HomeBrand Move !!แกะรอย “โซนี่” ในอุตสาหกรรมหนังโลก และปฐมบทหลังแยกทาง “ดิสนีย์” ลุยจำหน่ายหนังเอง

แกะรอย “โซนี่” ในอุตสาหกรรมหนังโลก และปฐมบทหลังแยกทาง “ดิสนีย์” ลุยจำหน่ายหนังเอง

แชร์ :

ยุทธศาสตร์ของ “โซนี่ คอร์ปอเรชั่น” ประเทศญี่ปุ่น มุ่งทำธุรกิจ Hardware นั่นคือ การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ากลุ่มภาพและเสียง เช่น ทีวี เครื่องเสียง โทรศัพท์มือถือ เกม และกล้อง ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท แต่เพื่อเติมเต็มความครบวงจร และสร้างความแข็งแกร่งให้กับอาณาจักร “โซนี่” จึงได้ขยายเข้าสู่ฝั่ง Software ด้วยการสร้างคอนเทนต์เสริมจากสายการผลิตฝั่ง Hardware นี่จึงเป็นที่มาของการสยายปีกสู่ธุรกิจภาพยนตร์ในตลาดโลก ที่ครอบคลุมทั้งบริษัทผู้ผลิต และบริษัทจัดจำหน่ายรายใหญ่

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ผ่าอาณาจักร “โซนี่” ในอุตสาหกรรมหนัง

ย้อนกลับไปในปี 1989 “โซนี่ คอร์ปอเรชั่น” ประเทศญี่ปุ่น ประกาศเข้าซื้อกิจการผลิต และจัดจำหน่ายภาพยนตร์ของ “โคลัมเบีย พิคเจอร์ส สตูดิโอ” จากบริษัท โคคา-โคล่า จำกัด และก่อตั้ง “โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์” ในปี 1991 โดยมีสำนักงานใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ถือเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลกิจการประกอบธุรกิจภาพยนตร์ ในสังกัดแบรนด์ต่างๆ ในเครือดังนี้

“โคลัมเบีย พิคเจอร์ส” (Columbia Pictures) ถือกำเนิดขึ้นโดยสองพี่น้องตระกูลโคเฮน (Harry Cohn & Jack Cohn) ในปี 1924 ปัจจุบันผลิตภาพยนตร์ระดับพรีเมียม ป้อนให้กับต้นสังกัดโซนี่ พิคเจอร์สฯ

“สกรีนเจมส์ ฟิล์ม” (Screen Gems) ก่อตั้งขึ้นในปี 1933 จากแอนิเมชั่น สตูดิโอขนาดเล็ก สู่ฟิล์มสตูดิโอที่ทางโซนี่ พิคเจอร์สฯ ปัดฝุ่นใช้ผลิตภาพยนตร์ตลาดระดับกลาง ที่ใช้งบประมาณสร้างราว 20 – 50 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลอดจนภาพยนตร์ประเภทแฟรนไชส์ร่วมทุน หรือซื้อลิขสิทธิ์ในการจัดจำหน่าย

“ไทรสตาร์ พิคเจอร์ส (TriStar Pictures) ก่อตั้งขึ้นในปี 1982 ปัจจุบันผลิตภาพยนตร์ทางเลือก ร่วมถึงภาพยนตร์ที่ทางโซนี่ พิคเจอร์สฯ ซื้อสิทธิ์ในการจัดจำหน่าย ตลอดจนภาพยนตร์ร่วมทุนขนาดเล็ก ภายใต้ข้อตกลงพิเศษระหว่างสตูดิโอ กับผู้สร้าง

“โซนี่ พิคเจอร์ส คลาสสิค” (Sony Pictures Classics) ก่อตั้งขึ้นในปี 1992 เป็นศูนย์รวมของภาพยนตร์ระดับคุณภาพขนาดเล็ก ภาพยนตร์เข้าชิงรางวัลต่างๆ รวมถึงภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศที่ทางโซนี่ พิคเจอร์สฯ อาจร่วมทุนสร้าง หรือซื้อลิขสิทธิ์จัดจำหน่าย

“โซนี่ พิคเจอร์ส แอนิเมชั่น สตูดิโอ” (Sony Picture Animation Studios) ก่อตั้งในปี 2002 เนื่องจากเห็นกระแสความนิยมภาพยนตร์แอนิเมชั่นเพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้โซนี่ พิคเจอร์สฯ ตัดสินใจตั้งสตูดิโอที่ผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่นของตนเอง เพื่อป้อนให้กับต้นสังกัด

“โซนี่ พิคเจอร์ส เวิล์ดไวด์ แอ็กควิซิชั่น” (Sony Pictures Worldwide Acquisition) ตั้งขึ้นในปี 2007 ทำหน้าที่ผลิตหนังทุนต่ำ หรือซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์นอกสังกัด เพื่อจัดจำหน่ายผ่าน Sub-brand ภายใต้หน่วยงานนี้ ได้แก่ Stage6, Affirm Film, Destination Film ซึ่งจะมีการผลิตและซื้อลิขสิทธิ์ภาพยนตร์โดยเฉลี่ย 60 เรื่องต่อปี โดยส่วนใหญ่จะไม่นำเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ แต่จัดจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น Video on Demand หรือ Home Video

และเพื่อนำภาพยนตร์ในสังกัดแบรนด์ข้างต้น ไปสู่ตลาดและสายตาผู้ชมทั่วโลก “โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์” จึงได้จัดตั้ง “โคลัมเบีย ไทรสตาร์ โมชั่น พิคเจอร์ส กรุ๊ป” ขึ้นในปี 1992 ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “โซนี่ พิคเจอร์ส โมชั่น พิคเจอร์ส กรุ๊ป” ในปัจจุบัน มีหน้าที่ดูแลการผลิต วางแผนการตลาด และจัดจำหน่ายภาพยนตร์ในสังกัดออกสู่ตลาด

ภายใต้กรุ๊ปดังกล่าว มี “โซนี่ พิคเจอร์ส รีลิสซิ่ง” เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ในตลาดสหรัฐอเมริกา และ “โซนี่ พิคเจอร์ส รีลิสซิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล” ดูแลการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ไปยังตลาดต่างประเทศทั่วโลก

ย้อนรอยเส้นทาง “โซนี่” ในอุตสาหกรรมหนังไทย

สำหรับประเทศไทย เป็นอีกหนึ่งตลาดสำคัญของ “โซนี่ พิคเจอร์สฯ” โดยก่อนปี 1997 ขณะนั้นยังไม่ได้ตั้งสำนักงานสาขาในไทย ดังนั้นภาพยนตร์ทุกเรื่องในสังกัดโซนี่ พิคเจอร์สฯ ถูกจัดจำหน่ายผ่าน “บริษัท ภาพยนตร์ วอร์เนอร์ บราเธอร์ส ฟาร์อีสต์ อิงคอร์ปอเรชั่น”

แต่ด้วยตลาดภาพยนตร์ของไทย เติบโตอย่างรวดเร็วจากการเปลี่ยนผ่านยุคมินิเธียเตอร์ สู่ยุคมัลติเพล็กซ์สมบูรณ์แบบในช่วงปลายทศวรรษ 90 ด้วยเหตุนี้ ทาง “โซนี่ พิคเจอร์ส รีลิสซิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล” จึงได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือกับทาง “บัวนา วิสต้า อินเตอร์เนชั่นแนล” ซึ่งในปัจจุบันคือ “วอลท์ ดิสนีย์ สตูดิโอ โมชั่น พิคเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล” (บริษัทในเครือวอลท์ ดิสนีย์ สหรัฐอเมริกา) เพื่อก่อตั้งบริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์ในประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “โคลัมเบีย ไทรสตาร์ บัวนา วิสต้า” หรือ “ซีทีบีวี” ขึ้นในปี 1997 ภาพยนตร์เรื่องแรกที่นำเข้ามาฉายภายใต้สังกัดซีทีบีวี คือ The Mirror Has Two Faces และต่อมาบริษัทดังกล่าวได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “บริษัท โซนี่ พิคเจอร์ส รีลิสซิ่ง วอลท์ ดิสนีย์ สตูดิโอ (ประเทศไทย) จำกัด” หรือ “เอสดีที”

เป็นเวลา 20 ปีที่บริษัทร่วมทุน เพื่อจัดจำหน่ายภาพยนตร์ในสังกัดของทั้งสองสตูดิโอทำงานร่วมกัน แต่แล้วในที่สุดเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2017 ที่ผ่านมา ได้ประกาศแยกทาง เนื่องด้วยต่างฝ่ายต่างมองเห็นถึงโอกาสการขยายธุรกิจให้เติบโตมากขึ้นกว่าเดิม จึงต้องการแยกบริหารงานเป็นเอกเทศ เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ โดยภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายของโซนี่ พิคเจอร์สฯ ที่จัดจำหน่ายภายใต้สังกัดเอสดีที คือ Life สายพันธุ์มฤตยู

นับเป็นการปิดฉากบริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์รายใหญ่ในไทย ที่เกิดขึ้นจากการจับมือกันระหว่างสองยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

Photo Credit : www.sonypictures.com

เปิดค่ายใหม่ “โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์”

เป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในไทย หลังจากบริษัทร่วมทุน “โซนี่ พิคเจอร์ส รีลิสซิ่ง วอลท์ ดิสนีย์ สตูดิโอ ประเทศไทย” บริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายหนังรายใหญ่ ที่เกิดขึ้นจากการ่วมทุนระหว่าง “โซนี่ พิคเจอร์สฯ” กับ “วอลท์ ดิสนีย์ฯ” ประกาศแยกทางกัน

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา “โซนี่ พิคเจอร์ส สตูดิโอ” ได้เปิดตัวบริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายใหม่ ภายใต้ชื่อ “โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์” ปัจจุบันมีใน 3 ประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การทำตลาดและจัดจำหน่ายภาพยนตร์ของบริษัทแม่ในสหรัฐอเมริกา

สำหรับยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจของ “โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ประเทศไทย” นับจากนี้ไป จะบุกหนักทั้งหนัง Hollywood และหนังนอกกระแส หรือที่หลายคนเรียกหนังอินดี้

ขณะเดียวกันภายในปีนี้ เตรียมเปิดตัว 2 หน่วยงานใหม่ อยู่ภายใต้ชายคาโซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ประเทศไทย คือ “โซนี่ พิคเจอร์ส เทเลวิชั่น” ทำหน้าที่ขายคอนเทนต์ให้กับทีวี เนื่องจากที่อเมริกา โซนี่มีบริษัทในเครือที่ผลิตรายการทีวีของตัวเอง จึงมีลิขสิทธิ์รายการทีวีหลายรายการ และ “โซนี่ พิคเจอร์ เทเลวิชั่น แอนด์ เน็ตเวิร์ค” ทำหน้าที่ขายแอร์ไทม์ หรือขายโฆษณา

“เหตุที่แยกจากดิสนีย์ฯ เพราะตลาดหนังเติบโตถึงระดับที่ต่างคนต่างมองว่ามีโอกาสทางธุรกิจที่จะขยายได้อีก และในกลุ่มโซนี่ พิคเจอร์สฯ ทำหนังต่อปีเพิ่มมากขึ้น แต่ที่ผ่านมาเราไม่มีโอกาส Release หนังใหม่ของเราได้ทั้งหมด เนื่องจากต้องดูทั้ง 2 สตูดิโอ ซึ่งทั้ง 2 สตูดิโอรวมกัน มีหนังใหม่มากกว่า 30 เรื่อง เพราะฉะนั้นการแยกออกมา ทำให้เรามีโอกาสนำหนังในเครือโซนี่ พิคเจอร์สฯ เข้ามาฉายได้เองมากขึ้น อย่างปีนี้บริษัทสามารถ Release หนังได้มากถึง 20 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วอยู่ที่ 15 เรื่อง

อย่างไรก็ตามการแยกออกจากดิสนีย์ แน่นอนว่าต้องมีความท้าทายตามมา เพราะเมื่อครั้งที่จับมือรวมกัน 2 ค่ายสตูดิโอ ทำให้มีอำนาจการต่อรองกับโรงภาพยนตร์มาก แต่พอเป็นสตูดิโอเดียว อำนาจการต่อรองกับโรงภาพยนตร์ย่อมลดลง แต่เรามองในอีกมุมหนึ่งด้วยว่า การแยกออกมา เพิ่มโอกาสที่เราจะ Release หนังได้มากขึ้น หนังที่ไม่เคยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในไทย ก็จะได้เข้าฉายมากขึ้น” คุณรชต ธีระบุตร กรรมการและผู้อำนวยการใหญ่ โซนี่ พิคเจอร์ส เอ็นเตอร์เทนเมนต์ ประเทศไทย เล่าถึงเหตุผลของการแยกกับดิสนีย์ฯ และความท้าทายของบริษัทใหม่นับจากนี้

เมื่อมีหนังใหม่นำเข้ามาฉายมากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือ การเติบโตด้านรายได้ โดยในปีนี้ตั้งเป้า 800 ล้านบาท เติบโตจากปีที่แล้วทำได้ 456 ล้านบาท ซึ่งหลังจากผ่านไปแล้ว 7 เดือน สามารถทำรายได้อยู่ที่ 440 ล้านบาท

บุกหนักหนัง Hollywood – หนังอินดี้

ทิศทางของ “โซนี่ พิคเจอร์สฯ ประเทศไทย” ให้ความสำคัญทั้งหนัง Hollywood หรือที่เรียกว่าหนังกระแสหลัก เพราะเป็นหนังที่เข้าถึงคนกลุ่มกว้าง ขณะเดียวกันบุกทำตลาดหนังนอกกระแส หรือหนังอินดี้

โดยขณะนี้หนังที่ทำเงินสูงสุงให้กับ “โซนี่ พิคเจอร์สฯ ประเทศไทย” คือ Spider-Man : Homecoming ทำรายได้ 265 ล้านบาท ตามมาด้วย Resident Evil 6 ทำรายได้ 120 ล้านบาท ขณะที่หนังระดับกลางอย่าง Arrival ทำรายได้ 83 ล้านบาท ส่วน Smurfs 3 : The Lost Village ทำรายได้ 20 ล้านบาท และหนังที่ทำรายได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ คือ Life อยู่ที่ 32 ล้านบาท จากเดิมตั้งเป้า 40 ล้านบาท

ส่วนอีก 5 เดือนที่เหลือของปีนี้ มีหนัง 9 เรื่องจ่อคิวเข้าโรง เช่น The Dark Tower, Baby Driver, Blade Runner 2049 และ Jumanji เป็นต้น

Photo Credit : www.sonypictures.com

ในจำนวน 20 เรื่องที่นำเข้ามาฉายในปีนี้ มี 5 เรื่องเป็น “หนังนอกกระแส” หรือ “หนังทางเลือก” โดยในช่วง 2 ปีนี้ (2017 – 2018) อยู่ในช่วงทดลองบุกหนักตลาดหนังนอกกระแสในประเทศไทย จากก่อนหน้านี้ทำตลาดบ้างประปราย เหตุที่หันมาทำตลาดจริงจัง เพราะด้วยความที่ในเครือโซนี่ พิคเจอร์สฯ มี “โซนี่ พิคเจอร์ส คลาสสิก” และ “ไทรสตาร์ พิคเจอร์ส” ที่ผลิตหนังนอกกระแสอยู่แล้ว ประมาณ 10 เรื่องต่อปี ประกอบกับบริษัทฯ มีนโยบายสนับสนุนหนังทางเลือก เพื่อให้คนไทยได้ดูหนังที่ไม่มีโอกาสเข้าโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ เพราะหนังกลุ่มนี้ไม่สามารถทำเงินได้มาก

ดังนั้น โซนี่ พิคเจอร์สฯ ประเทศไทย จับมือกับโรงภาพยนตร์ “House RCA” นำ 5 เรื่องเข้ามาฉายในไทย โดยเบื้องต้นคาดว่าทำรายได้ 300,000 – 400,000 ต่อเรื่อง แต่หลังจากฉายไปแล้ว 2 เรื่องในช่วงครึ่งปีแรก คือ “T2 Trainspotting ภาค 2” ทำรายได้มากกว่าที่ตั้งเป้าไว้ โดยทำได้ 800,000 บาท และเรื่อง “20th Century Women” ทำรายได้ 600,000 บาท เพราะฉะนั้นอีก 3 เรื่องที่จะเข้าคิวฉาย จึงตั้งเป้าว่าน่าจะทำรายได้โดยเฉลี่ย 500,000 บาทต่อเรื่อง

Photo Credit : Facebook T2 Trainspotting

“แต่ละปีโซนี่ พิคเจอร์ส คลาสสิก ผลิตหนังนอกกระแสประมาณ 10 เรื่อง แต่การจะเอาเข้ามาฉายในไทย มีหลักเกณฑ์พิจารณาหลายปัจจัย ทั้งต้องดูว่าโซนี่ พิคเจอร์ส คลาสสิกให้ลิขสิทธิ์ในเอเชียหรือไม่ บางทีให้อเมริกา และบางทีผลิตเพื่อป้อนตลาดยุโรป เพราะฉะนั้นผลิต 10 เรื่องต่อปี เขาอาจให้ลิขสิทธิ์ในกลุ่มเอเชีย ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย 7 – 8 เรื่อง แต่เราก็ไม่สามารถเอาเข้ามาฉายได้ทั้งหมด ต้องเลือกหนังที่มีความเป็น Commercial ระดับหนึ่ง คือ ดูง่าย ไม่เข้าใจยากเกินไป และถ้าเป็นหนังชิงรางวัล เราจะเอาเข้ามาในไทย”

คุณรชต ฉายภาพตลาดหนังนอกกระแสในประเทศไทยว่า ปัจจุบันไม่ได้ใหญ่มาก เนื่องจากมีคนดูเฉพาะกลุ่ม และโรงภาพยนตร์แบบ Art House ไม่กี่แห่ง เช่น ลิโด ตั้งอยู่ใจกลางเมืองย่านสยามสแควร์ แต่ก็ฉายภาพยนตร์กระแสหลักด้วยเช่นกัน และที่ House RCA ที่มีกลุ่มลูกค้าเป็น Movie Power อย่างเหนียวแน่น

อีกทั้งด้วยความที่หนังในเมืองไทย ต่อเรื่องอยู่ในโรงภาพยนตร์สั้นลง เต็มที่ไม่เกิน 2 – 3 สัปดาห์ แต่ถ้าหนังทางเลือก ต้องการระยะเวลาอยู่ในโรงภาพยนตร์นานกว่าหนังทั่วไป โดยเฉลี่ยใช้เวลา 1 เดือนอยู่ในโรงฉาย เพราะฉะนั้นต้องมีโรงภาพยนตร์แบบ Art House ที่สามารถให้เวลาเป็นเดือนกับหนังทางเลือกได้

อย่างไรก็ตามปัจจุบันเชนโรงหนังรายใหญ่ เริ่มจัดเทศกาล Film Fest ที่คัดเลือกหนังนอกกระแส เพื่อตอบโจทย์คนดูเฉพาะกลุ่ม แต่เราเชื่อว่าถ้าโซนี่ พิคเจอร์สฯ ประเทศไทย สามารถสร้างตลาดนี้ให้เติบโตขึ้นได้ ค่ายอื่นจะทำตาม

Photo Credit : Facebook House RCA

ความท้าทาย “อุตสาหกรรมหนัง” ถูก Disrupt ด้วยออนไลน์

เมื่อเจาะลึกมูลค่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในไทย (กรุงเทพฯ – เชียงใหม่) ปีที่แล้ว ทั้งหนังไทย และหนังเทศรวมกันอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท แบ่งเป็นหนัง Hollywood มูลค่าตลาด 3,690 ล้านบาท ตามมาด้วยหนังไทย 558 ล้านบาท และหนังต่างประเทศสัญชาติต่างๆ 259 ล้านบาท ขณะที่ปีนี้คาดว่าตลาดรวมจะอยู่ที่ 4,600 ล้านบาท โดยมากกว่า 80% ยังคงเป็นหนัง Hollywood

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูย้อนหลังสถานการณ์หนังไทย พบว่าในช่วง 10 ปีมานี้ หนังไทยมีสัดส่วนตลาดลดลงมาเรื่อยๆ จากในอดีตกินตลาด 40% แต่วันนี้มีสัดส่วนตลาด 10 – 12% ตรงกันข้ามกับหนัง Hollywood ที่ได้รับความนิยมต่อเนื่อง

“อุตสาหกรรมหนังของไทย เคยเป็นผู้นำตลาดใน 3 ประเทศ (มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย) แต่ในช่วง 3 ปีนี้อุตสาหกรรมหนังในไทย อยู่ในสถานการณ์ทรงตัว มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ย 2 – 3% ต่อปี โดยมาจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นตลาดหนังในไทยโดยหลักยังอยู่ในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจโรงหนังชะลอการเปิดสาขาในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เพราะการขยายสาขาเต็มเกือบทุกพื้นที่แล้ว

ประกอบกับอีก 75 จังหวัดของไทย ยังเป็นระบบสายหนัง* ทำให้เก็บตัวเลขมูลค่าตลาดแท้จริงไม่ได้ แต่ทั้งนี้คาดว่าในอีก 3 – 4 ปี คาดว่าจะหมดยุคระบบสายหนังในไทย เพราะปัจจุบันศักยภาพของอุตสาหกรรมหนังในไทย อยู่ในตลาดต่างจังหวัด โดยในช่วง 3 ปีมานี้ ทั้ง “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” และ “เอสเอฟ ซีนีม่า” ขยายโรงภาพยนตร์ไปต่างจังหวัดมากขึ้น ยิ่งลงต่างจังหวัดมากเท่าไร ในแง่ค่ายหนังจะได้เบเนฟิตในด้านรายได้เพิ่มขึ้นตามมา”

(*ระบบสายหนัง คือ ผู้ผลิตเมื่อสร้างหนังเสร็จ ก่อนเข้าโรงฉาย ต้องขายหนังเรื่องนั้นๆ ให้กับ “สายหนัง” ก่อน ซึ่งเป็นคนกลางที่ทำหน้าที่เปรียบเป็นดิสทริบิวเตอร์ ในการกระจายหนังเรื่องนั้นๆ เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ต่างๆ รวมถึงหนังกลางแปลง โดยปัจจุบันบทบาทของระบบสายหนัง เริ่มลดลงไปมาก เนื่องจากสองยักษ์ใหญ่เชนโรงภาพยนตร์ในไทย รุกขยายสาขาไปตลาดต่างจังหวัดมากขึ้น)

ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมหนังในไทย ยังเผชิญกับสถานการณ์คนดูหนังลดลง เนื่องจากการเข้ามาของออนไลน์ คนดูมีทางเลือกหลากหลาย สามารถดูหนังผ่าน Video Streaming เช่น Netfilx, iflix ที่หนังออกจากโรงไม่นาน ก็เข้าสู่ระบบออนไลน์แล้ว อีกทั้งเจอกับภาวะเศรษฐกิจ ทำให้วันนี้โรงหนังต่างๆ ทำโปรโมชั่นลด แลก แจก แถมมากขึ้น เพื่อดึงคนเข้าโรง แต่การทำโปรโมชั่นช่วยกระตุ้นตลาดได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะในที่สุดแล้วขึ้นอยู่กับหนังด้วย หนังต้องดีจริง และเสริมการทำโปรโมชั่นควบคู่กัน

“ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ทำให้คนเลือกดูหนังมากขึ้น เพราะฉะนั้นหนังทุนสูง ฟอร์มใหญ่จะได้เปรียบ คนดูรู้สึกว่าเงินร้อยกว่าบาทที่จ่ายไป คุ้มค่ากว่า เมื่อเป็นเช่นนี้หนังไทยต้องปรับตัวให้อยู่ได้ และเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้ตลาดหนังไทยเติบโตลดลง เป็นเพราะช่วงหนึ่งหนังไทยใช้ Me Too Strategy คือ สร้างเรื่องคล้ายกัน ทำให้คนดูรู้สึกไม่แตกต่าง ดังนั้นค่ายผู้ผลิตหนังไทยที่อยู่ได้ในปัจจุบัน ต้องทำหนังที่ขาย Story ถึงจะอยู่ได้ และเติบโต เพราะถ้าไปสร้างหนังแอคชั่น ถึงอย่างไรก็สู้หนัง Hollywood ไม่ได้” คุณรชต สะท้อนมุมมองทิ้งท้ายต่ออุตสาหกรรมหนังในประเทศไทย


แชร์ :

You may also like