HomeBrand Move !!“ไอคอน ซีเนคอนิค” บิ๊กโปรเจ็กต์ในรอบ 13 ปี ระดับ World Best Cinema ท้าพิสูจน์ฝีมือทายาทรุ่น 2 Major

“ไอคอน ซีเนคอนิค” บิ๊กโปรเจ็กต์ในรอบ 13 ปี ระดับ World Best Cinema ท้าพิสูจน์ฝีมือทายาทรุ่น 2 Major

แชร์ :

ทุ่มเม็ดเงินสูงถึง​ 400 ล้านบาท เพื่อใช้ในการลงทุนปั้นโรงภาพยนตร์ระดับแฟล็กชิพมาสเตอร์พีซอย่าง “ไอคอน ซีเนคอนิค”​ (ICON CINECONIC) ซึ่งนับเป็นการลงทุนสูงที่สุดของเมเจอร์​ ซีนีเพล็กซ์ ​กรุ้ป ในรอบ ​13 ปี​​ และถือว่ามากขึ้นกว่าเท่าตัวหลังจากเปิดตัวโรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์ ซึ่งถือเป็นการลงทุนโรงภาพยนตร์ระดับแฟล็กชิพที่ใช้เงินลงทุนสูงที่สุดของเมเจอร์ตลอดช่วงที่ผ่านมา​ ด้วยเม็ดเงินราว 200 ล้านบาท​  

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

นอกจากเป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ในรอบ 13 ปีแล้ว โปรเจ็กต์นี้ยังมี Leader เป็นผู้บริหารรุ่นใหม่เจนเนอเรชั่นที่ 2 อย่าง คุณวิศรุต พูลวรลักษณ์​​ ทายาทคนโตของ ​คุณวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ซึ่งเข้ามา​ช่วยบริหารงานได้ราว 2 ปี ในตำแหน่งผู้อำนวยการ เมเจอร์​​ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป

3 จุดเด่น โรงภาพยนตร์ระดับแฟลกชิพมาสเตอร์พีซ

สำหรับรายละเอียด​โรงภาพยนตร์​ไอคอน ซีเนคอนิค ตั้งอยู่ที่ไอคอน สยาม ​โดยวางตำแหน่งให้เป็นโรงภาพยนตร์​ระดับแฟล็กชิพไม่ต่างจากการมีสยามพารากอนของย่านฝั่งธน และยังใช้เกณฑ์จากพารากอน ซีนีเพล็กซ์มาเป็นเกณฑ์ในการพัฒนาโครงการใหม่นี้ เพื่อให้สามารถยกระดับมาตรฐานได้มากกว่าที่เมเจอร์เคยทำได้มาก่อนหน้านี้ แม้ว่าปัจจุบันโรงภาพยนตร์พารากอน ​ซีนีเพล็กซ์ จะเป็นโรงภาพยนตร์ที่ทั้งหรูหรา สวยงาม และมีเทคโนโลยีในการฉายที่ทันสมัยที่สุดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้วก็ตาม โดยจุดเด่นสำคัญของโรงภาพยนตร์ ไอคอน ซีเนคอนิค คือ การผสมผสานระหว่างอัตลักษณ์ของความเป็นไทยและความเป็นโรงภาพยนตร์ที่มีเทคโนโลยีล้ำสมัย รวมทั้งความโดดเด่นและแตกต่างในมิติต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ให้ความสำคัญกับการนำอัตลักษณ์ของไอคอน สยาม ในเรื่องความภาคภูมิใจความเป็นไทย มาอยู่ในทุกๆ องค์ประกอบของ​โครงการนี้ จนทำให้โรงภาพยนตร์แห่งนี้ที่สวยที่สุดของเมเจอร์กรุ๊ป ตั้งแต่ที่เคยทำมา รวมทั้งเป็นหนึ่งในโรงภาพยนตร์ที่สวยที่สุดในโลก ด้วยฝีมือการออกแบบของ มร.ดิเอโก กรอนดา (Mr.Diego Gronda) ดีไซเนอร์ระดับโลก ผู้ออกแบบโรงละครโกดัก เธียเตอร์ ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่จัดงานประกาศผลรางวัลออสการ์ รวมทั้งผลงานที่ผ่านมาได้ออกแบบ โรงภาพยนตร์พารากอน ซีนีเพล็กซ์, ควอเทียร์ ซีเนอาร์ต และเมกา ซีนีเพล็กซ์ ที่ให้บรรยากาศความหรูหราทันสมัยเสมือนโรงแรม 6 ดาวมาแล้ว​ โดยได้ใช้เวลาในการเตรียมตัวสำหรับโปรเจ็กต์นี้ไม่ต่ำกว่า 5 ปีเลยทีเดียว

ซึ่งนอกจากเรื่องของการออกแบบแล้ว ยังเพิ่มกิมมิคความเป็นไทยในรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ ไม่เว้นแม้แต่ป๊อปคอร์นที่จำหน่ายอยู่ในสาขานี้ นอกจากจะมีรสชาติหลักอย่าง​หวาน เค็ม และชีสแล้ว ยังเพิ่มป๊อบคอร์นรสน้ำยาปู​ และป๊อปคอร์นรสหมูสะเต๊ะ ที่จะมีจำหน่ายเฉพาะแค่ในโรงไอคอน ซีเนคอนิคเท่านั้น โดยจะมีการพัฒนารสชาติใหม่ๆ ในสไตล์ Thai Taste ผลัดเปลี่ยนมาให้ลูกค้าได้ทดลองในเดือนต่อๆ ไป

2. ความล้ำหน้าของเทคโนโลยีในการฉาย เนื่องจากเป็นโรงภาพยนตร์แห่งแรกที่ฉายด้วยเทคโนโลยีเลเซอร์เพล็กซ์​ในทุกโรงในโรงภาพยนตร์แห่งนี้ ​โดยเครื่องฉายเลเซอร์จะให้ภาพคมชัดสมจริงมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า​ แทนการใช้เครื่องรุ่นก่อนที่เป็นหลอดซีนอน ที่เมื่ออายุในการใช้งานระยะหนึ่งแล้วคุณภาพของแสงจะดร็อปลง ส่วนเลเซอร์จะมีจุดเด่นในเรื่องความสว่าง ทำให้มีสีสันสดใส และมีคุณภาพที่สม่ำเสมอตลอดอายุการใช้งาน รวมทั้งการนำระบบ Smart Ticket มาให้บริการ ทั้งการซื้อตั๋วผ่านแอปพลิเคชั่นเมเจอร์ได้ หรือการเลือกซื้อผ่านตู้จำหน่ายอัตโนมัติ เพื่อเลือกที่นั่งที่ต้องการได้ด้วยตัวเอง โดยจะพยายามพัฒนาการเชื่อมต่อระบบซื้อตั๋วให้ Seamless ผ่านโมบาย และจะลดจำนวน Box Office ลงในอนาคต

3. การทรานส์ฟอร์มโปสเตอร์หรือแบนเนอร์ต่างๆ ที่เคยอยู่ในโรงภาพยนตร์มาเป็นการใช้จอ LED ในจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มบรรยากาศในโรงภาพยนตร์และช่วยเพิ่มความมีชีวิตให้กับโปสเตอร์ต่างๆ ด้วยการฉายเทรลเลอร์ภาพยนตร์ในแต่ละโปรแกรมแทนการใช้โปสเตอร์กระดาษที่จะเป็นภาพนิ่ง ทำให้เพิ่มความตื่นเต้นให้กับลูกค้าได้เพิ่มมากขึ้น และขนาดของจอที่ใหญ่มากขึ้น และเป็นโรงภาพยนตร์ที่มีจอ LED มากที่สุดในประเทศก็ว่าได้

“โปรเจ็กต์นี้จะใช้เงินลงทุนมากกว่าที่พารากอนถึง 2 เท่า เพื่อปั้นให้เป็นหนึ่งในโรงภาพยนตร์ที่ดีและทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยแบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 260 ล้าน ส่วนที่เหลือจะใช้ลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยี จอภาพ หรือในมิติของ Hi-touch ต่างๆ ​รวมงบลงทุนทั้งสิ้นกว่า 400 ล้านบาท ขณะที่จำนวนโรงจะมีน้อยกว่าในพารากอนที่มี 16 โรง แต่ที่นี่มี 13 โรง และอีกหนึ่งคอนเซ็ปต์พิเศษของธุรกิจโรงภาพยนตร์​ เพื่อให้เป็นอีก​ Destination ที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายได้อย่างครบถ้วน และให้ความสำคัญกับการมีพื้นที่ Waiting Area ที่ค่อนข้างมาก เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายและเป็นที่สำหรับพบปะพูดคุยกันของลูกค้าทั้งในช่วงก่อนชมและหลังชมภาพยนตร์ ซึ่งเป็นการเติมเต็มให้มี Movie Experience ได้อย่างสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น”

ตอบโจทย์ครบทุก Segmentation

คุณวิศรุต ให้รายละเอียดโรงภาพยนตร์​ไอคอน ซีเนคอนิค ซึ่งถือเป็นโรงภาพยนตร์เพียงแห่งเดียวที่มี Segmentation ของโรงภาพยนตร์ ที่สามารถรองรับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างครบถ้วนและครอบคลุมครบทุกกลุ่ม​​ ด้วยจำนวนโรงภาพยนตร์ 13 + 1 ​(13 โรง​ + 1 คอนเซ็ปต์ใหม่)​ ทำให้สามารถรองรับประชากรย่านฝั่งธนได้ทั้งหมด รวมทั้งยังเป็นโรงภาพยนตร์เพียงแห่งเดียวของย่านฝั่งธนที่อยู่ในระดับลักซ์ชัวรี่เช่นเดียวกับสยาม พารากอน และมีจุดขายค่อนข้างมากทำให้มีโอกาสในการดึงดูดกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขึ้น จึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก แม้ว่าโดยรอบฝั่งธนจะมีโรงหนังของเมเจอร์ ค่อนข้างครอบคลุม ทั้งในโซนปิ่นเกล้า และบางแค ​หรือในท่าพระที่เป็นของผู้เล่นอื่นในตลาดก็ตาม

“กลุ่มเป้าหมายที่นี่จะใกล้เคียงกับที่พารากอน คือ เป็นกลุ่มคนต่างชาติและ Expat 30% และอีก 70% เป็นคนไทย โดยเฉพาะกลุ่มที่เดินทางด้วยเรือจากทุกท่าก็สามารถเดินทางมาที่นี่ได้ รวมทั้งในอนาคตหากเปิดบริการสายสีทองก็จะทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น จะยิ่งทำให้มีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายเดินทางเข้ามาได้เพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้ายอดขายตั๋วไว้ที่ราวๆ ปีละ 2 ล้านใบ ซึ่งอยู่ในระดับเดียวกับพารากอนแม้ว่าจำนวนโรงจะน้อยกว่า โดยมีที่นั่งอยู่ประมาณ 2,700 ที่นั่ง”

ขณะที่การจัดกลุ่มของโรงหนังภายในไอคอน ซีเนคอนิค ยังสามารถตอบโจทย์ได้ตั้งแต่กลุ่มระดับบนแบบลักซ์ชัวรี่ที่มีกำลังซื้อสูง มาจนถึงกลุ่ม Movie Lover ที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์และความตื่นเต้นในการดูหนัง กลุ่มเด็กและครอบครัว ​โดยมี Core Target อยู่ที่กลุ่ม Movie Goer อายุตั้งแต่ 18-35 ปี ทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน และข้าราชการที่อยู่โดยรอบฝั่งสี่พระยา เจริญกรุง หรือคลองสาน วงเวียนใหญ่ เป็นต้น ตลอดจนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวกรุงเทพฯ​ และเลือกที่พักในย่านดังกล่าว ​รวมทั้งยังให้น้ำหนักสำคัญทั้งภาพยนตร์ซาวด์แทร็กและพากษ์เสียงภาษาไทย เพื่อให้เหมาะกับความต้องการของคนในพื้นที่ โดยราคาตั๋วเริ่มต้นจะอยู่ที่ 250 บาท ใกล้เคียงกับที่พารากอน

ขณะที่รูปแบบโรงภาพยนตร์สำหรับเข้าถึงแต่ละกลุ่มเป้าหมาย จะประกอบไปด้วย

– โรง VIP คอนเซ็ปต์ ICONIC Dine in Cinema รองรับกลุ่มกำลังซื้อสูงที่ต้องการความ Privacy ให้ความรู้สึกเหมือนชมภาพยนตร์อยู่ที่บ้าน โดยสามารถสั่งอาหารเข้ามารับประทานไปขณะที่ดูหนัง พร้อมบริการหมอน ผ้าห่ม รองเท้าสลิปเปอร์ รวมทั้งบริการจากพนักงานภายในโรงแบบส่วนตัว และห้องน้ำระบบอัตโนมัติที่แยกออกมาเฉพาะส่วน ให้สามารถใช้บริการแบบส่วนตัวคนเดียว ​ นอกจากนี้ยังสามารถใช้บริการเล้าจน์ที่อยู่ด้านหน้าโรงในช่วงก่อนและหลังการชมภาพยนตร์ได้ด้วย

โรง IMAX ที่จะให้คุณภาพของภาพที่ดีกว่า รู้สึกว่าภาพอยู่ใกล้ตามากขึ้น รวมทั้งการใช้ระบบการฉายรุ่นใหม่ล่าสุดของไอแม็กซ์ ที่​​รองรับการฉายภาพแบบ High Frame Rate​​ ทำให้ภาพสมูธมากขึ้นในฉากที่ภาพมีการเคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว ลดความเบลอของภาพลง ซึ่งความสมบูรณ์แบบเหล่านี้ จะเพิ่มประสบการณ์ไปอีกระดับสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรักการดูหนัง และให้ความสำคัญกับเรื่องของ Movie Experience

โรง 4DX ซึ่งถือเป็นโรงลำดับที่ 10 ของเมเจอร์ มีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ที่โรงอื่นๆ ยังไม่เคยมีมาก่อน ด้วยเอฟเฟ็กต์พายุหมอก และระบบฉายแบบเลเซอร์ ที่ให้สีสันสดใส และมองเห็นละเอียดต่างๆ ได้อย่างชัดเจนรวมทั้งระบบเสียงที่คมชัด​ เพื่อโฟกัสกลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่นและชอบความแปลกใหม่

  • โรง Kids Cinema ​ซึ่งเป็นโรงสำหรับเด็กลำดับที่ 10 ของเมเจอร์เช่นเดียวกัน โดยจะมีคอนเซ็ปต์ที่ต่างจากที่อื่น และหรูหรามากกว่า ด้วยคิดส์เลาจน์หรือปาร์ตี้รูมเพื่อรองรับการจัดงานต่างๆ ด้วย ​รวมทั้งยังมีห้องน้ำสำหรับเด็กโดยเฉพาะ สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและกลุ่มครอบครัวโดยเฉพาะ

​เพิ่มคอนเซ็ปต์ใหม่ รุกโมเดลแบบขายเหมา

นอกจากความครบถ้วนของโรงภาพยนตร์ในรูปแบบต่างๆ แล้ว​ ทางเมเจอร์ยังได้เพิ่มคอนเซ็ปต์ใหม่ที่ชื่อว่า Living Room Theatre ที่เหมือนกับห้องดูหนังในบ้านพร้อมกลุ่มเพื่อนหรือคนสนิท ด้วยบรรยากาศส่วนตัวแบบ Private Party พร้อม Exclusive Lounge ที่มีทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และบริการ Entertainment ต่างๆ ทั้งการฉายหนังตามโปรแกรม ฉายแบบ On Demand ทั้ง Movie & Music เพื่อรองรับ Private Party ประชุม​ สัมมนา หรือกิจกรรมต่างๆ ทั้งของ Coporate และในแบบกลุ่มบุคคล ซึ่งเริ่มมีแนวโน้มการจัดงานในรูปแบบนี้เพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ในช่วงที่ผ่านมาทางเมเจอร์ฯ เริ่มให้ความสำคัญกับการทำตลาดแบบเหมาโรงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้โรงภาพยนตร์ VIP ต่างๆ ที่อยู่ในสยามพารากอน มาใช้ในการจัดกิจกรรมต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ตามทิศทางในการเติบโตของรายได้จากขาของกลุ่ม Corporate ที่เข้ามาเหมาโรงในการทำกิจกรรมร่วมกับลูกค้าหรือดีลเลอร์เพิ่มมากขึ้น และด้วยฐานะที่เป็นอีกหนึ่ง Destination ทำให้โรงไอคอน ซีเนคอนิค สามารถตอบโจทย์ตลาดในกลุ่มเหมาโรงได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มขนาดเล็กแบบเอ็กซ์คลูซีฟ ที่สามารถใช้ห้อง VIP หรือ Living Room​ หรืองานขนาดใหญ่ที่มีคนจำนวนมากอย่างโรง IMAX หรือโรงธรรมดาก็สามารถรองรับการจัดงานได้เช่นเดียวกัน

“คอนเซ็ปต์ Living Room จะช่วยเพิ่มตลาดในรูปแบบของการเหมาได้มากขึ้น ทั้งจากลูกค้ากลุ่ม Corporate ในการจัดกิจกรรมหรือสัมมนาต่างๆ และจากกลุ่ม Consumer เพื่อจัดงานไพรเวทปาร์ตี้ในแต่ละโอกาส​ หรืองานทอล์กโชว์ โดยจะคิดค่าบริการคู่ละ 4,500 บาท หรือเหมาจ่ายรวม 45,000 บาท ซึ่งจะรวมทั้งค่าอาหาร เครื่องดื่ม และพนักงานคอยดูแลบริการ รวมทั้ง Entertainment ต่างๆ แล้ว ซึ่งในช่วงแรกยังมีการจัดโปรโมชั่นในราคา 3 หมื่นบาท ”

การรุกตลาดในโมเดลขายเหมาเพิ่มมากขึ้น ยังจะช่วยเพิ่มรายได้จากกลุ่มคอร์ปอเรท ที่มาทั้งจากการขาย Cinema Ad การขายแบบเหมาโรง รวมทั้งการเข้ามาเป็น Sponsorship Naming ในโรงภาพยนตร์ต่างๆ ซึ่งในไอคอน ซีเนคอนิค ขณะนี้มี 3 โรงภาพยนตร์ ที่มีเนมมิ่งสปอนเซอร์ ได้แก่​ บริษัท เจ้าพระยามหานครจำกัด (มหาชน) หรือ CMC ในโรง​ 4DX ภายใต้ชื่อ CMC 4DX, ธนาคารออมสิน ในโรงภาพยนตร์ IMAX ภายใต้ชื่อ GSB Presents IMAX และ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)​ ที่เข้ามาเป็นเนมมิ่งสปอนเซอร์ VIP Lounge ภายใต้ชื่อ THAI​ Smooth As Silk Premier Cinema รวมทั้งยังได้เป็ปซี่ เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ในการให้บริการเครื่องดื่มภายในเล้าจน์ต่างๆ รวมทั้งยังอยู่ระหว่างการหาเนมมิ่งสปอนเซอร์เพิ่มเติม โดยเฉพาะในโรงลีฟวิ่งรูม และคิดส์ซีเนม่าที่แบรนด์ต่างๆ ค่อนข้างให้ความสนใจ และอยู่ระหว่างการเจรจา

“ปัจจุบันรายได้จากฝั่ง Corporate โดยเฉพาะรายได้จากการเหมาโรงยังมีสัดส่วนไม่มากอยู่ที่ราวๆ 5% ​โดยเชื่อว่าในอนาคตมีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น เพราะมีโอกาสในการใช้พื้นที่โรงหนังในหลายๆ โอกาส ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวสินค้า การจัดปาร์ตี้ หรือกิจกรรม CRM ของแบรนด์ต่างๆ โดยเชื่อว่าในอนาคตรายได้จากกลุ่มนี้จะสามารถเติบโตได้จนมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 10% ภายในปีหน้า”

ขณะที่โอกาสในการเติบโตของธุรกิจโรงหนังในฐานะผู้นำตลาดทางเมเจอร์ประเมินไว้ว่า ยังมีโอกาสในการเติบโตได้อีกค่อนข้างสูงมาก ทั้งจากอัตราการเข้าชมภาพยนตร์ของคนไทย (Occupancy Rate) ที่ยังไม่สูงมาก ขณะที่ในหลายๆ ประเทศอย่างอินเดีย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มี Occupancy ที่ค่อนข้างสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จะอยู่ในระดับ 30-40% ขณะที่ไทยยังอยู่ในระดับ 20-30% รวมทั้งการผลักดันการเข้ามาชมภาพยนตร์ของคนไทยให้มากขึ้น (Admission) ด้วยการเพิ่มเซ็กเม้นต์ที่หลากหลายและตอบโจทย์ทุกกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด

“การเพิ่มจำนวน Admission หรือโอกาสในการชมภาพยนตร์ให้สูงขึ้น ​จะช่วยเพิ่มทั้ง Occupancy Rate ที่ทำให้ต้นทุนในภาพรวมลดลง รวมทั้งผลักดันให้รายได้เติบโตได้มากขึ้น นอกจากการตอบโจทย์เซ็กเม้นต์ที่ครอบคลุมแล้ว ​ยังเน้นการผลิตจำนวนภาพยนตร์ไทยให้เพิ่มมากขึ้นด้วย เพื่อให้มีคอนเทนต์ในการดึงคนเข้ามาในโรงภาพยนตร์มากขึ้น ​โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตในปีนี้ไว้ที่ราว 10% ​หรือมียอดขายตั๋วประมาณ 30-40 ล้านใบ​​ ส่วนการเติบโตของกลุ่ม On Demand จะเพิ่มจำนวนคอนเทนต์ให้มากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการเพิ่มภาพยนตร์ฮอลีวู้ดฟอร์มใหญ่ๆ เข้ามาอยู่ในโปรแกรมมากขึ้น​ โดยตัวเลขในปัจจุบันเติบโตได้ประมาณ 50% ต่อเดือน หลังจากเปิดให้บริการมาได้เกือบครบปีแล้ว” 


แชร์ :

You may also like