HomePR News“รูปที่มีทุกบ้าน – ปิดตา เปิดใจ ให้โอกาส” ผลงานถ่ายภาพของนักเรียนในโลกมืด [PR]

“รูปที่มีทุกบ้าน – ปิดตา เปิดใจ ให้โอกาส” ผลงานถ่ายภาพของนักเรียนในโลกมืด [PR]

แชร์ :

55เสียงหัวเราะเคล้ารอยยิ้มสดใสของเด็ก ๆ วัยประถมที่ชี้ชวนกันให้มาสัมผัสภาพถ่ายนับร้อยที่เรียงรายอยู่รอบผนังจัดแสดงภาพ ทำให้หลาย ๆ คนที่เดินอยู่ภายในบริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร อดที่จะเหลียวหลังกลับมามองและอมยิ้มตามไม่ได้

นิ้วมือเล็ก ๆ บรรจงลูบไล้ไปตามรูปอย่างแผ่วเบา จากรูปสู่รูป ในการจัดแสดงภาพถ่าย โครงการ “หัวใจถ่ายาพ” ที่หวนกลับมาอีกครั้ง กับนิทรรศการ “๙ ปิดตา เปิดใจ ให้โอกาส ผลงานถ่ายภาพของนักเรียนในโลกมืด” ภายใต้หัวข้อ “รูปที่มีทุกบ้าน”กว่า 200 เฟรมที่สะท้อนความรู้สึกผ่านเลนส์ของน้อง ๆ ผู้พิการทางสายตาจากทั่วทุกภาคในประเทศไทย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

“โครงการหัวใจถ่ายภาพเดินทางมาถึงปีที่ 5 แล้ว เรานำพาเด็ก ๆ กว่า 500 คนก้าวข้ามขีดจำกัดของการมองเห็น ทำความฝันของพวกเขาให้เป็นความจริง ผ่านการถ่ายภาพที่ไม่คิดมาก่อนว่าตัวเองจะทำได้” คุณนพดล ปัญญาวุฒิไกร ประธานกลุ่มถ่ายภาพเพื่อการแบ่งปัน ผู้ดูแลโครงการหัวใจถ่ายภาพ กล่าวและอธิบายต่อว่า “ด้วยความร่วมใจของเหล่าสมาชิก PIC4ALL-การถ่ายภาพเพื่อการแบ่งปัน และการสนับสนุนของ แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) ที่สุดแล้ว เด็ก ๆ ก็ได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ อย่างมั่นใจ เห็นคุณค่า และเกิดความภาคภูมิใจในศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเอง ซึ่งจะนำไปสู่การยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตัวเอง ที่ไม่เพียงแค่ไม่เป็นภาระสังคม แต่ยังสามารถตอบแทนสังคมด้วยการแบ่งปันให้กับผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า  เมื่อเขาอยู่ในจุดที่จะตอบแทนได้แล้ว”

คุณนพดล กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพที่ดีที่สุดของคนเรานั้นคือ ภาพของความสวยงามความดีงามที่อยู่ในความทรงจำ ในปีนี้เราไม่ได้แค่สอนให้เด็ก ๆ ที่มีความพิการทางสายตาให้สามารถถ่ายภาพได้เท่านั้น แต่ยังผนวกทักษะการเรียนรู้ด้านต่างๆ ที่จำเป็นในการศึกษาในทศวรรษที่ 21 เข้าไปในกิจกรรมการถ่ายภาพด้วย รวมถึงการพัฒนาไปสู่งานละคร โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้มากกว่าผลลัพธ์ เน้นการพัฒนาเด็ก ๆ ในภาพรวมมากกว่ามุ่งสร้างเด็กที่มีข้อจำกัดในการมองเห็นบางคนให้เก่ง

ด้วยแนวคิดดังกล่าว “รูปที่มีทุกบ้าน” จึงถูกเลือกให้เป็นหัวข้อของการถ่ายภาพในปีนี้ โดยมุ่งหวังให้เด็ก ๆได้เรียนรู้ว่า เพราะเหตุใดสถาบันพระมหากษัตริย์จึงครองใจคนไทย และเคียงคู่กับความเป็นประเทศไทยมาโดยตลอด ผ่านคำบอกเล่าของผู้คนในชุมชนที่อยู่รายรอบโรงเรียน โดยใช้การถ่ายภาพเป็นเครื่องมือ เพื่อให้เยาวชนกลุ่มนี้เติบโตเป็นคนไทยที่ไม่หลงลืมรากของตนเอง มีความกตัญญูกตเวทีต่อพ่อแม่ ครอบครัว และสำนึกรู้คุณของพ่อแม่แห่งแผ่นดิน ขณะเดียวกันก็เป็นการลดช่องว่างและทำให้เกิดการยอมรับระหว่างชุมชนและผู้พิการทางสายตา โดยมีเยาวชนผู้พิการทางสายตาจำนวน 244 คน จาก 13 โรงเรียนเข้าร่วมโครงการ

ด้านคุณรัฐิติกร นามพิลา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ แผนกสื่อสารองค์กร บริษัท แคนนอน มาร์เก็ตติ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า แคนนอนให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกันด้วยความเสมอภาค โดยไม่แบ่งแยกชนชาติ ศาสนา วัฒนธรรม รวมถึงข้อจำกัดอื่น ๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตและทำงานร่วมกันอย่างสามัคคี เพื่อประโยชน์สูงสุดในอนาคต ซึ่งโครงการหัวใจภ่ายภาพเป็นอีกโครงการหนึ่งที่เรามองเห็นโอกาสในการสนับสนุนให้เด็ก ๆ ที่มีความพิการด้านสายตา สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดนั้นไปได้ โดยใช้กิจกรรมการถ่ายภาพเป็นสื่อในการพัฒนาทักษะการเรียนรู้เพื่อการใช้ชีวิตของเด็ก ๆ เมื่อโตขึ้นอย่างมีความสุข

“ปีนี้ครบรอบ 5 ปีที่แคนนอนได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหัวใจถ่ายภาพ ผ่านนิทรรศการภาพถ่ายในหัวข้อ “รูปที่มีทุกบ้าน” โดยเด็กนักเรียนผู้พิการทางสายตา ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้เด็ก ๆ ได้แสดงความสามารถ และมีส่วนร่วมในการแสดงออกซึ่งความจงรักภักดีที่มีต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือในหลวงของเรา ดังที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดจากที่ทุกบ้านจะมีพระบรมฉายาลักษณ์ ด้วยสำนึกในพระองค์ท่านที่ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจและความจงรักภักดีของคนไทยทุกคน ซึ่งนอกจากการสนับสนุนโครงการด้วยอุปกรณ์ถ่ายภาพซึ่งแคนนอนทำมาโดยตลอดแล้ว ปีนี้เราได้จัดพิมพ์หนังสือภาพจำนวน 150 เล่มจากการรวบรวมภาพถ่ายที่จัดแสดงนิทรรศการมอบให้กับทุกโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อใช้เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงผู้ที่มีความบกพร่องทางสายตากับสังคมโดยรอบ” คุณรัฐิติกร กล่าวทิ้งท้าย

ด.ช.อำนาจ ศรีสังข์ หรือน้องอู๊ด อายุ 13 ปี จากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ หนึ่งในน้อง ๆ ที่ได้เรียนถ่ายรูปอย่างต่อเนื่องมากว่า 2 ปี เล่าว่า ผมพยายามใช้เวลาว่างเพื่อสร้างคุณค่าให้กับตัวเองให้มากที่สุด การถ่ายรูปสอนให้ผมมีความกล้าที่จะสร้างความสัมพันธ์ กล้าที่จะเรียนรู้ และเป็นแรงผลักดันให้ปรับตัวเข้ากับสังคมภายนอก สำหรับผมการถ่ายรูปเป็นการบันทึกความประทับใจที่ผ่านมาเข้ามาในชีวิต รูปที่ถ่ายออกมาทำให้รู้สึกภูมิใจที่ได้ทำอย่างเต็มที ผมชอบถ่ายรูปถ่ายวิวทิวทัศน์ เพราะผมชอบธรรมชาติ เมื่อได้มีโอกาสไปเที่ยวและได้ถ่ายรูปเก็บไว้มันเหมือนเป็นประสบการณ์หน้าหนึ่งของชีวิต วันหนึ่งเมื่อย้อนกลับไปดูก็สามารถเติมเต็มความสุขให้กับตัวเองอีกครั้ง การเรียนรู้การถ่ายภาพไม่ได้ยากแตกต่างจากการทำสิ่งอื่น ๆ เพียงแต่ถ้าเรารู้จักคิดวิเคราะห์แยกแยะความแตกต่าง แล้วค่อย ๆ ลงมือทำจากขั้นตอนแรก ๆ ที่ง่ายไปขึ้นไปถึงส่วนที่ซับซ้อน เมื่อผิดพลาดแล้วก็แก้ไข เรื่องที่คิดว่ายากมันก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

ส่วน ด.ช.จักรณรงค์ ดลชม หรือน้องเนตร อายุ 17 ปี โรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ก็เปิดมุมมองของตนเองว่า ผมชอบถ่ายรูปคนเพราะจะรู้สึกมีความสุขทุกครั้ง ที่คนที่ถ่ายมีความสุขเมื่อเห็นว่ารูปของเขาที่ผมถ่ายออกมาสวย ผมประทับใจการถ่ายรูปตั้งแต่เริ่มเรียนครั้งแรกเมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา เพราะได้ออกไปข้างนอก ได้เรียนรู้สังคมใหม่ ได้รู้จักผู้คน ได้สัมผัสสิ่งรอบตัวใหม่ ๆ ผ่านการถ่ายรูป ซึ่งช่วยให้ผมมีสมาธิ กล้าที่จะทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ มีความมั่นใจมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนไม่ค่อยกล้าทำอะไร เมื่อผมถ่ายรูปผมรู้สึกภูมิใจ เกิดแรงบันดาลใจที่อยากจะลองทำสิ่งใหม่ ๆ ภาพที่มีทุกบ้านของผมถ่ายที่ตลาดราชวัตร ผมชอบถ่ายภาพชุดนี้มาก เพราะแนวคิดของภาพเป็นเรื่องใกล้ตัว เพราะทุกคนต่างมีพ่ออยู่ที่บ้าน แต่ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น คือเรามีพ่อหลวง ซึ่งเป็นพ่อของแผ่นดิน พ่อของคนไทยทุกคน

ด้านด.ญ. ศรีประภาพ พันธุ์จันทร์ หรือ น้องณัฐ ในวัย 15 ปี จากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ บอกเล่าความรู้สึกจากหลังเลนส์ที่ไร้แสงว่า หนูเรียนถ่ายรูปมานานกว่า 2 ปีแล้ว หนูชอบถ่ายรูป เพราะเวลาที่ได้ไปเที่ยวก็อยากบันทึกภาพเก็บเป็นที่ระลึกว่า เราได้เคยไปสถานที่แบบนี้มาแล้ว มันสวยแค่ไหน มีอะไรที่นั่นบ้าง หนูชอบถ่ายรูปดอกไม้ ต้นไม้ เพราะมันให้ความสดชื่นมีสีสันสวยงาม การถ่ายรูปทำให้หนูรู้สึกว่าตัวเองก็ทำอะไร ๆ ได้เหมือนคนทั่วไป ขอเพียงแค่มีความตั้งใจ และมีความพยายามที่จะทำในสิ่งต่าง ๆ อย่างจริงจัง ภาพรูปที่มีทุกบ้านของหนูถ่ายจากร้านก๋วยเตี๋ยวซึ่งตั้งอยู่ที่ตลาดนางเลิ้ง สำหรับหนูแล้วในหลวงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระเมตตา ท่านสร้างสรรค์โครงการต่าง ๆ ให้แก่คนไทยมากมาย หนูจึงแสดงความจงรักภักดีผ่านรูปถ่าย

ปิดท้ายด้วย น้องดรีม หรือ ด.ช. สิรภพ เรียบสำเร็จ อายุ 12 ปี จากโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ ที่เล่าพร้อมรอยยิ้มว่า ผมอยากถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก แต่ผมก็ถ่ายไม่เป็น จนกระทั่งมีโครงการนี้ผมจึงสมัครเข้าร่วมโครงการ เมื่อผมถ่ายรูปได้ผมดีใจมาก เพราะมันทำให้ผมรู้สึกมั่นใจขึ้น โดยเฉพาะเวลาถ่ายรูปทิวทัศน์ที่ชอบก็จะมีโอกาสเก็บรายละเอียดจากเสียงรอบข้างได้มาก พูดได้ว่าการถ่ายรูปเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของผม ทำให้ผมพร้อมที่จะไขว่คว้าเพื่อเติมเต็มความฝันของตนเองที่อยากเป็นครูสอนภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษเมื่อโตขึ้น และผมต้องทำให้ได้ เหมือนกับรูปที่มีทุกบ้านที่ผมถ่ายที่ตลาดนางเลิ้ง ในรูปมีภาพของในหลวงและพระราชินีประดับอยู่ที่ผนังด้านบน ถัดลงมาเป็นรูปของสมาชิกในบ้าน รับปริญญาติดอยู่ที่ด้านล่างเรียงรายอยู่มากมาย ซึ่งวันหนึ่งผมก็จะไปยืนอยู่ตรงนั้นเหมือนกัน

ทุกคนล้วนต่างมีความฝันและพยายามสร้างแรงผลักดันตนเอง เพื่อทำความฝันนั้นให้เป็นความจริง ไม่เว้นแม้แต่เด็ก ๆ ที่มีข้อจำกัดของความพิการทางสายตา พวกเขาอาจเคยรู้สึกว่าตนเองแตกต่างจากผู้คนรอบข้าง แต่เมื่อมือน้อย ๆ ค่อยบรรจงกดชัตเตอร์จากครั้งแรกและบ่อยขึ้น ๆ ช่องว่างในใจก็ถูกเติมเต็ม เพิ่มพูนความเข้มแข็งและพร้อมที่จะเดินหน้า เพื่อทำความฝันให้เป็นความจริงอย่างมั้นใจ ร่วมชื่นชมและเป็นกำลังใจให้กับน้อง ๆ เยาวชนเหล่านี้ได้ ในงานแสดงนิทรรศการภาพถ่าย “รูปที่มีทุกบ้าน – ๙ ปิดตา เปิดใจ ให้โอกาส ผลงานถ่ายภาพของนักเรียนในโลกมืด” จัดแสดงบริเวณชั้น 3-4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 13 ธันวาคม 2558

44 


แชร์ :

You may also like