและความสำเร็จของชุมชนนำไปสู่การเสนอสินค้าการท่องเที่ยวในวิถีชุมชนผ่านกิจกรรม CBT Festival
“ที่ผ่านมา อพท. เป็นหน่วยงานพัฒนาชุมชนต้นแบบเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน จากองค์ความรู้ของเกณฑ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน หรือ CBT Thailand ซึ่งพัฒนามาจากเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกหรือ GSTC ดังนั้นเพื่อสร้างการรับรู้และเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม และเป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ มอบหมาย อพท. ดำเนินการสร้างแบรนด์ CBT Thailand ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง”
ทั้งนี้ ในการพัฒนาแบรนด์CBT Thailand มีเป้าหมายเพื่อวางกลยุทธ์ทางการตลาดกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนและการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่สะท้อนอัตลักษณ์ของพื้นที่เพื่อส่งไปยังกลุ่มเป้าหมายคือคนในชุมชน นักท่องเที่ยว และบุคคลทั่วไปให้เกิดการรับรู้และจดจำ เข้าใจและเข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์กับ อพท. ต่อไป”
นอกจากนั้น แผนงานและภารกิจ ของ อพท. ในปี 2562 ยังเดินหน้าสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายพัฒนาศักยภาพและกิจกรรมให้กับชุมชนและพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่น การนำเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลกหรือ GSTC ไปถ่ายทอดให้กับชุมชน การขยายภาคีเครือข่ายกับหน่วยงานระดับสากล “องค์การยูเนสโก” ที่เพิ่งลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Understanding – MoU) ร่วมกันพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (Intangible Cultural Heritage) และเมืองสร้างสรรค์ (Creative Cities) ในมิติการทำงานด้านสังคมขยายพื้นที่พัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for all) มิติด้านสิ่งแวดล้อมขยายผลโครงการโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Hotel)
วาง 4 พันธกิจ ลุยงาน 4 ปี
ผู้อำนวยการ อพท. กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติในด้านการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน อพท. จึงได้จัดทำแผนการดำเนินงานระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2562 – พ.ศ. 2565) เพื่อพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวให้กับชุมชน แบ่งเป็น 4 พันธกิจ ดังนี้
- พัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria: GSTC) จำนวน 6 แห่งในพื้นที่พิเศษ ได้แก่ ชุมชนนาเกลือ ชุมชนเกาะหมาก ชุมชนเมืองเก่า ชุมชนเชียงคาน ชุมชนในเวียง และชุมชนอู่ทอง จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่พิเศษพระนครศรีอยุธยา และ Thailand Rivera ในพื้นที่ชะอำ-หัวหิน พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยง “สี่เหลี่ยมวัฒนธรรมล้านช้าง” ในเส้นทางจังหวัดเลย – แขวงไชยะบูลี – แขวงหลวงพระบาง เส้นทางจังหวัดเลย – ไชยะบูลี – จังหวัดน่าน เส้นทางท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรมในพื้นที่ขยายผล 4จังหวัด สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก และตาก พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านวิถีชีวิตไทลื้อ (ไทย-ลาว-จีน) เส้นทางจังหวัดน่าน – เมืองเงิน – เมืองสิบสองปันนา พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) พัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวคูคลองต้นแบบและพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยววิถีมอญทรงคะนอง คุ้งบางกะเจ้า
- พัฒนาการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยการพัฒนาและส่งเสริมต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโดยชุมชนที่ได้มาตรฐาน CBT Thailand จำนวน 40ชุมชน
- ส่งเสริมการท่องเที่ยวสร้างสรรค์ เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน ภายใต้แนวคิด “เมืองสร้างสรรค์” (Creative City) นำร่อง 3 แห่งในพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัย-กำแพงเพชร พื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน และพื้นที่พิเศษเมืองโบราณอู่ทอง จัดทำคู่มือกระบวนการพัฒนาและยกระดับกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์
- บูรณาการร่วมกับทุกภาคีเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว โดยการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการท่องเที่ยว (Carrying Capacity) การเสริมสร้างและกระจายรายได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เช่น ขยายพื้นที่ดำเนินการพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวล (Tourism for all) ไปยังจังหวัดภาคตะวันออก ระยอง และตราด การนำนวัตกรรมมาต่อยอดเพื่อการท่องเที่ยว เช่น จัดทำระบบฐานข้อมูลการท่องเที่ยวในรูปแบบแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ในรูปแบบต่างๆ เช่น เกมส์ 3 มิติ
เป้าหมายชุมชนมีรายได้โต 20%
อย่างไรก็ตาม ในปี 2562 อพท. ตั้งเป้ายกระดับอยู่ดีมีสุขของประชาชนในพื้นที่พิเศษ โดยชุมชนในพื้นที่
ผ่านเกณฑ์การประเมินร้อยละ 85 ชุมชนมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 โดยประเมินจาก 22 ชุมชน แบ่งเป็น 14 ชุมชนเดิมที่ประเมินไปแล้วในปี 2561 และเพิ่มชุมชนใหม่จำนวน 8แห่ง สร้างชุมชนต้นแบบ 40 ชุมชน ซึ่งเป็นชุมชนจากการขยายผลการพัฒนาชุมชนต้นแบบในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวและชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ รูปแบบการดำเนินงาน อพท. ยังคงเน้นที่การประสานความร่วมมือกับทุกภาคีเพื่อเสริมสร้างศักยภาพกลไกและระบบบริหารจัดการการท่องเที่ยวที่นำไปสู่ความยั่งยืนอย่างบูรณาการ มีเป้าหมายสูงสุดคือการได้มีส่วนช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางการท่องเที่ยวของประเทศให้ได้พัฒนาอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยให้ขยับไปสู่เป้าหมายไม่ต่ำกว่าอันดับที่ 30 ของโลก จากปัจจุบันอยู่อันดับที่ 35 ของโลก ตามที่ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564)