HomeDigital9 แนวทางใช้ Facebook Live ในธุรกิจ

9 แนวทางใช้ Facebook Live ในธุรกิจ

แชร์ :

Facebook Live รูปเปิด

ลองดูลองเล่น Facebook Live กันมาพักใหญ่  หลายๆคนได้ลองดูเพราะมีการแจ้งเตือน (notification) ว่า friend ของคุณเริ่ม Live ซึ่งถ้าเรามาเจอหลังจากไลฟ์จบไปแล้วก็สามารถกดดูย้อนหลังได้ถ้าเพื่อนคนนั้นไม่ลบไปเสียก่อน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หรือหลายๆคนก็ได้ดูไลฟ์จากคนอื่นๆทั่วไทยที่ไม่ใช่เพื่อน แต่เปิดสาธารณะ (public) ด้วย   ผ่านการเล่น “Live Map” ซึ่งเป็น  Facebook App ที่ยังใช้ได้เฉพาะบนคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ๊ค โดยเข้าไปที่ www.facebook.com/livemap

Facebook Live Map

หลังจากสำรวจมาระยะหนึ่ง  จะพบว่าเนื้อหาเฟซบุ๊กไลฟ์ ในไทยทุกวันนี้ มีทั้งที่เป็น “โชว์เที่ยว เน็ตเวิร์ค” คือเที่ยวไปไลฟ์ไป หรือนั่งอยู่บ้านไลฟ์คุยขำๆกับเพื่อน,

นอกจากนั้นก็มีทั้งแม่ค้าพ่อค้าขายครีมหรือเครื่องสำอาง, มีทั้งพริตตี้มานั่งพูดคุยหรือเต้นโชว์,  มีทั้งบรรดาดีเจและพิธีกรต่างๆมาจัดรายการนอกรอบนอกเวลาหลัก,  และนักดนตรีนักร้องทั้งสมัครเล่นและอาชีพกลางคืนตามร้านมาโชว์

ส่วนบริษัทใหญ่ๆ หรือแบรนด์ดังๆ นั้นยังใช้แค่ถ่ายทอดสดงานอีเวนต์กันเป็นส่วนใหญ่  ซึ่งที่จริงแล้ว “Facebook Live” น่าจะใช้ในทางธุรกิจได้หลากหลายกว่านั้นมาก  หากจะลองไล่เรียงกันก็อาจได้ถึง 9 กระบวนท่า  โดยแบ่งเป็น 4 ท่าเบสิค กับ 5 ท่าพลิกแพลง  ได้แก่ …

1. โชว์สินค้า(หรือบริการ)ที่มีปัจจุบัน หรือสินค้าใหม่, ลายใหม่ๆ, แบบใหม่ๆ

ไม่ต้องจัดฉากกันมากมาย แค่ตั้งมือถือนิ่งๆ หาคนเหมาะๆมาหยิบจับสินค้าโชว์ชัดๆ ถ้าเป็นเสื้อผ้าก็หาคนที่เป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มเป้าหมายมาใส่โชว์ ถ้าเป็นของอื่นๆก็ประยุกต์หาวิธีโชว์กันให้เหมาะ  หรือถ้าเป็นบริการเช่นล้างรถก็อธิบายและล้างโชว์ทุกขั้นตอนให้เห็นกันเลยเป็นต้น  ซึ่ง 1 ผลิตภัณฑ์ก็น่าจะมีไลฟ์แบบนี้ 1 คลิปประจำตัวไว้

2. รีวิวสินค้าหรือบริการตัวเอง & สาธิตสอนวิธีใช้

สินค้าบางอย่างอาจจะมีวิธีใช้ซับซ้อนสักหน่อย  เช่นเครื่องทำอาหารหรือเครื่องใช้ต่างๆ ก็ต้องมาอธิบายสาธิตวิธีใช้และข้อห้ามข้อควรระวังกันให้ละเอียด  รวมถึงเงื่อนไขการรับประกันยิ่งดี  และก็สาธิตการใช้ทำสิ่งต่างๆ ได้หลายตอนกันไปเลย  ฉะนั้น 1 ผลิตภัณฑ์สามารถมี Live คลิป demo แบบนี้ได้หลายๆตอน

3. รับความคิดเห็นจากกลุ่มเป้าหมาย และคำคำติชม

ที่จริงไม่ว่าจะไลฟ์เรื่องอะไร ก็ต้องคอยอ่าน comment และตอบทันทีอยู่แล้ว  แต่สำหรับธุรกิจอาจจะเปิดช่วงไลฟ์ “คุณถาม เราตอบ”  ขึ้นมาโดยเฉพาะแน่นอน เช่นทุกเย็นวันศุกร์ เป็นต้น

นอกจากจะอ่านคอมเมนต์บนจอ แล้วพูดตอบสดๆแล้ว  หลังจากไลฟ์เสร็จ ก็ควรไปพิมพ์ reply ตอบไว้อีกรอบให้เป็นลายลักษณ์อักษรก็ยิ่งดี  และควรเก็บคำถามคำตอบทั้งหมดไว้ในเว็บไซต์เป็น FAQ (Frequently Asked Questions) ด้วย เผื่อให้ผู้ที่จะมาเป็นลูกค้าในอนาคตอีกมากมายได้ค้นอ่านเจอต่อๆไป

4. ถ่ายทอดสดงานอีเวนต์

ข้อนี้บริษัทใหญ่ๆแบรนด์ดังๆในไทยทำกันแล้วมากมาย  ส่วน sme หรือแม่ค้าพ่อค้าเล็กๆ อาจเปลี่ยนเป็นถ่ายตอนไปออกบูธ หรือจุดชงชิมตามงานต่างๆแทน 

… ( และจากข้อนี้เป็นต้นไปจะเป็นสิ่งที่ยังไม่ค่อยเห็นใน Facebook Live ไทยๆ ) …

Facebook Live

5. โชว์บรรยากาศการทำงานเบื้องหลัง

ถ้าเป็นร้านอาหารก็พาเข้าไปในครัว ถ้าเป็นบริษัทก็พาเดินชมสำนักงาน คุยกับทีมงาน  ถ้าเป็นโรงงานก็พาชมเครื่องจักรทันสมัยไฮเทค เป็นต้น จะทำให้สนุกสนานหรือจริงจังก็แล้วแต่เหมาะสม  แต่ต้องให้ผู้ชมได้ทั้งความรู้และได้ทั้งรู้จักแบรนด์เราไปพร้อมๆกัน

6. เล่าประวัติความเป็นมาของกิจการ

บางร้าน บางบริษัท เปิดมาหลายสิบปีหรือเป็นร้อยปี  ก็น่าจะมาเล่าถึงยุคก่อตั้ง โชว์รูปคุณปู่ย่าตายาย คุณแม่คุณพ่อ สมัยที่ตั้งร้านขึ้นมา  โชว์ป้ายเก่าๆ หรือกล่องสินค้ารุ่นแรกๆที่ไม่มีแล้ว ฯลฯ ซึ่งทุกธุรกิจเก่าๆล้วนมีเรื่องราวที่น่าสนใจของตัวเอง  อยุ่ที่ว่าจะยอมเปิดเผยแค่ไหน

7. สอนวิธีหรือความรู้ ในเรื่องที่กลุ่มเป้าหมายสนใจ แม้จะไม่เกี่ยวโดยตรงกับสินค้า

เช่นถ้าคุณขายกีต้าร์ ก็อาจมานั่งสอนโซโล่ หรือถ้าคุณทำร้านขนม ก็อาจมานั่งสอนวิธีทำขนมที่คุณขายนั่นแหละ  ไม่ต้องกลัวว่าถ้าผู้ชมทำเป็นแล้วจะไม่มาซื้อของคุณ  เพราะถ้าของคุณดีจริง  การที่คุณโชว์วิธีทำอันละเอียดละเมียดละไม สะอาดไว้ใจได้  ผลคือผู้ชมจะจดจำและอยากกินมากขึ้นซะมากกว่า  ถ้ากลัวก็ไม่ต้องบอกสูตรหมดแบบละเอียดยิบก็ได้  ซึ่งข้อนี้ต้องไปปรับกันเอง

8. โชว์เดินซื้อ ณ ช่องทางการจำหน่ายจริง

ถ้าสินค้าคุณมีวางที่นั่น ที่นี่  ก็อย่ามัวแต่พิมพ์บอกไว้เล็กๆ   แต่ลองจัด Live เดินไปหาไปหยิบจริง ณ จุดต่างๆเลย  อาจจะทั้งพาเดินห้างนั้นๆว่ามีอะไรน่าสนใจนิดหน่อย แล้วก็พาเดินไปหาสินค้าคุณว่าวางตรงไหน  ถือว่าโชว์ช่องทางการจัดจำหน่ายบวกกับพากินพาเที่ยวไปด้วยในตัว เพื่อให้รายการน่าสนใจขึ้น

9. ประกาศรับสมัครงาน

เมื่อไหร่ที่จะประกาศรับสมัครงาน นอกจากติดป้ายหน้าร้าน  ลงเว็บ ลงโซเชี่ยล ลง นสพ. แล้ว  ก็ลองจัด Live ประกาศรับสมัครงาน  โดยอาจจะให้หัวหน้าและเพื่อนๆร่วมแผนกนั้นผลัดกันมาพูดว่า งานตำแหน่งที่รับสมัครนั้นต้องทำอะไรบ้าง   ต้องรู้อะไรมีประสบการณ์อะไรมาก่อน   และก็อาจจะมีช่วงพาไปดูหน้างาน ณ สถานที่ปฏิบัติจริงกันเลย  ซึ่งนอกจากจะเป็นช่องทางประกาศงานแล้ว  ยังช่วยสร้างแบรนด์ให้กับธุรกิจได้ทางอ้อมด้วย

สรุป

… ทั้ง 9 ข้อนี้ที่สำคัญคือหาขาตั้งมือถือให้เป็นกิจจะลักษณะ ยิ่งถ้าหาแบบมีล้อเลื่อนได้จะยิ่งดี  เพราะถ้าเคลื่อนที่แล้วภาพสั่นๆจะเป็นที่ปวดตาแก่ผู้ชมผู้ฟัง   ครั้นจะตั้งกล้องเฉยๆอยู่กับที่ตลอดก็อาจจะเหมาะแค่กับบางอย่าง เช่นการโชว์สินค้าหรือสาธิตผลิตภัณฑ์เท่านั้น  หากเป็นโจทย์อื่นๆตั้งกล้องนิ่งก็อาจจะน่าเบื่อเกินไป

ก่อนจะ Live ควรวางแผนไว้ก่อนว่าจะพูดอะไร ถ่ายอะไรบ้าง   ยิ่งซักซ้อมไว้ก่อนยิ่งดี  เพราะอย่าลืมว่าการ Live นั้นเรามีกล้องตัวเดียว ก็คือมือถือเรานั่นแหละ และไม่มีการตัดต่อใดๆ  ฉะนั้นจะให้ผู้ชมเห้นอะไรฟังอะไรบ้างควรวาง storyline ไว้ก่อน 

เรียบเรียงโดย Somkid Anektaweepon


แชร์ :

You may also like