HomeCreativityทำความรู้จัก “Visual Recording” สกิลเทพ 2018 แค่กระดาษกับปากกาก็เปลี่ยนโลกได้

ทำความรู้จัก “Visual Recording” สกิลเทพ 2018 แค่กระดาษกับปากกาก็เปลี่ยนโลกได้

แชร์ :

หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจว่า Visual Recording”  หมายถึงอะไร มีความสำคัญอย่างไร และจะสามารถเปลี่ยนโลกได้อย่างไร 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เรื่องนี้คงไม่มีใครอธิบายไปได้มากกว่า “คุณปุ่น” พนิต ธัญมงคลสวัสดิ์ หนึ่งในกูรูที่มีอยู่เพียงไม่กี่คนของประเทศที่เชี่ยวชาญการทำ Visual Recording โดยเฉพาะในงาน Tedtalk สัมมนา หรือในเวิร์กช็อปขององค์กรชั้นนำระดับประเทศหลายๆ งาน ที่มักจะได้เห็นคุณปุ่นมาสรุปเนื้อหาจากการฟังข้อมูลต่างๆ ออกมาเป็นภาพที่มองแค่ไม่กี่วินาทีก็จะสามารถเข้าใจเนื้อหาที่พูดอยู่บนเวทีทั้งหมดได้อย่างถ่องแท้

ปัจจุบันคุณปุ่นสามารถใช้ทักษะนี้มาสร้างเป็นอาชีพ เปิดบริษัทที่มั่นคง รวมทั้งยังได้สานต่อ Passion ที่ต้องการถ่ายทอดทักษะในการทำ Visual Recording เพื่อไม่ให้เป็นความสามารถของคนเพียงไม่กี่คน แต่จะผลักดันให้กลายเป็นทักษะพื้นฐานที่คนไทยทั่วไปทั้งประเทศก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน

เพราะธรรมชาติของคนคิดเป็นภาพ

คุณปุ่น อธิบายความหมายของคำว่าVisual Recording” คือ การใช้ภาพมาเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร เป็นการถอดความคิดต่างๆ ที่อยู่ในหัวให้ออกมาเป็นภาพก่อนจะทำการสื่อสารต่อไป และทำให้คนอื่นที่มองเห็นภาพนี้เข้าใจเรื่องราวต่างๆ ที่มีความซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้น จากการอธิบายเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดได้ภายในภาพเดียว

หลายคนอาจจะนึกถึง Info Graphic หรือ Mind Mapping ซึ่งเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับการสื่อสารด้วยภาพเหมือนกัน แต่ Visual Recording จะมีมิติที่ซับซ้อนมากกว่า และอธิบายความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันของแต่ละองค์ประกอบได้ดีมากกว่า ทำให้คนมองเห็นภาพแล้วเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น รวมทั้งมองเห็นภาพต่อไปหรือเป้าหมายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไปในทิศทางเดียวกันและด้วยความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

“การที่ Visual Recording มีศักยภาพที่ทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ดีมากขึ้น เพราะสอดคล้องกับธรรมชาติของคนที่ส่วนใหญ่จะคิดอะไรต่างๆ ออกมาเป็นภาพอยู่แล้ว หรือที่เรียกว่า Visual Thinking ดังนั้น เวลาที่พูดคุยกันถึงเรื่องที่มีความซับซ้อน จึงมักจะเห็นการใช้ภาพมาประกอบเพื่อช่วยอธิบายให้เข้าใจได้ดีและรวดเร็วมากขึ้น ทำให้ที่ผ่านมา เราจะเห็นว่าภาพเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการสื่อสารในหลายๆ สถานการณ์อยู่เสมอ”

ดังนั้น คนที่ทำ Visual Recording จึงเป็นเหมือนคนกลางที่ช่วยถอดความคิด หรือเนื้อหาสาระต่างๆ จากผู้ส่งสารไปสู่ผู้รับสารที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง Stakeholder ต้องทำหน้าที่ทั้งผู้รับสารและผู้ส่งสาร จึงต้องมีทักษะในการฟังที่ดี เพื่อจับใจความสำคัญ สรุปประเด็นต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถถ่ายทอดต่อออกมาเป็นภาพได้อย่างละเอียด ก่อนจะถูกส่งต่อไปให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมด เพื่อให้ทุกคนมีความเข้าใจที่ตรงกัน ช่วย Remind สิ่งที่เกิดขึ้น และยังสะดวกสำหรับนำไปต่อยอดเพื่อใช้งานต่างๆ ได้อีกด้วย

มากกว่าแค่สื่อสาร คือสร้าง Engagement  

จุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณปุ่นเลือกใช้ Visual Recording เป็นเครื่องมือสำคัญ หลังจากเข้าใจถึงความทรงพลังของการใช้ภาพมาเป็น Key ในการสื่อสาร เมื่อย้อนไปช่วงที่ทำงานด้าน Business Consulting ซึ่งจะมีงานที่เกี่ยวข้องกับการวางกลยุทธ์หรือปรับโครงสร้างองค์กรให้กับธุรกิจต่างๆ อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งการอธิบายเนื้องานในบางครั้งลูกค้าก็อาจจะยังนึกภาพไม่ออก หรือไม่เข้าใจ เพราะหลายๆ อย่างที่ปรับเปลี่ยนอาจจะเป็นสิ่งใหม่ที่คนในองค์กรอาจจะยังไม่มีความคุ้นเคยมาก่อน

ทำให้การนำเสนอแต่ละครั้งมักจะต้องเตรียมเพาเวอร์พ้อยท์ เพื่อใช้ประกอบการอธิบายให้ลูกค้าเห็นภาพและเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น จนมาถึงงานหนึ่งซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อต้องเข้าไปพรีเซ็นต์ถึงการปรับโครงสร้างให้กับภาคคณะวิชาของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ซึ่งวันนั้นไม่ได้เตรียมเพาเวอร์พ้อยท์ไป มีเพียงกระดาษว่างๆ แผ่นหนึ่งมาวางไว้บนโต๊ะ แล้วค่อยๆ ลิสต์ปัญหาที่พบเจอภายในมหาวิทยาลัย เพื่อมองหากรอบในการแก้ปัญหา และพยายามดึงความคิดต่างๆ ลงมาอยู่ในกระดาษแผ่นนี้ เพื่อให้ทางผู้บริหารมองเห็นอย่างชัดเจนขึ้น จนสุดท้ายก็ได้พบว่า สิ่งต่างๆ ที่องค์กรต้องการและสิ่งที่จะใช้แก้ปัญหาได้ต่างรวมอยู่ในภาพนี้ทั้งหมด

“เรามองเห็นเครื่องมือที่ Powerful ที่สามารถทำให้เราได้งานมูลค่าหลายล้านบาท จากอุปกรณ์คือกระดาษเพียงแผ่นเดียว รวมทั้งต่อมาได้มีโอกาสทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์จากต่างประเทศ ที่ทำงานเกี่ยวกับการใช้ภาพเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร จึงเรียนรู้เพิ่มเติมและตัดสินใจที่จะใช้ภาพเป็นแนวทางหลักในการทำงานมาตั้งแต่นั้น และช่วยสร้างความต่างจากตลาดได้ เพราะช่วง 8-9 ปีก่อนหน้านี้ วิธีนำเสนองานให้ลูกค้าของบริษัทที่ปรึกษาส่วนใหญ่จะใช้เพาเวอร์พ้อยท์เป็นหลัก ขณะที่วิธีการถอดความคิดออกมาเป็นภาพยังไม่มีใครทำได้ โดยเฉพาะการตอบรับที่ดีต่อเครื่องมือนี้จากกลุ่มผู้บริหารระดับสูง เพราะช่วยให้มองเห็นงานต่างๆ ที่ทีมงานกำลังทำอยู่ได้อย่างชัดเจนและรอบด้าน”

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดหลังจากเลือกวิธีถอดความคิดออกมาเป็นภาพ คือ ได้เห็นการมีส่วนร่วมของพนักงานหรือคนในองค์กรในการประชุมแต่ละครั้งมากขึ้น จากภาพของการประชุมแบบเดิมๆ ที่คนส่วนใหญ่จะเข้ามาเพื่อรับฟังข้อมูลเพียงอย่างเดียว โดยที่แต่ละคนอาจมีความเข้าใจที่แตกต่างกันไป แต่เมื่อนำภาพมาเป็นส่วนประกอบทำให้ทุกคนเห็นภาพตามได้ชัดขึ้น เข้าใจปัญหาและสิ่งที่กำลังทำอยู่เป็นเรื่องเดียวกัน เพราะภาพที่วาดออกมาจะมาจากเรื่องราวในที่ประชุม และพยายามให้ Engage เข้ากับส่วนต่างๆ ในองค์กร

“สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เราต้องปรับความคิดก่อนหน้านี้ ที่เคยมองว่างานด้านการวิเคราะห์ระบบองค์กร การแก้ไขปัญหา หรือวางกลยุทธ์ต่างๆ ให้แก่องค์กร ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการนำภาพมาใช้ได้ แต่พอได้ทดลองนำมาเข้ามาใช้ ทำให้กระบวนการแบบเดิมๆ กลายเป็น “กระบวนภาพ” เป็นการต่อภาพในแต่ละส่วนขององค์กรเข้ามาเป็นภาพเดียวกัน เพื่อให้ทุกคในองค์กรเข้าใจว่า ตัวเองเป็นฟันเฟืองที่อยู่ตรงส่วนไหนขององค์กร มีบทบาทและมีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กรอย่างไรบ้าง และได้เห็นภาพผู้บริหารเข้ามามีส่วนร่วมในการวาดภาพเพิ่มเติม พนักงานในส่วนต่างๆ เข้ามาช่วยเติมเต็มในการกำหนดทิศทางและเป้าหมายขององค์กรมากกว่าแค่การรับนโยบายไปทำตามเท่านั้น ทำให้เกิดความสมดุลในการทำงานที่มากขึ้น”

สานต่อ Passion สู่การสร้างองค์ความรู้

ระหว่างทำงานในบริษัทที่ปรึกษา รวมทั้งต่อมามีโอกาสได้รับตำแหน่งในฐานะผู้บริหารในบริษัทแห่งหนึ่ง เป็นโอกาสให้ได้พิสูจน์ถึงศักยภาพของการใช้ Visual Recording มาช่วยขับเคลื่อนวัฒนธรรมการทำงานใหม่ๆ ในองค์กร ยิ่งทำให้มั่นใจในความสามารถของการนำเครื่องมือชิ้นนี้ไปใช้ แต่หนึ่งใน Passion สำคัญที่คุณปุ่นต้องการจะทำให้ได้คือ การทำให้ทุกองค์กรในประเทศเป็นองค์กรที่เปิดกว้างให้พนักงานมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนองค์กร และทุกส่วนในองค์กรสามารถ Connect การทำงานระหว่างกันได้ และพร้อมที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยต่อภาพเป้าหมายขององค์กรร่วมกัน

“ระหว่างที่มีโอกาสได้เป็นผู้บริหารองค์กร เราพิสูจน์มาด้วยตัวเองว่าสิ่งเหล่านี้สามารถเปลี่ยนแปลงองค์กรได้จริง เราจึงอยากนำวิธีการเช่นนี้ให้เข้าถึงองค์กรต่างๆ ทั่วประเทศได้มากที่สุด นำมาสู่การตั้งบริษัทของตัวเองคือ BVC ASIA ซึ่งสะท้อนถึงสิ่งที่เราทำ คือ Business Visualize Consulting เพื่อเป็นโอกาสในถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆ เหล่านี้ไปสู่องค์กรต่างๆ และเป็นแนวทางในการค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมๆ เพื่อให้พนักงานมีส่วนร่วมกับองค์กรมากขึ้น ทำให้องค์กรไทยส่วนใหญ่มีสภาพแวดล้อมที่ตอบโจทย์คนทำงานยุคใหม่ ที่ชอบความท้าทาย และเปิดโอกาสให้ได้แสดงความสามารถ ก่อนที่คนที่มีความสามารถเหล่านี้จะหันไปทำงานกับบริษัทในต่างประเทศ หรือทำธุรกิจของตัวเองมากขึ้น เป็นหนึ่งเหตุผลให้ประเทศเกิดปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีคุณภาพมากขึ้น”

นอกจากฟากขององค์กรแล้ว BVC ยังให้ความสำคัญกับการสร้างทักษะด้าน Visual Recording ในระดับบุคคลด้วย ทั้งกลุ่มที่เป็นผู้บริหารขององค์กรต่างๆ หรือการเปิดอบรมให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจ เพื่อปรับวิธีการคิดของคนทั่วไปที่เคยคิดแบบเป็นเส้นตรง (Linear Think) ให้เปลี่ยนมาเป็นการคิดแบบเห็นภาพรวม (Visual Think) มองมิติต่างๆ อย่างรอบด้านมากขึ้น เข้าใจเหตุผล ความเชื่อมโยง และผลกระทบที่จะส่งต่อกันแบบเป็นลูกโซ่ ทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องต่างๆ และมีวิธีคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นในการทำงานในอนาคต ที่รูปแบบขององค์กรจะเปลี่ยนจากการให้พนักงานทำตามคำสั่งมาเป็นการนำเสนอโซลูชั่นส์ต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาหรือสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับองค์กรได้มากขึ้น

ปัญหาไม่ใช่การวาดรูป แต่เป็นการตกผลึกความคิด

ทักษะการทำ Visual Recording หรืออาจจะเรียกว่า Graphic Recording นับว่าสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เพราะโลกกำลังเข้าสู่ยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก เป็นโลกของ Data ซึ่งล้วนแต่เป็นข้อมูลที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ขณะที่โลกของการทำงานก็ซับซ้อนขึ้นเช่นกัน บทบาทความรับผิดชอบของแต่ละคน แต่ละแผนกจะมีมากกว่า 1 อย่างเสมอ ทักษะการคิดแบบ Visual Thinking จึงมีความจำเป็นมากขึ้นสำหรับชีวิตการทำงานของคนในโลกยุคที่เต็มไปด้วยข้อมูลเช่นนี่

แต่หนึ่งปัญหาที่มักจะเจอบ่อยๆ ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยเฉพาะในกลุ่มคนทำงานหรือผู้บริหารในเจนเนอเรชันก่อนๆ ที่ยังไม่เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยน ประกอบกับความกังวลในเรื่องที่ต้องวาดรูปที่อาจจะมองว่าเสียเวลา หรือบางคนก็อาจจะวาดรูปไม่เก่ง ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะให้ความสนใจและมี Connect ที่ดีตอบกลับมามากกว่า ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญที่ต้องปรับการสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจว่านี่ไม่ใช่เรื่องของการวาดรูป แต่เป็นการนำเสนอวิธีคิดในรูปแบบใหม่ที่เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยพัฒนาองค์กรให้ดีขึ้นได้ทางหนึ่ง

“สิ่งสำคัญไม่ใช่เรื่องทักษะของการวาดรูป แต่การวาดรูปจะเป็นเพียงส่วนที่เข้ามาเสริมในเรื่องของความสวยงามเท่านั้น สิ่งสำคัญในการทำ Visual Recording อยู่ที่การจับใจความสำคัญเพื่อตกผลึกความคิด และสรุปประเด็นสำคัญและความเชื่อมโยงต่างๆ จากเรื่องราวที่ฟังได้ ในส่วนของการวาดรูปนั้น อาจจะใช้เป็นสัญลักษณ์เพื่อแทนความเข้าใจก็ได้ อาจจะเริ่มต้นจากการใช้ สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม วงกลม เป็นพื้นฐานก่อน เพื่อช่วยลดกำแพงที่จะปรับเปลี่ยนสำหรับคนที่มองว่าตัวเองวาดรูปไม่เก่ง ทำให้ปิดกั้นการเรียนรู้ตั้งแต่เริ่มต้น”

จากจุดเริ่มต้นด้วยการกระจายวิธีคิดไปยังกลุ่มธุรกิจ องค์กรต่างๆ คุณปุ่นยังไม่หยุดที่จะทำตาม Passion เดิมที่ตั้งใจไว้ และให้ความสำคัญกับการหาวิธีปลูกฝังทักษะวิธีการคิดแบบ Visual Think ไปสู่วงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กๆ ที่เริ่มเรียนรู้ เพื่อเป็นหนึ่งแนวทางที่จะช่วยพัฒนาทรัพยากรบุคคลของประเทศชาติ โดยเริ่มต้นเข้าไปทำงานกับภาครัฐมากขึ้นกับโครงการนำร่องเพื่ออบรมกลุ่มคุณครูให้มีความเข้าใจในทักษะนี้ เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการไปถ่ายทอดต่อให้กับเด็กๆ ที่สอนอยู่ เปลี่ยนจากการสอนแบบท่องจำหรือเรียนรู้แบบเดิมๆ มาสู่โมเดลการเรียนรู้ใหม่ๆ เพื่อให้เด็กไทยมีทักษะในการคิดอย่างมีเหตุมีผลและสามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ที่มีความซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้นตั้งแต่อายุยังไม่มาก กลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพ และช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและขับเคลื่อนประเทศชาติต่อไปในอนาคต

Photo Credit :Facebook BVC ASIA


แชร์ :

You may also like