HomeBrand Move !!รุ่น 2 มาแล้ว ‘วิศรุต พูลวรลักษณ์’ กับเป้าหมายที่จะทำให้ เมเจอร์ฯ​ เป็นมากกว่าแค่ที่ดูหนัง แต่ต้องเป็น Lifestyle Destination

รุ่น 2 มาแล้ว ‘วิศรุต พูลวรลักษณ์’ กับเป้าหมายที่จะทำให้ เมเจอร์ฯ​ เป็นมากกว่าแค่ที่ดูหนัง แต่ต้องเป็น Lifestyle Destination

แชร์ :

ถือโอกาสแนะนำตัวอย่างเป็นทางการพร้อมผลงานระดับมาสเตอร์พีซ​ของเมเจอร์​ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป กับการลงทุนครั้งใหญ่ในรอบ 13 ปี เพื่อสร้าง Destination แห่งใหม่ในธุรกิจโรงภาพยนตร์​ ที่เรียกได้ว่าเป็นโรงภาพยนตร์ที่สวยที่สุดตั้งแต่เมเจอร์ฯ เคยทำมา หรืออาจจะบอกว่าเป็นโรงภาพยนตร์ที่สวยที่สุดในโลกก็คงไม่ผิดนัก ซึ่งหนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงของโครงการนี้ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นทายาทสายตรง ในเจนเนอเรชั่นที่ 2 “คุณวิศรุต พูลวรลักษณ์”​ ​ลูกชายคนโตวัย 25 ปี ของเจ้าพ่อธุรกิจโรงภาพยนตร์และเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ของไทยอย่าง “คุณวิชา พูลวรลักษณ์​” นั่นเอง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ประเดิมด้วยงานใหญ่ระดับมาสเตอร์พีซ

ปัจจุบัน คุณวิศรุต พูลวรลักษณ์​ หรือ คุณเค เข้ามาช่วยธุรกิจครอบครัวทันทีหลังจาก​เรียนจบปริญญาโทด้าน Operation Research จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย นิวยอร์ก หนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกระดับเดียวกับกลุ่ม Ivy League โดยเริ่มเข้ามาช่วยงานตั้งแต่เมื่อสองปีก่อนในตำแหน่ง ผู้อำนวยการ ​บริษัท เมเจอร์​ซีนีเพล็กซ์​ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) เพื่อเริ่มศึกษางานด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงภาพยนตร์

โดยเฉพาะการเป็น Project Leader โรงภาพยนตร์ระดับแฟล็กชิพมาสเตอร์พีซอย่าง ไอคอน ซีเนคอนิค ที่เพิ่งเปิดให้บริการวันแรก​ไปเมื่อ 5 ธันวาคม 2561 หรือเมื่อวันพ่อที่ผ่านมานี้​ ซึ่งผลตอบรับก็สมฐานะของความเป็นโรงระดับ​ Iconic Flagship Masterpiece เมื่อยอดขายตั๋วในวันแรกเพียงวันเดียวทำได้มากถึง 6,000 ใบ ซึ่งถือว่ามากที่สุดในการเปิดโรงภาพยนตร์ที่ทางเมเจอร์ฯ เคยทำได้

“คุณพ่อไม่เคยกดดันว่าจบแล้วต้องมาช่วยงานครอบครัว แต่ผมชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็กและมองว่าเป็นธุรกิจด้าน Entertainment ซึ่งน่าจะสนุกและท้าทาย เพราะเพื่อนๆ ผมส่วนใหญ่ที่จบมาด้วยกันจะไปในสายงาน Consulting เป็นส่วนใหญ่ แต่ผมไม่ค่อยชอบด้านนั้นเท่าไหร่ เลยตัดสินใจมาทำงานกับครอบครัวดีกว่า รวมทั้งในครอบครัวเองยังมีธุรกิจอื่นๆ ให้ได้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหาร​ หรือธุรกิจโรงแรม แต่ผมชอบธุรกิจโรงภาพยนตร์มากที่สุด และมองว่าเป็น Core Business ของครอบครัวเรา เลยขอโฟกัสที่งานโรงภาพยนตร์เป็นหลัก”​ 

เมื่อถามว่า มีส่วนร่วมอะไรในโปรเจ็กต์ไอคอน ซีเนคอนิค นี้บ้าง คุณเคตอบว่า พยายามที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกๆ เรื่อง โดยเฉพาะส่วนที่เข้าไปมีบทบาทมากที่สุด น่าจะเป็นเรื่องของงานดีไซน์​​ ที่ได้เข้าร่วมในทุกประชุมที่เกี่ยวข้องกับงานดีไซน์แทบจะทุกนัด รวมทั้งเสนอไอเดียพูดคุยกับดีไซเนอร์ระดับโลกอย่าง มร.ดิเอโก กรอนดา ผู้ออกแบบโรงละครโกดัก เธียเตอร์ ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานประกาศผลรางวัลออสการ์ รวมทั้งโรงภาพยนตร์สำคัญๆ ของเครือเมเจอร์มาหลายแห่งแล้ว ซึ่งผลงานที่ออกมาคุณเค​ ยอมรับว่า “ในความรู้สึกของผมโรงหนังแห่งนี้เป็นโรงหนังที่สวยที่สุดตั้งแต่เมเจอร์เคยทำมาแล้ว”​  

นอกจากเรื่องของความสวยแล้ว ในฐานะแฟล็กชิพมาสเตอร์พีซ​ โรงภาพยนตร์แห่งนี้ยังเป็นโรงภาพยนตร์ที่ดีที่สุดของเครือเมเจอร์อีกด้วย เพราะทุกโรงในนี้จะฉายด้วยระบบเลเซอร์เพล็กซ์​ ซึ่งเป็นระบบฉายที่มีคุณภาพสูงกว่าระบบเดิม ที่ก่อนหน้านี้จะฉายระบบนี้อยู่แค่ในโรง VIP เท่านั้น รวมทั้งยังเป็น Destination ที่รองรับ Movie Lover ได้ครบทุกกลุ่มเป้าหมาย หรือแม้แต่ลูกค้าองค์กรที่ต้องการมาใช้สถานที่ในการพบปะสังสรรค์​ จัดประชุม หรือจัดกิจกรรมอื่นๆ รวมทั้งการจัด Exclusive Private Party ต่างๆ เพื่อให้โรงภาพยนตร์ของเมเจอร์​ เป็นได้มากกว่าแค่ที่ดูหนัง แต่จะเป็นหนึ่งในสถานที่ที่สามารถรองรับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบันได้อย่างครอบคลุม เรียกได้ว่า มาเริ่มงานได้ไม่นานก็สามารถสร้างผลงานชิ้นโบแดงได้ทันที

ผมมองว่าเป็นโอกาสดีที่ได้เข้ามาในจังหวะที่ดีมากกว่า ประกอบกับได้รับโอกาสจากคุณพ่อให้เราได้เข้ามามีส่วนร่วมในโปรเจ็กต์นี้ โดยที่คุณพ่อยังคงช่วยไกด์ให้อยู่ เนื่องจาก การก่อสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่เช่นนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นได้บ่อยๆ เราก็ต้องพยายามท่ีจะเรียนรู้งานต่างๆ จากคุณพ่อ เพราะนั่งทำงานอยู่กับคุณพ่อทุกวันก็จะพยายามสังเกตุ ศึกษาและซึมซับวิธีคิดในการทำงาน การบริหารงาน หรือการดีลกับพาร์ทเนอร์หรือแม้แต่พนักงานแต่ละส่วน ซึ่งคุณพ่อจะใจเย็น ใจดี และพยายามเข้าใจคนที่ท่านทำงานด้วยทุกคน ซึ่งถือว่าเป็นต้นแบบในการทำงานให้กับเราได้เป็นอย่างดี”​

คุณวิชา พูลวรลักษณ์​ ผู้สร้างอาณาจักรเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์​ กรุ้ป

ภารกิจเร่งด่วน ‘ยกระบบหลังบ้านขึ้นคลาวด์’​​

นอกจากประเดิมโปรเจ็กต์ใหญ่ในรอบ 13 ปี อย่างไอคอน ซีเนคอนิคแล้ว อีกหนึ่ง Priority ที่ทางคุณเค กำลังรับผิดชอบอยู่คือ การเติม Innovation ต่างๆ ให้กับเมเจอร์ฯ เพื่อให้การพัฒนาของดิจิทัลและเทคโนโลยีต่างๆ กลายมาเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างการเติบโตและสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดีขึ้น มากกว่าการถูกคุกคามด้วยเทคโนโลยีเหมือนกับที่หลายๆ ธุรกิจกำลังเผชิญอยู่

โดยเฉพาะในยุค Mobile First ที่ทุกคนล้วนใช้บริการต่างๆ จากมือถือ การทำให้เมเจอร์ฯ​ เข้าไปอยู่บนมือถือของทุกคนเพื่อให้สามารถเข้าถึงได้สะดวก ไม่ว่าจะเป็นการจองตั๋วหนัง การเช็คข้อมูลต่างๆ ของเมเจอร์ ทั้งรอบฉาย หรือดูหนังตัวอย่าง โดยเฉพาะการพัฒนาระบบหลังบ้านไปไว้บนคลาวด์ เพื่อให้สามารถเข้าถึงได้จากทุกที่ และรองรับการเข้ามาของลูกค้าพร้อมกันในคราวละมากๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งงานหลักที่คุณเคกำลังเร่งทำ

คุณเควางเป้าหมายเพื่อจะเป็น KPI ในการวัดความสำเร็จของตัวเองในเรื่องนี้ ด้วยการเพิ่มยอดซื้อตั๋วผ่าน Mobile Channel ให้เป็น 80% ภายใน 3 ปี จากปัจจุบันมีสัดส่วนที่ราว 10% ขณะที่สัดส่วนใหญ่กว่า 80% ยังมาจากตู้จำหน่ายอัตโนมัติ และการซื้อผ่าน Box Office ราว 10% ซึ่งในอนาคตจะโฟกัสช่องทางจำหน่ายผ่านโมบายและตู้อัตโนมัติเป็นหลัก ส่วน Box Office จะเน้นการอำนวยความสะดวกหรือให้คำแนะนำต่างๆ สำหรับลูกค้าแทน

“​เราให้ความสำคัญกับเรื่อง Customer Journey อย่างมาก และยังมองเห็น Pain Point หลายๆ อย่างที่ลูกค้าอาจจะยังไม่ได้รับความสะดวกสบายมากนัก ไม่ว่าจะเป็นการต่อแถวซื้อตั๋ว ซื้อเครื่องดื่ม ป๊อบคอร์น หรือปัญหาระบบในช่วง Peak Load ซึ่งล้วนแต่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าในทุกทัชพ้อยท์​​​ โดยเฉพาะการเพิ่มบริการต่างๆ ที่ทำให้ลูกค้าได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้น ทั้งการนำระบบดิจิทัลมาใช้ตั้งแต่การจองตั๋วผ่านโมบาย ไปจนถึงระบบ E Check-in ต่างๆ ซึ่งทำมากว่าครึ่งปีแล้ว ​หรือแม้แต่การบริการเสิร์ฟอาหารหรือเครื่องดื่มให้แก่ลูกค้าในโรงภาพยนตร์ ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มให้บริการ Dine In Cinema ที่โรง VIP ในไอคอน ซีเนคอนิค แล้วเช่นกัน”  

รวมทั้งการไปสู่เป้าหมายสำคัญซึ่งเป็นนโยบายที่เมเจอร์ให้ความสำคัญมาโดยตลอดคือ การทำให้โรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์เป็นมากกว่าแค่สถานที่สำหรับมาแค่เพื่อดูหนัง แต่เป็นอีกหนึ่ง Lifestyle Destination ที่ทำให้ผู้คนมาได้บ่อยๆ ​และทำให้การเข้ามาดูหนังในโรงภาพยนตร์เป็นอีกหนึ่งคัลเจอร์ของคนไทย ทำให้นอกจากความสะดวกสบายในการเช็คโปรแกรม หรือระบบจองตั๋วต่างๆ แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการมีพื้นที่ Public Space ภายในโรงภาพยนตร์ ให้สามารถกลายเป็นสถานที่พบปะสังสรรค์ระหว่างเพื่อน หรือการใช้เวลาว่างสำหรับครอบครัวได้ด้วย

ยากที่สุดคือ การเรียนรู้และเข้าใจลูกค้าคนไทย

ขณะที่ความท้าทายสำคัญและเป็นสิ่งที่คุณเคค่อนข้างหนักใจ คือ ความซับซ้อนและแตกต่างของพฤติกรรมของลูกค้าคนไทย เนื่องจาก การไปใช้ชีวิตในต่างประเทศมากว่า 10 ปี ทำให้ห่างหายจากสังคมไทยไปนาน ประกอบกับความซับซ้อนของผู้คนที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาค ทำให้ต้องพยายามมาเรียนรู้และศึกษาพฤติกรรม และความชื่นชอบที่แตกต่างกันไปของแต่ละกลุ่ม

“ผมยอมรับว่า บางครั้งผมไม่ค่อยเข้าใจมุขต่างๆ ​ในภาพยนตร์ไทย หรือภาพยนตร์บางเรื่องที่เราไม่เข้าใจแต่กลับได้รับการตอบรับที่ดีมากในตลาดต่างจังหวัด​ ทำให้เรารู้ว่าประเทศไทยไม่ได้มีแค่กรุงเทพฯ แต่ใหญ่กว่านั้นมาก ซึ่งเราก็ต้องพยายามเรียนรู้และศึกษาทั้งจากคุณพ่อ และพี่ๆ ทีมงานทุกคนที่ต่างมีประสบการณ์สูงมาก​ แต่สิ่งหนึ่งที่เราจะสามารถเข้ามาเติมเต็มให้ได้ คือ มุมมองและวิธีคิดของคนรุ่นใหม่ หรือ Insigt ต่างๆ จากคนในวัยเดียวกับเรา เพื่อ​เป็นอีกหนึ่งข้อมูลในการตอบโจทย์แต่ละ Segmentation ได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น”

คุณเค ยังประเมินโอกาสการเติบโตของธุรกิจโรงภาพยนตร์รวมทั้งเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ของไทยว่ายังมีอยู่สูงมาก หากพิจารณาจากตัวเลขประชากรไทยที่มีเกือบ 70 ล้านคน เทียบกับตัวเลขลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ (Admission) รวมทั้งยอดจำหน่ายตั๋วต่อปีของเมจอร์ฯ ที่อยู่ราวๆ เกือบ 40 ล้านใบ ซึ่งมีสัดส่วนยังไม่ถึง 1% ขณะที่เกาหลี ซึ่งเป็นต้นแบบที่ดีในการผลักดันธุรกิจเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ให้แข็งแกร่งด้วยการมี Local Content ที่แข็งแรง ทำให้มียอด Admission ในแต่ละปีสูงถึง 200 ล้านใบ ขณะที่จำนวนประชากรมีอยู่ราวๆ 50 ล้านคน หรือคิดเป็น 4% หรือแม้แต่ในจีนที่มีคนเป็นพันล้านคน แต่ก็ยังมียอด Admission ต่อประชากรได้ที่ 1%

นอกจากนี้ เมื่อมองมาที่จำนวนโรงภาพยนตร์ในไทย ก็ยังมีน้อยกว่าประเทศอื่นๆ อีกมาก เช่น จีน ที่มีจำนวนโรงหนังมากที่สุดในโลกถึงกว่า 51,000 โรง, หรือในอินเดียที่มีกว่า 11,000 โรง แต่ก็ยังมี Occupancy Rate สูงถึง 30-40% เช่นกัน ขณะที่ในญี่ปุ่นมีกว่า 3,000 โรง​ และเกาหลีใต้ที่มีกว่า 2,000 โรง ส่วนของเมเจอร์ฯ เองมีเป้าหมายในการขยายให้ครบ 1,000 โรง ภายในปี 2563

แม้จำนวนโรงภาพยนตร์หรือ Admission Rate อาจจะยังตามหลังหลายๆ ประเทศ แต่ในมิติของการพัฒนาโรงภาพยนตร์ของประเทศไทยนั้น ทั้งเรื่องของเทคโนโลยี หรือการเติมเต็ม Movie Experience ต่างๆ ในฐานะที่มีโอกาสติดตามคุณพ่อไปดูงานด้านโรงภาพยนตร์มาแล้วทั่วโลก คุณเคมั่นใจว่า ประเทศไทยไม่แพ้ชาติใด​ เพราะให้ความสำคัญกับการมอบประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้ชมภาพยนตร์มากที่สุดในโลกแล้ว โดยเฉพาะการพัฒนาโรงภาพยนตร์ในระดับ VIP ที่ประเทศไทยพัฒนาไปได้ไกลมาก และมีก่อนชาติอื่นๆ แม้แต่ในอเมริกาที่เพิ่งมีโรงในระดับ VIP เมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง

และในฐานะลูกชายคนโตของเจ้าพ่อธุรกิจโรงภาพยนตร์ของประเทศ​ สิ่งที่ต้องถามคือ ภาพยนตร์ที่ชอบดู ซึ่งคุณเคตอบว่า “ผมชอบดูหนังประเภทซูเปอร์ฮีโร่ต่างๆ เพราะเป็นหนังที่สนุกและเข้าใจง่าย ส่วนหนังไทย ส่วนใหญ่จะเป็นหนังแนววัยรุ่นที่ใกล้ตัวและเข้าใจง่าย แต่ก็จะพยายามเรียนรู้และดูหนังในหลากหลายแนวมากขึ้น เพื่อให้สามารถเข้าใจความต้องการและความชื่นชอบที่หลากหลายของคนไทยและตลาดในประเทศไทยได้ดีมากขึ้น แม้ว่าตลอดสองปีที่ผ่านมานี้ อาจจะยังไม่สามารถเข้าใจได้มากเท่าไหร่นักก็ตาม”   

 


แชร์ :

You may also like