HomeInsightเผยทัศนคติ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” ต่อเมืองไทย ชื่นชม “กระบี่” ติดลบ “พัทยา-กรุงเทพ”

เผยทัศนคติ “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” ต่อเมืองไทย ชื่นชม “กระบี่” ติดลบ “พัทยา-กรุงเทพ”

แชร์ :

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 3/2560 เท่ากับ 98 ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงปกติ จากการที่มีความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจในประเทศ โดยปัจจัยที่ยังกดดันภาคการท่องเที่ยวมาโดยตลอด ได้แก่ ต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นและการแข่งขันที่รุนแรง อีกทั้งเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยวรวมถึงผู้ประกอบการบางส่วนได้รับผลกระทบจากการเกิดภัยพิบัติโดยเฉพาะเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ส่วนในไตรมาส 4/2560 สทท. คาดว่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ เท่ากับ 103 เป็นการคาดการณ์ในระดับปกติอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการยังคงมองสถานการณ์ในไตรมาสหน้าในเชิงบวก โดยในปี 2560 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย 35.39 ล้านคน เพิ่มขึ้น 8.59% จากปี 2559 และมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.84 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 12.49% ในช่วงไตรมาสหน้าซึ่งเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว ผู้ประกอบการไม่ได้มีแผนการลงทุนเพิ่มเติมจากที่เคยวางแผนไว้ แต่มีแนวโน้มจะจ้างแรงงานเพิ่มขึ้น

สทท. มองว่า ตลาด “นักท่องเที่ยวต่างชาติ” ยังสามารถขยายตัวได้ดี ด้วยบรรยากาศในประเทศที่เอื้อต่อการเดินทางท่องเที่ยว พร้อมกับแผนการตลาดเชิงรุกจากหน่วยงานภาครัฐที่มีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในไตรมาสที่ 4/2560 สทท.คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.77 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.56% จากไตรมาสที่ 3/2559

อย่างไรก็ตาม ถ้าในไตรมาสที่ 4/2560 ไม่มีเหตุการณ์ผิดปกติใดๆ คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 9.15 ล้านคน เพิ่มขึ้น 17.76% จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยแบ่งเป็น…
นักท่องเที่ยวจากประเทศในกลุ่มอาเซียน 2.43 ล้านคน เพิ่มขึ้น 3.40% จากไตรมาส 4/2559
นักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออก 3.89 ล้านคน เพิ่มขึ้น 34.60%
– นักท่องเที่ยวจากยุโรป 1.58 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.64% จากไตรมาส 4/2559

ส่วน “นักท่องเที่ยวไทย” มีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในไตรมาส 3/2560 ประมาณร้อยละ 20 ต่ำกว่าสัดส่วนในระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนแนวโน้มการท่องเที่ยวในประเทศ ไตรมาส 4/2560 มีนักท่องเที่ยวไทยวางแผนเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเพียงร้อยละ 25 โดยเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับในปี 2559 แต่เป็นสัดส่วนที่ต่ำกว่ามากหากเทียบกับช่วงปี 2556-2558 ซึ่งคาดว่าเกิดจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังคงซบเซา ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวไทยยังระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยและการเดินทางท่องเที่ยว

สทท. เห็นควรให้ภาครัฐพัฒนาระบบการคมนาคมขนส่งให้มีคุณภาพและมาตรฐานในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรฐานด้านความปลอดภัย ควบคุมมาตรฐานราคาของระบบคมนาคมขนส่งให้มีความเท่าเทียม และส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพสถานที่ท่องเที่ยว รวมถึงสถานประกอบการในพื้นที่ท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานในระดับสากล โดยมีการกำหนดมาตรฐานและติดตามการปฏิบัติตามมาตรฐานของแหล่งท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ

เปิดผลวิเคราะห์ทัศนคติของนักท่องเที่ยวต่างชาติจากแหล่งข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media Data)

ผลการวิเคราะห์ทัศนคติของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยในไตรมาสที่ 3 ไม่เกินจำนวน 25,000 Data Points (หน่วย) โดยข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์เป็นภาษาอังกฤษ นำเอาปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) มาใช้ในการแบ่งทัศนคติออกเป็นสองกลุ่มได้แก่ 1. ทัศนคติทางบวก (Positive) และ 2. ทัศนคติทางลบ (Negative) ซึ่งในการวิเคราะห์นั้นมีการปรับ Model บางส่วนเพื่อให้รองรับกรอบแนวคิดของ World Economic Forum ในการประเมิน Travel & Tourism Competitiveness Report ในด้านต่างๆ ดังนี้

– ความปลอดภัย
– ความสะอาดอนามัย
– ความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
– ความพร้อมในการให้บริการนักท่องเที่ยว
– การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain Analysis) เช่นโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร และสถานที่ท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น
– เมืองท่องเที่ยวในประเทศไทย เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ พัทยา

โดยจากการวิเคราะห์แบบ Social Cluster (หมวด) พบว่านักท่องเที่ยวต่างชาติมีการพูดถึงประเทศไทย (Thailand) ควบคู่ไปกับสถานที่ต่างๆ เช่น หาดมาหยา ป่าตอง เกาะสมุย เกาะเต่า เกาะพะงัน และมีการเปรียบเทียบแหล่งท่องเที่ยวดังกล่าวกับ “บาหลี”

ขณะที่กิจกรรมส่วนใหญ่ที่นักท่องเที่ยวสนใจ ได้แก่ สปา นวด เที่ยววัด และมีกระแสการรณรงค์การพิทักษ์ช้าง

จากการวิเคราะห์ในลักษณะของ Theme Analysis โดยเน้นไปที่แหล่งท่องเที่ยว และเมืองท่องเที่ยวจะเห็นว่าเมืองท่องเที่ยวหลักที่นักท่องเที่ยวพูดถึงมากที่สุดยังคงเป็นกรุงเทพ รองลงมา คือ ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ และ พัทยา ตามลำดับ

ส่วนการวิเคราะห์ Value Chain Analysis ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว พบว่าข้อมูลส่วนใหญ่ที่พูดถึงประเทศไทยมากที่สุดคือเรื่อง การท่องเที่ยว โรงแรม อาหาร ความปลอดภัย สปา การเชื่อมต่อ (Internet และ Wi-Fi) และ ความสะอาด

โดยประเทศที่มีการพูดถึง “ประเทศไทย” ในมุมของการท่องเที่ยว ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย กลุ่มประเทศอเมริกาใต้ และรัสเซีย (จีนไม่ติดอันดับ เนื่องจากการดึงข้อมูลเป็นการดึงเฉพาะข้อมูลภาษาอังกฤษ และแหล่ง Social Media ของจีนมีการเข้าถึงในวิธีที่ต่างกัน แต่เป็นหนึ่งในสิ่งที่ สสท. กำลังพิจารณาเพื่อทำต่อยอดการวิเคราะห์ในอนาคต)

จากการวิเคราะห์ทัศนคติของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและการวิเคราะห์สื่อสังคมออนไลน์พบว่า 81% มีทัศนคติไปในทางบวกต่อภาพรวมของประเทศไทย

ส่วนเมืองท่องเที่ยวไทยที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีทัศนคติไปในทางบวกมากที่สุด คือ กระบี่ (96%) รองลงมา คือ ภูเก็ต (93%) และน้อยที่สุดคือพัทยา (76%)

ขณะที่ทัศนคติไปในทางลบมากที่สุด คือ พัทยา (24%) รองลงมา คือ กรุงเทพฯ (19%) และน้อยที่สุด คือ กระบี่ (4%)

ส่วนทัศนคติต่อภาพรวมของ “อาหารไทย” ที่มีการพูดถึงโดยนักท่องเที่ยว พบว่า 35% มีทัศนคติไปในทางบวกต่ออาหารไทย โดย Video ที่กำลังเป็นที่นิยมคือ “Best All You Can Eat Fruit…” เกี่ยวกับเรื่องอาหารในประเทศไทย

Credit Photo (ภาพเปิด) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 


แชร์ :

You may also like