HomeSponsored“ดีป้า” เปิดโปรเจ็กท์ใหญ่ Channel Management System(CMS) ช่วย SMEs-OTOP ขายของออนไลน์

“ดีป้า” เปิดโปรเจ็กท์ใหญ่ Channel Management System(CMS) ช่วย SMEs-OTOP ขายของออนไลน์

แชร์ :

ปัญหาใหญ่ของผู้ประกอบการ SMEs และผู้ผลิตสินค้า OTOP ไทย ก็คือ “การตลาด” ถึงแม้ว่า สินค้าจะมีความน่าสนใจ มีคุณภาพ แต่ก็ไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง  ซึ่งอุปสรรคเหล่านี้สามารถใช้เครื่องมือในดิจิทัลมาช่วยบรรเทาปัญหา เปิดโอกาสให้ SMEs และ OTOP ไทยเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่าที่เคย เพื่อทำให้เหล่าผู้ประกอบการใช้งานเครื่องมือเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น เหมาะสมกับผู้ใช้งาน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้พัฒนาโครงการ Channel Management System(CMS) ขึ้นมา

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ระบบ Channel Management System (CMS) เป็นระบบศูนย์กลางการเชื่อมต่อตลาดอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยทำให้ผู้ประกอบการสามารถลงสินค้าขายบน E – Market Place ที่เชื่อมต่อกับระบบ CMS ทำให้การค้าขายออนไลน์สะดวกและง่ายขึ้น ซึ่งตอนนี้ได้มีผู้ให้บริการ E – Market Place ที่เข้าร่วมเชื่อมต่อระบบ CMS แล้ว 2 ราย คือ TARAD.com และ ฟาร์มสุข ของ AIS ขั้นตอนการลงข้อมูล, รูปถ่าย หรือแม้แต่ขั้นตอนการอธิบายถึงที่มาของวัตถุดิบและขั้นตอนการผลิต บอกเล่าเรื่องราวเพื่อนำเสนอมูลค่าของสินค้า (Story Telling) ก็ทำได้โดยขั้นตอนง่ายๆ และทำบนระบบที่เดียว ข้อมูลทั้งหมดก็จะปรากฏบนแพล็ตฟอร์มขายสินค้าทั้ง 2 ที่ ในอนาคตข้างหน้าก็มีโครงการเพิ่ม Market Place แหล่งอื่นๆ ให้มากขึ้นไปอีก

นอกจาก CMS ซึ่งเป็นระบบช่วยเรื่องขายสินค้าแล้ว ยังมีระบบ Enterprise Resource Planning หรือ ERP เป็นระบบช่วยบริหารคลังสินค้า ทำให้เจ้าของกิจการรู้จำนวนสินค้าที่เหลืออยู่ และคำนวณต้นทุนได้ง่ายขึ้น เมื่อเชื่อมโยงกระบวนการทางธุรกิจทุกขั้นตอนก็มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดผลกำไรสูงสุด ยังมีระบบ  M Account เป็นระบบบัญชีเบื้องต้นใช้งานง่าย และสามารถใช้ได้บน Smart phone โดยสามารถเข้าใช้งานได้ฟรีผ่าน http://m-account.com/mAccount/login/auth

โครงการนี้พิเศษกว่าที่เคย เพราะมององค์ประกอบอย่างรอบด้าน ไม่ใช่พัฒนาเครื่องมือขึ้นมาเท่านั้น ยังสอนการใช้งานอย่างจริงจัง โดยเข้าใจอินไซต์ของกลุ่มผู้ใช้งานจริง ทำโครงการนำร่องใน10 จังหวัด ประกอบไปด้วย เชียงใหม่ ลำปาง น่าน สกลนคร ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี เลือกตัวแทนชุมชนจากสาขาอาชีพต่างๆ มาเข้าอบรมเป็นวิทยากรอาสา (Agent) จำนวน 400 คนในพื้นที่ 10 จังหวัดนำร่อง เพื่อกระจายอบรมผู้ประกอบการในพื้นที่ 10 จังหวัดนำร่อง จังหวัดละ 400 ราย รวม 4,000 ราย ใช้คนในท้องถิ่นมาเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมดิจิทัลคอมมิวนิตี้ในระดับชุมชน เพราะมีการใช้วิทยากรอาสา 400 คน กลับไปเผยแพร่ความรู้ให้กับชุมชนของตนเอง ทำให้องค์ความรู้เกิดความยั่งยืน ส่วนตัวผู้ที่เป็นวิทยากรอาสาเอง ก็จะเชี่ยวชาญมากขึ้นด้วย

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวถึงโครงการนี้ว่า แผนการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นแผนการที่ต้องการส่งเสริมทุกภาคส่วนให้เดินไปด้วยกัน ทั้งในส่วนของธุรกิจท้องถิ่น ภาคเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงทรัพย์สินทางปัญญาด้วย เราคาดหวังว่าโครงการนี้และนับต่อไปจากนี้จะช่วยสร้างผู้ประกอบการดิจิทัล (DigitalEntrepreneurs) ได้ราว 500,000 ราย ซึ่งประกอบไปด้วย 1. Digital Startup 2.คนต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจด้านเทคโนโลยีในประเทศไทย 3. ผู้ผลิต Hardware ที่เป็น Smart Device 4. ผู้ประกอบการรายย่อย แล้วในที่สุดเราก็กลายเป็น Smart City ที่มีคุณภาพ”

“สำหรับการใช้งานระบบ Channel Management System หรือว่า CMS นี่ ก็ไม่ได้ใช้งานยาก ยิ่งในปัจจุบัน หลายๆ คนรู้จักใช้โซเชี่ยลมีเดีย เพื่อการสื่อสารกับคนในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น ไลน์(LINE) หรือว่า เฟซบุ๊ก (Facebook) ทำให้คุ้นเคยกับการใช้สมาร์ทโฟนกันอยู่แล้ว ก็ยิ่งทำให้การสอนจากวิทยากรอาสาเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น”

“โครงการนี้เราตั้งเป้าหมายเอาไว้ที่มียอดขาย 200 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่มากเลย เมื่อเทียบกับจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ แต่ถ้าหากว่าสิ่งที่เราทำช่วยให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจขนาดนี้ ในปีแรก และมีผู้ร่วมโครงการ 10 จังหวัด ก็เท่ากับว่าเมื่อเราขยายออกไปอีกก็จะยิ่งช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ผู้ประกอบการท้องถิ่นของไทยมหาศาล อย่างไรก็ตามสิ่งที่ท้าทายตามมาสำหรับผู้ร่วมโครงการก็คือ ต้องยกระดับตัวเองด้วยเช่นกัน ทั้งเรื่องของคุณภาพของสินค้าและบริการ รวมทั้งความสม่ำเสมอ ซึ่งเมื่อเข้าสู่การค้าออนไลน์ก็ต้องนำส่งสินค้าให้ได้ตามที่ลูกค้าคาดหวัง”

มาทางฝั่งของผู้ใช้งานตัวจริงกันบ้าง คุณเนวรัตน์ ธรรมกิจวัฒนา ผู้ประกอบการจากจังหวัดภูเก็ต ยอมรับว่าในตอนแรกเธอเป็นคนรุ่นคุณแม่ที่เกรงกลัวกับเทคโนโลยีและเข้าร่วมโครงการนี้ โดยลูกสาวชักจูง แต่การที่เธอเป็นคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องเทคโนโลยีมากนัก ก็เป็นข้อดีที่ทำให้เธอเข้าใจคนที่ “ไม่เข้าใจ” และมีความอดทนมากพอที่จะอธิบายกับผู้เรียน นี่เองจึงเป็นข้อดีของการปูพื้นให้กับวิทยากรอาสาจากท้องถิ่น แล้วทำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันสอนกันเอง

ไม่ได้มีแค่โครงการเดียวเท่านั้น ดีป้า ยังเดินหน้าใช้ดิจิทัลมาส่งเสริมผู้ประกอบการท้องถิ่นในแนวทางอื่นๆ ล่าสุด

แอปพลิเคชัน THAILAND I Love U เป็นแอปพลิเคชันเพื่อการท่องเที่ยว แบบ ALL – IN – ONE ทำให้การท่องเที่ยวเป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้ว  แต่จุดเด่นที่แตกต่างก็คือ นอกจากจะแนะนำสถาานที่ท่องเที่ยวที่โดนใจนักท่องเที่ยวแล้ว ยังมีการรวบรวมสถานที่และเส้นทางที่สำคัญพร้อมข้อมูลสินค้าและบริการ ที่ทำการปักหมุดไว้บนแผนที่ดิจิทัลกว่า 50,000 จุด ใน 10 จังหวัดนำร่องที่ครอบคลุมโรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้า แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และสถานที่สำคัญ โดยข้อมูลที่นำเสนอ จะเป็นข้อมูลสุดอินเทรนด์ ตรงตามกระแสที่กำลังฮิต เช่น ที่เที่ยว 2 วัน 1 คืนในจังหวัด

จุดเด่นก็คือ การเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าและบริการไปยังระบบซื้อขาย โดยจะมีเครื่องมือ  ที่มีชื่อว่า Story telling เป็นกลยุทธ์ในการสร้างมูลค่าให้แก่สินค้า โดยสร้าง Template Website เชื่อมต่อกับระบบ THAILAND I Love U ทำให้ผู้ประกอบการสามารถ บอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และการบริการ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น โดยการเล่าเรื่องประกอบมี 4 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่ 1.การเล่าเรื่องสินค้าเชิงวิถีชุมชน 2. การเล่าเรื่องสินค้าเชิงประวัติความเป็นมา 3.การเล่าเรื่องสินค้าเชิงความยอดเยี่ยมของฟังก์ชันการทำงาน และ4. การเล่าเรื่องสินค้าเชิงสาธิตวิธีการ

ซึ่งการรีวิวนี้ นักท่องเที่ยว สามารถเพิ่มเติมข้อมูล โปรแกรมเที่ยว หรือสถานที่โดนใจ เพื่อแนะนำไปยังคนไทยคนอื่นได้ สอดคล้องกับแนวโน้มที่ผู้ใช้งานโซเชี่ยลมีเดีย มักนำเสนอเรื่องราวดีๆ ส่งต่อให้กับคนอื่น ในส่วนของร้านค้าเองก็ใช้เป็นพื้นที่บอกโปรโมชั่นต่างๆ นับเป็นความร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ ของไทย ไม่ว่าจะเป็น ดีป้า และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อทำให้กิจการท้องถิ่นสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยอาศัย Emotional ของผู้ที่ท่องเที่ยวแล้วรู้สึกดีกับท้องถิ่นให้กลายเป็นกลุ่มลูกค้า และอาศัยสื่อดิจิทัลกระจายการรับรู้ต่อ แอปพลิชัน THAILAND I Love U จะเปิดให้ดาวน์โหลดใช้งานอย่างเป็นทางการทั้งในระบบ iOS และ Android

นอกจากนี้ “ดีป้า” ยังฟิตอย่างต่อเนื่อง ขอต่อยอดแอปพลิเคชั่น  THAILAND I Love U อีกยก แต่ขอใช้การต่อยอดด้วยการจัดประกวด tech startup รวมถึงบุคคลทั่วไป (ผู้พัฒนา application) บนเวที B2C App from Tech-Startup ในหัวข้อ “the Better THAILAND with Digital Services” ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ 2 ทาง  ด้านหนึ่งต้องการดึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดสร้างสรรค์ และมีศักยภาพสูงในการผลิตแอปพลิเคชัน (b2c app) อีกทางหนึ่งก็เพื่อนำเอาผลงานที่ได้มาส่งเสริมนการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวและทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในชุมชน

โดยเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – 24 พฤษภาคม  2560  ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่ http://www.thailandiloveu.com/

คุณสมบัติผู้เข้าประกวด

1. ผู้ที่สนใจเข้าประกวด ต้องมีจำนวนสมาชิกในทีมพัฒนาผลงานไม่เกิน 4 คนต่อทีม

2. ในแต่ละทีมสามารถส่งผลงานได้ไม่เกิน 1 ผลงาน

3. ผลงานที่ส่งประกวดต้องสามารถใช้ได้จริงหรือสามารถใช้งานได้ ณ วันส่งผลงานเข้าประกวด

4. ผลงานต้องสามารถเชื่อมต่อและเป็นประโยชน์กับเว็บไซต์ http://www.thailandiloveu.com/

รูปแบบผลงาน

ผลงานที่ส่งเข้าประกวดจะต้องเป็นประโยชน์และสามารถส่งเสริมในด้านต่างๆ ดังนี้

– เป็นแอปพลิเคชันที่ส่งเสริมสถานที่ท่องเที่ยวและการบริการนักท่องเที่ยว

– เป็นแอปพลิเคชันที่มี business model ที่ชัดเจน

– มีความเชื่อมโยงกับเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Thailand I Love U

– แอปพลิเคชันต้องส่งเสริมความเป็น Smart City

– แอปพลิเคชันต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การท่องเที่ยวและทำงานร่วมกับผู้ประกอบการในชุมชน

 ประกาศผลผู้ผ่านการคัดเลือกรอบแรกทางเว็บไซต์ thailandIloveU ในวันที่ 31 พฤษภาคม จากนั้นจะเป็นการนำเสนอผลงานตามภูมิภาค ทั้ง 4 ภูมิภาค ระหว่างวันที่ 1 – 15 มิถุนายน

สำหรับ ผู้ชนะการประกวด จะแบ่งเป็นภาคเหนือ ใต้ ตะวันออก และภาคกลาง ได้รับเงินรางวัลสูงสุด 250,000 บาท รวมเงินรางวัลทั้งหมด 1,600,000 บาท ประกาศผลการประกวดในวันที่ 16 มิถุนายน  2560

เห็นการทำงานของ “ดีป้า” แบบนี้แล้ว ก็ต้องนับว่าเป็นหน่่วยงานที่ดำเนินงานเพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ได้อย่างทันสมัย มีกลยุทธ์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยใช้เทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือได้อย่างลงตัวจริงๆ ก็ต้องขอเอาใจช่วยและกระตุ้นให้คนไทยช่วยกันซื้อสินค้าของคนไทย หรือแม้แต่เข้าแอปพลิเคชั่นได้ช่วยตามรอยสถานที่ท่องเที่ยวแล้วอุดหนุนร้านค้าท้องถิ่นกันด้วย


แชร์ :

You may also like