HomeBrand Move !!5 ปัจจัยดัน “สื่อโรงหนัง” โตดี “เมเจอร์ฯ” กวาดเรียบตั้งแต่ “รถยนต์” ยัน “แป้งโยคี”

5 ปัจจัยดัน “สื่อโรงหนัง” โตดี “เมเจอร์ฯ” กวาดเรียบตั้งแต่ “รถยนต์” ยัน “แป้งโยคี”

แชร์ :

ในบรรดาอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาในไทยเมื่อปีที่แล้วมีมูลค่า 110,752.7 ล้านบาท และปี 2561 คาดการณ์ว่ามูลค่าเม็ดเงินโฆษณา 119,165 ล้านบาท จะพบว่าธุรกิจสื่อที่ยังคงเติบโตดี คือ “ธุรกิจสื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์” ด้วยมูลค่า 6,806.7 ล้านบาท (ปี 2560) และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 7,000 ล้านบาทในปีนี้ (ข้อมูลจาก MILDSHARE)

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แน่นอนว่าธุรกิจสื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ครองอันดับ 1 ในสื่อประเภทนี้ เพราะด้วยจำนวนสาขาโรงภาพยนตร์ที่มากสุดในไทย โดย 5 กลุ่มธุรกิจที่ซื้อสื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์มากที่สุด ได้แก่ ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม, ธุรกิจยานยนต์, การเงินและประกัน, เครื่องใช้ไฟฟ้าและการสื่อสาร, ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคล

เหตุผลสำคัญที่ผลักดันให้ “สื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์” เติบโตท่ามกลางเศรษฐกิจซบเซา และสถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่ปกติในช่วง 1 – 2 ปีมานี้ มาจาก 5 ปัจจัยหลัก ประกอบด้วย

1. การขยายสาขาโรงภาพยนตร์ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีสาขารวม 131 สาขา 710 โรง เป็นสาขาในไทย 126 สาขา 685 โรง (ครอบคลุม 51 จังหวัด แบ่งเป็นกรุงเทพฯ – ปริมณฑล 41 สาขา 338 โรง / ต่างจังหวัด 85 สาขา 347 โรง) และต่างประเทศ 5 สาขา 25 โรง (กัมพูชา 3 สาขา 16 โรง / ลาว 2 สาขา 9 โรง) และในปี 2561 มีแผนจะเปิดเพิ่มอีก 34 สาขา 98 โรง

สเต็ปการเปิดสาขาโรงภาพยนตร์ของ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” เวลานี้เริ่มขยับจากระดับจังหวัด ทั้งหัวเมืองใหญ่ และเมืองรอง เข้าสู่การเจาะ “อำเภอ” ด้วยการขยายสาขาขนาดเล็ก ประมาณ 1 – 3 โรง ไปกับไฮเปอร์มาร์เก็ต ทั้งเทสโก้ โลตัส, บิ๊กซี รวมไปถึงซูเปอร์สโตร์ของท็อปส์ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคในต่างจังหวัดระดับอำเภอ เนื่องจากอำเภอที่เมเจอร์ฯ เข้าไปเปิดสาขา มีระยะทางห่างจากตัวเมือง 40 – 50 กิโลเมตร ทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้ไม่ต้องใช้เวลาเดินทางเข้าในตัวเมืองเพื่อมาดูหนัง เหมือนอย่างแต่ก่อน ก็สามารถดูหนังที่โรงภาพยนตร์ประจำอำเภอได้เลย

ปัจจุบันรายได้สื่อโฆษณาโรงหนังเมเจอร์ฯ มาจากสาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 70% และในต่างจังหวัด 30% แต่ในปีนี้จะปรับสัดส่วนเป็น 50 : 50

2. เข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ชัดเจน และตรงจุด เพราะผู้ชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์เป็นกลุ่มผู้ชมที่ชอบดูภาพยนตร์อยู่แล้ว และยังระบุได้ว่าต้องการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มไหน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มวัยรุ่น, กลุ่มคนทำงาน, กลุ่มครอบครัว อีกทั้งยังเข้าถึงด้วยการแบ่งกลุ่มผู้ชมภาพยนตร์ได้ตามประเภทภาพยนตร์ เช่น หนังแอ๊คชั่น, หนังดราม่า, หนังโรงแมนติก, หนังตลกคอมเมอดี้, หนังระทึกขวัญ, หนังแอนิเมชั่น, หนังครอบครัว

3. ความหลากหลายของประเภทสื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ เมื่อเอ่ยถึงสื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ ส่วนใหญ่มักจะนึกถึงบนจอภาพยนตร์ (Screen Ads) แต่ปัจจุบันพัฒนาการของสื่อประเภทนี้ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อเพิ่มลูกเล่น และดึงความสนใจของคนที่มาดูหนัง เช่น จอวิดีโอ (VDO Wall), ป้ายโฆษณาพลิกได้ 3 หน้า (Tri-vision), บนจอ Plasma, บน Menu Board, โฆษณาในรูปแบบ 4 มิติ (4D Ads) ซึ่งเป็นนวัตกรรมเฉพาะในโรงภาพยนตร์ 4DX รวมทั้งสื่อโฆษณาบนช่องทางออนไลน์ เช่น Facebook, Instagram, Twitter, LINE

4. สื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์ ไม่ใช่เป็นแค่ “โฆษณา” แต่สามารถทำกิจกรรมการตลาดในรูปแบบต่างๆ เช่น ทำรูปแบบ Sponsorship, ทำโฆษณาสินค้าร่วมกับเจ้าของผลิตภัณฑ์ (Cross Promotion), การจัด Interactive Activity, Interactive Media และ Event

5. ได้แรงหนุนจากภาพยนตร์ดีๆ โดยเฉพาะฟอร์มยักษ์ โดยในปีนี้จะมีภาพยนตร์เข้าฉายรวม 330 เรื่อง แบ่งเป็นภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด 195 เรื่อง, ภาพยนตร์เอเชีย 80 เรื่อง และภาพยนตร์ไทย 55 เรื่อง

ผ่ากลยุทธ์ขายสื่อโฆษณาโรงหนังเมเจอร์ฯ ปี ‘61

สำหรับกลยุทธ์การขายสื่อโฆษณาในปี 2561 คุณนิธิ พัฒนภักดี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสื่อโฆษณา“เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป” ฉายภาพว่าจะเน้น 4 ด้านสำคัญ ได้แก่

– จัดโฆษณาให้ตรงตามความต้องการของลูกค้า โดยลูกค้าสามารถเลือกช่องทาง, เวลาฉายโฆษณา, ระยะเวลาการโฆษณา, จุดติดตั้ง, การปรับเปลี่ยนเนื้อหาโฆษณาให้สอดคล้องตามกลุ่มเป้าหมายในช่วงเวลาต่างๆ

– การหาลูกค้ารายใหม่ โดยปีนี้จะขยายฐานลูกค้าแบรนด์ที่ทำตลาดแมสในต่างจังหวัด เช่น ยาผงโยคี เพราะจากการขยายสาขาโรงภาพยนตร์เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ที่ลงลึกระดับอำเภอ ทำให้สาขาเข้าถึงผู้บริโภคในต่างจังหวัดที่อาศัยอยู่นอกเขตเมือง ช่วยเพิ่มโอกาสการขายโฆษณาสินค้าที่เป็นแบรนด์ท้องถิ่น และแบรนด์ที่โฟกัสลูกค้าต่างจังหวัดโดยเฉพาะ

นอกจากนี้เมื่อมีสาขากระจายตัวในจังหวัดหลักๆ ของประเทศแล้ว “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ได้ปรับรูปแบบการลงโฆษณาให้ลูกค้าเลือกลงโฆษณาตามโลเกชั่นที่สินค้านั้นๆ ต้องการเจาะตลาดได้ โดยไม่จำเป็นต้องซื้อโฆษณาแบบหว่านทุกโรงทั่วประเทศ

– รักษาฐานลูกค้าเก่า โดยจะเพิ่มความหลากหลายของแพ็คเกจใหม่ๆ ให้มีความน่าสนใจ

– การขายแพ็คเกจตามนวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ ของโรงภาพยนตร์ เช่น ระบบการขายตั๋ว ซึ่งเปลี่ยนจาก Box Office เป็นตู้ E-Ticketing และพัฒนาสู่ Mobile Ticketing โดยปัจจุบันเริ่มใช้แล้วกว่า 30 สาขา ขณะเดียวกันลูกค้าสามารถซื้อตั๋วหนังเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ ผ่าน Application, QR Code Payment on EDC และเร็วๆ นี้เตรียมเปิดตัวนวัตกรรมโรงภาพยนตร์ LED Cinema Screen

คุณนิธิ พัฒนภักดี รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายสื่อโฆษณาเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป

 


แชร์ :

You may also like