HomeInsightUpside Down Thinking วิธีคิดแบบมุมกลับ เมื่อธุรกิจครอบครัวอยากโตได้ 10 เท่า

Upside Down Thinking วิธีคิดแบบมุมกลับ เมื่อธุรกิจครอบครัวอยากโตได้ 10 เท่า

แชร์ :

ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่โดดเด่นในโลกธุรกิจปัจจุบัน ส่วนใหญ่จะมีจุดกำเนิดมาจากการเป็นธุรกิจครอบครัว หรือ Family Business ที่สืบทอดและส่งต่อกิจการมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยจะเห็นว่ามี Family Business หลายรายสามารถเติบโตแผ่กิ่งก้านสาขาจนกลายเป็นบริษัทมหาชนที่สามารถเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือกลายเป็น Global Company ที่กลายเป็นที่รู้จักในระดับโลกในเวลาต่อมา

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ขณะที่ความโหดร้ายของคลื่นพายุ Disruption ที่โหมกระหน่ำสร้างผลกระทบให้ธุรกิจทุกประเภทต้องเผชิญกับความท้าทายที่หนักหน่วง ในการที่จะหยัดยืนอย่างมั่นคงและสานต่อธุรกิจให้อยู่รอด โดยเฉพาะธุรกิจครอบครัวที่ต้องแสวงหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้สามารถส่งต่อธุรกิจไปยังรุ่นต่อไปให้ได้ เพราะหากธุรกิจครอบครัวค่อยๆ ล่มสลายหายไปจากโลกธุรกิจ นั่นหมายความว่า แหล่งกำเนิดของเศรษฐกิจที่เก่าแก่ที่สุดของโลกกำลังอยู่ในจุดที่มีความสั่นคลอน และอาจนำมาซึ่งผลกระทบลูกโซ่ที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะธุรกิจครอบครัวถือเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโดยรวม

สอดคล้องกับข้อมูลจาก คุณเอื้อมพร ปัญญาใส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เออาร์ไอพี จำกัด (มหาชน) ในงานสัมมนาพิเศษ “Upside Down: Rising to the Golden Opportunity of Global Disruption มองมุมกลับ…ปรับมุมมองธุรกิจครอบครัว ที่ระบุว่า ธุรกิจครอบครัวเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นในประเทศไทยหรือในระดับโลก เพราะเมื่อพิจารณาข้อมูล Top 100 หรือแม้แต่ Top 20 ของบริษัทชั้นนำระดับโลก จะพบได้ว่าส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่มีรากฐานการเติบโตมาจากธุรกิจที่เป็น Family Business ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจค้าปลีกชั้นนำระดับโลกอย่าง Walmart ก็ตาม

ญี่ปุ่น Role Model ธุรกิจครอบครัว

ทั้งนี้ ข้อมูลจากงานวิจัยบริษัทธุรกิจครอบครัวของโลกยังระบุว่า ธุรกิจทั่วไปจะมีอายุของกิจการเฉลี่ยแค่ 12 ปี ขณะที่อายุเฉลี่ยของธุรกิจครอบครัวจะยาวนานกว่า โดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีค่าเฉลี่ยอายุกิจการของ Family Business สูงที่สุด โดยมีอายุเฉลี่ยประมาณ 52 ปี และมากกว่าครึ่งหนึ่งหรือมีจำนวนถึง 56% ที่มีเกณฑ์อายุเฉลี่ยของกิจการมากกว่า 200 ปี โดยพบว่ามีธุรกิจ Kongo Gumi หนึ่งในธุรกิจครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการก่อสร้างวัด ก่อตั้งมาตั้งแต่เมื่อปี 578 ซึ่งทำธุรกิจมายาวนานถึง 14 ศตวรรษเลยทีเดียว รวมทั้งยังมี Family Business ในอีกหลายประเทศที่ดำเนินกิจการและเติบโตมาอย่างยาวนาน อาทิ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศส ตามลำดับ

สำหรับประเทศไทยจะมี Family Business อยู่ราว 80% กระจายตัวไปในทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่ธุรกิจขนาดเล็กที่เป็น SME หรือแม้แต่องค์กรธุรกิจระดับประเทศ ซึ่งหลายธุรกิจกลายเป็น Role Model ที่สามารถเติบโตไปเป็นบริษัทที่มั่นคง หรือสามารถเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ทั้ง MAI หรือ SET เพื่อปูทางไปสู่การแข่งขันทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค หรือในระดับโลกต่อไป ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแตกต่างกันของแต่ละครอบครัว

“การเติบโตของธุรกิจครอบครัวส่วนใหญ่จะมาจาก 4 ปัจจัยหลักๆ ประกอบด้วย 1.การมี DNA ในการสร้างให้ธุรกิจเติบโตและการให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมในธุรกิจอยู่เสมอ 2. ความพร้อมในเรื่องของทุน 3. โอกาสจากลักษณะของแต่ละธุรกิจเอง และ 4. การวางเป้าหมายในการขับเคลื่อนธุรกิจในระยะยาวของแต่ละครอบครัว ซึ่งพบว่าหลายๆ ครอบครัวมีแนวทางรองรับการเติบโตของธุรกิจ ทั้งการบ่มเพาะทายาทอย่างมีกลยุทธ์ การตั้งบริษัทเพื่อดูแลผลประโยชน์ในครอบครัว รวมถึงตั้งสภาครอบครัว (Family Council) เพื่อกำหนด “ธรรมนูญครอบครัว” เป็นกติกาในการอยู่ร่วมกัน ทั้งการดูแลสมาชิก การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือกำหนดบทบาทของสมาชิกว่าควรจะเข้ามาดูแลธุรกิจในส่วนใดบ้าง ทำให้ทุกคนในครอบครัวช่วยกันทำงานไปในทิศทางเดียวกัน มากกว่าจะขัดแย้ง แข่งขันกันเอง หรือแม้แต่ประเด็นหรือการว่าจ้างมืออาชีพเข้ามาบริหาร ซึ่งข้อหลังนี้มีให้เห็นมากขึ้นตามลำดับ” 

Upside Down Thinking ทางรอดธุรกิจ 

ขณะที่โลกธุรกิจปัจจุบัน การแข่งขันต่างๆ ได้เปลี่ยนโฉมหน้าไปอย่างสิ้นเชิง แต่ละธุรกิจไม่ได้แข่งขันอยู่เพียงคู่แข่งในสายพันธุ์เดียวกันอีกต่อไป แต่ยังต้องเผชิญกับคู่แข่งที่ข้ามสายพันธุ์มาจากอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ข้ามมาแข่งขันด้วย ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา เป็นความท้าทายที่ทุกธุรกิจต้องเผชิญ เช่นเดียวกับธุรกิจครอบครัวที่นอกจากปัญหาที่ต้องเผชิญเหมือนๆ กับทุกธุรกิจแล้ว ยังมีปัญหาสำคัญในการหาผู้สืบทอดธุรกิจต่อ ซึ่งจากการสำรวจ Familybizsurvey ของ PWC ในปี 2016 พบว่า 43% ของธุรกิจครอบครัว มีปัญหาในการหาผู้สานต่อหรือขาดโซ่ข้อกลาง (The Missing Middle) ทำให้หลายๆ ธุรกิจในปัจจุบันต้องใช้วิธีการจ้างผู้บริหารมืออาชีพมาดูแลธุรกิจต่อแทน ขณะที่อีกราว 1 ใน 4 ของกลุ่มธุรกิจครอบครัวกังวัลต่อปัญหาการถูก Digital Disruption

“สิ่งหนึ่งที่คนทำธุรกิจต้องคำนึงถึงไม่ว่าจะเป็นธุรกิจทั่วไปหรือ Family Business คือ คำว่าองค์กรนั้นไม่มีอยู่จริง แต่สิ่งที่มีจริงคือคนในองค์กร ที่จะเป็นทั้งผู้ขับเคลื่อนให้ธุรกิจเติบโต เป็นผู้สร้างให้เกิดวัฒนธรรมองค์กรต่างๆ ตามมา ดังนั้น ความท้าทายข้างหน้าในการดำเนินธุรกิจย่อมหนีไม่พ้นเรื่องของบุคลากร (People) ที่จะต้องพัฒนาให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนแปลงเร็ว องค์กร (Organization) สภาพแวดล้อม (Environment) กระบวนการทำงาน (Processes) และการใช้เทคโนโลยี (Technology) เข้ามาสนับสนุนธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริหารรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเจนเนอเรชั่นใหม่ๆ ของ Family Business ที่ต้องเข้ามารับช่วงต่อต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจำเป็นจะต้องรับมือให้ได้เพื่อนำพาธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป”

ด้าน คุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ ศูนย์พัฒนาภาวะผู้นำและผู้บริหารระดับสูง SEAC (South East Asia Center) นำเสนอวิธีให้ธุรกิจครอบครัวรอดพ้นจากการถูก Digital Disruption ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญที่กลุ่ม Family Business มีความกังวลอยู่ จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดในการดำเนินธุกิจ และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันผ่านมุมมองในการทำธุรกิจแบบ Upside Down Thinking ซึ่งเป็นหนทางที่จะทำให้ธุรกิจครอบครัวในปัจจุบันสามารถรอดพ้นจากความท้าทายต่างๆ ที่มีรอบด้าน รวมทั้งเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตใหม่ๆ ให้แก่ธุรกิจจากที่เคยโตต่อเนื่องตามปกติ มาเป็นการเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดเป็นหลายๆ เท่าตัว โดยวิธีคิดต่างๆ ประกอบด้วย

1. พร้อมที่จะ Disrupt ตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องมองที่ Core Business

แม้ธุรกิจที่ทำอยู่ในปัจจุบันจะยังคงเติบโตหรือรักษาความแข็งแกร่งในตลาดไว้ได้ แต่ไม่ควรพึงพอใจหรือยึดติดอยู่กับความสำเร็จเดิมๆ เพราะธุรกิจในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่สามารถที่จะยืนอยู่ในจุดเดิมได้ แต่ต้องพยายามมองหาวิธีปฎิรูปหรือปฏิวัติตัวเอง ต้องทำให้ตัวเองรู้สึกอึดอัดเพื่อที่จะหารูปแบบหรือวิธีการใหม่ๆ ที่จะทำให้เติบโตได้มากขึ้น

2. มองหาวิธีลงทุนจาก Investor ที่เข้าใจ Passion ของธุรกิจ

การหาแหล่งระดมทุนของธุรกิจส่วนใหญ่จะมองไปที่ตลาดหลักทรัพย์เป็นหลัก แต่การทำธุรกิจยุคใหม่ต้องเปลี่ยนมาเป็นการหาพันธมิตร หรือผู้มองหาโอกาสในการลงทุนกับธุรกิจที่น่าสนใจและมีโอกาสเติบโต ซึ่งต้องเลือกผู้ลงทุนที่เชื่อมั่นและมี Passion ต่อธุรกิจ รวมทั้งมีความอดทนที่จะรอดูความสำเร็จในอนาคตมากกว่าเพียงแค่การหวังผลตอบแทนในระยะสั้นๆ

3.การเปลี่ยนทีมขายใหม่ เพื่อให้มีวิธีคิดและกระบวนการใหม่ๆ ในธุรกิจ

เพราะหากยังใช้ทีมขายเดิมๆ เหมือนกับการทำธุรกิจในยุคแรกๆ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คงไม่แตกต่างไปจากเดิม แต่หากต้องการสร้าง Upside Down Thinking ก็จำเป็นต้องมีทีมงานใหม่ๆ มาช่วยในการขับเคลื่อนไปสู่วถึทางใหม่ๆ

4. มองหากลุ่มเป้าหมายที่ชอบทดลองสิ่งใหม่

การมองหากลุ่มที่พร้อมทดลองโมเดลธุรกิจใหม่ๆ หรือกลุ่ม Early Adopter มากกว่าการเข้าไปกลุ่มคนที่มีความคุ้นเคยหรือยึดติดกับรูปแบบหรือวิธีการเก่าๆ  เพื่อสร้างให้เกิดกลุ่มเป้าหมายใหม่และเป็นผู้ช่วยจุดกระแสให้แก่โมเดลธุรกิจของเรา

สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบธุรกิจต้องคำนึงถึงและต้องยอมแลกคือ อาจจะยังไม่สามารถมองเห็นการเติบโตของธุรกิจในช่วงของการเริ่มต้นปรับเปลี่ยนหรือ Transform หรือการที่ธุรกิจต้องเผชิญกับภาวะที่เป็น J-Curve ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะธุรกิจ ความสามารถในการขับเคลื่อน หรือการ Educated ของตลาดหรือผู้บริโภคเพื่อให้เข้าใจโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ของเรา เพื่อนำไปสู่การเติบโตใหม่ได้แบบก้าวกระโดด หรือการสร้าง New S-Curve ให้กับธุรกิจได้อีกครั้ง เพราะหากจะทำการต่อยอดการเติบโตแบบเดิมก็จะไม่สามารถ Breakthrough ให้ธุรกิจโตได้แบบ 10X เหมือนที่ธุรกิจใหม่ๆ สามารถทำได้ ทำได้อย่างมากเพียงการรักษาการเติบโตอย่างมากที่ 2 Digit หรือบางธุรกิจที่อาจไม่สามารถเติบโตได้มากไปกว่าที่เป็นอยู่ได้อีก”

หาโมเดลสร้าง 10X Solutions 

ขณะที่ Startup Model หรือความสามารถในการ Disrupt ธุรกิจ จนทำให้หลายๆ ธุรกิจรุ่นใหม่สามารถเติบโตและ Outperform ได้ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี จากแค่ธุรกิจเล็กๆ แต่ขยายการเติบโตไปเป็นธุรกิจระดับโลกได้ ต่างจากรูปแบบในอดีตที่ผ่านมาที่ต้องสะสมศักยภาพและใช้เวลาหลายสิบปี หรือบางธุรกิจต้องเปลี่ยนเจนเนอเรชั่นไปก่อนถึงจะสร้างการเติบโตเช่นนี้ได้ แต่วิธีคิดและรูปแบบของธุรกิจยุคใหม่จะขับเคลื่อนจาก Customer Motivation โดยมองช่องว่างหรือโอกาสที่จะเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการต่างๆ ของผู้บริโภค ผ่าน 4 มิติสำคัญ ประกอบไปด้วย

1. การหา Unmet Need ของผู้บริโภคให้เจอ

เราอาจจะไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนโมเดลในการทำธุกิจ ไม่จำเป็นต้องสร้างสิ่งใหม่ หรือเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายใหม่ เพียงแต่พยายามมอง Pain Point หรือปัญหาต่างๆ ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข จุดที่ยังทำให้ผู้บริโภคยังไม่พอใจ ไม่สะดวก หรือยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ทั้งหมด เพื่อนำเสนอสิ่งที่ดีกว่า หรือวิธีการใหม่ๆ ที่สะดวกสบายมากกว่าให้แก่ลูกค้าแทน เพราะหากเราไม่เข้าไปตอบโจทย์จุดเหล่านี้ในอนาคตอาจจะมีสตาร์ทอัพ หรือธุรกิจอื่นๆ เข้ามา Disrupt ได้

2. การตอบโจทย์ด้วยการสร้าง New Preference ให้ผู้บริโภค

สภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทำให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมใหม่ ความเชื่อและความชอบใหม่ๆ เปลี่ยนรูปแบบหรือวิธีการเดิมที่เคยใช้ในชีวิตประจำวันมาเป็นการมองหาสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม เปลี่ยนจากการมองหาแค่ Unmet Need มาเป็นการมองหา New Thing ที่ดีกว่า สร้างความพึงพอใจ หรือช่วยเพิ่มศักยภาพและมีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งการสร้าง New Preference อาจจะมองโอกาสที่เกิดจากการติดตามเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การมีผู้สูงอายุมากขึ้น  ความนิยมซื้อสินค้าหรือเรียกใช้บริการต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งธุรกิจเองก็จำเป็นต้องหาทั้งกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ที่ต้องการสิ่งที่ดีกว่าเหล่านี้ให้เจอ และสามารถนำเสนอสิ่งที่ดีกว่าได้อย่างตรงจุด

3. สามารถทำให้ลูกค้าเข้าถึงธุรกิจได้ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ

ต้องทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงธุรกิจได้อย่างสะดวก ด้วยการนำธุรกิจที่พัฒนาขึ้นมาไปสร้างเป็นแพลตฟอร์มบนโลกดิจิทัล เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างสะดวกและตลอดเวลาที่ต้องการ เพื่อลดกำแพงที่จะมาปิดกั้นการเติบโตของธุรกิจลง

4. พัฒนา New Business model ที่ยังไม่เคยมีใครทำมาก่อน

การสร้างความแตกต่างในธุรกิจจะเป็นโอกาสในการเป็นผู้นำในธุรกิจ ด้วยวิธีคิดในการสร้างแนวทางในการทำธุรกิจแบบใหม่ แม้ว่าจะเป็นการเข้าไปในธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น การที่ airbnb อยากเข้าไปในธุรกิจโรงแรม ก็ไม่จำเป็นต้องลงทุนสร้างโรงแรมขึ้นมาเอง แต่พัฒนาโมเดลแบบ Sharing Economy ที่นอกจากการเข้ามาแชร์ในธุรกิจโรงแรมแล้ว ยังสามารถขยายไปในรูปแบบและโลเกชั่นหลากหลายใน Destination ทั่วโลก ทั้งบ้าน โรงแรม ที่พักตามฟาร์ม หรือหุบเขาในประเทศต่างๆ เป็นต้น

การทำธุรกิจในปัจจุบันจะค่อยๆ โต หรือช้าแบบที่ผ่านมาไม่ได้ เพราะความเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นทุกวัน เกมธุรกิจก็เปลี่ยนทุกวันเช่นกัน ถ้าเราเล็กก็จะยิ่งเล็กลงเรื่อยๆ หรือถ้ายิ่งช้าก็จะยิ่งตามไม่ทันมากกว่าเดิม ที่สำคัญต้องถามตัวเองด้วยว่า เข้าใจในธุรกิจที่อยู่ดีแล้วหรือยัง เข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหน เพราะเส้นแบ่งธุรกิจที่หายไปทำให้ต้องมองทั้งธุรกิจเดียวกันในพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก หรือความเคลื่อนไหวของธุรกิจอื่นๆ ทีจะสามารถก้าวเข้ามาแข่งในเกมเดียวกับเราในอนาคตด้วย ทำให้เราต้องวาง Game Plan อย่างแม่นยำว่าต้องการตอบโจทย์ในเรื่องใดบ้าง และต้องมองการเติบโตเป็นเท่าตัวหรือความสามารถในการขยายสเกลของธุรกิจ โดยเฉพาะต้องสามารถสร้างการเติบโตแบบ 10X Solutions ภายในไม่เกิน 5 ปี ไม่เช่นนั้นอาจจะไม่สามารถหนีการถูก Disrupt ทำให้เป็นการลงทุนที่สูญเปล่าก็เป็นได้


แชร์ :

You may also like