HomeBrand Move !!ย้อนปม ดราม่า Downtown Vat Refund สมาคมค้าปลีกฯ ถาม ทำไมต้องเริ่มแค่ร้านสะดวกซื้อ?

ย้อนปม ดราม่า Downtown Vat Refund สมาคมค้าปลีกฯ ถาม ทำไมต้องเริ่มแค่ร้านสะดวกซื้อ?

แชร์ :

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย คาใจ กรณีกรมสรรพากรไม่อนุญาตให้ 5 ศูนย์การค้าในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของธุรกิจท่องเที่ยว ร่วมเป็นตัวแทนในโครงการทดลองขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว (VAT Refund Sandbox) ในโครงการนำร่องระยะเวลา 6 เดือน ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2561 – 31 มี.ค. 2562 ตามโครงการ Downtown VAT Refund for Tourist ซึ่งหากผลการทดลองพบว่า สามารถช่วยกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวได้ดี อาจผลักดันเป็นโครงการถาวรในอนาคต แต่กลับอนุมัติให้มีเพียงร้านสะดวกซื้ออย่างเซเว่นอีเลฟเว่น ได้สิทธ์เป็นตัวแทนให้บริการแค่เพียงรายเดียว 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ทั้งนี้ ตามผลประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกให้ทดลองเป็นตัวแทนบริการ VAT Refund เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2561 ที่ผ่านมา ผู้ได้รับการอนุมัติคือ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด ซึ่งได้เสนอจุดให้บริการขอคืนภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวไว้ 3 จุด ประกอบด้วย ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น สาขาสยามเซ็นเตอร์ (ลิโด้) ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น สาขาแบงก์ค็อกไนท์บาร์ซาร์ พระราม 9 และร้านเซเว่น อีเลฟเว่น สาขาผดุงด้าว (เยาวราช) รวมทั้งให้เหตุผลที่ไม่พิจารณาผู้ยื่นขอเป็นตัวแทนรายอื่นๆ เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด

ย้อนไทม์ไลน์ Downtown VAT Refund for Tourist

ขณะที่ทางสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ในฐานะตัวแทน บริษัท แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนจดทะเบียนจาก 4 ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกในสมาคม และเป็นหนึ่งในผู้ที่ทำการขอยื่นเข้าร่วมเป็นตัวแทนการทำ VAT Refund ให้แก่นักท่องเที่ยว โดยไม่ผ่านการพิจารณาด้วยเหตุผลเพียงข้อเดียวคือ การขอยื่นจุดให้บริการไป 5 จุด แต่ทางกรมสรรพากรให้เสนอจุดเพื่อให้บริการเพียง 3 จุดเท่านั้น

ทำให้ทางสมาคมฯ และบริษัทร่วมทุน ตั้งข้อสังเกตุพร้อมทั้งถามหาเหตุผลและเกณฑ์ที่ทางกรมสรรพากรใช้ในการตัดสินใจเลือกตัวแทนในครั้งนี้ รวมทั้งอยากให้ทบทวนการพิจารณาใหม่เพื่อให้โอกาสทางบริษัท แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) มีโอกาสเข้าร่วมทดลองในโครงการเพื่อเห็นแก่ประโยชน์โดยรวมของประเทศ และผู้ประกอบค้าปลีกทั้งประเทศ รวมทั้งความสะดวกสบายของนักท่องเที่ยวเป็นหลักมากกว่าแค่ผลประโยชน์ที่จะตกอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ประกอบกับให้ผลที่เกิดจากการทดลองในโครงการสะท้อนการตอบรับจากนักท่องเที่ยวได้อย่างชัดเจน โดยมีตัวแทนจากสมาคมฯ  ประกอบด้วย คุณวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และ ดร.ฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์  อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจค้าปลีก และผู้อำนวยการบริหารสมาคมฯ เป็นผู้ให้ข้อมูล

ดร.ฉัตรชัย ย้อนถึง Timeline ของโครงการ Downtown VAT Refund for Tourist ที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 และเชิญหน่วยงาน และผู้ประกอบที่สนใจเข้าหารือในรายละเอียด ก่อนที่ต้นปี 2561 ทางกรมสรรพากรได้เพิ่มข้อกำหนดในประกาศเกี่ยวกับจุดในการดำเนินงานเพื่อให้บริการคืน VAT แก่นักท่องเที่ยวจากเดิมกำหนดไว้ 4 จุด เป็น 5 จุด ซึ่งทางสมาคมฯ ได้ทำการจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อเป็นตัวแทนในการเข้าร่วมโครงการ และเป็นไปตามเงื่อนไขที่ทางกรมสรรพากรกำหนดไว้ในหลักเกณฑ์ รวมทั้งวิธีปฏิบัติต่างๆ ตามที่ระบุใน MOU โดยเฉพาะการเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการเป็นตัวแทนคืนภาษีให้แก่นักท่องเที่ยว พร้อมเสนอสถานที่ดำเนินการคืน VAT ให้นักท่องเที่ยว จำนวน 5 จุด ประกอบด้วย สยามพารากอน, เซ็นทรัลเวิลด์, เซ็นทรัลชิดลม, โรบินสัน สุขุมวิท และดิ เอ็มโพเรียม

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นกรมสรรพากรระบุว่าจะเริ่มโครงการราวเดือนเมษายน ตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.- 31ต.ค. 2561 เพื่อเริ่มทดลองโครงการใน Sandbox รวมทั้งได้เข้ามาทำการอบรมพร้อมอธิบายเงื่อนไขและวิธีดำเนินงานต่างๆ รวมทั้งเตรียมทำ MOU โครงการกับทางสมาคมฯ ในวันที่ 28 เม.ย. 2561 ก่อนจะแจ้งยกเลิกในช่วง 2 ทุ่มของคืนวันที่ 27 เม.ย. 2561 และเงียบหายไปนานกว่า 3 เดือน จนปลายเดือนสิงหาคมมีการแจ้งมาว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงกฏเกณฑ์และจะแจ้งอย่างเป็นทางการให้ทราบบนหน้าเว็บไซต์อีกครั้งหนึ่ง

จนขั้นตอนทุกอย่างมารวบรัดในเดือนกันยายน ด้วยการแจ้งกำหนดเงื่อนไขต่างๆ บนหน้าเว็บกรมสรรพากรในวันที่ 7 ก.ย. แต่หนังสือแจ้งระบุวันที่ประกาศเป็นวันที่ 5 ก.ย. โดยกำหนดระยะเวลาในการยื่นขออนุมัติเป็นตัวแทน การเข้าตรวจสอบคุณสมบัติความพร้อมของสถานที่และระบบ รวมทั้งจะแจ้งผลผู้ได้รับคัดเลือกในวันที่ 28 ก.ย. โดยทางสมาคม และบริษัทร่วมทุนฯ ได้ยื่นสมัครในวันที่ 17 ก.ย. และทางกรมสรรพากรเข้ามาทำการตรวจพื้นที่ของบริษัท ทั้ง 5 จุด รวมทั้งให้นำเสนอระบบการทำงานและเชื่อมต่อระบบต่างๆ โดยไม่ได้แจ้งว่ามีปัญหาหรือขาดคุณสมบัติแต่อย่างใด

ตั้งข้อสงสัยเปลี่ยนสเป็คโครงการ

จนกระทั่งวันที่ 30 ก.ย. 2561 ทางกรมสรรพากรได้ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านคุณสมบัติในการเป็นตัวแทนได้เพียงรายเดียวคือเค้าน์เตอร์เซอร์วิส และไม่อนุมัติให้ทางบริษัทร่วมทุนจากสมาคมเป็นตัวแทนในโครงการทดลองดังกล่าว ด้วยเหตุผลว่าผิดสเป็ค จากการยื่นจุดให้บริการผิดเงื่อนไข ซึ่งหากพิจารณาจากประกาศอธิบดีกรม (ฉบับ 224) ที่ลงไว้ในเว็บไซต์ไม่ได้กำหนดว่าให้ยื่นจุดบริการได้แค่ 3 จุด แต่ในแบบฟอร์มที่กรอกมีช่องให้ใส่รายชื่อจุดบริการได้แค่ 3 แห่ง ซึ่งทางสมาคมและบริษัทร่วมทุน ได้เพิ่มจุดให้บริการลงไปอีก 2 แห่ง รวมเป็น 5 แห่ง

“ทางสมาคมยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ และการพิจารณาของทางกรมสรรพากร ที่ค่อนข้างรวบรัดและกระชั้นชิด โดยเฉพาะการประกาศผลที่ช้าไปกว่าที่กำหนดคือ 28 ก.ย.2561 แต่ประกาศมาในวันที่ 30 ก.ย. 2561 และประกาศมาก่อนโครงการจะเริ่มเพียง 1 วัน ซึ่งจะสามารถมั่นใจได้อย่างไรว่าผู้ได้รับคัดเลือกจะสามารถพร้อมดำเนินงานได้ทันที หรือหากไม่เริ่มทันทีแต่ทิ้งระยะเวลาออกไป ระยะเวลาในการศึกษาผลตอบรับของโครงการก็จะไม่ถึง 6 เดือนก็ตามที่กำหนดไว้ ที่สำคัญอยากถามหาเหตุผล และที่มาที่ไปของการกำหนดจุดให้บริการที่กำหนดให้มีเพียง 3 จุด ว่าตัวเลขนี้มาจากไหน มีเหตุผลในการตัดสินใจอย่างไร รวมทั้งเมื่อโครงการนี้อยู่ในช่วงของการทดลอง การมีจุดให้บริการจำนวนมากยิ่งส่งผลดีต่อการสะท้อนความชัดเจนของผลลัพธ์ที่ได้ รวมทั้งยังสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ตั้งแต่เริ่มทดลองโครงการนี้ที่ต้องการลดความแออัดในการทำเรื่องขอคืนภาษีของนักท่องเที่ยวในจุด VAT Refund ที่อยู่ในสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ และเป็นการช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยได้เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

ขณะที่ คุณวรวุฒิ อุ่นใจ กล่าวเสริมว่า ไม่ได้มีความขัดข้องในการอนุมัติให้ร้านสะดวกซื้อเป็นตัวแทนร่วมทดลองในโครงการนี้ เพราะการมีจุดให้บริการมากยิ่งส่งผลดีต่อการให้บริการนักท่องเที่ยว แต่ไม่เข้าใจที่ตัดสิทธิ์ศูนย์การค้าหลักและอยู่ในโลเคชันมีนักท่องเที่ยวหนาแน่นที่สุดถึงกว่า 90,000 -150,000 คนต่อวันต่อจุด ที่สำคัญยังอยู่ในเส้นทางที่เดินทางเข้าถึงได้ง่ายอยู่ในแนวเส้นรถไฟฟ้า รวมทั้งหากพิจารณาจากการออกเอกสารกำกับภาษีสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ  หรือ ภ.พ. 10 จะพบว่าทั้ง 5 ศูนย์การค้าออก ภ.พ. 10 ในปี 2560 ไปถึง 9 แสนใบ ซึ่งคิดเป็น 60% ของการออก ภ.พ. 10 ทั้งหมดในปีนั้น เท่ากับว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโลเคชันแถบนี้เป็นหลัก

“เราไม่เข้าใจว่าทำไมต้องยึดหลักเกณฑ์ที่ 3 แห่ง เพราะการที่เราใส่จุดบริการไป 5 แห่ง ก็มีเหตุผลที่สมควรมารองรับทั้งสิ้น ประกอบกับภาครัฐไม่ได้เสียหายอะไร เนื่องจากการลงทุนต่างๆ เอกชนเป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ซึ่งได้มีการลงทุนและเตรียมการมากว่าค่อนปีแล้ว รวมทั้งในทางปฏิบัติบริษัท แว็ต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) ก็ประกอบไปด้วย 4 นิติบุคคล การยื่นไป 5 จุด ก็เท่ากับยื่นเพียงรายละ 1 จุดกว่าๆ เท่านั้น แต่การที่ไม่สามารถให้นิติบุคคลแต่ละรายแยกกันยื่น เนื่องจากเงื่อนไขที่กำหนดว่านิติบุคคลที่จะยื่นได้ต้องมีวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินการด้านการคืนภาษีให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเงือนไขใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน นิติบุคคลที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทมาก่อนหน้านี้จึงไม่มีรายใดที่ตั้งมาเพื่อการทำธุรกิจด้าน VAT Refund มาก่อน รวมทั้งระยะเวลาที่กระชั้นชิดในการออกข้อกำหนดของทางกรมสรรพกร การตั้งนิติบุคคลขึ้นมาใหม่เพื่อดำเนินการอาจจะไม่ทันระยะเวลาที่กำหนดจึงต้องใช้บริษัทร่วมทุนที่ตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้เป็นผู้ยื่นขออนมุติ”

เตรียมยื่นอุทรณ์สรรพากรทบทวนใหม่

ขณะที่ทางสมาคมค้าปลีกเตรียมยื่นเรื่องกลับไปทางกรมสรรพากรอีกครั้ง เพื่อให้ทำการพิจารณาทบทวนให้ทางบริษัท แวต รีฟันด์ เซ็นเตอร์ (ไทยแลนด์) จำกัด มีโอกาสได้กลับเข้าร่วมในโครงการทดลองนี้อีกครั้ง โดยขณะนี้รอให้หนังสือแจ้งการขาดคุณสมบัติที่ตอบกลับมาอย่างเป็นทางการ เพื่อใช้อ้างอิงในการทำเรื่องขออุทรณ์ต่อไป ด้วยเหตุผลในเรื่องของความสะดวกของนักท่องเที่ยวเป็นสำคัญ รวมทั้งต้องคำนึงถึงประโยชน์และความเสียหายที่จะเกิดกับประเทศชาติและธุรกิจค้าปลีกโดยรวมทั้งประเทศเป็นหลัก รวมทั้งเพื่อให้สามารถชี้วัดผลตอบรับของโครงการทดลองครั้งนี้ได้อย่างชัดเจน

โดยเหตุผลต่างๆ ที่ทางสมาคมฯ อธิบายเพิ่มเติม ประกอบด้วย

1. เมื่อตัดการบริการที่ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ออกไป ทำให้จุดให้บริการ VAT Refund เหลือเพียงแค่ร้านสะดวกซื้อที่ไม่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่ ทั้งขนาดพื้นที่ที่ไม่สามารถรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนมากได้ รวมทั้งโลเคชันทั้ง 3 จุด ซึ่งไม่ใช่จุดสังเกตุและเข้าถึงได้สะดวกที่แม้แต่คนไทยบางคนยังไปไม่ถูก ขณะที่ทั้ง 5 ศูนย์การค้า มีขนาดใหญ่และสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบถ้วน รวมทั้งการเดินทางที่มาได้ง่ายและสะดวกและเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน ประกอบกับทางสมาคมฯ ได้เตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ ระบบและบุคลากรทั้ง 5 จุดไว้เป็นอย่างดี

“ต้องคำนึงว่านักท่องเที่ยวมาเที่ยวทริปหนึ่งไม่กี่วัน และมีโปรแกรมต่างๆ ระบุไว้แล้ว ขณะที่โซนสยามไปจนถึงพร้อมพงษ์ซึ่งเป็นที่ตั้งของทั้ง 5 ศูนย์ก็เป็นแหล่งช้อปปิ้งหลักของนักท่องที่ยวอยู่แล้ว หากสามารถซื้อสินค้าแล้วขอคืนภาษีได้เลย จะทำให้นักท่องเที่ยวสะดวกมากกว่า การที่ต้องหิ้วสินค้าทั้งหมดไปทำเรื่องขอคืนภาษีที่จุดอื่น ซึ่งไม่สะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก รวมทั้งความไม่พร้อมต่างๆ  จะทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกไม่พอใจซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศไทยได้ เพราะนี่ไม่ใช่การเล่นแรลลี่ที่ต้องมาหาเครื่องหมาย RC แต่สิ่งที่เราในฐานะเจ้าบ้านต้องคำนึงที่สุดคือการอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวอย่างสูงสุด

2. ในส่วนของโมเดลในการใช้ร้านสะดวกซื้อเป็นสถานที่ทำเรื่อง VAT Refund ไม่มีประเทศไหนในโลกที่ทำเช่นนนี้ รวมทั้งร้านสะดวกซื้อไม่ใช่สถานที่ออกเอกสาร ภ.พ.10 เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าใช้ในชีวิตประจำวันทั่วไป ที่มียอดการซื้อต่อบิลอยู่ในหลักร้อยหรือน้อยกว่านั้น ส่วนการออกใบ ภ.พ. 10 เพื่อเป็นหลักฐานในการขอคืนภาษีต้องมียอดซื้อขั้นต่ำ 2,000 บาทขึ้นไป ทำให้นักท่องเที่ยวต้องเสียเวลานำสินค้าที่ซื้อไปแสดงเพื่อทำเรื่องขอคืนภาษีใหม่ในอีกสถานที่หนึ่ง

3. การตัดศูนย์การค้าขนาดใหญ่ออกทำให้ผลที่ได้หลังจากจบโครงการในช่วง 6 เดือนนี้ ไม่สามารถยอมรับได้อย่างสนิทใจ เพราะถ้าผลออกมาแล้วพบว่ายอดขอคืนภาษีไม่เพิ่มขึ้นก็ยังมีคำถามตามมาอีกว่า เป็นเพราะการเลือกโลเคชันผิดหรือไม่ เนื่องจากหายาก ไม่สะดวก หรือนักท่องเที่ยวไม่มีเวลาไปทำเรื่องขอคืนภาษีมากพอ แต่หากอำนวยความสะดวกทุกอย่างให้แก่นักท่องเที่ยวเป็นอย่างดีแล้ว แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่เป็นไปตามภาพที่วางไว้ ก็จะสามารถยอมรับได้อย่างแท้จริงว่าโครงการนี้ไม่สามารถกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้นได้

ถ้าเปรียบกับการทดลองหรือการทำวิจัย ต้องบอกว่าเราเลือกกลุ่มเป้าหมายผิดตั้งแต่แรก ทำให้ผลที่ออกมาไม่สามารถตอบสมมติฐานได้ชัดเจน เหมือนการที่เราทำงานวิจัยเรื่องเกี่ยวกับคนดื่มสุรา แต่ไปเลือกสำรวจกับกลุ่มเด็กอายุ 10 ขวบ ซึ่งแน่นอนว่าผลที่ได้ย่อมไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์จริงออกมาได้แน่นอน”

4. การตัดศูนย์การค้าขนาดใหญ่ออก ยังทำให้ร้านค้าภายในศูนย์ที่มีรวมกันกว่าพันรายเสียโอกาสในการที่จะขายสินค้าได้มากขึ้น เพราะหากสามารถซื้อสินค้าและขอคืนภาษีในจุดนั้นได้เลยเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น เนื่องจาก การคืนภาษีจะคืนในสกุลเงินบาท ทำให้เงินที่นักท่องเที่ยวได้คืนมีโอกาสที่จะถูกจับจ่ายกลับเข้ามาในระบบได้ใหม่อีกครั้ง ซึ่งทางสมาคมมีการคาดการณ์ไว้ว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเพิ่มขึ้นกว่า 4 พันล้านบาท ในช่วงเวลาที่ทำการทดลองตลอด 6 เดือนนี้

5. เสียโอกาสประเทศในการโปรโมทในฐานะ Shopping Destination เพราะในช่วงทดลองนี้ เชื่อว่าบรรดาเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก ทั้งในธุรกิจท่องเที่ยว รวมทั้งของภาคเอกชนแต่ละราย ต่างพยายามใช้จุดนี้เพื่อใช้ในการสื่อสารสร้างการรับรู้ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งในช่วงระยะเวลาของการทดลองซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของเทศกาลท่องเที่ยว การมีจุดให้บริการคืนภาษีจำนวนมากยิ่งส่งผลดีต่อการอำนวยความสะดวกและเพิ่มความพึงพอใจให้นักท่องเที่ยวได้มากขึ้น

6. ในเบื้องต้นทางสมาคมฯ ยังจะยื่นจุดเพื่อให้บริการ VAT Refund จำนวน 5 จุดเช่นเดิม แต่หากทางกรมสรรพากรยังยืนยันที่ต้องการให้เสนอเพียง 3 จุด ก็พร้อมที่จะทำตาม หลังจากได้พูดคุยถึงเหตุผลและข้อตกลงร่วมกันอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อว่าการมี 5 จุดให้บริการ จะทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุดมากกว่า

7. การเสียโอกาสที่จะกระตุ้นให้ภาคธุรกิจรีเทลของทั้งประเทศเติบโตได้ทัดเทียมประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค เพราะเมื่อพิจารณาสถานการณ์ค้าปลีกโดยรวมของไทยมีการเติบโตเพียง 3.9% ซึ่งเติบโตต่ำที่สุดในอาเซียน ขณะที่ประเทศอื่นๆ โตเฉลี่ย 10-12% ทั้งๆ ที่ประเทศมีปัจจัยบวกหลายอย่าง โดยเฉพาะในเรื่องของการท่องเที่ยว ซึ่งไทยติดอันดัน Top 10 Destination ของโลก รวมทั้งกรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมอันดับ 1 ของโลก แต่ตัวเลขการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา เนื่องจากไม่มีนโยบายที่เข้ามาอำนวยความสะดวกและสนับสนุนในเรื่องของการคืนภาษีให้นักท่องเที่ยว ทำให้สินค้าไทยในความรู้สึกของนักท่องเที่ยวมีราคาแพง และเป็นลักษณะของการแพงทั้งประเทศ หากอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวสามารถซื้อสินค้าได้ถูกลง ประเทศไทยจะแข็งแกร่งทั้งในฐานะ Tourist Destination และ Shopping Paradise Destination

8. ที่สำคัญแม้จะสามารถดำเนินโครงการได้ตลอดจนครบทั้ง 6 เดือน ก็ไม่ได้ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นการจับจ่ายของนักท่องเที่ยวให้มากขึ้นจากการคืนภาษี และช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจค้าปลีกโดยรวมทั้งประเทศให้เติบโตได้มากขึ้น รวมทั้งการลดจำนวนความแออัดในการขอคืนภาษีของนักท่องเที่ยวที่บริเวณสนามบิน ซึ่งทางสมาคมฯ ประเมินไว้ว่าจะสามารถลดความแออัดของนักท่องเที่ยวที่สนามบินลงได้อย่างน้อย 10% แต่หากทุกคนทำเรื่องที่จุดซื้อทั้งหมดก็จะสามารถลดลงได้ถึง 60% ตามสัดส่วนนักท่องเที่ยวที่เลือกช้อปปิ้งในจุดยุทธศาสตร์ใหญ่ของประเทศอยู่แล้ว

9. สำหรับข้อกังวลว่าเมื่อทำเรื่องขอคืนภาษีที่จุดขาย สินค้าจะไม่ถูกนำออกไปนอกประเทศจริง ก็มีกระบวนการต่างๆ ในการพิสูจน์และตรวจสอบตามมาตรฐานที่หลายๆ ประเทศนำไปใช้ ไม่ว่าจะเป็นการให้แสดงสินค้าก่อนเดินทางกลับ หรือการขอเอกสารต่างๆ ในระหว่างทำเรื่อง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล เพราะเมื่อประเทศอื่นๆ ทำได้ ประเทศไทยก็สามารถทำได้เช่นกัน

10. เมื่อพิจารณาโอกาสจากการที่ทั้ง 5 ศูนย์ ไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ จะพบว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่างเสียประโยชน์ทั้งประเทศชาติ ผู้ประกอบการในธุรกิจค้าปลีกทั้งประเทศ รวมทั้งตัวนักท่องเที่ยวเอง มีเพียงธุรกิจเดียวที่จะได้ประโยชน์นั่นคือ ธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี เพราะความแตกต่างระหว่างราคาสินค้าที่จำหน่ายในประเทศ และในร้านค้าปลอดภาษีจะแตกต่างกันถึง 7% และทำให้นักท่องเที่ยวบางคนเลือกที่จะไปซื้อในร้านค้าปลอดภาษีเนื่องจากจะได้ราคาที่ถูกกว่านั่นเอง


แชร์ :

You may also like