HomeInsightนักวิเคราะห์เตือน! ไทยอย่าเสพติดรายได้การท่องเที่ยวมากไป เสี่ยงสูง-รายได้ไม่กระจายทั่วประเทศ

นักวิเคราะห์เตือน! ไทยอย่าเสพติดรายได้การท่องเที่ยวมากไป เสี่ยงสูง-รายได้ไม่กระจายทั่วประเทศ

แชร์ :

Photo Credit : Facebook Loveaholic เที่ยวอยู่ได้

ในช่วง 2 – 3 ปีมานี้ ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ทั้งกำลังซื้อในประเทศซบเซา หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ตลาดแรงงานชะลอตัว และภาคการเกษตรของไทย ยังเผชิญกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัจจัยเหล่านี้ฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจไทย และการค้าการลงทุนในประเทศ อย่างไรก็ตามท่ามกลางสถานการณ์ที่มืดมน รัฐบาลหาทางกระตุ้นเศรษฐกิจไทย ด้วยนโยบายด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ เดินทางเข้ามาเที่ยวไทย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

มาตรการด้านการท่องเที่ยวดังกล่าว ประสบความสำเร็จอย่างสูง ทั้งในเชิงรายได้ โดยในปี 2559 ประเทศไทยมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยว 2.52 ล้านล้านบาท ขณะที่ในปี 2560 ยอดนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้าไทย สูงเป็นประวัติการณ์ อยู่ที่ 35 ล้านคน และทั้งอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ทำรายได้ไม่ต่ำกว่า 2.7 ล้านล้านบาท

สำหรับในปี 2561 รัฐบาลตั้งเป้าประเทศไทยจะมีรายได้จากภาคการท่องเที่ยว แตะระดับกว่า 3 ล้านล้านบาท รวมทั้งคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ไม่ต่ำกว่า 37 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 6.5% จากปีก่อน !!!

มองมุมหนึ่ง “ภาคการท่องเที่ยว” เปรียบเสมือน “อัศวินขี่ม้าขาว” ที่เข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย ไม่ให้แย่ไปกว่านี้ แต่ถ้ามองในอีกมิติหนึ่ง แท้ที่จริงแล้วการส่งเสริม “การท่องเที่ยวไทย” สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจ และกระจายรายได้เข้าสู่ทุกจังหวัด และลงลึกถึงระดับชุมชนทั่วประเทศได้จริงหรือ ?! อีกทั้งหากมองภาพในระยะยาวแล้ว การพึ่งพารายได้จากท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก จะสร้างความ “มั่นคง” ให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศได้จริงหรือไม่ ?!?

“ท่องเที่ยว” มาแรงต่อเนื่อง แต่ระวังปัจจัยเสี่ยง-รายได้กระจุก ไม่กระจายตัว

“ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี” หรือ “TMB Analytics” เผยเศรษฐกิจไทยปี 2561 มีแนวโน้มขยายตัว 4.2% สูงขึ้นจากมุมมองเดิมที่ 3.8% สอดคล้องกับทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่เข้มแข็งมากขึ้น โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย 4.2% มาจากภาคการท่องเที่ยว 2% สะท้อนให้เห็นว่า “การท่องเที่ยวไทย” ยังคงเป็นภาคบริการที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้หนึ่งในรายได้หลักของประเทศไทยมาจากการท่องเที่ยว แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่ง จะพบว่าที่ผ่านมาไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวมากไป ซึ่งต้องตระหนักใน 2 ประเด็น คือ

1. ภาคการท่องเที่ยวมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากผันผวนตามสถานการณ์บ้านเมือง ทุกวันนี้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในไทยทั้งหมด มากถึง 70% เป็นนักท่องเที่ยวจาก 3 กลุ่ม คือ คนจีน, คนจากประเทศเอเชียตะวันออก เช่น ฮ่องกง เกาหลี และไต้หวัน, คนอาเซียน โดยนักท่องเที่ยวทั้ง 3 กลุ่มนี้ มีความผันผวนในการเปลี่ยน หรือยกเลิกทริปการเดินทางค่อนข้างง่ายกว่านักท่องเที่ยวจากชาติแถบยุโรป และอเมริกา ซึ่งนักท่องเที่ยวจากยุโรป และอเมริกา เวลาจะมาเที่ยวเมืองไทย จะวางแผนล่วงหน้าเป็นปี และไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น เขายังคงเดินทางมาตามแผนที่ได้วางไว้

แต่สำหรับนักท่องเที่ยวจีน, ฮ่องกง, เกาหลี, ไต้หวัน และจากอาเซียน ด้วยความที่ประเทศใกล้ไทย เวลามีเหตุการณ์ที่อ่อนไหวเกิดขึ้นในไทย เขาจะยกเลิกทริปทันที นั่นหมายความว่า รายได้การท่องเที่ยวของไทยส่วนหนึ่งจะหายไปทันที ถึงแม้ปัจจัยนี้จะไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยเท่าไรนัก แต่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่หากเกิดขึ้นแล้วย่อมส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจไทยได้มากเช่นกัน

2. รายได้การท่องเที่ยวไทย ไม่ได้กระจายตัวอย่างแท้จริง จากการศึกษาของ “TMB Analytics” พบว่ารายได้จาก “นักท่องเที่ยวต่างประเทศ” คิดเป็น 65% ของรายได้การท่องเที่ยวไทยทั้งหมด หรือประมาณ 1.64 ล้านล้านบาท จากเม็ดเงินการท่องเที่ยวของไทยโดยรวมเมื่อปี 2559 อยู่ที่ 2.52 ล้านล้านบาท

เม็ดเงินรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดูแล้วเป็นมูลค่ามหาศาลเลยทีเดียว แต่เมื่อมองลึกลงไปจะพบว่าเม็ดเงินจำนวนดังกล่าว โดยหลักแล้วกลับกระจุกตัวอยู่แค่ 4 จังหวัดของไทย (1.31 ล้านล้านบาท) ประกอบด้วย กรุงเทพฯ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต
นั่นหมายความว่าการที่ภาครัฐใช้มาตรการด้านการท่องเที่ยวกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ในความเป็นจริงแล้วกลับกระจุกตัวเฉพาะบางจังหวัด บางพื้นที่ เม็ดเงินไม่ได้กระจายตัวทั่วประเทศอย่างแท้จริง

ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบรายได้การท่องเที่ยวจาก “คนไทย” อยู่ที่ 0.88 ล้านล้านบาท โดยกระจายตัวกว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ถึงอย่างไรยังเป็นการกระจายตัวตามจังหวัดท่องเที่ยวใน 17 จังหวัดเท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ

คุณนริศ สถาผลเดชา เจ้าหน้าที่บริหาร “TMB Analytics” ย้ำว่า “ประเทศไทยยังคงต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ไม่อยากให้เสพติดรายได้จากการท่องเที่ยวมากเกินไป เพราะภาคการท่องเที่ยวก็มีปัจจัยเสี่ยง ที่หากเกิดขึ้นแล้ว ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศได้เช่นกัน”

กรณีศึกษา : นักท่องเที่ยวล้นเกาะสิมิลัน 

ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เรามักจะเห็นภาพนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไปพักผ่อนในสถานที่ท่องเที่ยวหลักๆ ของไทย โดยล้นเกินกว่าสถานที่นั้นๆ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จะรองรับไหว อย่างล่าสุดในโลกออนไลน์มีการแชร์ภาพจาก Facebook Page : Loveaholic เที่ยวอยู่ได้ ได้โพสต์ข้อความและภาพนักท่องเที่ยวจำนวนมากเดินทางมาเที่ยวเกาะสิมิลัน

Photo Credit : Facebook Loveaholic เที่ยวอยู่ได้

โดยในเวลาต่อมา “ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และ รองคณะบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความบน Facebook  : Thon Thamrongnawasawat ต่อกรณีจำนวนนักท่องเที่ยวล้นเกินสถานที่ไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

ผมเคยบอกเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวล้นทะเลไปหลายครั้งแล้ว และมีข่าวเรื่องแบบนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเกาะสิมิลันที่จำนวนนักท่องเที่ยวพุ่งขึ้นเรื่อย ต่อจากนี้คือการอธิบายแบบสรุปครับ

1. จำนวนนักท่องเที่ยวโดยรวมของประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นตลอด จาก 34 ล้านในปีที่แล้ว จะเป็นมากกว่า 37 ล้านในปีนี้ และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกปีไม่มีหยุด

ในปี 2573 เราอาจมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 70 ล้านหรือกว่านั้น

2. นักท่องเที่ยวร้อยละ 75.5 ไปทะเลครับ ยิ่งจำนวนเพิ่ม สัดส่วนยิ่งเพิ่ม ปีนี้อาจมีนทท.ต่างชาติไปทะเล 28 ล้าน

3. เกาะเรามีอยู่เท่านี้ เมื่อปิดเกาะหนึ่ง ก็ไปโป่งอีกเกาะหนึ่ง วนไปเรื่อยตราบใดที่นทท.โดยรวมมีแต่เพิ่มกับเพิ่ม

4. เราชะลอตัวเลขโดยรวมได้ไหม ? คำตอบคือผมยังไม่เห็นแวว สนามบินภูเก็ตก็ขยาย ยังจะมีโครงการอีกหลากหลายที่ส่งนทท.มาฝั่งอันดามัน เช่น เรือสำราญ รถไฟท่องเที่ยว

5. ทำไมเราต้องทำเช่นนั้น ? เพราะรายได้ท่องเที่ยวเกิน 1 ใน 5 ของ gdp ประเทศนี้ ไม่มีใครกล้าขวาง

6. โครงการกระจายนทท.ไปเมืองรอง ฯลฯ ทำได้ไหม ? คำตอบคือได้บ้าง แต่ยังห่างไกลกับคำว่าสำเร็จหรือช่วยบรรเทาแหล่งท่องเที่ยวหลัก

แล้วเราควรทำอย่างไรล่ะ ?

1. แผนปฏิรูปประเทศกำหนดดัชนีความเสียหายปะการังให้ลดน้อยลง ทุกหน่วยต้องหาทางทำให้ได้ ไม่งั้นคณะปฏิรูปคงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทำตามที่กม.ปฏิรูประบุไว้

2. ยุทธศาสตร์ชาติกำหนดตัวเลขเพดานจำนวนนทท.ต่างชาติไปอุทยานทางทะเล (ปัจจับัน 4.9 ล้าน เพดานที่ 6 ล้าน แต่อาจต้องปรับ)

3. คงต้องเริ่มเร่งการกำหนดเพดานนทท.ในอุทยานที่มีคนล้น เช่น พีพี สิมิลัน ฯลฯ และหาทางหยุดคนไว้ที่เพดานให้ได้

4. ต้องยกระดับการดูแลโดยใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย แต่ตอนนี้ยังทำไม่ได้เพียงพอ ก็ต้องใช้การกำหนดเพดานจำนวนคนไปก่อน

5. การดูแลผลประโยชน์ให้อยู่ในมือคนไทย และการลดความเหลื่อมล้ำ แชร์ประโยชน์ให้ใกล้เคียงกัน เป็นเรื่องต้องทำเร่งด่วน ในแผนปฏิรูปเขียนไว้แล้ว แต่ท่าทางจะช้า

เราต้องจัดการอย่างเฉียบขาดกับเรือและผู้ประกอบผิดกม. โดยเฉพาะเรื่องของต่างชาติ ฝากท่านผู้ว่าพังงาด้วยครับ ส่งกำลังลงไปเสริม ตรวจให้เข้ม จัดให้หนัก ก็น่าจะดีขึ้นบ้าง

6. เรื่องเพดานนักท่องเที่ยวโดยรวม อุทยานเองก็คงทราบดี คนอุทยานที่เก่งด้านนี้ก็มีหลายคน ขึ้นกับว่าจะเอาจริงไหม กล้าต้านกระแสท่องเที่ยวหรือไม่ ?

7. เกาะนอกเขตอุทยาน ทะเลอยู่ในความดูแลของกรมทะเล คนก็ล้นหลายเกาะ แล้วจะทำอย่างไรดี ? กรมทะเลคงต้องเร่งหามาตรการ

8. สัปดาห์นี้ประชุมทะเลแห่งชาติ มีทั้งท่านรองนายกฯและท่านรมต. ผมจะเสนอประเด็นนี้ครับ

การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นถ้อยคำ แต่ถ้าคนล้นจนท่วม จะทำยังไงก็ดูแลไม่ไหว

ผมเข้าใจและเห็นใจกรมอุทยาน กรมทะเลและเจ้าหน้าที่ทุกคน เราเป็นฝ่ายตั้งรับเพื่อรายได้ของชาติมาตลอด แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราก็คงตั้งรับอย่างเดียวไม่ไหว

คงใกล้เวลาต้องเลือกว่าจะเอาทรัพยากรหรือจะเอาใจรายได้จากการท่องเที่ยวแล้วครับ

ขอบคุณเจ้าของกระทู้ผู้ช่วยจุดประเด็นเรื่องนี้อีกครั้งครับ

Photo Credit : Facebook Loveaholic เที่ยวอยู่ได้


“ภาคส่งออก – ลงทุนจากเอกชน” ขยายตัว ส่วน “ภาครัฐ” อัดฉีดเงินลงทุนสูงเป็นประวัติการณ์ แต่จับตาการเมืองไทย

นอกจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยเติบโตแล้ว “TMB Analytics” วิเคราะห์เพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวหนุนปริมาณการค้าโลกให้ขยายตัวต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าความต้องการสินค้าโลกจะเติบโต 4% จะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทยให้ขยายตัวได้ 4.8% และโดยเฉลี่ยมูลค่าการส่งออกของไทยจะอยู่ที่เดือนละไม่ต่ำกว่า 20.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้เศรษฐกิจในประเทศ มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง คาดว่าจะเห็นการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้น

นอกจากนี้มีการลงทุนจากภาครัฐที่คาดกว่าจะขยายตัว 12% เมื่อพิจารณาจากงบลงทุนของรัฐบาล และรัฐวิสาหกิจที่รวมแล้วแตะระดับ 1 ล้านล้านบาท เป็นระดับที่สูงกว่าหลายปีที่ผ่านมา

รวมทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง เช่น มอเตอร์เวย์เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด รถไฟรางคู่เส้นทางชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และเร่งการลงทุนด้านคมนาคมทุกมิติ เพื่อรองรับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น ขยายถนน ขยายช่องทางการจราจร และโครงข่ายถนนสายรองในพื้นที่ภาคตะวันออก ขณะเดียวกันในภาคอุตสาหกรรมก็จะเห็นอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง

“ด้วยความที่การลงทุนภาครัฐ เป็นงบลงทุนสูง และปีนี้ถือเป็นปีที่ภาครัฐใช้เม็ดเงินสูงสุดในประวัติการณ์ เพราะฉะนั้นระบบเศรษฐกิจไทย จึงมีความหวังอยู่ที่นั่นเยอะ แต่ขณะเดียวกันมีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะถ้าในที่สุดแล้ว ภาครัฐเบิกจ่ายไม่ได้ตามที่วางแผนไว้ เม็ดเงินจะไม่ไหวเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น ความนิ่งของการเมืองเป็นเรื่องสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” คุณนริศ ขยายความเพิ่มเติม

จ้างงาน-รายได้ครัวเรือนไทย ยังน่าเป็นห่วง !!

สำหรับการภาคบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มทรงตัว โดยขยายตัว 3.0% จากปัจจัยสนับสนุนการบริโภคที่ยังไม่เข้มแข็ง ทั้งรายได้นอกภาคการเกษตร และรายได้ภาคการเกษตร หรืออีกนัยหนึ่งคือ เศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่การส่งผ่านผลดีไปยังการจ้างงาน และรายได้ครัวเรือนยังไม่เข้มแข็ง

สะท้อนจากการจ้างงานนอกภาคเกษตร ซึ่งมีการจ้างงานคิดเป็น 70% ของการจ้างงานรวม ได้รับผลกระทบจากการจ้างงานที่ปรับลดลง โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้น้อยในภาคการผลิต และภาคก่อสร้าง อีกทั้งอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือนมีแนวโน้มลดลงเช่นกัน และในส่วนของรายได้เกษตร พบว่าราคาสินค้าเกษตรโดยรวม ถูกกดดันจากปริมาณผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ยกเว้นราคายางพาราที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ทำให้ภาพรวมรายได้เกษตรกรในปี 2561 ยังไม่ขยายตัว ฉุดกำลังซื้อ และการบริโภค


แชร์ :

You may also like