HomeFintech & SMEเกิดยาก-ตายง่าย-รอดน้อย SMEs ไทยกว่าครึ่งไม่ได้ไปต่อ พบทางรอดจาก SME Bank อยากถึงฝั่งฝันต้องอ่าน!!

เกิดยาก-ตายง่าย-รอดน้อย SMEs ไทยกว่าครึ่งไม่ได้ไปต่อ พบทางรอดจาก SME Bank อยากถึงฝั่งฝันต้องอ่าน!!

แชร์ :

การขาดแคลนเงินทุน และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งให้บริการทางการเงินตามระบบได้ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในปัจจุบันอยู่เช่นเดิม ธุรกิจขนาดกลางและเล็กๆ ในประเทศไทยส่วนใหญ่ที่จะเกิดได้ ก็มักจะต้องใช้เงินที่เจ้าของธุรกิจทุบกระปุกเงินเก็บที่ตัวเองสะสมเอาไว้ บางรายดีหน่อยก็อาจจะมีญาติให้พอหยิบยืมได้ หรือแม้แต่การใช้เงินจากวงเปียแชร์มาลงทุน รวมทั้งมีวิธีหาเงินสารพัดรูปแบบ เพื่อหาทุนมาใช้เริ่มต้นทำธุรกิจสักอย่างหนึ่ง 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ขณะที่มีผู้ประกอบการบางส่วนที่แม้ว่าจะสามารถเข้าถึงแหล่งทุนตามระบบของแบงก์พาณิชย์ได้ แต่ก็ยังเกิดปัญหา NPL ไม่สามารถสร้างให้ธุรกิจเติบโตได้ตามที่วาดฝันเอาไว้ ซึ่งมีจำนวนเฉลี่ยถึงปีละ 5% ทำให้เมื่อมองภาพรวมในรอบ 10 ปีที่ผ่านมานี้ เท่ากับว่าจะมีธุรกิจ SMEs ถึง 50% หรือประมาณครึ่งหนึ่งที่ต้องเลิกธุรกิจไปกลางคัน

ดังนั้น ไม่ว่าจะยุคไหน สมัยไหน ธุรกิจ SMEs ก็ยังคงความเฉพาะตัว ที่ทำให้เกิดได้ยาก ตายง่าย  และมีโอกาสในการเติบโตและอยู่รอดน้อย แม้ว่าจะได้รับการอัดฉีดยาโด้ปสำคัญอย่างเงินทุนไปแล้ว ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าธุรกิจจะเติบโต แข็งแรง และอยู่รอดได้เสมอไป

SMEs ต้องเข้าถึงเงินทุน และเข้าใจเรื่องการเงิน

คุณมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ SME Bank กล่าวในงานสัมมนา Driving SMEs Toward 4.0 แนวคิดและวิธีปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนเอสเอ็มอีไทยก้าวไปสู่ 4.0 ว่า การสนับสนุนกลุ่ม SMEs เป็นหนึ่งนโยบายสำคัญและถือเป็นวาระของชาติ เพราะแม้จะเป็นบริษัทขนาดเล็ก แต่มีส่วนในการขับเคลื่อนการเติบโตของ GDP ประมาณ 40% รวมทั้งช่วยให้เกิดการจ้างงานในระบบได้มากถึง 90% ขณะที่บริษัทชั้นนำที่จัดอยู่ในกลุ่ม SET 50 แม้จะมีส่วนกระตุ้น GDP ได้ถึง 60% สร้างกำไรได้สูงเกือบ 1 ล้านล้านบาท แต่มีส่วนในการจ้างงานประชากรเพียงแค่ 10% เท่านั้น

“การส่งเสริมและสนับสนุนให้กลุ่ม SMEs แข็งแรง ยังมีส่วนช่วยให้ประเทศชาติเกิดการพัฒนาได้ตามยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลกำหนด โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงแข็งแรงให้กับประเทศ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการสร้างความเสมอภาคและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ขณะที่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว การเติบโตของกลุ่ม SMEs มีส่วนช่วยให้ GDP ขยายตัวได้สูงถึง 70% มากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ด้วยซ้ำ”

ขณะที่ข้อมูลจากการสำรวจของกระทรวงการคลังระบุว่า ธุรกิจ SMEs มากกว่า 1.5 ล้านราย ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินตามระบบ เพราะมีรายได้ไม่ถึง 10 ล้านบาท หรือมีทุนจดทะเบียนต่ำกว่า 5 ล้านบาท  ซึ่งถือเป็นปัญหาอันดับแรกๆ ขณะเดียวกัน SME ส่วนใหญ่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของการความรู้ ความสามารถ ด้านการบริหารการจัดการทางการเงิน  ทำให้เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องในธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งราคาขายที่เหมาะสม เพื่อให้มีกำไรหลังหักต้นทุนและค่าบริหารจัดการต่างๆ แล้วอย่างน้อย 25-60% จึงจะมีเงินเหลือมากพอที่จะสะสมเป็น Cash Flow เพื่อทำให้ธุรกิจไม่สะดุด หรือแม้แต่พื้นฐานสำคัญอื่นๆ เช่น ความสามารถในการคำนวณดอกเบี้ยที่ธุรกิจต้องแบกรับ เพราะมีผลต่อการบริหารจัดการอื่นๆ ตามมา โดยมี SMEs จำนวนมากถึง 50% ที่ไม่มีทักษะทางการเงินเบื้องต้นเหล่านี้

สู้ศึกยุค 4.0 SMEs ต้องโตไปเป็น Smart SMEs

เพื่อให้ SMEs อยู่รอดโดยเฉพาะในยุค 4.0 ที่สภาพแวดล้อมในการทำธุรกิจแตกต่างและเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม SME Bank จึงมีหน้าที่สำคัญ นอกจากเข้ามาสนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการที่ไม่สามารถเข้ามาในระบบธนาคารพาณิชย์  ด้วยการให้สินเชื่อต่างๆ เพื่อนำไปใช้ทำธุรกิจแล้ว ยังต้องเพิ่มมิติทั้งในเรื่องของการส่งเสริมและซ่อมแซม ให้ธุรกิจต่างๆ เติบโตจากการเป็น Startup ไปสู่ภาค Micro หรือ SMEs และขยับสู่ Smart SMEs จนเป็นธุรกิจที่เติบโต และแข็งแรงได้จนสามารถทำรายได้ถึงเกณฑ์ที่จะสามารถเข้าไปรับบริการของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ได้ต่อไป

“กลุ่มสตาร์ทอัพที่เริ่มทำธุรกิจใหม่ ยังมีอัตรารอดที่ประมาณ 5% เท่านั้น ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอีมีอัตรารอด 50% และกลุ่มธุรกิจที่สามารถจดทะเบียนในตลาดมีอัตรารอดสูงถึง 85% ซึ่งตลอดระยะเวลา 5-10 ปีที่ผ่านมา ได้พิสูจน์อย่างชัดเจนแล้วว่า การเข้าถึงแหล่งทุน ไม่ใช่เครื่องการันตีความสำเร็จให้กับธุรกิจได้ แม้บางรายจะทำธุรกิจมายาวนานถึง 3 รุ่น แต่ถ้าไม่ปรับตัว ไม่พัฒนาธุรกิจให้มีความสอดคล้องไปตามยุคสมัยที่เปลี่ยน แม้จะเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จมาแล้วตั้งแต่รุ่นปู่  รุ่นพ่อ ก็อาจจะไปไม่รอดในยุคที่เราเป็นผู้เข้ารับช่วงบริหารกิจการต่อ”

SME Bank ยังได้แนะนำทางรอดให้แก่ธุรกิจ SMEs ในยุคเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค 4.0 ที่ต้องเพิ่มเข้าไปให้กับสินค้าหรือธุรกิจ ควบคู่ไปกับการได้รับการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อเป็นหนึ่งในธุรกิจที่สามารถฝ่าคลื่น Technology Disruption ไปได้จนถึงจุดหมายปลายทาง ซึ่งประกอบด้วย

Modern : การปรับธุรกิจให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งสภาพการแข่งขัน หรือพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

Story : สร้างเรื่องราวที่น่าสนใจ เพื่อเพิ่ม Value ให้สินค้าหรือธุรกิจของตัวเอง รวมทั้งเชื่อมโยงไปสู่ธุรกิจต่อเนื่อง หรือพื้นที่และชุมชนโดยรอบ

Design : การออกแบบอย่างมีเอกลักษณ์ มีความแตกต่าง เพื่อสร้าง Identity ที่คนจดจำได้ หรือออกแบบอย่างที่ตอบโจทย์การใช้งานได้อย่างเหมาะสม

Certified : การให้ความสำคัญกับการยกระดับธุรกิจให้ได้รับการยอมรับตามมาตรฐานต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นแก่ลูกค้า

Online : นักรบเศรษฐกิจปัจจุบัน ต้องมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีดิจิตอล ทั้งเพื่อการสื่อสารแบรนด์ เป็นช่องทาในการติดต่อกับลูกค้า หรือเป็นช่องทางขายสินค้า ซึ่งมีความสะดวก ประหยัด และมีประสิทธิภาพสูงสุด

“ผู้ทำธุรกิจในปัจจุบันต้องยกระดับจากการเป็น SME มาสู่ Internet Entrepreneur ที่ต้องมีความเชี่ยวชาญและใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และทำความเข้าใจรูปแบบการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไปจากเดิมทั้ง B2B หรือ B2C แต่กำลังมาสู่ C2B ซึ่งมีความสำคัญมากกว่า เพราะเป็นยุคที่ผู้บริโภคเป็นคนเลือก และจะเลือกไปหาสินค้าหรือแบรนด์ที่ตัวเองพอใจและต้องการ โดยไม่ต้องรอให้ผู้ประกอบการวิ่งเข้ามาหาก่อน ขณะเดียวกันทักษะพื้นฐานในการทำธุรกิจ ทั้งด้านการจัดการ การตลาด หรือการผลิต ก็จะเป็นเหมือนไม้ค้ำยันที่จะเข้ามาช่วยพยุง และเสริมความแข็งแรงให้กับธุรกิจได้มากยิ่งขึ้นด้วย”


แชร์ :

You may also like